บุญกริยาวัตถุ 10 คืออะไรคะ และมีข้อปฏิบัติอย่างไรคะ

 
tookta
วันที่  21 ก.ค. 2554
หมายเลข  18789
อ่าน  238,288

ความกรุณาจากผู้รู้รบกวนช่วยอธิบายเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คืออะไร และมีข้อปฏิบัติอย่างไร จะได้นำไปปฏิบัติเพราะมีความสนใจมากเลย คะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

บุญหรือกุศลเป้นสภาพธรรมี่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ดี อันมีสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย และขณะนั้นก็ไม่มีอกุศลที่เป็นโลภะ โทสะและโมหะเกิดขึ้นเลยในขณะที่เป็นบุญครับ

บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยอำนาจของอกุศลธรรม) ขณะที่เป็นบุญ ขณะนั้นจิตสะอาดจากอกุศล คือ โลภะ โทสะ และโมหะบุญ หรือ สภาพจิตที่ดี ทีเป้นกุศล มีหลายประการ ตามระดับและลักษณะของบุญ ครับ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หมายถึง ที่ตั้งแห่งการกระทำความดี ๑๐ อย่าง หมายถึง กุศลจิตที่มีกำลังจนทำให้มีการกระทำออกมาทางกาย วาจาหรือทางใจ ได้แก่ ...

๑.ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น

๒.ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริตทางกาย วาจา

๓.ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)

๔.อปจายนมัย บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕.เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

๖.ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

๗.ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

๘.ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม

๙.ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม

๑๐.ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง

สำหรับเรื่องข้อปฏิบัติในการเจริญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการนั้น พื้นฐานต้องเริ่มจากความเห็นถูกขั้นการฟังให้เข้าใจถูกต้อง ก็จะทำให้กุศลหรือบุญประการต่างๆ ใน ๑๐ ประการ เพราะฉะนั้นทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรง คือ ทำปัญญาให้เกิดขึ้นจากที่เคยเห็นผิดก็เห็นถูกและจากที่มีความเห็นถูกก็มีความเห็นถูกมากขึ้น หรือ มีปัญญาเพิ่มขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ความเห็นตรงตามความเป็นจริงก็จะพิจารณาด้วยปัญญาและทำให้บุญประการต่างๆ จริญขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อให้ความเห็นตรงขึ้น ปัญญาเจริญขึ้นนั่นเอง ซึ่งจะขออธิบาย บุญแต่ละประเภทเพื่อจะได้ให้ใจน้อมไปอันเกิดจากการอ่านและเข้าใจ และเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลแต่ละประเภทครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้วัตถุเพื่อสงเคราะห์ หรือบูชาแก่ผู้อื่น ทาน คือ เจตนาสละวัตถุ เพื่อประโยชน์กับผู้อื่น เป็นต้น ในชีวิตประจำวัน มีผู้ที่มีความต้องการช่วยเหลือ แม้แต่วัตถุภายนอกเล็กๆ น้อยๆ การสละเพื่อประโยชน์กับบุคคลนั้น แม้ของนั้นจะไม่มีค่ามากสำหรับเรา แต่มีประโยชน์สำหรับเขามาก ดังนั้น การสละวัตถุ ด้วยเจตนาดี ช่วยเหลือสงเคราะห์ ขณะนั้นจิตดีงาม เป็นบุญสำเร็จด้วยการให้ เป็นทานกุศล ครับ

อีกประการหนึ่ง การให้ทานที่ไม่ใช่สงเคราะห์ผู้อื่น แต่ให้เพราะบูชาคุณของบุคคลนั้น เช่น การให้ของที่เหมาะสม กับผู้มีพระคุณ ให้กับอาจารย์ที่มีคุณ มีคุณธรรม หรือ การให้วัตถุต่างๆ เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้ต้องการของสิ่งนั้นเลย แต่เราให้ของสิ่งนั้นเพื่อบูชาคุณธรรมของท่านครับ ก็เป็นทาน การให้พื่อบูชาคุณครับ

โลกนี้ถ้าไม่มีการให้ โลกก็คงลำบาก เพราะคนที่เดือดร้อนต้องการมีอยู่ และการที่คิดสละเพื่อบุคคลอื่น ก็เป็นการสละความตระหนี่ในใจและความติดข้องในทรัพย์สินด้วยและหากว่าแม้วัตถุภายนอกที่เป็นรูปธรรมยังให้ไม่ได้แล้ว นามธรรมที่เป็นกิเลส ที่สละ ละยากกว่านั้นจะสละ ละได้อย่างไร ในเมื่อกุศลเบื้องต้นและวัตถุภายนอกยังให้ไมได้ครับ ผู้มีปัญญาจึงไม่ประมาทในการเจริญขั้นนี้ อันเป็นไปเพื่อสละ ละคลายกิเลสมีความตระหนี่เป็นต้นครับ

