ชิคุจฉิตัพพสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 
มศพ.
วันที่  16 ก.พ. 2557
หมายเลข  24481
อ่าน  1,751

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ... .. ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••

... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ คือ

ชิคุจฉิตัพพสูตร

... จาก ...

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๗

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๗

ชิคุจฉิตัพพสูตร *

(ว่าด้วยบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบ)

[๔๖๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ คือใคร คือ บุคคลที่ควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ก็มี บุคคลที่ควรเฉยๆ เสีย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ก็มี บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าใกล้ ก็มี

บุคคลที่ควรเกลียด ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก (มีการกระทำ) ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานอันปกปิด ไม่เป็นสมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เป็นคนเน่าใน เปียกชื้น รกเรื้อ (ด้วยกิเลสโทษ) บุคคลเช่นนี้ ควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ นั่นเพราะเหตุอะไร? เพราะถึงแม้ผู้คบ จะไม่เอาเยี่ยงของบุคคลชนิดนั้น แต่ก็จะมีกิตติศัพท์อันเลวฟุ้งไปว่า เป็นคนมีมิตรชั่ว มีสหายเลว มีเพื่อนทราม งูที่จมคูถย่อมไม่กัด ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น มันก็ทำผู้จับให้เปื้อน ฉันใด ถึงแม้ผู้คบจะไม่เอาเยี่ยงของบุคคล ชนิดนั้น แต่ก็จะมีกิตติศัพท์อันเลวฟุ้งไปว่า เป็นคนมีมิตรชั่ว มีสหายเลว มีเพื่อนทราม ฉันนั้น เหมือนกัน เพราะเหตุนั้น บุคคลเช่นนั้น จึงควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้

บุคคลที่ควรเฉยๆ เสีย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เป็นอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนขี้โกรธ มีความแค้นมาก ถูกเขาว่าหน่อย ก็ขัดเคือง ขึ้งเคียด เง้างอด ทำความกำเริบ ความร้ายและความเดือดดาลให้ปรากฏ

เหมือนแผลร้ายถูกไม้หรือกระเบื้องเข้า ยิ่งหนองไหล ... เหมือนฟืนไม้ติณฑุกะ ถูกครูดด้วยไม้หรือกระเบื้อง ยิ่งส่งเสียงจิจิฏะๆ ... เหมือนหลุมคูถถูกกระทบด้วยไม้หรือกระเบื้อง ยิ่งเหม็นฉันใด บุคคลบางคน ในโลกนี้เป็นคนขี้โกรธ มีความแค้นมาก ถูกเขาว่าหน่อย ก็ขัดเคือง ขึ้งเคียด เง้างอด ทำความกำเริบ ความร้าย และความเดือดดาลให้ปรากฏ ฉันนั้น บุคคลเช่นนี้ ภิกษุทั้งหลาย ควรเฉยๆ เสีย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ นั่นเพราะเหตุอะไร? เพราะ (เกรงว่า) เขาจะด่าเราบ้าง จะตะเพิดเราบ้าง จะทำเราให้เสื่อมเสียบ้าง เพราะเหตุนั้น บุคคลชนิดนี้ จึงควรเฉยๆ เสีย

ก็บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าใกล้เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลอย่างนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าใกล้ นั่น เพราะเหตุอะไร เพราะถึงแม้ผู้คบจะไม่เอาเยี่ยงบุคคลเช่นนั้น แต่ก็จะมีกิตติศัพท์ อันงามขจรไปว่า เป็นคนมีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เพราะเหตุนั้น บุคคลอย่างนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าใกล้

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ มีอยู่ในโลก. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสนิคมคาถา (คาถาสรุป) ว่า

คนผู้คบคนทราม ย่อมเสื่อม ส่วน คนผู้คบคนเสมอกัน ไม่เสื่อมในกาลไหนๆ ผู้คบคนที่ประเสริฐกว่า ย่อมเจริญเร็ว เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่ยิ่งกว่าตน.

จบ ชิคุจฉิตัพพสูตรที่ ๗.

อรรถกถาชิคุจฉิตัพพสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในชิคุจฉิตัพพสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ชิคุจฺฉิตพฺโพ ความว่า บุคคลที่ใครๆ พึงรังเกียจเหมือนคูถ ฉะนั้น.

บทว่า กิตฺติสทฺโท คือ เสียงที่กล่าวขานกัน.

ในบทว่า เอวเมว โข นี้ พึงทราบข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ ความเป็นผู้ทุศีล พึงเห็นเหมือนหลุมคูถ. บุคคลผู้ทุศีล พึงเห็น เหมือนงูเรือน ตัวตกลงไปในหลุมคูถ ฉะนั้น ภาวะที่บุคคลจะคบหาบุคคล ผู้ทุศีล (แต่) ไม่ทำตามบุคคลผู้ทุศีลนั้น พึงเห็นเหมือนภาวะที่บุคคลถูกงู ที่เขายกขึ้นจากหลุมคูถไต่ขึ้นสู่ร่างกาย แต่ไม่กัด ฉะนั้น เวลาที่บุคคลคบ หาผู้ทุศีล จนชื่อเสียงที่ไม่ดีระบือไปทั่ว พึงทราบเหมือนเวลาที่เขาถูกงูตัว เปื้อนคูถแล้ว กัดเอา ฉะนั้น.

บทว่า ติณฑุกาลาตํ ได้แก่ ดุ้นฟืนไม้มะพลับ.

