ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณปริญญา คุณเบญจมาส สีดาโสม อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ๒๓ - ๒๕ ก.พ. ๒๕๕๙

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  14 มี.ค. 2559
หมายเลข  27563
อ่าน  2,392

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ คณะวิทยากรของมูลนิธิฯ รองศาสตราจารย์สงบ เชื้อทอง และ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ ได้รับเชิญจากคุณปริญญา และคุณเบญจมาส สีดาโสม เพื่อไปสนทนาธรรมที่บ้านพักในอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี

ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขออนุญาตเล่าเรื่องของพี่ปริญญาและพี่เบญฯ เพื่อเป็นตัวอย่างหนึ่งของความมั่นคงขึ้นในความเข้าใจถึงการสะสมอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ที่ได้ก้าวมาสู่หนทางที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) มีโอกาสอันวิเศษสุดของชีวิตในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อถึงการรู้ความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ อันจะนำหมู่สัตว์ออกจากทุกข์ได้ในวันหนึ่ง ซึ่งอีกแสนไกล ด้วยเหตุของการที่ได้เคยเป็นผู้ที่ได้สะสมการฟังและเข้าใจความจริงที่ทรงแสดงมาแล้วในอดีต แล้วๆ เล่าๆ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นจิรกาลภาวนา นับชาติไม่ถ้วน เพื่อท่านที่เพิ่งจะมีโอกาสได้ฟัง "คำจริง" (วาจาสัจจะ) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พึงสำเหนียกว่า กาลแห่งการที่จะได้รู้แจ้งความจริงที่ได้ทรงตรัสรู้นั้น หาใช่หนทางที่เป็นไปโดยง่าย และหาใช่จะเป็นไปได้ ในระยะเวลาอันสั้น หรือโดยรวดเร็วอย่างที่คิดกันโดยทั่วไปในขณะนี้ แต่ต้องเป็นผู้อาศัยการได้ยินได้ฟังพระธรรมมามาก (พหูสูต) จนมีความรอบรู้ในปริยัติคือคำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ จนกระทั่งมีความมั่นคง ปฏิปัตติหรือที่คนไทยเรียกว่าปฏิบัติ จึงจะเกิดได้ และแม้คำว่าปฏิปัตติ (ปฏิบัติ) ที่พระพุทธองค์ทรงใช้คำนี้ในภาษามคธี (มคธ-บาลี) ความจริงแล้วก็หามีผู้ใดไปปฏิบัติสิ่งใดไม่ แต่เป็นธรรมะนั้นเองที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้อบรมเจริญแล้ว โดยความเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาธรรมะใดให้เกิดขึ้นด้วยความต้องการได้

เพราะเหตุนี้ บุคคลจึงกระทำได้เพียงฟังและเข้าใจในสิ่งที่ทรงตรัสรู้ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นการสะสม อบรม เจริญปัญญาที่ยาวนาน อันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมะได้ในวันหนึ่ง ซึ่งอีกยาวไกล ดังได้กล่าวแล้ว

ข้าพเจ้าใคร่ขออนุญาตเล่าเรื่องของหนทางที่ท่านเจ้าบ้านทั้งสองได้มาพบกับพระศาสนาคือคำสอนที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาตินี้ เพื่อเป็นตัวอย่างหนึ่งในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงว่า เพราะบุญที่ได้เคยกระทำไว้แต่ปางก่อน (ปุพเพกตปุญญตา) พอเป็นสังเขป ดังนี้

โดยส่วนตัว ข้าพเจ้าได้พบและรู้จักกับพี่ปริญญาเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมสนทนาธรรมที่บ้านมิ่งโมฬี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ (ท่านที่สนใจ สามารถคลิกชมภาพและความการสนทนาในครั้งนั้นได้ที่นี่...ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ๒๒ - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔) ซึ่งเป็นครั้งแรกของข้าพเจ้า ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมฟังการสนทนาธรรมที่จัดขึ้นที่นี่ และทราบว่าเป็นครั้งแรกที่พี่ปริญญา ได้เดินทางมาฟังและได้กราบท่านอาจารย์เป็นครั้งแรกเช่นกัน

พี่ปริญญาได้เคยเล่าเรื่องราวของท่านและพี่เบญจมาส ก่อนและหลังจากที่จะได้พบกับท่านอาจารย์ไว้ในหลายที่ ข้าพเจ้าพอจำได้คร่าวๆ ว่า หลังจากที่พี่ปริญญาได้เกษียณอายุการทำงานจากสถานีโทรทัศน์เอบีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านทั้งสองก็คิดที่จะเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน และเมื่อเดินทางกลับมาแล้ว ทั้งสองท่านก็คิดว่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อการอบรมเจริญปัญญาในพระพุทธศาสนา แต่ทว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้น ทั้งสองท่านมิได้เดินบนเส้นทางเดียวกัน

