ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงคนพาลที่ได้บรรลุธรรมหรือไม่ครับ

 
papon
วันที่  4 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24121
อ่าน  1,702

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงคนพาลที่ได้บรรลุธรรมหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การแสดงธรรมมีหลายนัยครับ แม้แต่เรื่อง การเป็นคนพาล ในความเป็นจริง สัตว์ บุคคลไม่มี มีแต่สภาพธรรม คือ จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไป ประชุมรวมกันและบัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ ดังนั้นจึงมีจิตที่เป็นกุศล อกุศลวิบากและกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเป็นปุถุชน จิตก็ย่อมไหลไปในอำนาจของกิเลส จึงเป็นจิตที่เป็นอกุศลเป็นส่วนมากครับ ซึ่งความเป็นคนพาลในพระไตรปิฎกอธิบายไว้ครับว่า คนพาล คือ บุคคลที่ทำบาปกรรม คือ อกุศลกรรม ที่ถึงกับการล่วงศีล มี ปาณาติบาต เป็นต้น เนืองๆ บ่อยๆ คือลักษณะของคนพาล ลักษณะของคนพาลตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอีกนัยหนึ่งคือ มีชีวิตอยู่สักว่าเพียงแค่หายใจ คือ ไม่ได้รู้ประโยชน์โลกนี้ ไมได้ทำความดีในโลกนี้และไม่ทำประโยชน์และไม่รู้ประโยชน์ในโลกหน้า สะสมความดีเลย แต่มักทำอกุศลกรรม ทำความไม่ดี เป็นปกติครับ และลักษณะของคนพาลอีกประการหนึ่งคือ เป็นผู้มีความเห็นผิด คิดผิด พูดผิด เป็นต้น ซึ่งจากที่กระผมได้อธิบายลักษณะของคนพาลมาในพระไตรปิฎก ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ทำบาปคือ ทำปาณาติบาต เป็นต้น ใครทำ ไม่มีใครไม่มีเรา แต่จิตเกิดขึ้นเป็น อกุศลจิตแต่มีกำลังมากถึงกับล่วงศีล จิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น จะกล่าวว่าเป็นความดี เป็นสิ่งที่ดีไม่ได้ จึงเป็นพาลในขณะนั้น ในขณะที่ทำอกุศลกรรม ล่วงศีล ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจนัยที่แสดงว่า พาลนั้นที่เป็นคนพาล ก็มีหลายระดับตามกำลังของอกุศลที่เกิดขึ้นด้วยครับ

ซึ่งอันธพาล คือคนพาลที่มืดบอดและมักทำอกุศลกรรม ล่วงศีลเป็นประจำ อันนี้พาลแท้จริง มีกำลัง ไม่ควรคบเพราะมีกำลังถึงขนาดทำอกุศลกรรม คือ ล่วงศีลเป็นประจำ เป็นอันธพาล เป็น อันธปุถุชน แต่ปุถุชนผู้ที่มีความเข้าใจธรรม เจริญกุศลประการต่างๆ รียกว่า กัลยาณปุถุชน ปุถุชนผู้ดีงาม อันจะนำไปสู่การเป็นพระอริยได้ เพราะทำความดีประการต่างๆ และอบรมเจริญปัญญา ต่างกับอันธปุถุชนโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ทำอกุศลกรรม มีการล่วงศีลเป็นต้น เป็นปกติและไม่ได้อบรมความดี อบรมปัญญาเลยครับ ซึ่งกัลยาณปุถุชน ก็ต้องมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติ มากว่ากุศลจิตแน่นอน ซึ่งขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นจะกล่าวว่าเป็นความดี คนดีไม่ได้ แต่เป็นพาลชั่วขณะนั้นและอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีกำลังถึงขนาดการทำอกุศลกรรมที่เป็นการล่วงศีล ดังนั้น เราจะต้องแยกระหว่างเพียงอกุศลจิตและการทำอกุศลกรรมว่ามีกำลังแตกต่างกันไป อกุศลจิตมีกำลังน้อยกว่าการทำอกุศลกรรม ความเป็นพาลจึงแตกต่างกันไปนั่นเอง ครับ ซึ่งในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของคนพาลไว้ว่า คือ คนที่ล่วงศีล ทำอกุศลกรรมเนืองๆ และคนที่มีความเห็นผิด คิดผิด พูดผิด กระทำผิด เป็นต้นนี้ คือลักษณะของคนพาลที่สามารถจะเห็นได้ รู้ได้ครับ เพราะ ฉะนั้นความเป็นคนพาลความเป็นปุถุชนจึงมีหลายระดับตามที่กล่าวมาครับ เพราะฉะนั้น จึงพอกล่าวสรุปได้ว่าคนพาล คือ คนโง่ คนเขลา

