การอยู่ในที่เงียบสงัด หรือใกล้ป่าใกล้เขาเหมาะปฏิบัติธรรมจริงหรือไม่

 
samroang69
วันที่  25 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21304
อ่าน  3,898

ขอความกรุณาท่านผู้รู้ รบกวนถามเรื่องที่ว่า การที่สังคมไทยมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น หรือต้องปากกัดตีนถีบในสังคมปัจจุบันนี้นั้น เป็นสังคมที่ไม่เหมาะกับการปฏิบัติธรรมจริงหรือไม่ มีการกล่าวว่าการที่ผู้ปฏิบัติอาศัยอยู่ในเมืองหรือชุมชนแออัดนั้น จะรู้สภาพธรรมได้ยากกว่าหรือจะเจริญอบรมปัญญาได้นั้นยากมาก คือ ไม่อาจจะเจริญอบรมปัญญาให้ดีขึ้น ส่วนผู้อยู่ในที่อันสงัด สงัดในที่นี้หมายถึง สำนักปฏิบัติหรือวัดป่าอะไรประมาณนั้น แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ นักปฏิบัติ หรือผู้ที่กำลังเจริญอบรมปัญญา จะมีวิธีที่จะปฏิบัติ หรือเจริญอบรมปัญญาให้ได้ผลดี ตามอุปนิสัยของแต่ละบุคคลได้อย่างไรครับ ขอรบกวนด้วยนะครับ

ขอบคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในภาษาไทยคำว่าปฏิบัติ หมายถึง ทำ คนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็คิดเอาเองว่า ถ้าไม่ไปทำก็ไม่ใช่ปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ต้องมีการฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ทีละหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นปฏิปัตติ ได้ คือ ถึงเฉพาะแต่ละลักษณะของสภาพธรรมที่จริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม

จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงตรงตามพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ละคนมีอัธยาศัยไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะมีอัธยาศัยที่แตกต่างกันตามการสะสม แต่ถ้าเห็นประโยชน์ของพระธรรม เห็นประโยชน์ของการน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด อยู่ในฐานะใด ก็ย่อมจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งนั้น

เพราะธรรม มีจริงทุกขณะในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งที่ขาด คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเข้าใจถูกเห็นถูก จะเกิดขึ้น มีขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็ก ทีละน้อย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ เริ่มต้นด้วยการไปทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความจดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาเลย

ดังนั้น ความเข้าใจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น ที่จะเป็นสาระเป็นประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับชีวิต เพราะแต่ะละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งนามธรรมและรูปธรรม

การอบรมเจริญปัญญาจึงเป็นเรื่องของบุคคลที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เป็นการดำเนินไปตามหนทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ หนทางที่จะรู้ความจริง ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าพบข้อความใด แล้วจะทำตามอย่างนั้นเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรื่องทำแต่เป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที โดยไม่มีตัวตนที่ไปทำอะไรที่ผิดปกติเลย แม้แต่การหลีกออกจากหมู่ไปสู่ที่สงัด ก็เช่นเดียวกัน ควรที่จะได้พิจารณาว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญ ถ้ากุศลจิตเกิด จะอยู่ที่ใด ที่นั่นก็สงัด เช่น ขณะที่นั่งฟังพระธรรมอยู่ที่บ้านมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็สงัดจากอกุศลชั่วขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น เป็นต้น

สงัดในที่นี้ หมายถึง สงัดจากอกุศล โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปหา หรือ ไปเจาะจงว่า ที่ไหนเป็นที่ที่ควรแก่การให้กุศลจิตเกิดเพื่อจะได้สงัดจากอกุศล เพราะแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง มีอัธยาศัยสะสมมาแตกต่างกัน แต่เพราะปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไป จึงมีการน้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม

แต่ถ้าเป็นนัยตรงกันข้าม ถ้าอยู่ในสถานที่ที่สมมติกันว่าเป็นสถานที่เงียบสงบ แต่จิตเป็นอกุศล มีความติดข้องต้องการ หรือ หนักไปกว่านั้น คือ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้น ก็ไม่สงัด เพราะจิตเป็นอกุศล ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ

