สิ่งที่ผมได้จากการนั่งสมาธิ

 
phuttha
วันที่  13 พ.ย. 2558
หมายเลข  27210
อ่าน  1,454

1. ผมรู้สึกว่ากิเลสในตัวตัวผมเองน้อยลงไป

2. ทำไมผมนั่งนานๆ แล้วพอลืมตาขึ้นมาเหมือนกับว่าผมจำอะไรไม่ค่อยได้แม้แต่บุคคลที่รู้จัก

3. รู้สึกภายในจิตใจใฝ่แต่จะออกบวชเป็นพระ

4. ทำไมผมถึงดับความโกรธ ความโลภลงได้เร็วแต่ไม่สามารถดับกามได้ครับ

5. ทำไมผมถึงมีความรู้สึกภายในจิตใจเหมือนไม่มีความรัก ความปรารถนาหรือความอยากได้ต่อสิ่งของและบุคคลเลย

6. ผมเคยมองดูภาพอสุภะแล้วมานั่งสมาธิเคยพิจารณาได้ แต่ตอนนี้มองภาพอสุภะแล้วกลับมีความเฉยเมยได้ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนตอนแรกที่ดูแล้วนั่งสมาธิ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญาและความเห็นถูกครับ การกระทำอะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่รู้ ทำแล้วสงสัย ทำแล้วเป็นไปในการเพิ่มอกุศลจิต อกุศลธรรม มีความไม่รู้ความไม่สบายใจ โทสะและกิเลสอื่นเพิ่มขึ้น นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นหนทางที่ผิด ไม่ใช่หนทางที่ถูกและไม่ใช่ปัญญาเลยครับ แต่การกระทำอะไรก็ตามเมื่อกระทำแล้ว กุศลเจริญขึ้นและปัญญาเจริญมากขึ้น นั่นเป็นพระพุทธศาสนาและเป็นหนทางที่ถูกตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับ

ดังนั้น เมื่อรู้ว่าการกระทำนั้นเพิ่มอกุศล ไม่ได้เพิ่มปัญญา ความเห็นถูกอะไรเลย เพราะความเห็นถูกและปัญญาที่เจริญ ย่อมนำมาซึ่งความอาจหาญ ร่าเริงด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่การทนไม่ได้เพราะความคิดนึกที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจาก สมาธิ ที่เป็นสมาธิที่ผิดครับ คำว่า จงกรม ก็ดี สมาธิ ก็ดี ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จะไม่เข้าใจผิดเลยจะไม่เข้าใจผิดว่า จงกรม และ สมาธิเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ

เพราะจงกรม ก็คือ การเดินปกติ ไม่ใช่สร้างท่าทางขึ้นมาให้ผิดปกติ เดินตามปกตินี้เอง คือ จงกรม (ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า จงฺกม แปลว่า การก้าวเดินไป ก้าวไป) สภาพธรรมใดปรากฏก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ในขณะนั้น ส่วนสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก มีทั้งมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ซึ่งถ้าไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตนด้วยความจดจ้องต้องการว่าเป็นทางที่จะทำให้หลุดพ้น นั่นล้วนเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส พอกพูนสังสารวัฏฏ์ให้ยืดยาวต่อไป ส่วนสมาธิที่เป็นกุศลก็มี เพราะสมาธิเป็นเจตสิกประการหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกประเภท (เอกัคคตาเจตสิก) ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับอกุศล (ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง) เป็นอกุศลสมาธิหรือเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลสมาธิ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเริ่มที่การฟัง การศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ครับ.

เชิญคลิกอ่านที่นี่นะครับ มีประโยชน์มาก

ตอบคำถาม FQA เรื่อง จะไปปฏิบัติ (นั่งสมาธิ เดินจงกรม)

การนั่งสมาธิ

จะนั่งสมาธิ หรือจะเข้าใจสมาธิ

สมาธินั้น...แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลสจะน้อยไม่ได้ เพราะยังไม่มีความเข้าใจอะไรเลย แม้กระทั่งกิเลสคืออะไร เป็นธรรมที่มีจริงหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ตั้งต้นที่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้

เพราะนั้นแล้ว หนทางที่ควรดำเนิน คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เป็นการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อความเข้าใจเจริญขึ้น ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งให้มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งขณะนั้น สมาธิ ก็มีด้วย แต่เป็นสมาธิที่เป็นไปพร้อมกับสติปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง เป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นโดยชอบ ไม่ใช่ด้วยการทำ ไม่ใช่ด้วยการจดจ้องต้องการ แต่เป็นความเจริญขึ้นของความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นแล้ว ประเด็นที่ควรพิจารณา คือ แทนที่จะไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ก็ควรที่จะได้มาสู่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริง คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 14 พ.ย. 2558

