สันตีรณจิต
เคยขอความรู้เรื่องสันตีรณจิตและอ่านมาบ้าง พอเข้าใจระดับหนึ่งตามกำลังปัญญาอันน้อยนิด แต่ก็อยากทราบเพิ่มเติมครับ ดังคำถาม ดังนี้ครับ
๑. กิจของจิตบางประเภททำกิจได้ตั้ง ๕ กิจ และเรียกชื่อกิจต่างกันไปตามกิจ เช่น อุเบกขาสันตีรณจิต ซึ่งทำกิจปฏิสนธิบ้าง ทำกิจภวังค์บ้าง ทำกิจจุติบ้าง ทำกิจสันตีรณบ้าง ทำตทาลัมพนกิจบ้าง เมื่อมีกิจต่างกัน แต่ทำไมท่านจึงเรียกว่าเป็นสันตีรณจิตเหมือนกัน
ดังนั้นคำว่า "สันตีรณ" ต้องมีความหมายที่สำคัญ และ ทั้ง ๕ กิจคงไม่ใช้คำว่า สันตีรณ ร่วมด้วย ใช่ไหมครับ ทราบมาว่า "สันตีรณ" แปลว่า พิจารณาอารมณ์ คำนี้สำคัญอย่างไรบ้างครับ จึงใช้กับจิตประเภทนี้ และยังไม่พอ เฉพาะกิจที่ชื่อ "สันตีรณกิจ" ก็มาจากจิตทั้งสามดวงได้ เช่น สันตีรณอกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง, สันตีรณกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑ ดวง และสันตีรณกุศลวิบากจิต เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๑ ดวง (เมื่อรู้อารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง)
๒. ทวารที่เกิดของสันตีรณจิต มีหลายทางไหมครับ เกิดจากมโนทวาร หรือปัญจทวาร หรือ ไม่อาศัยทวาร คือสังสัยมาว่า สันตีรณจิต ที่ทำกิจสันตีรณ ทางปัญจทวาร จิตดวงนี้เกิดทางปัญจทวาร หรือมโนทวารครับ (ยังสับสน) หรือสันตีรณจิต ที่ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ ทำกิจจุติ จิตดวงนี้เกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวาร แต่สันตีรณจิตที่ทำกิจตทาลัมพนกิจ เกิดทางมโนทวาร หรือเปล่าครับ
๓. ฐานที่เกิดของจิต กับทวารที่เกิดของจิต คือความหมายเดียวกันหรือต่างกันไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ ซึ่งไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน และเป็นการยากมากที่จะเข้าใจตามความเป็นจริง แม้แต่ในขณะนี้ สันตีรณจิต ก็มี แต่ไม่รู้ เมื่อไม่สามารถจะประจักษ์ลักษณะของสันตีรณจิตได้ ก็เพียงฟังให้เข้าใจว่า มีจิตประเภทนี้จริงๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ไม่ใช่เราเลย
สันตีรณจิต มี ๓ ประเภท เป็นอกุศลวิบาก ๑ และ เป็นกุศลวิบาก ๒ คือ
อุเบกขาสันตีรณ อกุศลวิบาก ๑ ดวง
อุเบกขาสันตีรณ กุศลวิบาก ๑ ดวง
โสมนัสสันตีรณ กุศลวิบาก ๑ ดวง
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว จิตบางดวง ทำกิจได้หลายกิจ
สำหรับสันตีรณจิตมี ๓ ดวง แต่ทำได้ ๕ กิจ ซึ่งจะต้องแยกประเภทกัน เพราะเหตุว่าสำหรับอุเบกขาสันตีรณจิตเท่านั้น ที่ทำได้ถึง ๕ กิจ
สำหรับอุเบกขาสันตีรณจิตที่ทำได้ ๕ กิจ คือ ทำปฏิสนธิกิจได้ ๑ ทำภวังคกิจได้ ๑ ทำจุติกิจได้ ๑ ทำสันตีรณกิจได้ ๑ ทำตทาลัมพนกิจได้ ๑
สันตีรณจิตดวงที่ ๑ และดวงที่ ๒ (อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากและอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก) เท่านั้น ที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติได้ สันตีรณจิตทั้ง ๓ ประเภททำกิจพิจารณาอารมณ์ (สันตีรณกิจ) ได้ ส่วนโสมนัสสันตีรณจิตกระทำสันตีรณกิจเมื่ออารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง
เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว วิถีจิตก็ยังเกิดสืบต่อไปอีก อเหตุกวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมอีกดวงหนึ่งที่เกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตนั้นเรียกว่าสันตีรณจิต สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์ที่รับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตทางปัญจทวาร สัมปฏิจฉันนจิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สันตีรณจิตเกิด ขณะเห็นจักขุวิญญาณเกิดและดับไป แล้วสัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อแล้วดับไป สันตีรณจิตก็เกิดต่อ เป็นวิถีจิตที่รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวาร ทางโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ก็เช่นเดียวกัน
สันตีรณจิตเป็นอเหตุกวิบากจิต เมื่ออารมณ์เป็นอนิฏฐารมณ์ สันตีรณจิตก็เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากนั้นมี ๒ ดวง เมื่ออารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ธรรมดาๆ สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เมื่ออารมณ์เป็นที่น่าพอใจยิ่ง (อติอิฏฐารมณ์) สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
โดยศัพท์ สันตีรณะ แปลว่า พิจารณา เป็นการยากที่จะเข้าใจได้จริงๆ ถ้ากระทำกิจสันตีรณะ ก็ทำกิจหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวารต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต เท่านั้น ถ้าทำกิจอื่น ก็มีความหมายตามกิจนั้นๆ เช่น ถ้าทำตทาลัมพนกิจ ก็ไม่ได้พิจารณา แต่ทำกิจตทาลัมพนะ คือ รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต ตามควรแก่สันตีรณจิตนั้นๆ
๒.-๓. ต้องมีความเข้าใจว่า ทวาร คือ ทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ส่วนที่เกิดของจิต (ในภูมิที่มีขันธ์ ๕) ต้องเป็นวัตถุรูป ๖ รูป รูปใดรูปหนึ่ง ตามควรแก่จิตนั้นๆ ยกตัวอย่าง สันตีรณจิต ที่กระทำสันตีรณกิจ ทางจักขุทวาร สันตีรณจิต นี้ เกิดทางจักขุทวาร เพราะต้องอาศัยจักขุเป็นทางในการรับรู้อารมณ์ แต่ไม่ได้เกิดที่จักขุทวาร แต่เกิดที่หทยวัตถุ
จากความเข้าใจเบื้องต้น จิตเห็น เกิดที่จักขุวัตถุ (ตา) จิตได้ยิน เกิดที่โสตวัตถุ (หู) จิตได้กลิ่น เกิดที่ฆานวัตถุ (จมูก) จิตลิ้มรส เกิดที่ชิวหาวัตถุ (ลิ้น) จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เกิดที่กายวัตถุ (กาย) จิตอื่นที่เหลือทั้งหมด เกิดที่หทยวัตถุ ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่า ที่เกิดของจิต กับ ทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ต่างกัน
สรุปได้ว่า สันตีรณจิต ๓ ดวง เกิดที่หทยวัตถุ ทั้งหมด สันตีรณจิตที่ทำสันตีรณกิจ ทางปัญจทวาร ก็เกิดขึ้นอาศัย ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใด ในการรู้อารมณ์ โดยเป็นจิตที่เกิดที่หทยวัตถุ, สันตีรณจิต ที่ทำตทาลัมพนกิจ ทางปัญจทวาร เกิดที่หทยวัตถุ แต่ก็ต้องอาศัย ๕ ทวาร ทวารหนึ่งทวารใด ในการรู้อารมณ์ สันตีรณจิตที่กระทำตทาลัมพนจิต ทางมโนทวาร เกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยอาศัยมโนทวารเป็นทางในการรู้อารมณ์ โดยมีที่เกิด คือ เกิดที่หทยวัตถุ
