เจตสิกที่เกิดร่วม ๗ ประเภทอย่างไร

 
เข้าใจ
วันที่  28 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21310
อ่าน  6,034

ทางตาเห็นเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็เพราะเป็นผลกรรมเป็นปัจจัยจึงทำให้เห็นเกิดขึ้น ถ้าเห็นแล้วเป็นกุศลวิบากก็เป็นการเห็นของสิ่งที่ดี ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก คืออยากทราบเกี่ยวกับเจตสิกที่เกิดร่วมเขามีการทำกิจการงานอย่างไร คืออยากทราบชื่อที่เป็นบัญญัติคำเช่นเห็นที่เป็นกุศล มีโสภณกุศลวิบากเจตสิกเป็นปัจจัย ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็มีอโสภณอกุศลวิบากเป็นปัจจัย แล้วถ้าเห็นแล้วชอบใจ ดีใจก็มี โลภเจตสิกเป็นปัจจัยประกอบกับโมหมูลจิตด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นแล้วเกิดไม่ชอบใจก็มีโทสเจตสิกเป็นปัจจัยประกอบโมหมูลจิตด้วยหรือไม่ คือผมอยากให้อาจารย์อธิบายภาษาบัญญัติคำด้วยครับ

แล้วเห็นเกิดขึ้นหนึ่งขณะนี่มีเจตสิกเกิดร่วมทำงานอย่างไรที่ว่า ๗ ขณะเพื่อเป็นการเข้าใจในการศึกษาพระธรรมเพื่มขึ้นครับจึงเรียนมาด้วยความเคารพ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

แล้วเห็นเกิดขึ้นหนึ่งขณะนี่มีเจตสิกเกิดร่วมทำงานอย่างไร

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ดังนั้น จักขุวิญญาณ จิตเห็น รวมทั้ง โสตวิญญาณจิต จิตได้ยิน ฆานวิญญาณ จิตได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณ จิตที่รู้รส กายวิญญาณ จิตที่รู้กระทบสัมผัส อย่างละ ๒ ดวง รวมเรียกว่า ทวิปัญญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จะต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นอย่างน้อย ๗ ดวง ซึ่ง ทวิปัญจวิญาณ ๑๐ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท ดังนี้

๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์

๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์

๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์

๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์

๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้

๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์


๑. ผัสสเจตสิก ทำหน้าที่กระทบในขณะนั้น เช่น ขณะที่เห็น ผัสสเจตสิก ทำหน้าที่กระทบอารมณ์ในขณะที่เห็นในขณะนั้นครับ ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรม ที่กระทบอารมณ์ ผัสสเจตสิก ไม่ใช่ จักขุปสาทรูป ที่กระทบกับ รูปารมณ์ จักขุปสาทรูป เป็นรูปธรรม รูปารมณ์เป็นรูปธรรม แต่ต้องเป็นผัสสเจตสิกที่กระทบรูปารมณ์ โดยอาศัย จักขุปสาทรูป.

เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมปรากฏเช่น ขณะนี้ มีการเห็น และ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ผัสสเจตสิก ... ไม่ได้ปรากฏ แต่ หมายความว่า สภาพธรรมเหล่านี้ จะปรากฏได้ ก็ต้องมี ผัสสเจตสิก เมื่อสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏได้ก็แสดงว่า ขณะนี้ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดขึ้นด้วย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ผัสสเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ทำหน้าที่รู้สึก ซึ่งแบ่งเป็นความรู้สึก สุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่เห็น จิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้นยังไม่สุข หรือ ทุกข์เลย เพียงเห็นขณะนั้น มีอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ทำหน้าที่รู้สึกเฉยๆ ในขณะนั้น ครับ เพราะยังไม่ยินดี ยินร้าย ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

เวทนาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก



๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์ ขณะที่เห็นมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จำหมายในอารมณ์นั้น เช่น จำในสีที่กำลังปรากฏในขณะที่เห็น นั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

สัญญาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก



๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ เจตนาที่เกิดร่วมด้วยกับจิตเห็น เป็นจิตชาติวิบาก เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก ไม่ได้ทำหน้าที่ที่เป็นกรรมที่เป็น กุศลกรรม อกุศลกรรม แต่เป็นเพียงเจตนาที่เกิดร่วมกับจิตชาติวิบากนั้น เป็น เจตนาที่จงใจ ตั้งใจ ที่เกิดพร้อมกับจิตเห็นเท่านั้นครับ อันมีกรรมในอดีต เป็นปัจจัย เจตนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็น จึงไม่ให้ผล ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

จตนาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก


๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีเอกัคคตาเจตสิก เกิดร่วมด้วยเสมอ แม้ขณะที่เห็น จิตเห็นเกิดขึ้น ก็ต้องมี เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเอกัคคตาเจตสิกทำหน้าที่ ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น คือ เป็นสมาธิ ในขณะนั้น แต่เป็นชั่วขณะจิต

เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น เอกัคคตาเจตสิก ทำหน้าที่ จดจ่อตั้งมั่นในอารมณ์นั้นในขณะที่เห็น เป็นสมาธิชั่วขณะที่เรียกว่า ขณิกะสมาธิ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ..

เอกัคคตาเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก



๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดำรงรักษาสัมปยุตตธรรม ให้ดำรงชีวิตอยู่ก่อนที่จะดับไป แม้แต่นามธรรมที่เกิดขึ้น มีจิตเห็น กำลังเห็น จิตเห็นจะดำรงอยู่ได้เพียงชั่วขณะ ก็ยังต้องอาศัยปัจจัย คือชีวิตินทริยเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นรักษาไว้ จึงดำรงอยู่ได้ ชีวิตินทริยเจตสิกจึงเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันโดยเป็นอินทริยปัจจัย คือ เป็นใหญ่ในการรักษาสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้ดำรงอยู่ชั่วขณะก่อนที่จะดับไป

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ชีวิตินทริยเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก


๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์ ขณะที่เห็น มีมนสิการเจตสิกเกดร่วมด้วย กำลังใส่ใจ มุ่งตรงต่ออารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

มนสิการเจตสิก -- สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ถ้าเห็นแล้วชอบใจดีใจก็มี โลภเจตสิกเป็นปัจจัยประกอบกับโมหมูลจิตด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นแล้วเกิดไม่ชอบใจก็มีโทสเจตสิกเป็นปัจจัยประกอบโมหมูลจิตด้วยหรือไม่


ขณะที่เห็นแล้วชอบใจ ดีใจที่เป็นโลภมูลจิตด้วยจิตที่เป็นอกุศล ขณะนั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยโลภเจตสิก และ ที่สำคัญ ประกอบด้วย โมหเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นโมหมูลจิตครับ เพราะ ขณะที่ชอบใจ ติดข้อง เราเรียกว่า โลภมูลจิต เพราะมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยมี เจตสิกที่เป็นสาธารณะเหตุฝ่ายอกุศล คือ โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ไม่ใช่เรียกว่า โมหมูลจิต ขณะที่ชอบ ยินดีพอใจ แต่ เรียกว่า โลภมูลจิต เพราะมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย อันมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่โมหมูลจิตเกิดร่วมด้วย ครับ

ถ้าเห็นเกิดแล้วไม่ชอบ ขณะที่ไม่ชอบ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต ไม่ใช่ขณะที่เห็น โทสมูลจิต มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมๆ กับ โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ

ถ้าจะกล่าวให้ถูก ก็ต้องกล่าวว่าเป็นโทสมูลจิต อันมีโทสเจตสิก และ โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่มีโมหมูลจิตเกิดร่วมด้วย ครับ

ส่วนโมหมูลจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ คือ โมหเจตสิกเหตุเดียว ไม่มีโทสเจตสิก โลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเรียกว่า โมหมูลจิต จิตที่มี โมหเจตสิก เป็นมูล เป็นเหตุกับจิตนั้น ครับ

สรุปได้ว่า อกุศลจิตที่เกิดขึ้น จะต้องมี อกุศลเหตุ ที่เกิดร่วมด้วยเสมอ คือ โมหเจตสิก อหิริกะเจตสิก อโนตตัปปะเจตสิก และ อุทธัจจะเจตสิก ครับ แต่เมื่อมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับอกุศลประเภทใด ไม่จำเป็นจะต้องเรียกว่า เป็นโมหมูลจิต ตามที่ได้อธิบายมาทั้งหมด

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

โลภมูลจิต

โทสมูลจิต

โมหมูลจิต

อกุศลสาธารณเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เกิดร่วมด้วยเสมอตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ สำหรับในขณะที่เห็น ก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง คือ จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) เกิดขึ้นรู้สี หรือ รูปารมณ์ จักขุวิญญาณ มีเจตสิก เกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ได้แก่

ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์)

เวทนา (ความรู้สึก)

สัญญา (ความจำ)

เจตนา (จงใจขวนขวายให้ธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจของตนๆ )

เอกัคคตา (ตั้งมั่นในอารมณ์)

ชีวิตินทรีย์ (สภาพธรรมเป็นใหญ่ในการรักษาธรรมที่เกิดพร้อมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ

มนสิการะ (สภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์)

เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ รู้อารมณ์เดียวกันกับจักขุวิญญาณ อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจักขุวิญญาณ และ ดับพร้อมกับจักขุวิญญาณ

นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้ แม้แต่จักขุวิญญาณ ก็บังคับให้เกิดไม่ได้ ไม่มีใครทำเห็นให้เกิดขึ้นได้ แต่เห็นก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เราที่เห็น

พระธรรมทั้งหมดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เรา

หลังจากเห็นแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลว่า จะเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และ ถ้าเป็นอกุศล ก็ไม่พ้นไปจาก ความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ และถ้าไม่ใช่ความติดข้องยินดีพอใจ ไม่ใช่ความโกรธความขุ่นเคืองใจ ก็เป็นความหลง ความไม่รู้ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่า อกุศล นี้ มุ่งหมายถึง ทั้งอกุศลจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
aurasa
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
edu
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้น นอกจากจะมีเจตสิก ๗ ประเภทแล้ว ก็ยังมีเจตสิกฝ่ายดีอื่นๆ เกิดร่วมด้วยอีก เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ปรุงแต่งให้จิตเป็นกุศล ขณะนั้นอกุศลเกิดไม่ได้ ทั้งหมดเป็นธรรมะที่มีจริง ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
lovedhamma
วันที่ 24 เม.ย. 2562

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
lokiya
วันที่ 15 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Sea
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
มังกรทอง
วันที่ 27 มี.ค. 2567

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