ไม่ใช่อัธยาศัยอยู่ป่า จะฝืนอัธยาศัยเป็นการสมควรหรือ

ทำไมจึงมีภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะหลงงมงาย

ภิกษุที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวก

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจครับว่า การบรรลุธรรม คือ การบรรลุ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นสภาพธรรมที่ทำให้บรรลุธรรมได้ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาสามารถเกิดได้ โดยไม่เลือกสถานที่ ว่าจะต้องเป็นในป่า ในที่เงียบสงัด หรือ ในเมือง เพราะในความเป็นจริง ทั้งในป่าในที่เงียบ สงัด และในเมือง ไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี เห็นก็มี ได้ยินก็มี ได้กลิ่นก็มี ลิ้มรสก็มี คิดนึกก็มี ไม่ว่าจะในป่า ในที่เงียบสงัด และ ในเมืองล้วนแล้วแต่มีสภาพธรรม ที่ปัญญาจะต้องรู้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

ปัญญาที่จะถึงการบรรลุธรรม คือ จะต้องมีการปฏิบัติธรรม อะไรไปฏิบัติ ปัญญานั่นเองที่ปฏิบัติหน้าที่รู้ความจริง ปัญญารู้อะไรก็รู้สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ในป่า หรือ ในเมือง ก็ไม่ต่างกัน ตรงที่ต่างก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ หากแต่ว่า หากอยู่ในสำนักปฏิบัติ ในที่เงียบสงัด มีในป่า เป็นต้น แต่ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะการบรรลุธรรมไม่ใช่อยู่ที่สถานที่เงียบสงัด เพราะใจไม่สงัดจากอกุศลเลย แม้อยู่ในที่เงียบแต่ใจก็หวั่นไหวไปแล้วในอกุศลที่เกิดขึ้น คิดถึงเพื่อน คิดถึงญาติ คิดเรื่องอื่นๆ ได้ แม้อยู่ในป่า เพราะฉะนั้นอกุศล ก็เกิดได้แม้อยู่ในป่า ดังนั้น หากขาดปัญญาเสียแล้ว อยู่ที่ไหน อย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรม

เพราะเราไม่เข้าใจว่า ปัญญานั้นจะต้องรู้อะไร คือ จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งก็มีอยู่ แม้อยู่ในป่าและในเมือง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

แต่หากมีปัญญาแล้ว ไม่ว่าอยู่ในที่ใด ปัญญาก็สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ในชีวิตประจำวัน เพราะในเมือง ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ... ใจ ในป่า ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ... ใจ ขาดแต่เพียงปัญญาเท่านั้นที่จะไปรู้ และปัญญาจะเกิด เจริญได้อย่างไร หากไม่ใช่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ เพราะหากไม่มีความเข้าใจ ไม่มีปัญญาแล้ว จะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ด้วยความไม่รู้ ครับ ดังนั้น ในสมัยพุทธกาล ที่มีการหลีกเร้นออกจากบ้าน ไปสู่ป่า ของพระภิกษุ เราจะต้องเข้าใจครับว่า ผู้ที่อัธยาศัย หลีกเร้นก็ส่วนหนึ่ง แต่การหลีกเร้นไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่ทางหลุดพ้น คือ การเจริญวิปัสสนา ซึ่งผู้ที่หลีกเร้น เพราะมีอัธยาศัย ในการเจริญสมถภาวนา เพราะเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน ต้องการที่จะเจริญความสงบจากกิเลสอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง การเจริญสมถภาวนา ปฏิปักษ์ ข้าศึกศัตรู คือ ความไม่เงียบ มีเสียงดัง ดังนั้น การหลีกเร้นไปสู่ป่า จึงเป็นสิ่งที่สมควร ในการที่จะเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ได้ฌานการหลีกเร้น ไปสู่ป่า เพื่ออะไร ไม่ใช่เพราะการจะเจริญวิปัสสนาจะต้องไปสู่ป่า แต่การเจริญสมถภาวนาต่างหากครับที่จะต้องไปสู่ป่า และการเจริญสมถภาวนา ไม่สามารถละ ดับกิเลสได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดง สติปัฏฐาน หรือ การเจริญวิปัสสนา เป็นหนทางดับกิเลส บรรลุธรรม ครับ