ขณะที่พี่เบญฯเดินทางไปปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ อย่างที่คนส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและในโลกในปัจจุบันนี้ทำกัน (เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการนั่งสมาธิ สวดมนต์ เดินจงกรม ภาวนาพุทโธ ฯลฯ) พี่ปริญญากลับเดินทางไปแสวงหาพระภิกษุที่จะสามารถแสดงธรรม ความจริงที่ทรงตรัสรู้ ให้ท่านสามารถฟังและศึกษา เพื่อความเข้าใจความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง และ เพราะบุญที่ท่านได้เคยกระทำไว้แต่ปางก่อน ทำให้ท่านได้รับการแนะนำจากพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งให้เทปคาสเซ็ทธรรมบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ แก่ท่านมาฟัง หลังจากที่ได้ฟังแล้วก็เกิดความสนใจมาก จึงแสวงหาทางติดต่อกับมูลนิธิฯจนพบ หลังจากได้ฟังไประยะหนึ่ง ได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์จะเดินทางไปสนทนาธรรมที่บ้านมิ่งโมฬี สวนผึ้ง ราชบุรี ท่านจึงเดินทางไปร่วมฟังการสนทนาธรรมด้วยเป็นครั้งแรก ดังได้กล่าวแล้ว

พี่ปริญญาเล่าว่า ท่านติดตามฟังการสนทนาธรรมของท่านอาจารย์ด้วยความมุ่งมั่นสม่ำเสมอ ทั้งที่บ้าน ในรถ และการเดินทางไปร่วมสนทนาธรรมทั้งที่มูลนิธิฯในวันเสาร์และอาทิตย์และตามสถานที่ต่างๆ ในขณะที่พี่เบญจมาสเอง ก็มุ่งมั่นไปในหนทางของท่านเช่นกัน คือ เดินทางไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ สามวันบ้าง เจ็ดวันบ้าง พี่ปริญญาเล่าว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าหนทางที่พี่เบญฯเดินไปสู่นั้นเป็นหนทางที่ผิด ไม่ตรงกับความจริงที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดง แต่ท่านก็ไม่สามารถชักชวนให้พี่เบญฯมาฟังพระธรรมกับท่านอาจารย์ได้ เพราะรู้ว่าไม่สามารถบังคับใครได้ แม้ตนเอง เนื่องจากธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ นี้เป็นความจริงอย่างถึงที่สุด ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้น การที่พี่ปริญญาออกจากบ้านมาฟังการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯและติดตามไปฟังการสนทนาธรรมในที่ต่างๆ บ่อยครั้ง บางครั้งก็เป็นเวลาหลายวัน ทำให้พี่ปริญญาต้องมาพักที่คอนโดมิเนียมส่วนตัวที่กรุงเทพฯ ไม่ได้กลับไปบ้านที่หนองหญ้าปล้อง เป็นสาเหตุหนึ่งของความไม่ราบรื่นในครอบครัว จากความที่ต่างคนต่างไปกันคนละทาง

อย่างไรก็ดี ด้วยความเมตตาคือความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่แท้จริง และความอดทนของพี่ปริญญา (ท่านอาจารย์เคยกล่าว"คำ" ที่ควรเก็บไว้ในหทัยอย่างยิ่งคำหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความเป็นมิตรแท้ต่อผู้อื่นว่า...อดทนเพื่อให้เขาได้เข้าใจธรรมะ...เป็นวลีที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมเลย) ในขณะที่ท่านอยู่บ้าน ท่านจะเปิดฟังการบรรยายของท่านอาจารย์ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายแฝงคือเพื่อให้พี่เบญฯซึ่งอยู่ในบ้านได้ยินได้ฟังผ่านหูไปด้วย (ซึ่งในภายหลังเมื่อได้พบกับท่านอาจารย์ พี่เบญฯก็สารภาพว่า เกิดความเข้าใจจากการได้ยินได้ฟังจากที่พี่ปริญญาเปิดฟังในบ้าน ทีละเล็ก ทีละน้อย ทีละคำ สองคำ) จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เป็นเวลาสามปีเต็มๆ ของความอดทนของพี่ปริญญาในการเกื้อกูลแบบแอบแฝงเช่นว่า เพราะเหตุว่า ความที่ท่านทั้งสองต่างคนต่างไปคนละทาง ทุกท่านที่มีความเห็นต่างกันทางพระศาสนาในครอบครัวย่อมรู้ว่า ความสุขในครอบครัวยังหาความสมบูรณ์แท้ไม่ได้ ตราบเท่าที่ทั้งสองยังมีความเห็นที่ต่างกัน

จนวันหนึ่ง เมื่อเดือนกันยายน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ สามปีของความเห็นต่างทางพระศาสนาคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของท่านทั้งสองก็เริ่มสิ้นสุดลง เมื่อคราวที่ท่านอาจารย์เดินทางไปพักผ่อนที่ เดอะรอยัลปริ๊นเซส คอนโดมิเนียม ที่หัวหิน ตามคำเชิญของพี่จู (กุสุมา โกมลกิตติ ท่านที่สนใจสามารถคลิกชมภาพและความการสนทนาในครั้งนั้นได้ที่นี่...ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เดอะรอยัล ปริ๊นเซส คอนโดมิเนียม หัวหิน ๙-๑๑ กันยายน ๒๕๕๗) ในตอนขากลับ ท่านอาจารย์แวะรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านพักตากอากาศของคุณแอ๊ว (นภา จันทรางศุ) ที่ชะอำ พี่ปริญญา ซึ่งได้รับเชิญด้วย ได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า วันนี้จะเป็นวันที่ท่านจะทำเซอร์ไพรส์พี่เบญฯภรรยาของท่าน ด้วยการพาพี่เบญฯมารับประทานอาหารกลางวันร่วมกับท่านอาจารย์ โดยไม่บอกกล่าวให้พี่เบญฯได้รู้ตัวล่วงหน้า

