การคบหาสมาคมนั้นให้ผลเปลี่ยนวิถีกรรมใช่หรือเปล่าคะ

 
ดรุณี
วันที่  7 เม.ย. 2556
หมายเลข  22730
อ่าน  3,133

การคบหาสมาคม ให้ผลเปลี่ยนวิถีกรรมใช่หรือเปล่าคะ อย่างเช่น ผู้ที่จะได้เป็นพระอริยบุคคลในปัจจุบันชาติ แต่เพราะคบสหายไม่ดี เลยพลาดกระทำชั่วร้ายแรง ชาติถัดไปจึงตกนรกยาวนาน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การคบหาสมาคม มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ การคบหรือสมาคมกับคนพาลและการคบหรือการสมาคมกับบัณฑิต

ตามปกติในชีวิตประจำวัน ชีวิตของคนเราต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมเป็นธรรมดา เนื่องจากว่าเราไม่ได้อยู่ลำพังแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ประการที่สำคัญคือ เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ มีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น ย่อมเข้าใจว่ากุศลและกุศลในชีวิตประจำวัน ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีเหตุปัจจัยจึงจะเกิดขึ้น เหตุปัจจัยที่ว่านั้น มีทั้งเหตุปัจจัยภายในคือการสะสมมาของแต่ละบุคคล รวมทั้งเหตุปัจจัยภายนอกคือการคบมิตร หรือ การคบคน ด้วย

บุคคลที่พลาดโอกาสในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้น อย่างเช่นพระเจ้าอชาตศัตรู ได้กระทำกรรมอันหนัก ก็มาจากการได้คบหาสมาคมกับผู้ที่เป็นคนพาล คือพระเทวทัต ทำให้คล้อยตามในความประพฤติที่ผิด

จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงมงคลไว้ เริ่มต้นด้วย ๒ ประการ คือ การไม่คบคนพาล และ การคบบัณฑิต เป็นมงคลอันสูงสุด, คนพาล คือ บุคคลที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ มักจะแนะนำผู้อื่นไปในทางผิด ชักจูงไปในทางเสื่อม เช่น แนะนำให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นต้น เมื่อคบกับคนพาล เสพคุ้นกับคนพาลมากขึ้น เพราะความเข้าใจของเราที่ยังไม่มั่นคงพอ ย่อมทำให้หวั่นไหวเปลี่ยนแปลงได้ คล้อยตามไปได้โดยง่าย การอยู่ร่วมหรือคบกับคนพาล นำมาซึ่งกุศลธรรมและความเสื่อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเราคบบัณฑิต ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเห็นถูก (มีปัญญา) แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และห้ามจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กล่าวคือ ให้ออกจากกุศล แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศล ก็ย่อมทำให้เรามีความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม แต่สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้ว่าใครเป็นพาลหรือบัณฑิต อุปมาเหมือนกับผู้มีตาดีทั้งสองข้าง ย่อมจะรู้ได้ว่าใครเป็นคนตาดีและใครเป็นคนตาบอด

ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน ควรอย่างยิ่งที่จะคบบัณฑิตผู้มีปัญญา ผู้เป็นกัลยาณมิตรสูงสุด คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คบด้วยการฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงด้วยความเคารพและมีความจริงใจที่จะประพฤิตปฏิบัติตามด้วย การคบบัณฑิต กัลยาณมิตรผู้มีปัญญา ย่อมนำมาซึ่งความเจริญทั้งปวง ไม่นำความเสื่อมมาให้เลยแม้แต่น้อย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ควรคบแต่บัณฑิต ไม่ควรคบคนพาล

คบบัณฑิต คอยเกื้อกูลในทางธรรมอยู่เสมอๆ

คบคนพาล ย่อมเป็นทางที่จะนำเราไปสู่ความเสื่อม

หนทางของคนพาล กับ บัณฑิต

อรรถกถา อกิตติจริยาที่ ๑ .. การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต

