คัททูลสูตรที่ ๒ - อุปมาขันธ์ ๕ - ๒๘ ต.ค. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2549
หมายเลข  2304
อ่าน  1,609

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ทุกวันเสาร์ ...

ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๙ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

๘. คัททูลสูตรที่ ๒

ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ หน้าที่ 342

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 ต.ค. 2549

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ หน้าที่ 342

๘. คัททูลสูตรที่ ๒

ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข

[๒๕๘] กรุงสาวัตถี ที่เชตวนาราม ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสงสารนี้ มีที่สุดเบื้องต้นอันบุคคลตามไปรู้ไม่ได้แล้ว เงื่อนต้นแห่งสงสารจะไม่ปรากฏ แก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาล่ามเชือกแล้ว ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ถ้ามันจะวิ่งไซร้ ก็จะวิ่งวนหลักหรือเสานั้น ถ้าจะยืนไซร้ ก็จะยืนชิดหลักหรือสานั้นนั่นเอง ถ้าจะนอนไซร้ ก็จะนอนชิดหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนไม่ได้สดับแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตาม เห็นรูปว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา ย่อมตามเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา แม้หากเขาจะเดินไปไซร้ ก็จะเดินใกล้ปัญจุปาทานขันธ์เหล่านี้แหละ แม้หากจะยืนไซร้ ก็จะยืนติดปัญจุปทานขันธ์เหล่านี้แหละ แม้หากจะนั่งไซร้ ก็จะนั่งติดปัญจุปาทานขันธ์เหล่านี้แหละ เพราะฉะนั้นแลภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ อย่างนี้ว่า จิตนี้เศร้าหมอง เพราะราคะ โทสะ โมหะ มาแล้วตลอดกาลนาน.

ว่าด้วยความเศร้าหมองและผ่องแผ้วแห่งจิต

[๒๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย จะเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายจะผ่องแผ้ว เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นไหม จิตที่ชื่อว่า จรณะ (จิตรกรรม) ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า.

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จรณจิต (จิตรกรรม) แม้นั้นแล จิตนั้นนั่นแหละคิดแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนั่นเอง ยังวิจิตรกว่าจรณจิต (จิตรกรรม) แม้นั้นแล เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้ เศร้าหมอง เพราะราคะ โทสะ โมหะ มานมนานแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจะเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง จะผ่องแผ้ว เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นสัตว์อื่นแม้เหล่าเดียวที่จะวิจิตร เหมือนสัตว์เดียรัจฉานเหล่านี้ นะภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายสัตว์เดียรัจฉานแม้เหล่านั้น วิจิตรแล้ว เพราะจิตนั่นเอง จิตนั่นเอง ยังวิจิตรกว่าสัตว์เดียรัจฉานแม้เหล่านั้นแล เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรพิจารณาว่า จิตนี้เศร้าหมอง เพราะราคะ โทสะ โมหะมานมนานแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง ผ่องแผ้ว เพราะจิตผ่องแผ้ว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียน เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดีสีแสดก็ดี พึงเขียนรูปสตรี หรือรูปบุรุษ มีองคาพยพครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดาน หรือฝาผนัง ที่ขัดดีแล้ว หรือแผ่นผ้าที่เขาจัดเตรียมไว้ดีแล้ว แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ก็ฉันนั้นแล เมื่อจะให้เกิดขึ้น ก็จะให้รูปนั่นแหละเกิดขึ้น จะให้เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ นั่นแหละเกิดขึ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง

ภิ. ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

ภ. เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ภิ. ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแล อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีดังนี้

จบ คัททูลสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 23 ต.ค. 2549

อรรถกถาคัททูลสูตรที่ ๒

พึงทราบวินิจฉัยในคัททูลสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่พาลปุถุชนผู้ติดอยู่ในะได้รับผลนี้ ทำกรรมนี้แล้ว จะได้รับผลนี้ ถือเอาจิตรกรรมนั้นเที่ยวไป ๑

บทว่า จิตฺเตเนว จินฺติตํ ความว่า ชื่อว่า อันจิตรกร (ช่างเขียน) ให้สวยงามแล้วด้วยจิต เพราะคิดแล้วจึงเขียน ๒

บทว่า จิตฺตญฺเนว จิตฺตตรํ ความว่า จิตที่แสวงหาอุบายของจิตนั้น วิจิตรกว่าจิตที่ชื่อว่า จรณะแม้นั้น

