ปุพพสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  6 พ.ค. 2555
หมายเลข  21082
อ่าน  2,279

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปุพพสูตร

ว่าด้วยเหตุให้ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้

...จาก ...

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ ๕๑๐ - ๕๑๒


(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ ๕๑๐ - ๕๑๒

สัมโพธิวรรคที่ ๑

๑. ปุพพสูตร

(ว่าด้วยเหตุให้ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้)

พระผู้มีพระภาคเั้จ้า ตรัสว่า

[๕๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้อภิสัมโพธิญาณ ได้คิดคำนึงว่า ในโลก อะไรหนอเป็นอัสสาทะ (ความน่ายินดี เพลิดเพลิน) อะไรหนอเป็นอาทีนพ (โทษที่ไม่น่ายินดี ความขมขื่น) อะไรหนอเป็นนิสสรณะ (ความออกไป ความไม่ติด) เราได้กำหนดเห็นว่า สุขโสมนัส อาศัยสิ่งใดในโลกเกิดขึ้น นี่เป็นอัสสาทะในโลก ความที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี่เป็นอาทีนพในโลก การบำบัดเสียซึ่งฉันทราคะ การละเสียซึ่งฉันทราคะ (ความรักใคร่ พอใจ) ในโลก นี้เป็นนิสสรณะในโลก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังมิได้รู้แจ้งซึ่งอัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะของโลกอย่างถูกต้องแท้จริง ตราบใด เราก็ยังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลกนี้ ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งที่เป็นเทวดาและมนุษย์ ตราบนั้น เมื่อใด เรารู้แจ้งชัดซึ่งอัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะของโลกถูกต้องตามเป็นจริงแล้ว เมื่อนั้นเราจึงปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลกนี้ ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งที่เป็นเทวดาและมนุษย์ ก็แลญาณทัสสนะ (ความรู้เห็น) ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเรา ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี.

จบปุพพสูตรที่ ๑.

สัมโพธิวรรควรรณนาที่ ๑

อรรถกถาปุพพสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปุพพสูตรที่ ๑ แห่งปัณณาสก์ที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปุพฺเพว สมฺโพธา ได้แก่ ในกาลก่อนแต่ตรัสรู้ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ในเวลาอื่น (ก่อน) แต่พระอริยมรรคเกิดขึ้นนั่นเอง.

บทว่า อนภิสมฺพุทฺธสฺส ได้แก่ ผู้ยังไม่แทงตลอดอริยสัจจ์ ๔.

บทว่า โพธิสตฺตสฺเสว สโต ความว่า เมื่อสัตว์ผู้ตรัสรู้นั่นแหละ คือ ผู้เริ่มเพื่อจะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ มีอยู่ หรือว่าผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณ มีอยู่. เพราะว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ของเรา) จำเดิมแต่มีอภินิหารสำเร็จแล้วด้วยการประมวลธรรม ๘ ประการ แทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าทีปังกร เป็นผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น เป็นผู้ติด คือ ข้องอยู่ในโพธิญาณ ทรงพระดำริว่า เราต้องบรรลุพระโพธิญาณนี้ แล้วไม่ทรงละความพยายามเพื่อบรรลุพระโพธิญาณนั่นแล เสด็จมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า พระโพธิสัตว์.

บทว่า โก นุ โข คือ กตโม นุ โข แปลว่า อะไรหนอแล. สังขารโลก ชื่อว่า โลก.

บทว่า อสฺสาโท ได้แก่ มีอาการชุ่มชื่น.

บทว่า อาทีนโว ได้แก่ มีอาการไม่น่าสดชื่น.

บทว่า ตสฺส มยฺห ความว่า เมื่อเรานั้น คือ ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณอย่างนี้ มีอยู่.

บทว่า ฉนฺทราคปฏิวินโย ฉนฺทราคปฺปหาน ความว่า เพราะว่า ฉันทราคะ ถึงความปราศไป คือ ละได้ เพราะปรารภ คือ อาศัยพระนิพพาน เพราะฉะนั้น พระนิพพาน ท่านจึงเรียกว่า ฉนฺทราควินโย (นำฉันทราคะออกไป) ฉนฺทราคปฺปหาน (ละฉันทราคะเสียได้) .

บทว่า อิท โลกนิสฺสรณ ความว่า พระนิพพานนี้ ท่านเรียกว่า โลกนิสฺสรณ (เป็นแดนแล่นออกไปจากโลก) เพราะสลัดออกไปแล้วจากโลก.

บทว่า ยาวกีว ความว่า ตลอดกาลมีประมาณเท่าใด.