ข้าพเจ้ายังจำวันนั้นได้ไม่เคยลืม เพราะเป็นวันที่ข้าพเจ้าได้พบและสนทนากับพี่เบญฯโดยใกล้ชิดเป็นครั้งแรก (ข้าพเจ้าเคยเจอกับพี่เบญฯครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อคราวสนทนาธรรมที่บ้านเรือนไทยสินสมุทร จังหวัดราชบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ซึ่งพี่ปริญญาพยายามที่จะพาพี่เบญฯมาฟังการสนทนาธรรม) พี่ปริญญาและพี่เบญฯเดินทางมาถึงบ้านพักตากอากาศของคุณแอ๊วก่อนเวลาที่ท่านอาจารย์จะเดินทางมาถึงเล็กน้อย ข้าพเจ้าจำภาพที่พี่เบญฯนั่งนิ่งอยู่บนโซฟายาว สายตามองออกไปนอกห้อง ไม่สบตาใครเลย

ความที่ท่านอาจารย์ทราบเรื่องราวความปรารถนาที่จะเกื้อกูลพี่เบญฯของพี่ปริญญามาก่อนแล้ว เมื่อท่านอาจารย์เดินทางมาถึง จึงเป็นเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พี่เบญฯและพี่ปริญญา ไม่อาจลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นไปชั่วชีวิต เนื่องเพราะเป็นวันที่ทำให้พี่เบญฯได้มีศรัทธาที่มั่นคงขึ้นในหนทางแห่งความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จากการเกื้อกูลของท่านอาจารย์ด้วยความเมตตายิ่ง ตลอดเวลานานนับชั่วโมงในวันนั้น เป็นการสนทนาที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ใหม่ทุกท่าน ความที่พี่เบญฯเป็นคนตรง กล้าพูด กล้าโต้ตอบ กล้ายอมรับ ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ใช่คือใช่ ไม่ใช่คือไม่ใช่ ด้วยเหตุ ด้วยผล ทำให้ท่านอาจารย์ปีติมากที่ได้สนทนากับพี่เบญฯ ท่านกล่าวว่าพี่เบญฯเป็นคนตรงเช่นนี้ จึงทำให้เข้าใจธรรมได้รวดเร็ว วันนั้นจึงเป็นวันที่ศีลของท่านทั้งสองค่อยๆ เริ่มเสมอกัน เป็นความสุขสมหวังที่พี่ปริญญากล่าวกับข้าพเจ้าด้วยสายตาเปี่ยมสุข ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของสหายธรรมทุกท่านที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ในวันนั้น (ท่านที่สนใจ สามารถคลิกชมภาพและความการสนทนาในวันนั้นได้ที่นี่...ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านพักตากอากาศ ของ คุณนภา จันทรางศุ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗)

