ทานที่ทำกับมหาชน ที่ไม่ใช่สมณะ พราหมณ์

 
tanaprasith
วันที่  1 ต.ค. 2556
หมายเลข  23742
อ่าน  1,211

ผมมักจะได้ยินอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับเรื่องเล่าในพระพุทธศาสนาที่พูดถึง บุคคลที่ ได้ทำทานกับผู้มีศีล ผู้มีธรรมที่เป็นเพศบรรพชิต นักบวช ผู้ออกจากกามในกาล ก่อนๆ แล้วหลังจากนั้นมาไปเกิดบนสวรรค์ มีทิพยสมบัติอะไรสารพัด วิจิตร พิสดาร มากมาย หรือว่ามาเกิดในสมัยพุทธกาลได้รับอานิสงค์อย่างยิ่งใหญ่จากบุพกรรม เหล่านั้นที่ตนได้ประกอบทานมาในอดีต เรื่องเล่าส่วนมากพูดถึงการทำทานกับ สมณะ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อะไรอย่างนี้ ซึ่งก็ให้ความรู้สึกที่ดี เป็น ตัวอย่างที่ดีแก่ศาสนาชิกชนผู้ใฝ่ในทานหรือว่าตั้งอยู่ในทานเป็นเนืองนิตย์ ถ้ากล่าวถึงทานในมุมมองที่กว้างขวางขึ้นนั้นมี "ตัวอย่างอย่างอื่นๆ " ที่ใน พระไตรปิฎกได้พูดถึงบ้างไหมครับว่า ท่านผู้ใด้ทำทานอย่างถูกต้องเหมาะสม กับมหาชน คือ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นบรรพชิต สมณะ นักบวชแล้วได้รับอานิสงค์ สมควรแก่ทาน?

เห็นตัวอย่างที่พูดๆ ถึงที่เราๆ ท่านๆ รับรู้มานั้น ส่วนมากเป็นอัธยาศัยของผู้ที่จริตชอบ ทำทานกับสมณะ/หรือว่าเลื่อมใสในทางนั้น + (บวกกับ) หลายๆ คนในยุคเราก็มี สารพัดเหตุผล มีตรรกกะว่ามันเหมาะอย่างไร ประโยชน์มันมากอย่างไรกับการที่ ทำทานกับสมณะ

ผมคิดว่าด้วยความเข้าใจที่ว่าทานไม่ได้อยู่แต่ในวัด หรือว่าบรรพชิต ถ้าหากเรามี ตัวอย่างของทานที่ทำกับส่วนรวม กับมหาชน มาสื่อสารบอกชาวพุทธด้วยกันก็ น่าจะดีที่เขาสามารถขยายขอบเขตทานให้กว้างขวางยิ่งขึ้นจากการพัฒนาจิตที่ เป็นทานของตนแล้วไม่จำกัดตัวเองอยู่บรรพชิต

คำถามนี้เลยขอฟังมุมอื่น นัยอื่นๆ ที่กว้างขวางขึ้นไปกว่านี้บ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทาน คือ การให้ อันเป็นเจตนาสละ สิ่งใด สิ่งหนึ่ง ทั้งที่เป็นการสละ ที่เป็นวัตถุ รูปธรรม และเป็นการสละ ให้ สิ่งที่เป็นนามธรรม มีการให้ ปัญญา ความเข้าใจ เป็นต้น ซึ่ง เจตนา ในการสละวัตถุ ซึ่งเรียกว่า อามิสทาน เพือ่ประโยขน์กับผู้รับ ซึ่ง ภาษา ในพระไตรปิฎก เรียกผู้รับว่า ปฏิคาหก ซึ่งการให้ทาน ที่ให้วัตถุ สิ่งของนั้น ไม่ได้จำกัด เฉพาะ เพศใด บุคคลใด สัตว์ประเภทใด ประเภทหนึ่ง ครับ ซึ่ง การใ้ห้วัตถุ สิ่งของ ก็ สามารถให้กับ คฤหัสถ์ และ ให้กับบรรพชิตก็ได้ โดยไมไ่ด้จำกัดว่าจะต้องเป็น พระภิกษุ สมณะพราหมณ์เท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่า การใ้ห้ ที่เป็นอามิสทาน ยังแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ

การให้เพื่อบูชาคุณ และ การให้เพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือ ดังนั้น การให้ คฤหัสถ์เพื่อประโยชน์ เพือ่อนุเคราะห์ก็ได้ เพื่อให้เขาได้รับความสุข ได้รับอาหาร ให้กับคนที่ยากจน นี่แสดงให้เห็ว่า เป็นการให้ ที่มุ่งที่ประโยชน์กับผู้รับเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อตนเองจะได้บุญเยอะ จึงเลือกให้กับ สมณะ พระภิกษุเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ควรให้ กับ คฤหัสถ์ก็ได้ ตามโอกาสอันสมควร ครับ และ การให้ที่เป้นอามิสทาน อีกประการหนึ่ง คือ การให้เพื่อบูชาคุณ คือ เป็นการให้ เพื่อตอบแทนคุณความดี เช่น ให้มารดา บิดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณเหล่านี้ ก็เป็นจิตที่ดี ที่นึกถึง บุญคุณ ของท่าน จึงตอบแทนเท่าที่ทำได้ ด้วยการให้ วัตถุ สิ่งของ เป็นต้น เพื่อบูชาคุณ ความดีของผู้นั้น ขณะนั้น ไมไ่ด้นึกถึงตนเองเป้นสำคัญ ที่จะได้รับผลบุญ หรือ ได้รับ ผลตอบแทน แต่ มุ่งที่บูชาคุณความดี สรรเสริญความดี ระลึกถึงพระคุณ จึงให้ ก็ เป็นกุศลจิตที่ดี ที่ประณีต ในขณะนั้น ครับ นี่คือ การให้ กับ คหัสถ์ ก็ได้ โดยไม่ได้ เจาะจงที่บรรพชิต แต่ การให้ ที่ดี และ ถูกต้อง ก็ไม่ควรเลือกเฉพาะ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต เมือที่ใด เป็นโอกาสของ กุศลขั้นทาน แม้พบ บรรพชิต ก็ให้ เพื่อบูชาคุณ ความดี ที่น้อมระลึกถึงสงฆ์ได้ ก็เป็น สังฆทานในขณะนั้น และ น้อมเพื่ออนุเคราะห์ เพื่อให้ท่านดำรงชีวิตอยู่ เพื่อให้ บำเพ็ญสมณธรรม ก็เป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์เพื่อ ประโยชน์กับผู้อื่นในเพศบรรพชิต ครับ

ก็เป็นการให้ที่ถูกต้อง ด้วยกุศลจิตเป็นสำคัญ และ ไม่ได้หมายเฉพาะ เพียงสัตว์โลกทีเ่ป็นเพียงมนุษย์เท่านั้น ที่ควรให้ ผู้ที่มี ปัญญา ย่อมเจริญกุศลทุกๆ ประการ และ ทุกๆ ประเภท มีจิต อนุเคราะห์ช่วยเหลือ แม้สรรพสัตว์ แม้ สัตว์เดรัจฉาน มี สุนัข แมว เป็นต้น ก็ให้ทานได้ ด้วยเพื่อประโยชน์ กับสัตว์นั้นเอง ได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ นี่คือ ให้เพือ่ประโยชน์กับผู้รับเป็นสำคัญ และ การให้ กับ สัตว์โลกประเภทอื่น เช่น เปรต เทวดา เป้นต้น ก็สามารถให้ คือ ให้ ส่วนกุศลที่ตนเองได้ทำ ด้วยการอุมิศส่วนกุศลให้ ก็เป็นการให้ความดี เพื่อให้ผุ้อื่น เกิดจิตอนุโมทนา ก็เป้นการนึกถึงผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ก็เป้นกุศลจิตใน ขณะนั้น ครับ

