ได้รับธงกฐินมา ควรทำอย่างไรที่ถูกตามหลักธรรมคำสอนคะ
ในการไปร่วมทอดกฐินสามัคคี ถวายผ้าไตรจีวรแด่พระภิกษุ แล้วได้รับมอบธงจระเขัทองกับนางมัจฉาทองกลับมา ถ้าให้ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนเราควรทำอย่างไรดีคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจเรื่องกฐินให้ถูกต้องก่อนครับ
เรื่องของกฐินเป็นเรื่องที่ละเอียดและพระภิกษุและคฤหัสถ์ควรปฏิบัติอย่างถูกต้องในเรื่องของกฐินด้วยการศึกษาพระธรรมทีวินัย เพื่อเป็นการดำรงรักษาพระศาสนาไว้ครับ
คำว่า กฐิน มี ๒ ความหมาย คือ กฐินเป็นชื่อไม้สะดึงสำหรับขึงผ้าให้ตึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเย็บผ้า และ กฐินตามพระวินัยหมายถึงผ้า ซึ่งเป็นผ้าสำหรับครองของพระภิกษุ เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดา ๓ ผืน
กฐิน เป็นการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ที่มาของกฐินนั้น คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป ซึ่งมีความประสงค์จะมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่วิหารพระเชตวัน ตอนนั้นจวนเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ไม่สามารถเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี ก็เลยอยู่จำพรรษาตามพระวินัย ณ เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านเหล่านั้นก็เดินทางต่อทันที ในช่วงนั้นฝนยังไม่หมดทำให้จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำ เกิดความลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภในเรื่องนี้จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ทำการกรานกฐิน เพื่อเปลี่ยนผ้าในช่วงจีวรกาล ระยะเวลา ในการถวายกฐินนั้น มีระยะเวลา ๑ เดือน คือ หลังออกพรรษาแล้ว ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
จะเห็นนะครับว่า เรื่อง กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทองเลย เพราะเหตุว่า เงินทองเป็นสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ คือ สิ่งไม่เหมาะสมกับเพศบรรพชิตครับ
กฐิน เป็นสังฆกรรมของพระภิกษุทั้งหลาย โดย บริษัททั้ง 4 หรือ แม้แต่เทวดา ก็ถวายผ้ากับสงฆ์และก็มีการทำกรานกฐิน โดยเป็นวินัยของสงฆ์ครับ
ดังนั้น การแจกซองกฐิน จึงไม่ถูกต้องตามกฐินในพระธรรมวินัย ที่เป็นเรื่องของการถวายผ้ากับพระภิกษุเท่านั้นครับ ไม่มีเงินและทองมาร่วมด้วย ไม่มีบริวารกฐินที่เป็นเงินทองเลยครับ และการสร้างศาสนาวัตถุ ก็ไม่ควรนำกฐินมาเกี่ยวข้องเพราะกฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ดังนั้นถ้าจะให้สร้างศาสนาวัตถุ ก็บอกไปโดยตรงว่า ร่วมเรี่ยไรกันสร้างศาสนาวัตถุ แต่ไม่ใช่นำเอาเรื่องกฐิน มาปนโดยการเรี่ยไรเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกฐินและไม่ตรงเลยครับ ดังนั้นเมื่อคฤหัสถ์มีการเรี่ยไรด้วยการอ้างกฐินก็เท่ากับมีความเข้าใจผิดในพระธรรม พระศาสนาก็เสื่อมไปเรื่อยๆ เพราะผิดพระวินัยที่พระองค์บัญญัติไว้นั่นเองครับ และหากพระภิกษุในวัด ขอให้การทำกฐิน โดยไปบอกกับคฤหัสถ์ก็ผิดเช่นกัน ไม่เป็นกฐิน เพราะกฐินไม่ใช่การรวบรวมเงินมาทำที่วัด เพราะเงินไม่ใช่สิ่งที่สมควรกับพระภิกษุ
ดังนั้น ที่ถูกต้องต่อไปที่ควรจะทำ คือ ไม่ควรเอาคำว่ากฐิน มาเกี่ยวข้องในการเรี่ยไรเงินในการสร้างศาสนาวัตถุ เพราะ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฐิน การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง และเปลี่ยนตามสิ่งที่ถูกต้อง ย่อมจะรักษาพระศาสนา รักษาพระภิกษุไม่ให้ต้องอาบัติ และรักษาจิตใจของเราเอง คือ รักษาให้ตั้งมั่นในสัจจะ ความจริง ความตรงและความถูกต้อง ไม่เปลี่ยนไปตามความเข้าใจผิดที่เป็นค่านิยมใหม่ และ เมื่อสะสมความตรงอย่างนี้ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่ถูก สิ่งที่มีค่าที่ได้ คือ การสะสมสิ่งที่ดี คือความเป็นผู้ตรง เมื่อเกิดในชาติหน้า ในยุคสมัยใด ก็จะไม่เอนเอียง ตามสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นผู้ที่ได้สะสมความเห็นถูก และ ความเป็นผู้ตรงมา นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม ครับ