นี้ คือ การกล่าวถึงสันตีรณจิต ที่เกิดขึ้นได้ทั้ง ๖ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ
ส่วน อุเบกขาสันตีรณ อกุศลวิบาก และ อุเบกขาสันตีรณ กุศลวิบาก ที่ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และ จุติกิจ นั้น เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด แต่ก็ต้องมีที่เกิด คือ เกิดที่หทยวัตถุ ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
วัตถุที่เป็นที่เกิดของจิต กับ ทวารเป็นทางให้จิตรู้อารมณ์
สำหรับประเด็นเรื่องสันตีรณจิต ขอเชิญคลิกฟังรายละเอียดจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ตลอดทั้งตอนได้ที่นี่
ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในความเป็นจริง จิตเมื่เกิดขึ้น ก็ต้องมีกิจหน้าที่ แต่ จิตแต่ละประเภท มีหน้าที่แตกต่างกัน และ จิตบางประเภท ก็ทำกิจหน้าที่เดียว แต่จิตบางประเภท ก็ทำหน้าที่กิจหน้าที่ได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่า จิตนั้นเกิดในวิถีจิตประเภทอะไร และ จิตนั้นเป็นจิตชาติอะไรด้วย ครับ
ซึ่ง สันตีรณจิต ที่หมายถึง พิจารณา อารมณ์ คำนี้ ไม่ได้หมายถึง การพิจารณาแบบปัญญา ที่รู้ความจริงว่า สิ่งนั้นเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา แต่พิจารณาอารมณ์นั้น ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ เพียง พิจารณารู้ในอารมณ์นั้นเท่านั้นครับ เพราะ ถ้าเราติดคำว่าพิจารณา ก็อาจจะสับสนว่า พิจารณาอย่างไร เพราะ ในความเป็นจริง จิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก การพิจารณาอารมณ์ จึงไม่ใช่เป็นการพิจารณา เป็นเรื่องราวที่เป็นความคิดนึก ที่พิจารณาด้วยปัญญา หรือ กุศล เป็นต้น ครับ
ประโยชน์ของการศึกษา สันตีรณจิต คือ รู้ว่า ทุกชีวิต ก็เป็นแต่เพียงขณะจิต ที่รับรู้อารมณ์ และ พิจารณาอารมณ์ โดยไม่มีเราที่จะทำ จะพิจารณา แต่เป็นกิจ หน้าที่ของจิต และเจตสิกเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป อันเป็นความเข้าใจเพื่อเข้าใจถูกครับว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น การศึกษาพระอภิธรรม วิถีจิตก็จะไม่หนัก เพราะ ไม่ใช่เรื่องจำชื่อ เรื่องราว แต่เรื่องของความเข้าใจว่า พระพุทธองค์ทรงแสดง สันตีรณจิตว่ามีจริง แสดง จิตต่างๆ ว่าทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราทำหน้าที่ ดังนั้น ชีวิตประจำวัน จึงเป็นการทำหน้าที่ของจิต เจตสิก ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เลย ครับ ก็จะเบาด้วยความเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งสิ้น เพราะ ธรรมมีกิจหน้าที่ของเขา กำลังทำอยู่แล้ว นี่คือประโยชน์ ของการศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองครับ วาระจิตที่เกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ผู้ที่จะรู้เป็นวิสัยของพระอรหันต์ที่ท่านทรงแสดงให้เรารู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ เราเพียงเข้าใจและยอมรับว่า ไม่มีเรา ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งสิ้น เพราะ ธรรมมีกิจหน้าที่ของเขา กำลังทำอยู่แล้ว อย่างที่ท่านอาจารย์ผเดิมว่าจริงๆ ครับ
ขออนุโมทนา