อริยสัจ ๔ มรรค ๘

 
nano16233
วันที่  12 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22161
อ่าน  5,356

หา พระสูตรที่ว่าด้วย อริยสัจ ๔ มรรค ๘

ขอช่วยแสดงด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความหมายของอริยสัจจะ

๑. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ

๒. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อริยสัจจะ

๓. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็นพระอริยะ ชื่อ อริยสัจ

๔. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง

๕. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง

จากที่ถามว่า ธรรมทั้งปวง ย่อมประชุมลงในอริยสัจ ๔ ธรรม ในที่นี้หมายถึงอะไร

ธรรมทั้งปวงในที่นี้ ก็หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด คือ ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน ครับ เพราะเป็นสัจจะ-ความจริงทั้งหมดครับ ในเมื่อสภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริง เป็นสัจจะ จึงไม่พ้นจากอริยสัจ ๔ ซึ่งจะขอแบ่งอริยสัจแต่ละอริยสัจ ว่ามีสภาพธรรมที่มีจริงอะไรบ้างครับ

๑. ทุกขอริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ คือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ เพราะผู้ที่ตรัสรู้ความจริง คือทุกขธรรมเหล่านี้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงความประเสริฐ คือเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า

๒. สมุทัยอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ๑ เป็นความจริงอย่างประเสริฐคือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกียธรรม

๓. นิโรธอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ พระนิพพาน ความจริงอย่างประเสริฐ คือความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อถึงการดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก พระนิพพาน เป็นโลกุตตรธรรม

๔. มัคคอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ในมรรคจิตตุปบาททั้ง ๔ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นเป็นมรรคสมังคี ทำกิจประหารกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้บุคคลที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น


ส่วนพระสูตรที่ขยายความอริยสัจ ๔ มีดังนี้

ขอเชิญคลิกอ่านตรงนี้

ขันธสูตร ว่าด้วยอริยสัจ ๔ [สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค]


และ ในพระไตรปิฎกที่อธิบาย อริยสัจ ๔ ขยายความโดยละเอียดมีดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 232

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 281

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

อริยสัจ ๔ [อรหันตสูตร]

อริยสัจ ๔

กระผมสนใจ เกี่ยวกับ อริยสัจ ๔ ครับผม

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ ครับ

- อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยะ ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลสตามลำดับขั้น เป็นสัจจะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสัจจะ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ว่าโดยประเภทแล้ว มี ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค, ทุกข์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เกิดแล้วย่อมดับไป เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิกและ รูปเลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา, สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์นี้ ก็เพราะตัณหา ตราบใดที่ยังมีตัณหา ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดการตายอย่างไม่จบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น, นิโรธ เป็นความดับทุกข์ ดับกิเลส ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลส ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์อย่างสิ้นเชิง ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้น, มรรค เป็นหนทางอันประเสริฐที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นต้น อันเป็นทางอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอริยสงฆ์สาวก ดำเนินไปแล้ว ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยบุคคล พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายกิเลสทุกๆ ประการ มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ความเข้าใจของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา จะต้องเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล โดยไม่ขาดการฟังการศึกษา เห็นประโยชน์ในการรู้ความจริง ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม สิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ

- พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก และที่สำคัญ แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม การที่จะเข้าใจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธแล้ว ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรมและมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง จะไปหาทางลัด ด้วยการไปทำอะไรที่ผิดปกติ ไปปฏิบัติผิดด้วยความเป็นตัวตนมีความจดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริง หนทางหรือปฏิปทา ที่จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) มีทางเดียวเท่านั้น คือ มรรคมีองค์ ๘ เริ่มตั้งแต่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อสะสมปัญญา จากการฟังธรรมในแต่ละครั้ง ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันบ่อยๆ เนืองๆ โดยไม่ขาดการฟัง ก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ โดยสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปปฏิบัติเลย เพราะเป็นกิจหน้าที่ของธรรม ไม่ใช่เรา และเมื่อสะสมปัญญามากขึ้น คมกล้าขึ้น ในที่สุดก็จะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลด้วยหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญานี้เท่านั้นจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตก็ดำเนินตามทางนี้มาแล้วจึงบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ครับ

ขอกราบนิมนต์พระคุณเจ้าคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ปฐมตถาคตสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 12 ธ.ค. 2555

อริยสัจ ๔ เป็นปัญญาของผู้ที่เจริญ และรู้เหตุปัจจัยว่านี้ทุกข์ นี้เหตุแห่งทุกข์ และนี้หนทางดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ ซึ่งมีในส่วนต่างๆ ของพระไตรปิฎก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