จะเห็นได้ว่า การให้ไม่ได้จำกัด ที่ใคร บุคคลใดเลย แม้แต่ ในสมัยพุทธกาล ก็มี เหตุการณ์ที่พวกอัญญเดียรถีย์กล่าวหาพระพุทะเจ้า แสดงธรรมว่า ควรให้กับตัว พระองค์ และ ภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ไพเราะว่า

จิตเลื่อมใสในที่ใด ก็ควรให้ในที่นั้น ซึ่งเป้นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 514

ข้อความบางตอนจาก ... อิสสัตถสูตร

[๔๐๕] สาวัตถีนิทาน. พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทาน บุคคลควรให้ในที่ไหนหนอ.

พ. ดูก่อนมหาบพิตร ควรให้ในที่ที่จิตเลื่อมใส.

ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก. [๔๐๖] พ. ดูก่อนมหาบพิตร ทานควรให้ในที่ไหนนั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง ดูก่อนมหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่


จากพระไตรปิฎก

- เมื่อมีศรัทธา คือ เกิดกุศลจิตที่คิดจะให้กับใคร ไม่ว่า สัตว์ บุคคลใด เพศ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต ก็ควรให้ทาน ในขณะที่เป้นกุศลจิต กุศลจิต แม้จะมาก หรือ จะน้อยก็ชื่อว่าเป็นความดีเสมอ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2556

ส่วน การให้ที่จะได้อานิสงส์มากนั้น ก็ต้องพิจารณา ในเรื่องของผู้รับ และ จิต ของผู้ให้ด้วย การให้สัตว์เดรัจฉาน ที่มีคุณน้อย ก้มีอานิสงส์น้อยว่า การให้กับมนุษย์ แต่ การให้กับมนุษย์ที่ไม่ดี ทุศีล ก็มีอานิสงส์น้อยกว่า มนุษยที่มีศีล และ การให้ พระอริยะบุคคล มีพระโสดาบัน ก็มีผลมากกว่า การให้กับมนุษย์มีศีล ไล่ลำดับ พระอริยบุคคล แต่ การให้กับ พระพุทะเจ้า มีผลมากกว่า การให้ พระอรหันต์สาวก แต่ การให้ โดยการเป็นสังฆทาน มีผลมากกว่า การให้แม้พระพุทธเจ้า และ ที่ละเอียด ลงไป การถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ มีผลมากกว่า การถวาย สังฆทาน และ การรักษาศีล 5 มีผลมากกว่าการถึงสรณะ และ การมีเมตตาจิต มีผลมากกว่าการักษาศีล 5 และ การพิจารณาธรรมที่รู้ความจริงในขณะนี้ มีผลบุญ มากกว่า กุศลทุกๆ ประการ เพราะเป็นการกำจัด ขัดเกลากิเลสของตนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น กุศลไม่ได้มีเพียงขั้นทาน มีมากมาย หลายประการ ควรที่จะ ไม่ประมาท ในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ และ เป็นผุ้ให้ แม้อามิสทาน เพื่อผู้อื่น แต่ไม่ใช่เพื่อ ตนเองที่จะได้บุญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมอนุเคราะห์สัตวืโลกทุกประเภท และ ทั้ง คฤหัสถ์และบรรพชิต ครับ ที่สำคัญ การให้ทาน ก็ไม่ใช่มีเพียงการให้อามิสทาน เท่านั้น ยังมีอีก 2 ประภท คือ อภัยทาน และ ธรรมทาน

อภัยทาน ภัย คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความน่ากลัว อภัย คือ ความไม่มีภัย ความไม่มีความ น่ากลัว ไม่นำมาซึ่งสิ่งไม่ดี ดังนั้น อภัยทาน จึงเป็นการให้ความไม่มีภัย คือ ให้ความ ไม่น่ากลัว ให้ความไม่มีโทษ ดังนั้น การให้อภัย อภัยทาน จึงเป็นการให้ที่ไม่ใช่วัตถุ สิ่งของ แต่ เป็นการให้ทีเกิดจากกุศลจิตของผู้ให้ เมื่อเกิดกุศลจิต ที่จะงดเว้นจากบาป มีการไม่ฆ่า เป็นต้น ขณะนั้น ก็ให้ความไม่มีภัย ให้ความไม่น่ากลัว กับสัตว์อื่น ทำให้ สัตว์อื่นปลอดภัยจากการะทำของตนเอง ที่เกิดกุศลจิต กุศลขั้น มีศีล 5 เป็นต้น ที่เป็น การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ก็ชื่อว่า อภัยทาน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2556