ผู้ที่เป็นอยู่เพียงหายเข้าใจหายใจออก คิดก็คิดไม่ดี พูดก็พูดไม่ดี ทำก็ทำไม่ดี ชักนำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ มีผู้อื่นแนะนำในสิ่งที่ดีกลับโกรธไม่พอใจ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เป็นผู้ตัดประโยชน์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ฯลฯ กล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เรื่องของคนพาล เป็นเรื่องของอกุศลธรรมทั้งหลาย อกุศลจะมากหรือจะน้อยก็ไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่โทษโดยส่วนเดียว ไม่เคยนำความสุขมาให้เลยแม้แต่น้อย ถึงแม้คนอื่นเขาจะเป็นคนพาล เป็นคนไม่ดีอย่างไร ก็ไม่ควรที่จะไปเกลียดชังเขาโกรธเขา เพราะขณะที่โกรธขณะที่เกลียดชังผู้อื่น เป็นอกุศลของเราเอง การสอนให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องลักษณะของคนพาล และการไม่คบคนพาล เพราะการคบกับคนพาล มีแต่จะนำพาไปสู่ความเสื่อมทั้งปวง แต่ก็สามารถอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลเหล่านี้ได้ เท่าที่จะเป็นไปได้ตามสมควร โดยที่ไม่คบหาสมาคมด้วย ลักษณะของบัณฑิตมีนัยตรงกันข้ามกับคนพาลอย่างสิ้นเชิง บัณฑิตเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม เป็นบุคคลที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และห้ามจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กล่าวคือ ให้ออกจากกุศล แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศล เป็นต้น บัณฑิตสูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจธรรมตามพระองค์ด้วย

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวสรุปจาก คำถามที่ว่า คนพาล บรรลุธรรมได้ไหม คำตอบ คือถ้าเป็นอันธพาล ไม่ได้สะสมปัญญา สะสมความดีมาเลย แต่สะสมความเห็นผิดจนดิ่ง เป็นต้น พาลเหล่านี้ ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เลย แต่ คนพาล ที่เกิดอกุศลจิตเพียงชั่วขณะ ที่ขณะนั้นเป็นพาล แต่ ได้สะสมปัญา อบรมบารมีมา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมได้ฟังพระธรรม ก็ได้บรรลุธรรมได้ ครับ ขอยกตัวอย่าง เช่น โจรผู้ขโมยสิ่งต่างๆ เป็นประจำ ก็เป็นผู้ที่ทำบาป เป็นคนพาล ในขณะนั้น แต่ เมื่อได้ฟังพระธรรม ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส พาโล จ ปณฺฑิตมานี ส เว พาโลติ วุจฺจติ

"บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่แห่งตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิตเพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่า ตนเป็นบัณฑิตบุคคลนั้นแล เราเรียกว่า 'คนโง่'"

เรื่องราวของพระสูตรนี้เป็นดังนี้ ครับ เรื่องกล่าวถึงโจร ๒ คน มุ่งที่จะไปโขมยทรัพย์ของคนที่นั่งฟังธรรมที่พระวิหารเชตวัน โจรคนหนึ่งมุ่งแต่จะหาทางลักขโมยแก้เอาทรัพย์ของผู้อื่น แต่อีกคนหนึ่งสะสมมาดี เห็นว่าในเมื่อพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรม ก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรม จึงตั้งใจฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ผลก็คือทำให้โจรคนที่ตั้งใจฟังพระธรรมได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันแต่โจรคนที่มุ่งแต่จะลักทรัพย์ของผู้อื่น ก็กระทำบาปด้วยการลักขโมย พร้อมกับดูหมิ่นเย้ยหยันสหายที่บรรลุเป็นพระโสดาบันว่าไม่สามารถหาทรัพย์ได้ ซึ่งสหายผู้บรรลุเป็นพระโสดาบัน คิดว่าโจรคนนี้สำคัญว่าตนเองเป็นบัณฑิตทั้งๆ เป็นคนพาลแท้ๆ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลความเป็นไปทั้งหมด เป็นเหตุให้พระองค์ตรัสพระคาถาดังกล่าว

ขอเชิญคลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

พระสูตรเรื่องโจรผู้ทำลายปม และอย่าง ท่านพระเทวทัต ก่อนจะบรรลุธรรม ก็ได้ทำบาปมากมาย แต่ ในที่สุดในอนาคตกาล อีก แสนกัปข้างหน้า ท่านก็จะได้บรรลุธรรมเป้นพระปัจเจกพุทธเจ้าและ ท่านพระพาหิยะ ก่อนนั้นก็เป็นผู้เข้าใจผิด ประพฤติเป็นคนเปลือย เป็นคนพาลในขณะนั้น แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมก็บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ ครับ

นี่แสดงให้เห็นว่า พาลมีหลายระดับ พาลที่เกื้อกูลได้ เปลี่ยนจากพาล เป็นบัณฑิตเพราะ สะสมปัญญามา และ พาลที่มีความเห็นผิดดิ่ง ก็ไม่สามารถแก้ได้ เพราะ ไม่รู้จักตนเองว่าเป็นพาล เพราะ ไม่มีปัญญานั่นเองครับ ซึ่งจะต้องอาศัย การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พระธรรมจึงเปรีนบเหมือนกับ มิตรที่ดี บัณฑิตที่ประเสริฐ เป็นตัวแทนของพระุพุทธเจ้า ที่จะค่อยๆ ละ ความเป็นคนพาล คือ อกุศลทีเ่กิดในใจทีละน้อย จนเป็นบัณฑิตได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 ธ.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา จะพบข้อความที่แสดงถึงความเป็นไปของบุคคลในครั้งอดีตกาล ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน จะเห็นได้ว่าตัวอย่างของผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล

ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม กุศลช่างมีกำลังที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาต่างๆ กัน บางท่านโกรธมากๆ บางท่านก็ติดข้องเป็นอย่างมาก บางท่านก็มีการประพฤติล่วงศีลในข้อต่างๆ ขณะที่มีความเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส ย่อมเป็นอกุศล ไม่ดีอย่างแน่นอน เป็นพาล แสดงให้เห็นว่าถ้า โลกุตตรปัญญา (ปัญญาที่ทำกิจดับกิเลส) ยังไม่เกิด ยังไม่มีทางที่จะดับกุศลใดๆ ได้เลย ทางกาย ทางวาจาที่แสดงออกก็ยังต้องเป็นไปตามกำลังของกุศลนั้นๆ เช่น โลภะซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งเป็นกุศลประเภทหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีกำลังมากแค่ไหน ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่แสดงไว้ว่า อุปมาว่าเหมือนกับต้นยางซึ่งชุ่มด้วยยาง เมื่อใดที่เอามีดกรีดลงไปเมื่อนั้นยางก็ย่อมไหลออก

เพราะฉะนั้นเมื่อทางตาได้ประสบกับอารมณ์ ซึ่งเป็นที่พอใจ ไม่มีใครสามารถจะยับยั้งได้เลยที่จะไม่ให้เกิดความพอใจ เหมือนกับโลภะซึ่งสะสมมาเต็ม เมื่อได้อารมณ์ที่พอใจ ก็คือ มีดที่กรีด ให้ความพอใจหลั่งไหลออกมาอย่างชุ่มโชกไม่สามารถที่จะระงับได้เลย

นี่เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนจริงๆ ว่าชอบสิ่งใด ความอยากได้มีมากแค่ไหน ทางหูอยากจะฟังเสียงที่ไพเราะ ทางจมูกอยากจะได้กลิ่นหอมๆ ทางลิ้นที่เป็นอาหารรสอร่อย เป็นต้น เป็นไปกับด้วยโลภะทั้งนั้น ในขณะนั้นที่โลภะกำลังเกิด ไม่สามารถที่จะยับยั้งโลภะได้เลย

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา แล้วโลกุตตรปัญญาเกิด จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ว่าก่อนนั้นทุกคนเต็มไปด้วยกุศลนานาประการ กิเลสที่มีมาก ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้นถึงจะดับได้ ครับ

เข้าใจถูกเห็นถูกเมื่อใด ไม่ใช่พาลเมื่อนั้น ถ้าไม่เข้าใจ ก็เป็นพาล จะค่อยๆ เป็นบัณฑิตได้อย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองเป็นพาล เพราะมากไปด้วยอกุศลจริงๆ

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๙

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

นายเขมกะบรรลุเป็นพระโสดาบัน [เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ]

เป็นทูตของตัณหา [ทูตชาดก]

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 4 ธ.ค. 2556

ขณะที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นพาล บรรลุธรรมไม่ได้ แต่ ถ้าเป็นกุศล มีปัญญา ขณะนั้นก็บรรลุธรรมได้ เป็นบัณฑิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 10 ธ.ค. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 17 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