บทว่า ภิยฺโยโส มตฺตาย จิจิฏายติ ความว่า ก็ ดุ้นฟืนไม้มะพลับนั้น เมื่อถูกเผาตามปกติ สะเก็ดจะกระเด็นหลุดออกส่งเสียงดัง จิจิฏะ จิจิฏะ. อธิบายว่าแต่ดุ้นฟืนที่ถูกเคาะจะส่งเสียงดังกว่ามาก.

บทว่า เอวเมว โข ความว่า บุคคลผู้มักโกรธ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ แม้ตามธรรมดาของตน ก็เป็นผู้ไม่สงบ ดุร้ายเที่ยวไป. แต่ในเวลาที่ได้ฟังคำพูด (ว่ากล่าว) แม้เพียงเล็กน้อย ก็กลับเที่ยวเกรี้ยวกราด ดุร้ายยิ่งขึ้นไปอีกว่า คนนี้ พูดอย่างนี้ๆ กับคนเช่นเราได้.

บทว่า คูถกูโป ได้แก่ หลุมที่เต็มไปด้วยคูถ หรือ หลุมคูถนั่นแล. ก็ในที่นี้ พึงทราบการเปรียบเทียบโดยนัยก่อนนั้นแล.

บทว่า ตสฺมา เอวรูโป ปุคฺคโล อชฺฌุเปกฺขิตพฺโพ น เสวิตพฺโพ ความว่า เพราะเหตุที่บุคคลผู้มักโกรธ เมื่อใครคบหาใกล้ชิดก็โกรธ เหมือนกัน ย่อมโกรธ แม้กะบุคคลที่ด่าย้อนให้ว่า คนผู้นี้มีประโยชน์อะไร ฉะนั้น เขาจึงเป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง ที่ทุกคนควรวางเฉย ไม่ควรเข้าไปคบหา สมาคม. ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร? ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า บุคคลที่เข้าไป ใกล้ไฟไหม้ฟางจนเกินไปจะร้อน ร่างกายของเขาจะพลอยถูกไหม้ไปด้วย บุคคล ที่ถอยออกห่างมากเกินไป ความหนาวของเขาก็ยังไม่หาย ส่วนบุคคล ที่ผิงไฟอยู่ในระยะพอดี ไม่เข้าใกล้จนเกินไป (และ) ไม่ถอยออกห่างจนเกินไป ความหนาวก็จะหาย เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มักโกรธเป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง จึงควรถูกวางเฉยเสีย โดยการวางตัวเป็นกลาง ไม่ควรที่ใครๆ จะเสพ ไม่ควร ที่ใครๆ จะคบหา ไม่ควรที่ใครๆ จะเข้าไปนั่งใกล้.

บทว่า กลฺยาณมิตฺโต ได้แก่ มิตรผู้สะอาด.

บทว่า กลฺยาณสหาโย ได้แก่ สหายผู้สะอาด. ที่ชื่อว่า สหาย ได้แก่ ผู้มีปกติไปร่วมกันและเที่ยวไปร่วมกัน.

บทว่า กลฺยาณสมฺปวงฺโก ได้แก่ ผู้โอนไปในกัลยาณมิตรทั้งหลาย คือ ในบุคคลผู้สะอาด อธิบายว่า ผู้มีใจน้อมโน้มเหนี่ยวนำไปในกัลยาณมิตรนั้น.

จบอรรถกถาชิคุจฉิตัพพสูตรที่ ๗

* หมายเหตุ ชิคุจฉิตัพพะ แปลว่า ควรรังเกียจ .


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ชิคุจฉิตัพพสูตร

(ว่าด้วยบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบ)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบุคคล ๓ จำพวก คือ

-บุคคลที่ควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ได้แก่ คนไม่ดี คนทุศีล คนมีบาปธรรม

-บุคคลที่ควรเฉยๆ เสีย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ คือ คนมักโกรธ แค้นเคือง

-บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าใกล้ คือ บุคคลผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ที่เป็นกัลยาณมิตร

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

คบบัณฑิต

พาล กับ มิใช่พาล

คนพาล

บัณฑิต

การคบบัณฑิต เป็นมงคลอุดม

การคบหาสมาคมนั้นให้ผลเปลี่ยนวิถีกรรมใช่หรือเปล่าคะ

[คบคนที่ไม่สนใจธรรม หรือ คบคนที่เข้าใจธรรมผิดคลาดเคลื่อนจากความ เป็นจริง จะมีทางที่ทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกได้หรือไม่? เป็นไปไม่ ได้เลย เพราะคบคนที่มีความเห็นผิด ความเห็นผิดและความไม่รู้ ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ควรกลัว ไม่ใช่คนพาล แต่เป็นความเป็นพาล คือ อกุศลธรรม ที่มีในตน เพราะ ภัยคืออกุศลธรรม นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือนร้อน เท่านั้น อดทนที่จะเป็นคนดี อดทนที่จะไม่โกรธ เขาโกรธมา เราโกรธไป ความไม่ดีเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น ที่ไม่อดทน มีชีวิตอยู่เพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่าที่จะเป็นไปได้]

อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๐

... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 17 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 19 ก.พ. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 19 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 20 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 21 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 21 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 21 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Chalee
วันที่ 22 ก.พ. 2557

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 23 ก.พ. 2557

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่นอย่างยิ่งค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 1 พ.ย. 2560

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัย

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณกุศลจิตธรรมทานค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