สาธุ ขอบคุณสำหรับทุกๆ คำค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
phuttha
วันที่ 14 พ.ย. 2558

ขอรบกวนช่วยชี้แนะแนวทางด้วยครับในการนั่งสมาธิ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 15 พ.ย. 2558

ขออนุญาตสนทนาโดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยนั่งสมาธิเช่นกันมาก่อนแล้วหลายปีนะครับ

ถาม 1 ผมรู้สึกว่ากิเลสในตัวตัวผมเองน้อยลงไป.

ตอบ เป็นเรื่องที่คิดเอาเองครับ เพราะหากสังเกตให้ดีๆ บางครั้ง บางเรื่อง กิเลสเกิดขึ้นมากกว่าเดิมเสียอีก และจริงๆ และกิเลสที่สะสมไว้นอนเนืองในจิตนั้นที่ไม่ปรากฏออกมานั้น มีมากมายมหาศาล หากสามารถรู้ได้ จะตกใจครับ

ถาม 2 ทำไมผมนั่งนานๆ แล้วพอลืมตาขึ้นมาเหมือนกับว่าผมจำอะไรไม่ค่อยได้แม้แต่บุคคลที่รู้จัก.

ตอบ ก็เหมือนถูกสะกดจิตนะครับ เวลาโฟกัสอะไรนานๆ ประสาทรับรู้สิ่งอื่นๆ รอบตัวก็น้อยลงครับ

ถาม 3 รู้สึกภายในจิตใจใฝ่แต่จะออกบวชเป็นพระ.

ตอบ เกิดจากความอยากครับ ไม่อยากยุ่งกับเรื่องทางโลก แต่ไม่เข้าใจหรอกครับว่าเพศบรรพชิตนั้นท่านกล่าวว่าไว้สำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยคืออุปนิสัยและมีปัญญาที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ไม่ใช่เพียงไม่อยากยุ่งเรื่องทางโลก

ถาม 4 ทำไมผมถึงดับความโกรธ ความโลภลงได้เร็วแต่ไม่สามารถดับกามได้ครับ.

ตอบ นี่ก็คิดเอาเองอีกครับ ความโกรธ ความโลภ นั้นน่ะเกิดดับเองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้อยู่แล้ว แต่ด้วยความเห็นผิดจึงเข้าใจว่าเราจัดการกิเลสเหล่านี้ได้ หากยิ่งเข้าใจผิดอย่างนี้มากขึ้น ย่อมเสริมสร้างอัตตาตัวตนเพิ่มขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ

ถาม 5 ทำไมผมถึงมีความรู้สึกภายในจิตใจเหมือนไม่มีความรัก ความปรารถนาหรือความอยากได้ต่อสิ่งของและบุคคลเลย.

ตอบ จริงเหรอครับ รักตัวเองมีไหมครับ? ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เราไม่รู้เองว่ามี

ถาม 6 ผมเคยมองดูภาพอสุภะแล้วมานั่งสมาธิเคยพิจารณาได้ แต่ตอนนี้มองภาพอสุภะแล้วกลับมีความเฉยเมยได้ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนตอนแรกที่ดูแล้วนั่งสมาธิ.

ตอบ ก็เหมือนมองภาพสวยๆ แหละครับ มองไปนานๆ ก็เฉยๆ ไม่ต่างกันเลย เห็นความร้ายกาจของเวทนาไหมครับ? ล่อหลอกไปเรื่อยๆ

ถาม ช่วยชี้แนะแนวทางการนั่งสมาธิ

ตอบ เปลี่ยนจากการสนใจเรื่องนั่งสมาธิมาเป็นสนใจเรื่องปัญญาดีกว่าไหมครับ? สมกับคำว่า "พุทธะ" ซึ่งหมายความถึง การรู้ความจริง

และปัญญาหรือความเข้าใจความเป็นจริงนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดทีเดียว มิฉะนั้นพระพุทธองค์คงไม่แสดงพระธรรมมากมาย หลายนัย เพื่อให้ได้เข้าใจความเป็นจริงอันเป็นสัจจธรรม

พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงลำดับของปัญญาตั้งแต่

๑. สุตมยปัญญา ขึ้นการฟัง การไตร่ตรอง พระธรรมที่แสดงความจริงท้ังหลาย

๒. จินตามยปัญญา เป็นขั้นพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงทั้งหลายเหล่านั้น และ