อภัยทาน อีกนัยหนึ่ง คือ ความไม่โกรธ ผู้อื่น เมื่อได้รับสิ่งที่กระทบทางตา หู..กาย อันสมมติว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น เมื่อไม่โกรธ ก็ให้ความไม่มีภัย กับผู้นั้น เพราะ ภัย สิ่งที่น่ากลัว มาจากกิเลส หากไม่มีกิเลส ก็จะไม่นำมาซึ่งความน่ากลัว การกระทำ ที่ไม่ดี ไม่ได้เลย ครับ เมื่อไม่โกรธ ก็ให้อภัย คือ ไม่มีภัย กับผุ้อื่นในขณะนั้น เพราะ ไม่มีการกระทำทางกายที่ไม่ดี ไม่มีการกระทำทางวาจาที่ไมดี่ อันมีเหตุมาจากความ โกรธ ที่เป็นภัย ครับ อภัยทาน จึงสูงกว่า อามิสทาน เพราะ อภัยทาน เป็นการให้ ที่ สละยากกว่า เพราะ เกิดจากกุศลจิตขั้นศีล ที่งดเว้นจากบาป ไม่ใช่ เป็นการสละ วัตถุภายนอก ที่เป็นรูปธรรม อันเป็นอามิสทาน ครับ

ธรรมทาน คือ การแสดงธรรมที่ถูกต้อง แก่ผู้อื่น ทั้งในธรรมเบื้องต้น และ จนถึงธรรม ที่สูงสุด มีการเจริญอบรมปัญญา เพื่อดับกิเลส เป็นต้น อันไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่ ด้วยความอนุเคราะห์กับผู้อื่นเท่านั้น ธรรมทาน จึงเป็นการให้ ปัญญา ให้ความเข้าใจ พระธรรม กับผู้อื่น เป็นการให้ที่ประเสริฐสูงสุด เพราะว่า อามิสทาน ก็เป็นเพียงการ ให้ความสุขเพียงโลกนี้ ที่จะสามารถให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีการให้อาหาร เป็นต้น แต่ก็ ไม่สามารถที่จะทำให้บุคคลนั้น มีความเข้าใจถูกว่า การจะได้มาด้วยสิ่งนั้นจะต้องทำ กุศล และ ความทุกข์ทีเกิดขึ้น มาจากกิเลส ส่วน อภัยทาน ก็เป็นการให้ความไม่มีภัย กับบุคคลนั้น เพราะ อาศัยการกระทำที่ดีทางกาย วาจาของเรา จึงไม่มีภัย กับบุคคลนั้น แต่ผู้นั้น ก็ยังจะต้องได้รับทุกข์ ภัยจากผู้อื่น และที่สำคัญ ก็ต้องได้รับภัย คือ กิเลส และ อภัยยทาน ก็ไม่สามารถทำให้ผู้นั้นพ้นภัยที่แท้จริงได้ ยังจะต้องเกิด ตาย เพราะ มี กิเลส คือ ภัยที่แท้จริง เป็นต้นเหตุ ครับ