ทาน ยังมีแม้ อภัยทาน แม้ไม่มีวัตถุที่จะให้ แต่การให้อภัย คือ ให้ความไม่น่ากลัวกับผู้อื่น เมื่อมีการให้อภัย คนที่ได้รับการให้อภัยก็สบายใจขึ้น ดังนั้น จิตที่ให้อภัยขณะนั้นด้วยจิตที่งาม ให้ความไม่น่ากลัว ความสบายใจกับผู้อื่นนั่นเองครับ ดังนั้นแม้ไม่มีวัตถุที่จะให้ก็ให้อภัยทานได้ครับ

ธรรมทาน การให้ธรรม เป็นการให้สูงสุดเพราะไม่ว่าจะให้ทรัพย์สินอะไรต่างๆ มากมาย ก็ไม่สามารถทำให้เขาพ้นจากทุกข์ได้จริง แต่การให้ความเข้าใจ ให้ปัญญา ก็ทำให้บุคคลนั้นสามารถละทุกข์ได้ในอนาคตครับ ดังนั้น ไม่ว่าทานประเภทไหนก็ควรเห็นประโยชน์และอบรมทุกประการตามกำลังของปัญญา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ศีลมัย บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต หรือประพฤติสุจริต ทางกาย วาจา

ศีล เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เพราะในชีวิตประจำวันก็ต้องมีการดำเนินชีวิต พบปะกับผู้คน ดังนั้น ควรเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้มีศีล คือ ความประพฤติที่ดี สุจริต ก็เป็นศีล เช่น การเลี้ยงดูบิดา มารดา เป็นต้น เรียกว่าจารีตศีล ส่วนในชีวิตประจำวัน เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะต้องงดเว้นจากการทำบาป เช่น งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นศีลเรียกว่า วารีตศีล ศีลเกิดขึ้นด้วยการงดเว้น

หากไม่มีศีล การดำเนินชีวิตและความเจริญขึ้นของกุศลธรรมก็ยาก ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงควรเห็นประโยชน์ของการรักษาศีลเท่าที่จะทำได้ ตามกำลังของปัญญาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ..

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ศีล (๑)

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ศีล (๒)

ภาวนามัย บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา) และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)

ภาวนา หมายถึง การอบรมสิ่งที่ดีให้มีขึ้นหรือ อบรมสิ่งที่ดีที่มีแล้วให้เจริญขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของปัญญา ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ ควรเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ขณะนั้นก็เริ่มมีความสงบ ที่เป็นสมถ สงบจากกิเลสในขณะนั้น หากไม่มีการเจริญภาวนาเลย จิตก็มักแล่นไปในอกุศล ไม่มีเครื่องอยู่ที่ทำให้จิตสงบจากกิเลส เช่น การระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า แต่จะมีสิ่งเหล่านี้ได้ก็โดยการฟังพระธรรมครับ และการเจริญวิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางดับกิเลส คือการรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยนัยเดียวกันก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมจึงจะทำให้เกิดการเจริญวิปัสสนาได้ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...สมถภาวนา

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...วิปัสสนาภาวนา

อปจายนมัย บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

ความเป็นผู้อ่อนน้อมด้วยใจ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นการอ่อนน้อม เพราะรู้จักบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ด้วยเพราะมีพระคุณ ด้วยเพราะอายุ และด้วยคุณธรรม ไม่ใช่อ่อนน้อมเพราะอย่างอื่น หากไม่มีจิตอ่อนน้อมและการกระทำที่อ่อนน้อม จิตขณะนั้นก็แข็งกระด้าง และก็เพิ่มความเป็นตัวตน เพิ่มอกุศลในการไม่อ่อนน้อมในบุคคลที่ควรอ่อนน้อมครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...อปจายนะ (๑)

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...อปจายนะ (๒)

เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

การช่วยเหลือสงเคราะห์ สามารถช่วยเหลือบุคคลอื่น แม้ด้วยกาย รวมทั้งวาจาด้วยครับ การช่วยเหลือผู้อื่นก็เท่ากับสละความเห็นแก่ตัว ที่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่หากเรานึกถึงคนอื่นบ้าง สงเคราะห์ช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ประโยชน์ก็จะเกิดกับบุคคลที่เราช่วยเหลือโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร บุคคลใดเลย เพราะจิตที่เป็นกุศลแล้วจะไม่เลือกบุคคลใด การช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเป็นการขัดเกลากิเลสได้ด้วยครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...เวยยาวัจจะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ปัตติทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