และหากได้อ่านในสมัยพุทธกาล ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่บรรลุธรรม โดยไม่ได้เจริญสมถภาวนา และไม่ได้หลีกเร้นไปสู่ป่า มีน้อยกว่า ผู้ที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวและไม่ได้หลีกเร้นสู่ป่า ไม่ได้อยู่ที่ห้องสำนักปฏิบัติ แต่อยู่ในเมือง ใช้ชีวิตเป็นปกติ แต่ได้ฟังธรรม ก็บรรลุธรรม มีมากกว่ามาก ครับ

ในสมัยพุทธกาล ท่านพระอุบาลี ผู้เลิศ ในการแสดงพระวินัย ก่อนจะบรรลุ ท่านเข้าไปสู่ป่า ไม่สามารถบรรลุธรรมเพราะเกิดความกลัว ท่านกลับมาพระวิหาร ได้บรรลุธรรม ท่านพระอานนท์ บรรลุธรรมโดยไม่ได้ไปอยู่ป่า ท่านพระสารีบุตร ผู้มีปัญญาสูงสุดในสาวก ฟังธรรม โดยไม่ได้ไปอยู่ป่า แต่ได้บรรลุธรรม นางวิสาขา ฟังธรรมระหว่างถนน บรรลุธรรม ท่านอนาถะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระวิหาร ฟังธรรมได้บรรลุธรรม สันตติมหาอำมาตย์ กำลังโศกเศร้า ฟังธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

นางคนหนึ่ง กำลังทำอาหาร ไม่ได้อยู่ที่เงียบสงัด อยู่ในบ้าน น้ำแห้งจากหม้อ พิจารณาความไม่เที่ยงบรรลุธรรม

จะเห็นนะครับว่า สถานที่ไม่ได้สามารถจะจำกัดปัญญาได้เลย หากปัญญาถึงพร้อมแล้ว ก็สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะสภาพธรรมมีปรากฏอยู่แล้ว ไม่ว่าที่ไหน ก็มีธรรม ที่สามารถให้รู้ความจริงได้ เช่น เห็น ได้ยิน สี เสียง คิดนึก เป็นต้น ครับ

ปฏิบัติธรรม จึงไม่ใช่เรื่องของสถานที่ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ความจริง ดังเช่นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นการรู้ความจริงว่า แม้อกุศลที่เกิดขึ้นก็ควรรู้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้เกิดอกุศล อยู่ในป่า หรือ อยู่ที่เมือง อกุศลก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติธรรมดา คิดถึงคนนั้น คนนี้ แต่สำคัญที่ว่า อกุศลเกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่อยู่ในป่า หรือ ในเมือง จะรู้ความจริงหรือไม่ว่า อกุศลเป็นธรรมไม่ใช่เรา การเจริญวิปัสสนาจึงเป็นการอบรมปัญญา รู้ความจริงที่มีในชีวิตประจำวัน ครับ ไม่ได้แยกออกไป เพราะธรรมมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน

ซึ่งตามที่ได้กล่าวแล้วว่า การเจริญวิปัสสนา ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้อกุศลเกิด อกุศลต้องเกิดอยู่แล้วเป็นปกติ สำหรับปุถุชน ไม่ว่าอยู่ในบ้าน หรือ ในที่เงียบสงัด ก็ตามที แต่อกุศลเกิดแล้วก็รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น ปฏิบัติธรรมแล้ว ปัญญาปฏิบัติหน้าที่รู้ความจริง (เป็นสติปัฏฐาน ใน จิตตานุปัสสนา) และที่สำคัญ มีตัวอย่างมากมาย ในสมัยพุทธกาล ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ต่อหน้าผู้คนมากมายหลายพันก็บรรลุธรรม แม้ในขณะที่แสดงการละเล่น ยังบรรลุธรรมได้ ต่อหน้าผู้คนมากมาย แม้จิตจะเป็นอกุศลในขณะที่แสดงการละเล่น แต่ก็สามารถรู้ความจริงในขณะที่เป็นอกุศล และบรรลุธรรมได้ ไม่ต้องกล่าวถึง เจออะไรภายนอกในสมัยนี้ แม้แสดงศิลปะต่อหน้าผู้คนนับแสนก็บรรลุธรรม ครับ

เพราะฉะนั้น สมัยพุทธกาล จึงไม่มีห้องปฏิบัติ สำนักปฏิบัติเลย เพราะในความจริงแล้ว สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง เป็นปัญญาที่ควร ปฏิบัติ รู้ความจริง ควรรู้ อันเป็นปัญญาที่รู้ ปฏิบัติหน้าที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
edu
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
samroang69
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอบคุณนะครับที่ให้ได้รู้และเข้าใจถูกตามความเป็นจริง