คนพาลเห็นโลกนี้เป็นปกติ

การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต เป็นอุดมมงตล

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่เรื่องการคบหาสมาคม เพราะลึกซึ้งด้วยเหตุที่ว่า มีแต่ธรรมไม่ใช่เรา โดยทั่วไป หากอ่านโดยนัยพระสูตร ก็สำคัญว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่ในความเป็นจริงแล้วมีแต่ธรรมไม่ใช่เรา คือ มีจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ที่สมมติว่าเป็นคนดี คือ ขณะที่ความดี กุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะที่สมมติว่าเป็นคนชั่ว คือ ขณะที่อกุศลธรรม จิตและเจตสิกที่ไม่ดีเกิดขึ้น

ดังนั้น ที่ผู้ถามกล่าวว่า การเปลี่ยนวิถีกรรม ในความเป็นจริง คือ วิถีจิตที่เกิดขึ้น คือ วิถีจิตที่เป็นไปในจิตแต่ละประภท แต่ขณะที่เป็นวิถีที่เป็นกรรม คือ ชวนจิตที่แล่นไป ๗ ขณะ ที่เป็นกุศลจิต ๗ ขณะ อกุศลจิต ๗ ขณะ ที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ชื่อว่าเป็นกรรมในขณะนั้น ซึ่งจะสะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีหรือไม่ดี ทำให้มีปัญญา หรือ มีความเห็นผิด รวมทั้งวิถีจิตที่เป็นขณะที่เป็นชวนจิต ก็เป็นวิถีของการทำกรรมด้วย คือ ทำให้เป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิและเป็นเหตุให้เกิดในทุคติภูมิ มี นรก เป็นต้น

การเข้าใจในเรื่องการคบคนพาล และ บัณฑิต จึงต้องละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ที่ไม่ใช่เพียงโดยนัยสัตว์ บุคคล สมมติว่าเป็นมิตรที่ดี หรือ ไม่ดี แต่สิ่งใดก็ตาม แม้ไม่ใช่สัตว์บุคคล แต่ทำให้อกุศลเจริญขึ้น เกิดวิถีจิตทางใจที่เป็นอกุศลเพิ่มขึ้น กุศลจิตไม่เกิด สิ่งเหล่านั้น ก็ชื่อว่ากำลังเสพ กำลังเสพคุ้นด้วยใจในสิ่งนั้นที่ทำให้เกิดอกุศลจิต ชื่อว่ากำลังคบพาลอยู่ ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่การอ่านหนังสือที่แสดงถึงความเห็นผิด ขณะนั้นก็ชื่อว่ากำลังคบพาล เพราะ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรม หรือ ความเห็นผิด และ ขณะใดที่ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง แม้ไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว แต่พระธรรมของพระองค์ยังอยู่ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ทำให้เกิดกุศล เกิดปัญญา ชื่อว่า เป็นมิตรที่ดี ขณะที่อ่าน ศึกษาพระธรรม กำลังคบมิตรที่ประเสริฐอยู่ แม้จะไม่มีสัตว์บุคคลเลย

ซึ่งผู้ที่คบในความเห็นผิด คบในสิ่งที่ผิด ย่อมทำให้พลาดจากสวรรค์ และ มรรคผล นิพพาน เพราะเหตุว่าเกิดวิถีจิต เกิดการทำกรรมที่เป็นอกุศกรรม ที่ห้ามมรรคผลและห้ามสวรรค์ ส่วนผู้ที่คบกับความเห็นถูก ก็เป็นปัจจัยให้เจริญขึ้นในปัญญา และกุศลธรรมประการต่างๆ และทำให้เกิดในสุคติภูมิ

พระธรรมจึงละเอียดขึ้นไปอีกว่า ธรรมที่จะทำให้เกิดการทำกรรม มี อยู่ ๒ ส่วน คือ เหตุภายใน และ เหตุภายนอก