ความค่อยๆ คลายออกจากความไม่รู้ของบุคคล เปรียบดังพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ คล้อยอับแสงแห่งวัน เพื่อเริ่มวันใหม่ ที่จะเริ่มทอแสงแห่งความเข้าใจความจริง ในหนทางที่ถูกต้อง ตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมียาวนานถึงสี่อสงไขแสนกัป เพื่อที่จะได้ตรัสรู้ความจริงและมีพระมหากรุณาแสดงความจริงที่ได้ทรงตรัสรู้นั้นให้ทุกคนได้เข้าใจตามด้วย ซึ่งวันนี้จะมีไม่ได้แน่นอน หากมิได้เป็นผู้ที่ได้เคยสั่งสมบุญไว้แต่ปางก่อน ทำให้ได้พบกับกัลยาณมิตรที่แท้จริง ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ณ วันนี้ เมื่อความเข้าใจธรรมะของท่านทั้งสองมั่นคงขึ้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านมีกุศลศรัทธา กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และสหายธรรม มาร่วมสนทนาธรรม ณ บ้านพักของท่าน ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี แห่งนี้ ซึ่งท่านเจ้าบ้านทั้งสองได้เตรียมการต้อนรับไว้อย่างดียิ่ง ทราบว่าท่านถึงกับลงทุนซื้อเตียงนอนเดี่ยวใหม่เอี่ยมมาคู่หนึ่ง มีที่นอนขนเป็ด และเครื่องนอนขนเป็ดอย่างดี เพื่อใช้รับรองท่านอาจารย์และคุณป้าจี๊ด พี่ปริญญากล่าวกับข้าพเจ้าว่า เพื่อให้ท่านอาจารย์ได้พักผ่อนอย่างสบายที่สุดในบ้านของท่าน ทั้งยังซื้อเก้าอี้นั่งใหม่จำนวนมาก เพื่อใช้รับรองสหายธรรมนั่งฟังการสนทนาธรรมภายในบ้าน ซื้อพัดลมใหม่นับครึ่งโหล และอื่นอีกมากมายเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ความที่พี่เบญฯมีอัธยาศัยร่าเริง สนุกสนาน จริงใจ เมื่อทุกคนทราบว่าพี่ปริญญาและพี่เบญฯ จะจัดสนทนาธรรมที่บ้าน ก็มีเพื่อนๆ สหายธรรมแสดงความอนุโมทนาและขอร่วมเจริญกุศลด้วยมากมาย เช่นคุณขจีรัตน์ แก้วทานัง เจ้าของร้านมีชัย ข้าวเหนียวมูนแม่นงนุช หน้าตลาดฉัตรไชย สมาชิกชมรมบ้านธัมมะผู้มีกุศลศรัทธามากท่านหนึ่งแห่งจังหวัดเพชรบุรี นำขนมหวานนานาชนิด เช่น ขนมต้มกาลามังเบ้อเริ่ม ข้าวเหนียวหน้าสังขยา หน้าปลาแห้ง หน้ากุ้ง ครบรส บัวลอยไข่หวาน ข้าวคลุกน้ำพริก และ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย มาบริการแก่ผู้ร่วมฟังการสนทนาตลอดสามวัน ทั้งยังมีของฝากในตอนขากลับให้แก่สหายธรรมทุกๆ ท่านอีกด้วย พี่แอ้น (วิภาดา กัลยาณมิตร) นำเค้กมะตูมมาร่วมเจริญกุศลถึงสองถาดใหญ่ พี่เดือนฉายและเพื่อน ทำเส้นหมี่เมี่ยงญวณพร้อมน้ำจิ้มสุดแซ่บ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ของโปรดของเพื่อนๆ สหายธรรมสำหรับมื้อเย็นที่บางท่านชอบรับประทานอาหารเบาๆ ซึ่งก็ได้รับประทานกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ท่านเจ้าบ้านยังได้ยกร้านกาแฟโบราณ มาไว้บริการแก่สหายธรรมทุกท่าน ตลอดวันอีกด้วย ขออนุโมทนาในกุศลของทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้ครับ

ภาพของความปลื้มปีติ ที่สหายธรรมทุกท่าน ได้ร่วมกันเดินทางมาแสดงความยินดีอนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านทั้งสอง และร่วมกันสะสมอริยทรัพย์ คือ ความรู้ความเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในทุกๆ ขณะนี้ ด้วยความถูกต้องตามที่ได้ทรงแสดงไว้ จากความเมตตาของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร การจัดสนทนาธรรมครั้งนี้ของทั้งสองท่าน ดูไปดูมา เห็นท่านเจ้าบ้านทั้งสองร่าเริงแจ่มใส ให้การดูแลต้อนรับสหายธรรมอย่างสนุกสนานเช่นนี้ เหมือนเป็นการแต่งงานของคู่บ่าวสาวก็ไม่ปานนะครับ

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 300

๓. วิตตสูตร

[๒๐๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอ ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ.

[๒๐๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความจริง เท่านั้น เป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญานักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ.

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ใครเลยจะรู้ว่า สาระและความมีค่าของการได้มีชีวิตอยู่ จะเป็นไปด้วยอะไร หากมิได้เป็นบุคคลที่สะสมการฟังและเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิต ย่อมมีชีวิตที่เป็นไปโดยเปล่า เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยผลของกุศลกรรมหนึ่ง แต่หาได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ น่าเสียดายอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ที่ต้องตายไปกับความไม่รู้เหมือนเดิม และเป็นผู้ที่วนเวียนอยู่กับสุขและทุกข์แล้วๆ เล่าๆ ในสังสารวัฏฏ์ ด้วยความไม่รู้ ไม่มีวันที่จะออกจากทุกข์ได้เลย ความไม่รู้ย่อมเป็นเหตุให้เป็นผู้ประพฤติ ปฏิบัติในหนทางที่ผิด ส่วนความรู้ความเข้าใจความจริงในพระธรรมคำสอนที่ถูกต้องตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นหนทางที่บุคคลจะน้อมไปสู่การทำความดีทุกๆ ประการ อันจะเป็นเหตุให้พบกับความสุขที่แท้จริงได้ ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นบุคคลที่มั่งมีหรือยากจนก็ตาม ก็หาใช่เป็นอุปสรรคในการที่จะได้มีความเข้าใจธรรมะ ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ไม่

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 498

ข้อความบางตอนจาก ทฬิททสูตร

[๙๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ในกาลครั้งนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์นัก ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ยังไม่เคยมีมาเลย เทพบุตรผู้นี้เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน เป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์กำพร้า เป็นมนุษย์ยากไร้ เมื่อแตกกายตายแล้ว เขาอุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ย่อมรุ่งเรืองล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพตรัสกะเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่าดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ายกโทษต่อเทพบุตรนี้เลย ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เทพบุตรนี้แล เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ครั้นยึดมั่น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว เมื่อแตกกายตายลง จึงอุบัติยังสุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ย่อมรุ่งเรื่องล่วงเทวดาเหล่าอื่นด้วยรัศมีและยศ.