บทว่า อพฺภญฺาสึ ความว่า ได้รู้แล้ว ด้วยอริยมรรคญาณ อันประเสริฐยิ่ง. แม้ด้วยบททั้งสองนี้ ว่า าณญฺจ ปน เม ทสฺสน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส หมายถึง ปัจจเวกขณญาณ. บทที่เหลือในพระสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาปุพพสูตรที่ ๑.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปุพพสูตร *

ว่าด้วยเหตุให้ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า เมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดถึงว่าอะไรเป็นความน่ายินดีเพลิดเพลิน เป็นโทษ และเป็นความสลัดออกแห่งโลก (สุขโสมนัส เกิดขึ้นเพราะอาศัยโลก เป็นความน่ายินดี เพลิดเพลิน โลก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เป็นโทษ การกำจัด การละฉันทราคะในโลก เป็นการสลัดออก แห่งโลก)

เมื่อพระองค์ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงซึ่งความยินดีเพลิดเพลิน โทษ และการสลัดออก แห่งโลก จึงยังไม่ปฏิญาณว่าได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แต่เมื่อได้รู้ตามความเป็นจริงแล้ว จึงปฏิญาณว่าได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ.

[หมายเหตุ คำ่ว่า ปุพพ ซึ่งเป็นชื่อของพระสูตร แปลว่า ในกาลก่อน หมายถึง ในกาลก่อนที่พระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า]

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

ธรรมสโมธาน 8 ประการ [วิภังค์]

พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้หรือไม่

ใครจะเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทใด? [ชนสันธชาดก]

ไม่รู้จักโลก ไม่เห็นโลก ก็ต้องอยู่ในโลกต่อไป

ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกจะปรากฏไม่ได้

ไม่รู้จักโลกก็พ้นโลกไม่ได้

โลกว่างเปล่า

วิมุตติ กับ วิมุตติญาณทัสสนะ

ปัจจเวกขณญาณ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อธิบาย ปุพพสูตร

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวง ทั้งหมด ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาที่เป็นปัญญาอันสูงสุด คือ อนุตตรสัมาสัมโพธิญาณ ดังนั้น พระองค์ไม่ได้ตรัสรู้ความจริงอย่างอื่น แต่เป็นความจริงที่มีอยู่ กำลังปรากฎในขณะนี้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เหตุแห่งทุกข์ที่เป็นสมุทัย นั่นคือ ทรงรู้ อัสสาทะ ความยินดีเพลิดเพลิน และคุณของสภาพธรรมที่นำมาซึ่งความสุข โสมนัส ทำให้สัตว์โลกเกิดติดข้อง พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงว่า ความยินดี เพลิดเพลินนี้ ที่เป็นอัสสาทะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัยอริยสัจจะ) และพระองค์ก็ทรงรู้ตามความเป็นจริง ถึงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เป็นทุกข์ทีเกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง (ทุกขสัจจะ) อันเป็นโทษของสภาพธรรม ที่เป็นอาทีนพ ความเป็นโทษ และพระพุทธเจ้า ทรงประจักษ์สภาพธรรม ที่สละ ละจากสภาพธรรมทั้งปวง เป็นสภาพธรรมที่สละ (นิสสรณะ) จากกิเลสทั้ปวง สละ ความยินดี พอใจ เป็นต้น นั่นคือ พระพุทธเจ้าประจักษ์สภาพธรรมที่ เป็นนิสสรณะด้วยปัญญา คือ พระนิพพาน (นิโรธสัจจะ) เพราะพระองค์ มีปัญญญาด้วยการดำเนินตามทาง คือ อุบายเครื่องสละออก ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 (มรรคสัจจะ)

จะเห็นนะครับว่า จากที่กล่าวมา ไม่ว่าที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ตามความเป็นจริงในอัสสาทะ คือ ความยินดี หรือ อีกนัยหนึ่งหมายถึง คุณ ของสภาพธรรมทั้งหลาย ที่นำมาซึ่งสุข โสมนัส ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เห็นสิ่งที่ดี เมื่อเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินสิ่งที่ดีแล้ว ก็เกิดสุขโสมนัส จากการเห็นสิ่งที่ดี จึงเป็นปัจจัยให้ติดข้องในสิ่งที่เห็น เพราะเกิดความรู้สึกโสมนัส ในสิ่งที่เห็นนั้น ครับ ดังนั้น นี่จึงเป็นอัสสาทะ หรือ ที่เรียกว่า คุณของสภาพธรรมต่างๆ ที่เมื่อปรากฎกับจิตของปุถุชน ย่อมเกิดความสุข โสมนัส ทำให้ติดข้อง ครับ แต่ปุถุชน ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมไม่รู้ ไม่ประจักษ์ว่า นี่คือ คุณ หรือ ทำให้เกิดความยินดีพอใจ เพราะอาศัยรูป หรือ สภาพธรรมต่างๆ ครับ และ ที่สำคัญ สภาพธรรมทั้งหลายที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป นี่คือโทษของสภาพธรรม (อัสสาทะ) เพราะไม่เที่ยง ไม่นำมาซึ่งความน่ายินดี เพราะเกิดขึ้นและดับไป แต่ปุถุชน หรือ ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริง ของความไม่แที่ยงของสภาพธรรม จึงหลงยึดติด ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฎว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เที่ยง ไม่เกิดดับ เพราะไม่มีปัญญา แต่พระพุทธเจ้า ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมเหล่านี้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ค. 2555

