ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร - เหตุเสื่อมและไม่เสื่อมแห่งศาสนา - ๑๕-o๘-๒๕๕๘

 
มศพ.
วันที่  9 ส.ค. 2558
หมายเลข  26899
อ่าน  1,539

นโม ตสฺส ภควโต
อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต
อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต
อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ


ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ ๓๒๖

...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ ๓๒๖

ตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร
(ว่าด้วยเหตุเสื่อมและไม่เสื่อมแห่งศาสนา)

[๑๕๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม,
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมกระทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม,
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ที่เป็นพหูสูต มีการเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัยทรงมาติกา ย่อมไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อมขาดเค้ามูล ไม่มีหลัก นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม,
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ประชุมชนในภายหลัง ย่อมถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ประชุมชนเหล่านั้นก็เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม,
อีกประการหนึ่ง สงฆ์เป็นผู้แตกกัน เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว ย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน แช่งกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมไม่เลื่อมใส และ คนบางพวกที่เลื่อมใสแล้วย่อมเหินห่าง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม.
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตร ทรงจำไว้ดี ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี ย่อมเป็นเนื้อความที่มีนัยดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม,
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม,
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ที่เป็นพหูสูต เล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย และทรงมาติกา ย่อมบอกแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตร ย่อมไม่ขาดเค้ามูล มีหลักฐานอยู่ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม,
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ย่อมไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด เป็นหัวหน้าในทางวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่งสงฆ์ย่อมเป็นผู้สมัครสมานกันดี ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเป็นอย่างเดียวกัน อยู่สบาย ก็เมื่อสงฆ์สมัครสมานกันดี ไม่มีการด่ากันและกัน ไม่บริภาษกันและกัน ไม่มีการแข่งขันกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใส ย่อมเลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้น นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม.

จบตติยสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๖

อรรถกถาตติยสัทธัมมสัมโมสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในตติยสัทธัมสัมโมสสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า อปฺปฏิสรโณ ได้แก่ ไม่มีที่พึ่งอาศัย จริงอยู่ อาจารย์ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นที่พำนักแห่งพระสูตร เพราะไม่มีอาจารย์เหล่านั้น พระสูตรจึงไม่มีที่พึ่งอาศัย. คำที่เหลือในสูตรนี้มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล

จบอรรถกถาตติยสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ส.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ตติยสัมโมสสูตร

ว่าด้วยเหตุเสื่อมและไม่เสื่อมแห่งศาสนา

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมลบเลือนเสื่อมสูญ ๕ ประการ ได้แก่

๑. เล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี

๒. เป็นผู้ว่ายาก ไม่น้อมรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ

๓. เป็นพหูสูต แต่ไม่บอกธรรมแก่ผู้อื่น

๔. ผู้เป็นเถระ มักมาก ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ไม่น้อมไปในความสงบจากกิเลส

๕. สงฆ์แตกแยกกัน

และทรงแสดงเหตุที่ทำให้พระสัทธรรม ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญ มีนัยตรงข้าม ๕ ประการได้แก่

๑. เล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้อย่างดี

๒. เป็นผู้ว่าง่าย น้อมรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ

๓. เป็นพหูสูต แล้วบอกธรรมแก่ผู้อื่น

๔. ผู้เป็นเถระ ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย น้อมไปในความสงบจากกิเลส

๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ไม่แตกแยกกัน

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ผู้ทำให้พระสัทธรรมเสื่อมและมั่นคง

สัทธรรม

ฟังด้วยความเคารพ

สัทธรรมมีความหมายหลายนัย

การเป็นผู้ว่าง่ายคืออะไรและทำอย่างไรครับ

เผาไหม้ด้วยโทสะ

ทำไมชาวพุทธเรา ชอบเอาศาสนาฝากไว้กับพระฝ่ายเดียว

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ..

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 16 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