เมื่อมีการทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพิจารณาว่ายังสัตว์บางประเภทที่สามารถรับส่วนบุญจากการทำกุศลของเราเองได้ การนึกถึงคนอื่นเพื่อประโยชน์กับเขา จึงอุทิศส่วนกุศลที่เรทำไปให้ก็เท่ากับว่าจิตขณะนั้นเป็นกุศลเพราะคิดถึงผู้อื่นที่สามารถจะได้รับส่วนบุญได้ครับ และที่สำคัญ ญาติทั้งหลายที่เคยเกิดมาร่วมกันและไปเกิดเป็นเปรตเมือ่ได้รู้ในส่วนบุญที่อุทิศเขาก็สามารถจะได้พ้นจากความหิวและภพภูมินั้นได้ครับ รวมทั้งเทวดาก็สามารถรับส่วนบุญจากการอุทิศกุศลของเราได้ จะเห็นว่าเราเสียเวลาซักนิดแต่เกิดประโยชน์กับผู้อื่นได้มากกมายครับ

ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

เมื่อผู้อื่นกระทำกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง กุศลเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งน่าชื่นชม ลักษณะของกุศลไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น เราไม่มองว่าใครเป็นคนทำ คนที่ชอบ เราอนุโมทนายินดี คนที่ไม่ชอบ เราไม่อนุโมทนาไม่ยินดี แต่ลักษณะของกุศลทีเกิดขึ้นไม่ว่ากับใคร กุศลเป็นกุศล ดังนั้นจึงมีใจยินดีในกุศล ลักษณะของกุศลนั้นครับ ดังนั้น การยินดีในกุศลของผู้อื่น จึงเป็นลักษณะของสภาพจิตที่เป็นลักษณะยินดีในความดีนั้น แต่ไม่ได้ดูที่คำพูดว่าอนุโมทนาแต่เป็นสภาพจิตในขณะนั้นที่ยินดีในกุศล ดังนั้นไม่ว่าจะทำความดีจะเป็นใครก็ตาม ควรยินดีในสิ่งที่ดีครับ

ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม

การฟังพระธรรม ขณะใดที่เข้าใจหรือ มีศรัทธาที่จะฟังและได้มีการฟัง จิตขณะนั้นเป็นกุศลครับ แต่ถ้าเป็นการฟังสิ่งที่ผิด หรือ ขณะที่ไม่เข้าใจไม่รู้เรื่อง จะกล่าวว่าเป็นบุญทีเกิดจากการฟังพระธรรมไมได้ครับ เพราะจิตเป็นอกุศในขณะนั้ น การฟังพระธรรมมีค่ามาก สำคัญมาก เพราะผู้ทีเป็นสาวก หมายถึง ผู้ที่สำเร็จได้เพราะการฟังพระธรรม แม้พระสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ก็ไม่สามารถจะรู้พระธรรม บรรลุด้วยตนเองต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมจากท่านพระอัสสชิจึงได้บรรลุธรรม

ดังนั้น ปัญญา ความเห็นถูกจะเจริญ เกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ จึงควรเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมเป็นอย่างยิ่งครับ

ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม

ขณะที่มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ผู้อื่นได้เข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องโดยไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ หรืออย่างอื่น ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีและได้แสดงในสิ่งที่ถูกต้องก็ทำให้มีประโยชน์กับผู้รับฟังด้วยครับ ก็เป็นบุญ เป็นกุศลในขณะนั้น ในขณะที่หวังดีแสดงในสิ่งที่ถูกต้องครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ธัมมสวนะ และ ธัมมเทศนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 21 ก.ค. 2554

ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง

สำคัญมากสำหรับข้อนี้ เพราะมีความเห็นที่ตรง คือ ความเห็นถูกนั่นเอง ขณะทีเป็นความเห็นถูก ปัญญาเกิดเป็นบุญ เป็นกุศล และความเห็นตรงนีีเอง ที่จะทำให้กุศลประการอื่นๆ บุญประการอื่นๆ เจริญขึ้นเพราะมีความเข้าใจถูกเป็นสำคัญครับ ดังนั้น บุญประการต่างๆ จะเจริญขึ้นได้ เพราะมีความเห็นถูก ความเห็นตรงหรือปัญญาเป็นสำคัญ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ทิฏฐุชุกรรม [๑]

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐...ทิฏฐุชุกรรม [๒]