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 499

ข้อความบางตอนจาก ทฬิททสูตร

[๙๑๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อจะทรงพลอยยินดีกะพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า บุคคลใด มีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะเจ้าพอใจสรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมเถิด.

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 142

กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘

ว่าด้วยความมีมิตรดีเป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นต้น

[๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีมิตรดี กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป.

ก่อนที่จะได้นำความการสนทนาธรรมบางตอนในวันนั้นมานำเสนอให้ทุกๆ ท่านได้อ่านและพิจารณา ก็ขอกราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของท่านเจ้าภาพทั้งสอง คือ พี่ปริญญา และ พี่เบญจมาส สีดาโสม เฉพาะอย่างยิ่งกับพี่เบญจมาส ที่มีสามีที่เป็นสุภาพบุรุษ ทั้งมีความเป็นมิตร เป็นเพื่อนที่แท้จริง ที่ได้ชักนำให้พี่เบญฯได้พบกับพระศาสนาคือคำสอนที่ถูกต้อง เป็นเหตุให้มีวันแห่งความปลื้มปีติของพี่ทั้งสองในวันนี้ และเป็นอีกวันหนึ่งของความประทับใจของข้าพเจ้า ที่ได้เห็นภาพของความปีติอย่างยิ่งในใบหน้าของพี่เบญฯ ที่มีดวงตาเอ่อล้นไปด้วยความปีติ ภายหลังการกราบเท้าท่านอาจารย์ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับในวันนั้น เป็นภาพของความประทับใจไม่รู้เลือนจริงๆ ครับ ขออนุโมทนาพี่ทั้งสองอีกครั้งนะครับ

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมบางตอน เป็นความการสนทนาในเรื่องของพระธรรมวินัยที่ดีมากอีกครั้งหนึ่ง ที่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ควรอย่างยิ่งที่จะได้อ่านและพิจารณาโดยละเอียด เพื่อความเข้าใจถูกต้องในพระธรรมวินัย เพื่อที่จะช่วยกันดำรงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้สถิตย์สถาพรยาวนานต่อไปได้ ดังความการสนทนาต่อไปนี้

อ.ธิดารัตน์ วันนี้ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะได้มีโอกาสฟังในสิ่งที่หาฟังได้ยาก เพราะว่าธรรมะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งและควรศึกษาอย่างยิ่ง เพราะว่าไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลยจริงๆ ธรรมะมีอยู่ สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งมีอยู่ในทุกๆ คน แต่ถ้าไม่ได้มีการศึกษา ไม่ได้ฟังจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงธรรมให้สัตว์โลกทั้งหลายได้มีโอกาสรู้จักธรรมะ หรือว่าสิ่งที่มีจริง จริงๆ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลย

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการศึกษาธรรมะก็คือ ได้รู้จักธรรมะที่เป็นไป เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ก็เป็นไปตามอกุศล โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล เป็นกุศลก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถึงแม้มีกุศลจิตเกิดแต่ไม่รู้ว่าเป็นกุศลจิต ก็ยังเป็นผู้ที่เลวทรามอยู่ดี ถึงแม้ผู้นั้นมีอกุศลเกิดแต่รู้ตามความเป็นจริง ก็เป็นผู้ที่มีปัญญา ถึงจะสามารถที่จะรู้ลักษณะของอกุศลได้ จนกว่าจะขัดเกลาอกุศล
สำหรับช่วงแรก ถ้ามีใครสนใจที่จะเรียนถามท่านอาจารย์ เรียนเชิญนะคะ ขอเชิญคุณปริญญาค่ะ

คุณปริญญา กราบท่านอาจารย์และอาจารย์วิทยากรและผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับ เป็นประเด็นที่มีความสนใจกับชาวพุทธเป็นอย่างมาก เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ได้มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องและชุมนุม การกระทำของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น ถ้าตามพระวินัยบัญญัติแล้ว กระผมคิดว่าเป็นการกระทำซึ่งไม่ถูกต้อง แต่ว่าสิ่งที่พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นออกมาเรียกร้อง ข้อเรียกร้องเหล่านี้ เป็นการเรียกร้องที่มีความรีบเร่งให้แต่งตั้งพระสังฆราช ในความคิดของผมและความคิดของคนทั่วไปก็อยากจะรู้ว่า ทำไมต้องรีบเร่งแต่งตั้งพระสังฆราช และถ้ารีบเร่งแต่งตั้งพระสังฆราชแล้ว จะทำให้ชาวพุทธมีความเข้าใจในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดีขึ้นหรือ ก็เป็นประเด็นคำถามครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ไม่ใช่เป็นผู้ตอบคำถาม แต่ว่า การสนทนาธรรมหรือการสนทนาเพื่อที่จะได้เข้าใจความจริง ช่วยกันคิด ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า เราก็เกิดมา แล้วก็เห็นพระ แต่ว่าถ้าเราไม่ได้ศึกษาจริงๆ เราจะรู้ไหม ว่าพระคือใคร? เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้ความจริงว่า ที่เราเข้าใจว่าเป็นพระนี่ เป็นพระในพระธรรมวินัย ที่ประพฤติปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้บวชเพื่ออะไร? เพื่อที่จะได้ศึกษาธรรมะ ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต

แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วๆ ไป ประชาชนทั่วไปก็ต้องประพฤติตามกฏหมาย ถ้าทำผิดก็ต้องผิด ถูกลงโทษตามกฏหมาย สำหรับพระภิกษุ ไม่ใช่เพียงเป็นแต่ประชาชนที่อยู่ในประเทศ แต่ว่า ได้บวชในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น สำหรับพระภิกษุแล้ว นอกจากที่จะต้องประพฤติตามกฏหมายแล้ว ก็ยังจะต้องประพฤติตามพระธรรมวินัยด้วย

และลองคิดดู กฏหมายของทุกประเทศ คนไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมะเป็นผู้กำหนดตั้งขึ้น แต่ว่าสำหรับพระวินัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องต่างกับกฏหมาย เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบัญญัติพระวินัยได้เลย แม้ท่านพระสารีบุตรหรือพระภิกษุอื่นๆ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และมิได้ทรงบัญญัติโดยไม่ให้ภิกษุไม่ได้เข้าใจว่าทำไมทรงบัญญัติเช่นนั้น แต่ต้องประชุมสงฆ์ เพื่อที่จะได้ให้รู้ว่าสิ่งนั้นควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ผิดหรือถูกประการใด เมื่อเป็นที่รับรองพร้อมกัน ก็ทรงบัญญัติให้เป็นพระวินัยซึ่งพระภิกษุทุกรูปต้องประพฤติปฏิบัติตาม จึงจะเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น เราเกิดมาและเราก็ไม่รู้ ว่าพระภิกษุคือใคร แต่ถ้าเห็นการกระทำใดๆ ถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรมวินัย เราจะไม่เข้าใจเลย เพราะเหตุว่า สำหรับคนธรรมดาๆ ก็มีทั้งดีทั้งชั่ว มีอุปนิสัยต่างๆ กัน แต่สำหรับบุคคลที่มาต่างถิ่น ต่างสกุล ต่างธรรมเนียม ประเพณี แล้วจะมาอยู่รวมกันในพระธรรมวินัย ซึ่งจะขัดเกลากิเลส ต้องประพฤติให้ถูกต้องเหมาะสมเหมือนกัน มิฉะนั้น ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น พระวินัยบัญญัติ ขัดเกลายิ่งกว่ากฏหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า คนธรรมดาจะพูดเสียงดัง จะเล่นตลกคะนอง จะทำอะไรก็ได้ แต่ว่าพระภิกษุเป็นผู้ที่รู้จักอัธยาศัยของตนเอง ไม่มีใครบังคับให้บวช แต่ว่า เพราะรู้ว่าการขัดเกลากิเลสมีประโยชน์มาก และการขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ต้องนานกว่ามากเลย เพราะว่ากิเลสมาก สนุกสนานไปวันๆ หนึ่ง แต่ถ้าผู้ใดที่มีความตั้งใจ เห็นประโยชน์จริงๆ ของการที่จะขัดเกลากิเลส แล้วก็เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่าวันๆ หนึ่ง เต็มไปด้วยกิเลส "เต็มไปด้วยกิเลส" ฟังคำนี้สิคะ ตกใจไหม? หรือไม่เคยรู้สึกตัวมาก่อนเลย!!!

ถ้าไม่เคยฟังพระธรรม จะไม่รู้เลย แค่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับไปเลย กิเลสเกิดแล้ว เสียง เสียงนะคะ แค่ "เสียง" เสียงยังไม่ดับเลย กิเลสเกิดแล้ว ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ความจริง ใครจะบอกความจริงว่า ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย มากแค่ไหน จนกระทั่งสามารถที่จะทำให้กิเลสทั้งนั้นเลย ความสำคัญตน การรักตน ความเห็นผิดต่างๆ ทั้งหมด มาจาก "ความไม่รู้"

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้ไม่ได้ฟังพระธรรม จะรู้หรือ ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้ เกิดแล้วดับ แค่ฟังนี่ก็เหลือเชื่อ ใช่ไหม? จนกว่าจะได้ฟังอย่างละเอียด จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย

เพราะฉะนั้น ในครั้งนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว แล้วก็ส่งพระภิกษุซึ่งเป็นพระอรหันต์ ไปประกาศพระศาสนาที่แคว้นต่างๆ ก็มีผู้ที่มีศรัทธาที่จะขออุปสมบท ก็อนุญาตให้อุปสมบทได้ แต่ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ถ้าไม่ทำมีโทษ เพราะเหตุว่า ปฏิญาณแล้วว่าสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต บรรพชา หมายความว่า สละหมด หมดนะ เหลือไม่ได้นะ วงศาคณาญาติ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง ความสนุกสนาน เงินทอง ทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งหมด!!! ละคือละ ไม่ใช่ว่า ละแล้วเก็บไว้ นั่นไม่ตรง!!!