ดังนั้น ที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็เพราะ มีปัญญารู้ความจริง คือ เหตุแห่งทุกข์ ที่เป็นสมุทัย คือ ความยินดี เพลิดเพลิน ที่เป็นอัสสาทะ อันเกิดจากอาศัยสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แล้วยินดี ติดข้อง พระองค์ทรงประจักษ์เหตุแห่งทุกข์นั้น และทรงประจักษ์ ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ไม่เที่ยง เป็นโทษ (อาทีนพ) และประจักษ์พระนิพพานด้วยปัญญา อันเป็นธรรมที่ละ สละ ซึ่งสภาพธรรมทั้งปวง (นิสสรณะ) ด้วยหนทางอันประเสริฐที่สุด คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ครับ

เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้ ประโยชน์สำหรับผู้อ่าน คือ ให้เข้าใจความจริงครับว่า การจะบรรลุธรรม ตรัสรู้ ก็ไม่พ้นจากการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้นั่นเอง ตามความเป็นจริง เพราะพระพุทธเจ้า เมื่อจะปฏิญาณว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ด้วยการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีเป็นปกติในขณะนี้ ดังนั้น ก็ควรสำเหนียก พิจารณาว่าการจะบรรลุธรรม คือ จะต้องรู้ความจริงในขณะนี้ ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง คือ ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงเกิดขึ้นและดับไป อันเป็นสภาพธรรม ที่มีโทษ (อาทีนพ) เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ถึงเหตุแห่งทุกข์ คือ ความยินดี เพลิดเพลิน อันเกิดจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน 4 อันเป็นอุบายเครื่องสลัดออกจากสภาพธรรมทั้งปวง และเป็นอุบายเครื่องสลัดออกจาก ฉันทราคะ (โลภะ) ก็จะประจักษ์พระนิพพาน (นิสสรณะ) อันเป็นสภาพธรรมที่สละออกจากโลภะและกิเลสประการต่างๆ ครับ

ที่สำคัญ ไม่ต้องไปไกล เริ่มจากความเข้าใจขั้นการฟังไปทีละเล็กละน้อย ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น โดยการศึกษาธรรมไม่ใช่มุ่งไปที่คำ ความหมาย หาศัพท์ แต่เมื่ออ่านแล้ว ให้กลับมาเข้าใจว่า เป็นการแสดงถึงสภาพธรรมที่มีในขณะนี้นั่นเอง ซึ่งจะถึงการตรัสรู้ดังเช่นพระพุทธเจ้าได้ ก็ด้วยการรู้ความจริงในขณะนี้ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนี้ ซึ่งจะต้องเริ่มจากการฟัง ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็จะค่อยๆ เป็นอุบายเครื่องสลัดออกจากกิเลส และค่อยประจักษ์สภาพธรรมที่เกิดขึ้และดับไป ทีเป็นธรรมที่มีโทษ (อัสสาทะ) และรู้เหตุแห่งทุกข์ และย่อมประจักษ์พระนิพพาน ที่เป็น นิสสรณะในอนาคตอันยาวไกลได้ ครับ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระองค์ทรงแสงดง แม้สูตรนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ก็คือ การเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ด้วยปัญญา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 7 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Noparat
วันที่ 7 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 7 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
intra
วันที่ 9 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เข้าใจ
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณมากครับ ที่ขยายความธัมมะให้เข้าใจ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 11 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Nareopak
วันที่ 11 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 21 ส.ค. 2563

กราบนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

การศึกษาพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเท่านั้น จึงเห็นคุณค่าของชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ และไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้สาระ เพราะเข้าใจว่า เวลาที่ผ่านไปๆ ๆ ย้อนกลับมาไม่ได้เลยแม้แต่ขณะจิตเดียว และจะต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในวันหนึ่งอย่างแน่นอน ทุกวันที่เหลืออยู่จึงควรเป็นเวลาที่สะสมความรู้ความจริงในสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ ซึ่งยากแสนยาก เพระสภาพธรรมแต่ละหนึ่งแสนละเอียดและมีอายุแสนสั้น จึงต้องเริ่่มจากการศึกษาพระธรรมให้ความเข้าใจมั่นคงก่อน โดยไม่ต้องไปไหนไกลๆ เลย เพราะธรรมมีขณะนี้ ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ศึกษาเรื่องราวของพระธรรม ก็จะไม่มีทางรู้จักธรรมตัวจริง แล้วจะถึงวันหนึ่ง ในชาติไหนก็ตาม ที่รู้แจ้งในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้อย่างไร

กราบขอบพระคุณมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และอาจารย์วิทยากรทุกท่านด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