ที่กล่าวมายืดยาว เหมือนไม่ได้บอกวิธิปฏิบัติที่จะทำบุญกิริยาวัตถุ 10 ว่าจะปฏิบัติทำอย่างไรเลย เหตุผลมีดังนี้ครับ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาที่จะทำได้เลยครับ แม้แต่เรื่องบุญกิริยาวัตถุ 10 ว่าบอกให้ทำอย่างนี้ แต่ก็ไมได้เป็นไปตามนั้นเพราะใจไม่ได้เห็นประโยชน์อันเกิดจากการฟังพระธรรม อันเกิดจากปัญญาเจริญขึ้น ดังนั้นเหตุปัจจัยที่จะทำให้บุญกิริยาวัตถุ 10 เกิดขึ้นและค่อยๆ เจริญขึ้นโดยเกิดขึ้นเอง ไม่มีใครจะทำคือ ปัญญาที่เจริญขึ้น อันเกิดจากความเห็นถูกเป็นปัจจัย ทีเป็นความเห็นตรงคือทิฏฐุชุกรรม ซึ่งปัญญาจะิเกิไมได้เลย หากไม่มีการศึกษาและฟังพระธรรมครับ ดังนั้น การที่ได้อ่านในบุญกิริยาแต่ละข้อและมีความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน ขณะนั้นปัญญาเจริญขึ้น ปัญญาก็จะค่อยๆ น้อมไปเองที่จะเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลประการต่าๆ ง อันเกิดจากการอ่าน ศึกษาพระธรรมที่ได้อธิบายนั่นเองครับ

ดังนั้น พระธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้วจากการอ่านการศึกษา ธรรมจะทำหน้าที่เอง ปรุงแต่งให้เป็นผู้เห็นประโยชน์ในการเจริญกุศล คือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มากขึ้นเพราะปัญญาเจริญขึ้นครับ ดังนั้นไม่ต้องไปหาวิธิที่จะทำบุญกิริยาวัตถุครับ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็จะทำให้กุศปลระการต่างๆ ในบุญกิริยาวัตถุ เจริญขึ้นไปตามลำดับครับ อาจจะยาวในคำอธิบาย แต่เพื่อประโยชน์ในความเข้าใจของผู้ถาม และความเจริญขึ้นของปัญญาคือ ความเห็นตรงครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

บุญญกริยาวัตถุ คือ ทาน ศีล ภาวนาหลักการปฏิบัติ กุศลกรรม 10

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
tookta
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงนะคะ ที่อธิบายมาอย่างละเอียด ได้อ่านและทำความเข้าใจแล้วนะคะ สรุปง่ายๆ ก็คือการใช้ใจนอบน้อมที่จะประพฤติและปฎิบัติในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม แล้วก็จะส่งผลให้กายและวาจาปฎิบัติตามไปด้วย ไม่ใช่ปฎิบัติด้วยวิธีการต่างๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
icenakub
วันที่ 25 ก.ค. 2554

อนุโมทนาครับ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
samroang69
วันที่ 27 ก.ค. 2554

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
lovedhamma
วันที่ 29 ก.ค. 2554

แจ่มแจ้งครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 18 พ.ค. 2559

อนุโมทนา ขอบพระคุณในกุศลจิตค่ะ

การศึกษาพระธรรม จากการฟังพระธรรม อ่านพระธรรม สนทนาธรรม เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ย่อมเป็นเหตุให้ค่อยๆ น้อมไปในบุญกิริยาวัตุถ 10 ให้มั่นคง บริบูรณ์ ด้วยโสภณธรรม คือ สภาพธรรมที่ดีงามได้แก่ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปป อโลภะ อโทสะ ตัตตรมัชฌัตตา กายปัสสัทธิ จิตตปัสสธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายขุกตา จิตตชุกตา สัมมาวาจา สัมมากัมมันต สัมมอาชีวะ กรุณา มุทิตา ปัญญา ถึงพร้อมด้วยมหากุศลจิต ละเอียดขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้ขั้นการฟัง ว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดตามเหตุปัจจัยที่สำคัญคือ การฟังพระธรรม ด้วยความเคารพ ที่มั่นคง

เพราะบุญที่สะสมในปางก่อน จึงได้ฟังพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Charassri
วันที่ 3 ธ.ค. 2560

อนุโมทนาบุญ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
จิตและเจตสิก
วันที่ 3 ม.ค. 2561

สาธุ สาธุ ขออนุโมทนา ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Chanapat
วันที่ 12 ก.พ. 2561

อนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
สมสมัย
วันที่ 29 พ.ค. 2561

สาธุ เป็นความกรุณาแก่ผู้รู้น้อยยิ่งนัก

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ดร.พัสกร
วันที่ 13 ก.ย. 2561

ขออนุโมทนาบุญ กับผู้จัดทำเพจนี้ ตลอดทั้ง พุทธศาสนิกชนคนใจบุญทั้งหลาย ที่เข้ามา สู่เพจนี้ และนำความดี จากการได้รับรู้ ไปสืบต่ออายุพระศาสนา ให้บังเกิดความสุข ทั้งในภพนี้และภพหน้า ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ดีใจ
วันที่ 3 ม.ค. 2562

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chaisuksan65
วันที่ 19 ก.ค. 2562

เป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้รับฟังธรรมจากท่านอาจารย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
มกร
วันที่ 12 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Benjapon
วันที่ 20 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาสาธุ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