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ อกุศลทั้งหลาย ไม่ตรง!! แต่ปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง สามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ ว่าอะไรตรง อะไรถูก อะไรผิด พุทธบริษัทในครั้งโน้น ก็มีทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ในยุคนี้ไม่มีภิกษุณี มีแต่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท ที่จะต้องพร้อมเพรียงกันศึกษาธรรมะ สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน

พระภิกษุจะอยู่ได้ไหม ถ้าไม่มีคฤหัสถ์ที่มีศรัทธา ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ต้องศึกษาพระธรรมวินัยด้วย ถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้จักพระธรรมวินัย ไม่มีใครนับถือพระพุทธศาสนา จะรู้ไหมว่าใครเป็นภิกษุ แต่เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดเลย หญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ เชื้อชาติใดทั้งสิ้น ที่มีโอกาสได้ฟังธรรมะ ได้เห็นประโยชน์ ได้เข้าใจ ก็สามารถที่จะขัดเกลากิเลส แล้วก็รู้ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

เพราะฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกา ที่จะต้องรู้จัก ผู้ใดเป็นพระภิกษุ ผู้ใดไม่ใช่พระภิกษุ เมินเฉยได้ไหม? จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าเมินเฉย เป็นชาวพุทธหรือเปล่า?

คุณปริญญา ไม่ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ (ถ้าเมินเฉย) ก็ไม่ใช่อุบาสก อุบาสิกา แต่ถ้าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็คือ ผู้ที่เข้าใกล้พระศาสนา เข้าใกล้เพื่อฟังพระธรรมให้เข้าใจ การฟังพระธรรม ประโยชน์อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ประพฤติตาม ถ้าฟังเฉยๆ แล้วก็ไม่เห็นประโยชน์ แล้วก็ไม่ประพฤติตาม ฟังทำไม? มีประโยชน์อะไร? แต่ ฟัง เพราะรู้ว่า ปัญญาที่เกิดจากการฟังนี่แหละ จะทำให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด!!!

เพราะฉะนั้น ถ้าอุบาสก อุบาสิกา ไม่เข้าใจพระธรรมวินัยเลย ก็ไม่เห็นความเป็นพระภิกษุ พระภิกษุก็เหมือนกับคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ชาวบ้านที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยเลย หรืออุบาสก อุบาสิกา หรือคฤหัสถ์ คนธรรมดา ก็ไม่รู้ว่าชีวิตของบรรพชิตต้องต่างกับชีวิตของคฤหัสถ์ พระภิกษุรับเงินทองไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่รับ ไม่ยินดี ในเงินและทอง เพราะอะไร? เพราะละแล้วตั้งแต่วันแรกที่อุปสมบท เพราะฉะนั้น จะกลับมายินดีในเงินและทองหรือ? ยินดีในเงินและทองเมื่อไหร่ ก็เป็นคฤหัสถ์เมื่อนั้น ไม่ใช่พระภิกษุ!!!

เพราะฉะนั้น ต้องรู้เลยว่า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราเป็นผู้ที่ทำลายคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยเลย แล้วอุบาสก อุบาสิกา ชาวบ้านเห็น ไม่เพ่งโทษ ไม่ติเตียน ไม่โพนทะนา แล้วพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้อย่างไร?

เพราะฉะนั้น การที่จะให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ เพื่ออะไร? ทุกอย่างต้องมีเหตุผล เพื่ออะไร? เพื่อไม่ศึกษาเหมือนเดิม? เพื่อไม่เข้าใจธรรมะเหมือนเดิม? มีแต่เพียงชื่อ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า พระภิกษุที่ไม่เป็นพระภิกษุในธรรมวินัยนั้น เป็นผู้ที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง!!! ถ้าจะเปรียบ ก็เหมือนข้าวที่ไม่มีเนื้อข้าว ข้าวลีบ ใช่ไหม? ดูข้างนอกเหมือนกับมีข้าวอยู่ข้างใน มีประโยชน์ รับประทานได้ แต่ความจริงมีแต่เปลือกนั่นเอง!!!

เพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้ที่หวังดีต่อพระภิกษุ ให้ภิกษุรูปที่ประพฤติผิดได้เข้าใจถูกต้อง หวังดีไหม? กล่าวถึงพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง ว่าประพฤติอย่างนี้ไม่ได้ เป็นโทษ พระภิกษุนอกจากจะบวชแล้ว ยังจะต้องศึกษาพระธรรมด้วย แล้วก็ประพฤติตามพระวินัยด้วย พระวินัยงามพร้อมทั้งกายและวาจา ไม่ผิดกฏหมายใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ถ้าความประพฤตินั้นผิดกฏหมาย รู้ได้เลย ผิดธรรมวินัย เพราะว่าพระวินัยขัดเกลายิ่งกว่ากฏหมาย

คุณปริญญา กราบท่านอาจารย์ครับ จริงๆ แล้วชาวพุทธส่วนมากไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น เวลาไปตามวัด พระภิกษุท่านก็ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่พวกเราจะเข้าใจ แล้วก็ไปบอกท่านว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ไม่ดี

ท่านอาจารย์ ค่ะ เราคงจะบอกท่านไม่ได้ เพราะท่านต้องรู้ เป็นหน้าที่ของท่าน ทุกวันพระท่านก็ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติของพระภิกษุอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แต่ไม่ทำ!!! ถามท่านสิคะ ว่าท่านรู้ไหม? คุณสงบจะตอบว่าอย่างไร?