ดังนั้น ธงจระเขัทองกับนางมัจฉา ก็ไม่เกี่ยวข้องกับกฐินประการใดๆ เลย เพราะ กฐินเป็นพิธี สังฆกรรมของพระภิกษุ ไม่เกี่ยวกับฆราวาส เพราะฉะนั้นเรื่องของธง จึงเป็นความเชื่อที่ผิด ไม่ควรเอามาประดับหรือใดๆ ทั้งสิ้น ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๑]
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๒]
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๓]
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๔]
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบพระคุณสำหรับคำตอบ มีคุณค่ายิ่ง ผู้รู้มีมากแต่ผู้รู้และกล้ายืนหยัดตามธรรมวินัยหายากเหลือเกิน
หันไปทางไหนก็มีแต่ชวนกันทำกฐิน แจกซองกฐิน เอาเงินใส่ซองกฐิน รวบรวมเงินกฐินถวายพระ พระรับเองบ้าง ให้โยมวัดรับแล้วพระมาจัดการภายหลังบ้าง กฐินบนฐานของความไม่รู้ ยิ่งทำยิ่งทำให้ไกลธรรมวินัยมากขึ้นทุกที
คำตอบนี้จึงเป็นการกอบกู้พระศาสนาอีกครั้ง ปิติจิตเกิดและยินดีกับคำตอบครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่ต้องไปหวั่นเกรงความเห็นที่ไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นธรรมดาจริงๆ ที่ความไม่รู้ ความเห็นผิด ตลอดจนถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย นั้น ทำให้ไหลไปในทางที่ผิด ประเพณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปกับความไม่รู้ ทำตามๆ กันมาอย่างยาวนานด้วยความไม่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง แต่เมื่อได้ศึกษาเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วตามพระธรรมวินัย แล้ว ก็จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด แต่จะทำให้ถูกต้องขึ้นตามพระธรรมวินัย และความเข้าใจถูกเห็นถูกนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับตนเองแล้วยังสามารถเกื้อกูลให้ผู้อื่นมีความเข้าใจถูกเห็นถูกด้วย ว่า อะไร คือ สิ่งที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และ อะไรคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามพระวินัย อย่างเช่น กฐิน กฐิน ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่ซอง ไม่ใช่ธง หรือสิ่งอื่นใด นอกจากผ้า เท่านั้น และเป็นไปตามพระวินัย และอยู่ในกาลเวลาที่ออกพรรษาแล้วไม่เกินหนึ่งเดือน ที่คณะสงฆ์จะต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในวันนั้น เป็นวินัยกรรมของพระภิกษุ และมุ่งที่ความสามัคคีของคณะสงฆ์เป็นหลัก ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สาธุ สาธุ สาธุ
ทั้งสองคำตอบเป็นมงคลยิ่ง ตรงกับมงคลสูตร มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรม ...พึงสละสิ่งอื่นเพื่อรักษาธรรม...
ยินดีในบุญครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ การศึกษาพระธรรมทำให้พ้นจากความเห็นผิด น่าเสียดายที่มีคนดีๆ ในพระพุทธศาสนาที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแต่ด้วยความเข้าใจผิด เห็นผิด
คำตอบที่ได้รับนับเป็นกำลังหนุนนำในความตั้งใจมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้องตรงจริงต่อไป
ขอขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณครับสำหรับคำตอบจากผู้รู้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวั่นเกรงถึงความเห็นต่างจากความเชื่อถือของคนส่วนใหญ่
เมื่อวันที่ 6 และ 7 พ.ย. ที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานกฐิน ณ. วัด 2 แห่งที่เพชรบูรณ์ และด้วยความไม่รู้ ได้ปฎิบัติตนเหมือนชาวพุทธที่ไปร่วมงาน
วันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.นี้ มีหมายกำหนดไปร่วมงานกฐิน ณ.วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย มีความหนักใจและไม่แน่ใจว่าจะประพฤติปฎิบัติตนในทางที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธองค์ได้อย่างครบถ้วน (และทำให้คนส่วนใหญ่ที่ร่วมงานกฐินยอมรับ)