๓. ขั้นภาวนมยปัญญา เป็นขั้นเริ่มประจักษ์ชัดในสภาพธรรมทั้งหลาย

ปัญญานั้นก็ต้องเป็นไปตามลำดับ ไม่กระโดดข้ามกัน

ปัญญาหรือความเข้าใจความจริงแต่ละขั้นนำมาซึ่งความสงบแต่ละระดับ เป็นความสงบที่แท้จริง เป็นสัมมาสมาธิ

ความเข้าใจยิ่งมาก ความสงบยิ่งแนบแน่น เพราะเข้าใจความจริงมั่นคงขึ้นๆ

ไม่ต้องไปนั่ง ไปเดิน ไปทำท่าทางอะไรเลย ไม่ต้องไปสำนัก ไปป่า เขา ลำเนาไพร ไหนๆ

ความสงบของปัญญาเกิดได้ทุกสถานที่จริงๆ ครับ ทรงแสดงไว้ว่าแม้อยู่ในสถานที่ที่วุ่นวาย แต่ก็สงบได้ นี่ก็ดีกว่าไปนั่งสมาธิอย่างมากมายแล้วครับ

และที่สำคัญ ปัญญาที่แท้จริง ไม่มีนำไปให้เห็นผิด ทำอะไรผิดใดๆ ได้เลย

จึงทำให้ผมได้เข้าใจความจริงว่า ที่เคยไปนั่งสมาธิมาแต่ก่อนหลายปี บวชก็หลายครั้ง หากขาดความเข้าใจอันเป็นปัญญาแล้ว เข้ารกเข้าพง ไปไกล ไปบวชก็ประพฤติผิดพระวินัย เสียหาย เสียเวลาไปมากทีเดียวครับ

ตอนนี้จึงเลิกสนใจสมาธิ แต่สนใจศึกษา ฟังพระธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่ทรงแสดงมากขึ้นๆ ไป เพราะที่ทรงแสดงนั้นเป็นความจริงทั้งหมด แตกต่างจากที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนมากทีเดียว

จึงขออนุญาตยกข้อคิดมายังท่านเจ้าของกระทู้ได้พิจารณา เผิ่อจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ย. 2558

ความเห็นที่ 5

ให้ข้อคิดที่ดีมากสำหรับผู้ที่กำลังนั่งสมาธิและผู้ที่อยากนั่งสมาธิครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
phuttha
วันที่ 17 พ.ย. 2558

ครับขอบคุณครับที่ชี้แนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
phuttha
วันที่ 17 พ.ย. 2558

เราสามารถหลุดหพ้นจากวัฏฏะนี้ได้โดยการฟังใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
phuttha
วันที่ 17 พ.ย. 2558
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 5 โดย ผู้ร่วมเดินทาง

ขอบคุณมากครับที่ชี้ทางผม เราสามารถที่จะกระทำปัญญาให้แจ้งโดยการฟังธรรมใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 18 พ.ย. 2558

เรียนคุณ Phuttha ครับ

ที่ถามว่า เราสามารถหลุดพ้นจากวัฏฏะนี้ได้โดยการฟังใช่ไหมครับ

ตอบว่า หลุดพ้นได้โดยเริ่มต้นจากการฟังครับ เป็นไปตามที่ทรงแสดงตามลำดับของปัญญาที่จะทำหน้าที่ละนะครับ ต้ั้งแต่ปริยัติ ปฏิปัตติ และปฏิเวธ หากไม่เร่ิมต้นด้วยความรอบรู้ในพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ย่อมไม่มีทางไปถึงขึ้นปฏิปัตติ และปฏิเวธได้

ส่วนที่ถามว่า กระทำปัญญาให้แจ้งโดยการฟังธรรมใช่ไหมครับ

ตอบว่า กระทำปัญญาให้เกิดขึ้นตามลำดับโดยเริ่มจากการฟังธรรมครับ ท่านเรียกว่า "อบรม" คือ กระทำจากที่ไม่มีให้มี จากที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น ปัญญาย่อมเกิดจากเหตุนี้ตามลำดับ ไม่ใช่ไปทำอะไรอย่างอื่นเลย ต้องมั่นคงในความจริงนี้เพราะเป็นสัจจธรรมที่ทรงแสดงไว้สำหรับสาวกซึ่งคือผู้ฟังทั้งหลาย

ขออนุโมทนาคุณ Phutta ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 18 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 24 ก.พ. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 29 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Jarunee.A
วันที่ 25 ก.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