บทว่า ติรจฺฉานคตา ปาณา จิตฺเตเนว จินฺติตา ความว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นวิจิตรแล้ว ๓ เพราะจิตที่เป็นเหตุให้ทำกรรมนั่นเอง ก็สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ มีนกกระจอก และ นกกระทา เป็นต้น ที่จะชื่อว่าประมวลเอาจิตที่เป็นเหตุให้ทำกรรมนั้น มาโดยคิดว่า เราทั้งหลายจักวิจิตรอย่างนี้ไม่มีเลย กรรมต่างหากชักนำไปสู่กำเนิด การที่สัตว์เหล่านั้นสวยงาม ก็โดยมีกำเนิดเป็นมูล จริงอยู่สัตว์ทั้งหลายที่เข้าถึงกำเนิดแล้ว ย่อมวิจิตรเหมือนกับสัตว์ที่เกิดอยู่ในกำเนิดนั้นๆ บัณฑิตพึงทราบว่า ความวิจิตรสำเร็จมาแต่กำเนิด กำเนิดสำเร็จมาแต่กรรมด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาว่าจิตนี้ เป็นสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมกัน) จึงพึงทราบว่า มีอารมณ์อันวิจิตรกว่าความวิจิตรของสัตว์เดียรัจฉานทั้งหลาย เพราะวิจิตรด้วยสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมกัน) เพราะวิจิตรด้วยวัตถุ (ที่อาศัย) เพราะวิจิตรด้วยทวาร เพราะวิจิตรด้วยอารมณ์ ทั้งเพราะให้สำเร็จความวิจิตรเป็นอเนก เช่น เพศต่างๆ กันสัญญาต่างๆ กัน โวหารต่างๆ กัน เป็นต้น ซึ่งมีกรรมชนิดต่างๆ กัน เป็นมูล.

บทว่า รชโก ได้แก่ ช่างที่เขียนรูปด้วยสี ลงในวัตถุทั้งหลายก็ช่างนั้น (ถ้า) ไม่ฉลาด ก็จะเขียนรูปได้ไม่น่าพอใจ (แต่ถ้า) ฉลาดก็เขียนรูปได้ น่าพอใจ สวยน่าดูฉันใด ปุถุชนก็เป็นอย่างนั้นแหละ คือ ย่อมยังรูปที่ผิดปกติ อันเว้นจากคุณสมบัติ มีความถึงพร้อมด้วยจักษุเป็นต้น ให้เกิดขึ้นด้วยอกุศลจิต หรือด้วยกุศลจิตที่เป็นญาณวิปปยุต ย่อมยังรูปที่สวยงามอันถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ มีความถึงพร้อมด้วยจักษุเป็นต้น ให้เกิดขึ้นด้วยกุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุต

จบ อรรถกถาคัททูลสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บั๊ก
วันที่ 28 ต.ค. 2549

ในฐานะผมเป็นช่างเขียนภาพเกี่ยวกับพระพุธทศาสนา ในมุมมองของผมเอง เมื่อก่อนนี้มันเป็นเหมือนนิทานเรื่องเล่าที่หาแก่นสารไม่ได้ จากภาพเขียนที่ต้องใช้สีอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จะให้ความรู้สึกถึงพลัง ให้เกิดความน่าสนใจ สุดท้ายของมันจริงๆ ก็จากไป

ถามว่าได้อะไรจากภาพเขียน ถ้าภาพประวัติพระพุทธก็ทราบว่าสวยดี และอีกหลายเหตุผล แล้วก็จากไป ไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำว่าคำสอนคืออะไรเหตุผลคืออะไร ทำให้ผมได้ทราบว่าสีก็คือสี ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร แต่งแต้มงดงาม วิจิตรสักปานใด ก็ไม่รู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ก็ทุกสิ่งเหล่านั้น เป็นแค่รูปที่ถูกกำหนดว่าสวยว่างาม เพราะเหตุนี้ทำให้ได้เข้าใจคำ รูปและนามมากขึ้น สิ่งเห็นทั้งหมดเป็นรูป สิ่งที่รับรู้เป็นนาม

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สิริพรรณ
วันที่ 17 ก.พ. 2567

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดยังไม่รู้ลักษณะของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขารและของวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชน เมื่อยืนก็ย่อมยืนใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อนั่ง ในขณะนี้ก็นั่งใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ว่าด้วยความเป็นตัวตน เหมือนกับช่างเขียนซึ่งเขียนรูป และยึดถือจิตรกรรมที่ตนเขียนว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉันใด ปุถุชนเมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง ก็ย่อมยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เหมือนช่างเขียนที่ยึดถือจิตรกรรมที่ตนเขียนว่า เป็นรูปสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ศึกษาเพิ่มเติมที่

จิตเที่ยวไป

จิตเหมือนช่างย้อมหรือช่างเขียน

จิตของผู้ไม่ได้สดับเหมือนช่างเขียนที่ยึดถือจิตรกรรมที่เขียน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