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
หลานตาจอน
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
akrapat
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ถ้ามีโอกาสก็ไปแสวงหาความสงบครับ แต่คนละอย่างกับปัญญา ความสงบจากกิเลสมันก็มีประโยชน์ ตรงที่ใจมีกำลังได้พักผ่อนในสมาธิแบบที่พระป่าท่านชอบปฏิบัติ แต่ต้องเข้าใจว่านั่นยังไม่ใช่วิปัสสนา ที่เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญา แต่ไม่ได้หมายความว่าพระป่าท่านไม่ได้สอนให้เจริญวิปัสสนากัมมฐานนะ ท่านสอน แต่ลูกศิษย์นั่นแหละ ไปไม่ถึง เลยไม่เข้าใจ เลยหาว่าท่านสอนผิด เพราะส่วนใหญ่ คนที่ชอบไปปฏิบัติธรรมตามสำนัก มักจะชอบความสงบหลีกหนีความวุ่นวาย ต้องการหลีกหนีปัญหาชีวิต หรือความทุกข์ใจชั่วครั้งชั่วคราว ครูบาอาจารย์ท่านเลยแนะนำวิธีการให้จิตมันได้พักผ่อนจะได้ไม่ฟุ้งไปกับอารมณ์ แล้วค่อยมาสอนวิธีการเจริญปัญญาภายหลัง เพราะคนที่มีความทุกข์มากๆ จะให้มานั่งฟังธรรม มาอธิบาย จิต เจตสิก รูป มันจะเอาอยู่ไหมล่ะ หรือมานั่งการสาธยาย สภาพธรรมะ แต่ละอย่างนั้นไม่ใช่เรา มันจะรู้เรื่องไหม ปัญญาหรือการสั่งสมแต่ละคนมันสะสมมาไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน จะใช้วิธีการสอนอย่างเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ รู้ว่าต้องเริ่มต้นด้วยการฟังให้เข้าใจ ถ้าเริ่มต้นผิด ก็ผิดทาง แต่ถามหน่อยเถอะ ที่หลายท่านฟังอยู่ทุกวันนี้ คิดว่าเข้าใจหรือยัง ผมไม่อยากให้ไปกล่าวหาหรือไปพาดพิงสำนักอื่น หรือปรามาสครูบาอาจารย์สายพระป่า เดี๋ยวจะตกนรกเอา ความเข้าใจในขั้นการฟัง การคิด มันสร้างเหตุของความเห็นถูกก็จริง แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ความจริง ท่านก็ยังละคลายความยึดถือในสภาพธรรมะได้ ฉันใด คนที่เขาไปปฏิบัติแม้ในขั้นต้นจะยังไม่ใช่การเจริญปัญญา แต่อย่างน้อยเขาย่อมได้สมถะใช่หรือไม่ เพราะพระพุทธองค์ท่านไม่ได้ปฏิเสธสมถะ เสียทีเดียว เพราะท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านคงไม่ได้รังเกียจสมถะขนาดนั้น แต่ท่านกลัวว่าจะเป็นสมถะผิดทางมากกว่า ผมคิดว่าวิทยากรอย่าปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ หมายถึงตัวเองไม่ได้ฌาน แล้วจะบอกว่าฌานไม่ดี ผมจะบอกให้นะ ขณะที่จิตเกิดอริยมรรคประหารสังโยชน์เป็นพระอริยบุคคล แม้บางท่านจะไม่ได้ฌาน แต่มันต้องมีอย่างน้อยปฐมฌาน เป็นบาทฐานเรียกว่า มีกำลังสมาธิเล็กน้อยเสมอ เรียกว่า ประเภทสุกขวิปัสสกะ แต่ไม่ได้หมายความว่าไปเข้าฌานนั่งสมาธิเพื่อบรรลุธรรม และสมัยพุทธกาลคนที่เขาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุธรรม ไม่ใช่เขานั่งฟังอย่างที่พวกท่านนั่งฟัง อ.สุจินต์ หรอก เขาฟังด้วยอารมณ์จิตที่ตั้งมั่นในปฐมฌาน มีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา และอุเบกขา (สังขารอุเบกขาญาณ) ในสภาพธรรมะทั้งหมดที่กล่าวมา จิตจึงน้อมนำไปสู่ นิพพาน แต่ส่วนใหญ่ที่นั่งฟัง อ.สุจินต์ คือ ฟังแล้วคิดเป็นเรื่องราว แล้วก็สงสัย แล้วก็ถาม เขาเรียกว่าฟังด้วย อารมณ์ที่เรียกว่าหลง หรือฟังแล้วเกิดนิวรณ์ทั้งนั้น