เหตุภายนอก คือ การได้ยิน การได้เห็น เป็นต้น ในสิ่งที่ทำให้กุศลธรรมเจริญหรือเสื่อม ซึ่งสมมติว่าเป็นคนพาลหรือบัณฑิต แท้ที่จริง ก็ไม่พ้นจากการเห็น การได้ยิน ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะทำให้เกิด กุศลจิต หรือ เกิด อกุศลจิต เพียงแต่สมมติว่าเป็นคนพาล หรือ บัณฑิต

เหตุภายใน ก็เป็นส่วนสำคัญ คือ จิตใจของบุคคลนั้นเองที่ได้สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรมมาแล้ว และ สะสมความเห็นผิด อกุศลธรรมมาแล้ว เพราะว่าแม้จะได้เห็น ได้ยิน สิ่งที่จะทำให้เกิดความเห็นผิด โดยสมมติว่า คบคนพาล หากแต่ว่า สะสมความดี สะสมปัญญามา ก็ทำให้ปฏิเสธ และไม่สนใจในสิ่งนั้นได้ มีท่านพระสารีบุตร เป็นต้น ที่นับถืออาจารย์ที่เห็นผิดทีแรก แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนได้ เพราะได้คบความเห็นถูก และ สะสมความเห็นถูกมา ครับ

ที่สำคัญที่สุด ในการคบมิตร คบบัณฑิต ขอให้ย้อนกลับไปที่สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าอะไร คือ มิตร อะไร คือ พาล เพราะ ในเมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม มิตรที่แท้จริง คือ กุศลธรรมในจิตใจของแต่ละคน ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ชื่อว่า กำลังคบมิตรที่ดี กำลังเสพคุ้น คบกับมิตรที่ประเสริฐ และ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นกำลังคบกับศัตรู กำลังคบกับคนพาล เพราะ อกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเองนั่นแหละ เป็น คนพาล ไม่ใช่มิตร เพราะ ทำให้เกิดในอบายภูมิ มี นรก เป็นต้น และ ทำให้ไม่พ้นจากทุกข์

การจะคบมิตรที่ดี เว้นจากคนพาล หนทางมีอยู่ คือ การคบกับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะทำให้เกิดกุศลธรรม เกิดมิตรที่ดีในจิตใจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้พ้นจากกิเลส ที่สมมติว่าเป็นคนพาลได้ในที่สุด

ความดี ความชั่ว คนพาล บัณฑิต ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล คือ ขณะนี้เอง ที่ใจของตนเองที่กำลังเกิดจิตแต่ละขณะ ที่เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม เพียงแต่ ควรเสพคุ้นกับสิ่งที่ทำให้กุศลเจริญ และ ให้อกุศลธรรมเสื่อมไป เพียงแต่ว่า ขอให้เข้าใจความละเอียดที่ว่า ไม่มีใครหลีกพ้นจากสิ่งที่สมมติว่าเป็นคนพาลได้ ที่จะทำให้เกิดอกุศลธรรม เกิดอกุศลจิต เพราะ กิเลสที่สะสมมาทำให้เกิดอกุศล เพียงแต่ว่า ควรสะสมกุศลธรรมที่เป็นมิตรแท้ให้มั่นคงในจิตใจ แม้เมื่อใดอกุศลจิตเกิด ที่เป็นคนพาลในจิตใจ ปัญญาที่สะสมมาก็จะทำให้เข้าใจว่า พาล คือ สิ่งที่สมมติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ที่เรียกว่า คนพาล แท้ที่จริง ก็คือ อกุศลจิตในใจของตนเอง ที่ไม่ใช่ใคร เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น การละคลายกิเลสที่ถูกต้อง จึงต้องละ แม้แต่การสำคัญว่า มีคนพาล มีบัณฑิต ด้วยเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ ความละเอียด ในเรื่องการคบพาลและบัณฑิตครับ ซึ่งจะเข้าใจได้ด้วยการฟังพระธรรม อบรมปัญญาอย่างยาวนาน

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ดรุณี
วันที่ 8 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 9 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 11 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 17 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 17 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
มกร
วันที่ 14 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