ส่วน ธรรมทาน ชื่อว่าเลิศที่สุดในบรรดาทานทั้งหลาย เพราะ เป็นการให้ความเข้าใจ พระธรรม คือ ให้สิ่งที่เลิศที่สุด คือ ปัญญา และให้กุศลธรรมอื่นๆ ทีเกิดจากการมีปัญญา เป็นปัจจัย เมื่อปัญญาเกิดขึ้น รู้สิ่งที่ดี ไม่ดี สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ย่อม ทำให้มีการให้ อามิสทานมากขึ้น มีการเจริญขึ้นของกุศลประการต่างๆ รวมทั้ง ให้อภัยได้มากขึ้น เพราะ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร เพราะ อาศัยการฟังพระธรรม ก็ทำให้ผู้ที่ได้รับฟังพระธรรม ปัญญาเจริญขึ้น ก็มีการให้อภัยมากขึ้นด้วย หากไม่มีความเข้าใจธรรมแล้ว กุศลประการ ต่างๆ ทั้อามิสทาน และ อภัยทาน ย่อมไม่เจริญมากขึ้น เลย ครับ

ที่สำคัญที่สุด เพราะอาศัยปัญญา ก็สามารถที่จะละภัยที่แท้จริง คือ กิเลส และ สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะ อาศัย การฟังพระธรรม ที่เป็นธรรมทานจาก ผู้อื่น ธรรมทานจึงเป็นเลิศกว่าทานทั้งหลาย เพราะทำให้ผุ้ฟัง ได้ปัญญา และ ทำให้ สละสิ่งที่เป็นนามธรรมที่เป็นกิเลส และ ดับทุกข์ได้ทั้งหมดในอนาคต ครับ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ธรรมทานเป็นเลิศกว่าทานทั้งหลาย ครับ

เพราะฉะนั้น ก็ควรเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ โดยเฉพาะ การ ฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมไม่เลือกผู้รับ และ ไม่เลือกในการ เจริญกุศล เพระา การทำกุศล เพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพือตนเองเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

หลักการปฏิบัติ กุศลกรรม 10

บุญญกริยาวัตถุ คือ ทาน ศีล ภาวนา

บุญกริยาวัตถุ 10 คืออะไรคะ และมีข้อปฎิบัติอย่างไรคะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 1 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อละความไม่รู้ แม้ในเรื่องของ การเจริญกุศล ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสกุศลเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ควรที่จะอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะเบาสบาย ผ่องใส ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิงแม้ในขณะที่ให้ทาน ประโยชน์จริงๆ คือเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียด การให้ทาน จะเกิดขึ้นได้เมื่อมี วัตถุที่จะพึงให้ ผู้ที่ควรแก่การรับทาน นั้น มีมาก ทีเดียว ถ้าเป็น โอกาสของการที่กุศลจะเกิดแล้ว ก็ไม่ควรที่จะปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป เพราะเหตุ ว่าโอกาสที่กุศลจะเกิดขึ้นนั้น น้อยมาก ถ้าเที่ยบกับการเกิดขึ้นของอกุศล เพราะฉะนั้นแล้วการให้ทาน ก็เป็นการเจริญกุศลอย่างหนึ่ง ซึ่งจุดประสงค์หลักแล้ว ก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่เพื่อความติดข้องต้องการหวังผลของการให้ ทาน

ถ้าเป็นผู้ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมก็จะทำให้เห็นอกุศลที่เกิดขึ้นตามความ เป็นจริงแล้วเริ่มขัดเกลากิเลสของตนเองและเป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุในผลมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดย่อมเป็นเพราะได้ศึกษาพระธรรมฟังพระธรรมปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ การเจริญกุศลทั้งหลาย ที่ถูกต้องแล้ว ควรจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของ ตนเอง ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 1 ต.ค. 2556

ทานควรให้กับทุกคนไม่ว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ อมนุษย์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 2 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ขอนอบน้อม
วันที่ 2 ก.พ. 2557

- เมื่อมีศรัทธา คือ เกิดกุศลจิตที่คิดจะให้กับใคร ไม่ว่า สัตว์ บุคคลใด เพศ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต ก็ควรให้ทาน ในขณะที่เป็นกุศลจิต กุศลจิต แม้จะมาก หรือ จะน้อยก็ชื่อว่าเป็นความดีเสมอ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ขอนอบน้อม
วันที่ 2 ก.พ. 2557

ขออนุญาตนำเนื้อหาไปวางในเฟสบุ๊คนะครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