แล้วนิวรณ์คืออะไร นิวรณ์คือเครื่องกั้นของสมาธิใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้น ก็อย่าได้แปลกใจว่า ทำไมจึงต้องฟังเรื่อยๆ สะสมไปทีละเล็กละน้อย ก็เพราะจิตมันไม่มีกำลัง ไม่มีบาทฐานของฌาน หรือสมาธิเป็นตัวหนุน มันก็ได้นะและไม่ผิดทางด้วย แต่นานมากๆ และการทำวัตรการสวดมนต์ มันก็เป็นไปเพื่อจิตมันได้มีสมาธิ ไม่ใช่สวดเพื่อให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น อย่าพาดพิง อย่าทะเลาะเลยครับ เกิดอกุศลจิตเปล่าๆ เผอิญผมเคยเป็นน่ะ คือ มีทิฏฐิ มานะ เยอะ ถือดี อวดเก่ง พอไปกราบครูบาอาจารย์สายพระป่ายังกับแบกพระไตรปิฎกไป สิบเล่ม คอยจับผิด คำพูด กิริยาท่าน ไม่ฟังคำสอน ไม่เชื่อ พอท่านบอกให้วางก็ไม่ยอมวาง ก็ไม่เข้าใจ ว่าวางอะไร ท่านจึงไม่พูดต่อไม่สอนต่อ พอเข้าใจอีกทีนึง ก็ถึงบางอ้อ ว่าสิ่งที่วางยากที่สุด คือ "คำว่าเรารู้แล้ว" หรือปล่อยวางในสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้นั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

เรียนเชิญสหายธรรมร่วมแสดงความคิดเห็นในความเห็น ที่ 9

เพื่อประโยชน์ในความเข้าใจที่ถูกต้อง ในพระธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

ตามการสะสม เพราะอัธยาศัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ และเคยสะสมความเห็นถูกมาในอดีต ก็เป็นปัจจัยให้เขาได้พบหนทางถูก คิดถูก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
รากไม้
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

การเข้าสู่ป่า เพื่อหลีกเร้นผู้คน อยู่อย่างสงัดนั้น จะต้องเป็นไปเพื่อละ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ

... ถ้าเป็นไปเพื่อหวังจะได้แม้แต่ความสงบ ก็เป็นอกุศลโดยมีอวิชชาปิดบังความจริงนี้ไว้ จิตที่สงบจากอกุศล ไม่ใช่ได้มาด้วยการแสวงหารูปภายนอก ที่จะเกื้อกูลให้จิตได้ความสงบ แล้วเสพอารมณ์นั้น ... แต่ว่าเกิดจากจิตที่ถูกขัดเกลาด้วยอุบายอันแยบคายต่างๆ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จนจิตสงบจากอกุศลตลอดเวลาในชีวิตประจำวันโดยอาศัยปัญญาที่รู้จักอกุศลลักษณะต่างๆ และ สติปัฏฐาน เป็นต้น

ความสุขอันประณีต สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีที่จิตสความสงบจากอกุศล โดยไม่ต้องรอว่าจะต้องไปสู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่งแล้วจึงจะสุข เพราะว่าสุขและทุกข์นั้นล้วนแล้วไม่ได้เกิดจากรูป ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ... ทุกข์มันเกิดกับจิต เกิดอยู่ในจิต จะหนีไปที่ไหน จะไปอยู่อย่างไร จะเงียบสงัดแค่ไหน ก็ต้องไม่พ้นทุกข์เหล่านี้ไปได้ ...

... ถ้าหากจิตยังมากด้วย โลภะ โทสะ อวิชชา (มีอกุศลเกิดบ่อย) อยู่ที่ไหนๆ ก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าจิตมีอโลภะ อโทสะ ปัญญา อยู่ที่ไหนก็จะมีแต่สุขที่สงบเย็น และยั่งยืนกว่า ... ก็ด้วยจิตที่อยากได้แต่สุข เกลียดทุกข์ นี้แหละ ที่เป็นเหตุให้เกิดความดิ้นรนแสวงหา ต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด

อกุศลธรรมทั้งปวงสะสมอยู่ในจิตเป็นอนุสัย ไม่ว่าจะหนีไปไหน อกุศลเหล่านี้ก็ย่อมตามติดไปด้วยทุกที่ ... ส่วนการไปสู่สถานที่สงบ เช่น ในป่าอันสงัด หรือ อยู่บ้านที่เงียบสงบปลอดภัยโดยลำพังคนเดียวก็เป็นเหตุให้หมดเรื่องให้คิด หมดเรื่องให้ห่วงกังวลลงได้บ้าง ความสุขที่ได้จากความสงบจากอกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่ว่ามันแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะมันไม่มีเหตุปัจจัยให้จิตไม่สงบ ... จิตจึงสงบ แต่ถ้าเป็นผู้ยังมีความไม่รู้ ก็จะเกิดโลภะไปติตอีกว่า รูปสถานที่นั้นๆ ทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เรื่องของการละอกุศล แต่อย่างใดเลย เพราะมีอวิชชาครอบงำอยู่ตลอด

บางคนอาจจะแย้งว่า การรู้จักว่าสถานที่อันวุ่นวายนั้นเป็นเหตุให้จิตใจไม่สงบ จึงต้องการจะตัดเหตุปัจจัยนั้น คือปัญญาที่รู้จักเหตุของความไม่สงบ แล้วจึงละเหตุนั้น ... ความเห็นนี้ก็ถูกแต่ว่าถูกเพียงส่วนเดียว เพราะถ้าหากว่าปัญญารู้แค่นี้ ก็จะใช้การหนีความวุ่นวายไปเรื่อยๆ ทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะหนีได้ตลอดไปทุกครั้ง ... ดังนั้น ปัญญาที่ระดับสูงกว่านั้น ก็จะต้องรู้จักเหตุที่แท้จริงว่า จะต้องละเหตุที่แท้จริงคือตัวอกุศลที่เป็นอนุสัยที่สะสมนอนเนืองอยู่ตลอดเวลาด้วย ... แล้วค่อยๆ เริ่มลงมือขัดเกลา อนุสัยกิเลส อย่างจริงจัง โดยไม่เลือกเวลาและสถานที่

ขออนุโมทนากุศลจิตทุกท่านครับ ... และขอกราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ทำให้ผมได้เกิดปัญญาอันหาค่ามิได้นี้

ขออุทิศกุศลทั้งปวงแด่ท่านอาจารย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
kinder
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

เห็นด้วยกับคุณ wannee.s และขอนุโมทนาครับที่เข้ามาร่วมสนทนาธรรม ธรรมะที่องค์สัมมาสัมพุทธะเจ้าทรงตรัสรู้เป็นเรื่องที่ละเอียดมากครับ ฟังธรรม พิจารณาค่อยๆ เข้าใจ ท่าน อ.สุจินต์ และสหายธรรมใน web นี้ทำให้ผมค่อยๆ เข้าใจธรรมะขึ้นทุกครั้งที่ได้ฟังธรรมครับ ต้องกราบขอบพระคุณมากครับ

มิจฉาทิฏฐิ มีโทษมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
akrapat
วันที่ 3 ก.ค. 2555

ขอขอบคุณและอนุโมทนา กระผมสติปัญญายังเล็กน้อย ขออภัยที่ใช้วาจาล่วงเกินท่าน พูดไปตามกิเลสที่ยังมีอยู่น่ะ แล้วแต่ขณะใดอกุศลจิตใดจะเกิด ก็พูดไปตามนั้น ขออภัยและอโหสิกรรมผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมทั้งหลายครับ

ขอบคุณที่ให้โอกาสร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
เข้าใจ
วันที่ 30 ก.ค. 2555

ตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ครับ สิ่งที่สะสมไว้ดีแล้วคือสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ครับมีทั้งเหตุ และผลอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ อยู่แล้วครับ กุศล อกุศลล้วนเป็นสภาพธรรม

กราบอนุโมทนา ในสัมมาทิฏฐิของทุกๆ ท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