อ.สงบ ท่านต้องรู้ และต้องปฏิบัติตามพระวินัย

ท่านอาจารย์ ค่ะ ต้องรู้ เพราะเป็นพระภิกษุ พระภิกษุจะไม่รู้พระวินัยไม่ได้!! เพราะฉะนั้น ถ้ารู้แล้วไม่ทำ

อ.สงบ ก็เป็นอาบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ไม่ปฏิบัติตามก็ต้องผิด ทรงอนุญาตให้ทำแล้วไม่ทำก็ผิดเหมือนกัน

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของคฤหัสถ์ ไม่ลำบากเลย ก็รู้อยู่แล้วว่าท่านผิดพระวินัย แล้วยังผิดกฏหมายอีกด้วย ไม่เห็นยากที่จะรู้ว่าบุคคลนั้นทำผิด ไม่ใช่พระภิกษุ แล้วก็ต้องโทษตามกฏหมายด้วย!!!

คุณปริญญา อาจารย์สงบครับ ในกรณีที่ท่านออกมาประท้วงและชุมนุม เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ทั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย การกระทำเช่นนี้ผิดทั้งพระวินัยและกฏหมายใช่ไหมครับ?

อ.สงบ ก็คงต้องเริ่มตามลำดับนิดหนึ่งนะครับว่า ในเรื่องความหมายของภิกษุนี่คือใคร ก็คือผู้ที่เห็นภัยในกิเลสคือสังสารวัฏฏ์นี้ และท่านก็สละทุกอย่างแล้ว เพื่อที่จะบวชจากสิ่งที่เป็นอกุศล อันนี้เราต้องทราบก่อน!!

คราวนี้ ประเด็นต่อมาว่า ในความเป็นภิกษุ ความหมายทราบกันแล้ว คราวนี้เป็นบรรพชิตล่ะ บรรพชิตก็คือผู้ที่ละเว้นจากบาปทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา แล้วก็ทั้งในส่วนที่เป็นอกุศลทางใจด้วย และ สมณะ ก็คือ ผู้ที่สงบจากอกุศล สงบจากบาปทั้งปวง อันนี้เป็นความหมายทั้ง ภิกษุ ทั้งสมณะ แล้วก็ทั้งบรรพชิต ว่าร้ายบุคคลอื่น ทำร้ายบุคคลอื่น ก็ไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่บรรพชิต อันนี้ก็เป็นหลักการอย่างนี้

คราวนี้ พระวินัยล่ะ พระวินัยในเรื่องความเหมาะสมของพระภิกษุนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงวางไว้ในเสขิยวัตร เสขิยวัตรก็คือเป็นสิ่งที่ภิกษุนั้นจะต้องประพฤติปฏิบัติตามตามที่ว่านี้ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามก็จะเป็นอาบัติทุกกฏ แปลว่ากระทำชั่วหรือกระทำผิด แล้วก็จะทำให้ตกไปสู่อกุศลทั้งปวงได้

ประเด็นที่ว่านี้ ท่านกำหนดว่า สารูป สารูปในเสขิยวัตรก็มี ๒๖ ข้อ แต่ว่าประเด็นที่จะนำมากล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่เหมาะสมไม่เหมาะสมก็คือว่า อย่างที่ท่านจะเข้าไปในบ้านจะต้องสำรวม สำรวมทั้งกาย ทั้งวาจา และการพูดการจาจะต้องไม่ส่งเสียงดัง เมื่อเข้าไปในบ้านจะต้องเข้าไปในกิริยาอาการที่เรียบร้อย สมควรแก่สมณะ

เรื่องการพูดก็จะต้องพูดในสิ่งที่เป็นกุศล ในส่วนนี้เสขิยวัตรก็จะมีรายละเอียดกับข้อประพฤติปฏิบัติ ส่วนอื่นก็เป็นเรื่องของศีลในจุลศีล และมัชฌิมศีล ในมัชฌิมศีลนั้น ในการที่จะต้องพูดถึงกถาวัตถุ ก็คือ ในส่วนที่เป็นติรัจฉานกถา ในการที่พูดถึงเรื่องบ้านเมือง เรื่องการบริหาร เรื่องของการทำมาหากิน เรื่องอะไรนี่ก็ไม่ได้ และพูดจาหยาบคาย วิพากย์ วิจารณ์ ในส่วนที่ไม่ใช่พระธรรมวินัย ในส่วนนั้นก็ไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นหลักการที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ ก็เป็นอาบัติทุกกฏ กระทำไม่ได้!!!

พูดถึงเรื่องสิ่งที่ภิกษุจะต้องประพฤติ ปฏิบัติ พระพุทธองค์ก็ทรงวางไว้ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ในเรื่องของภิกษุจะต้องพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว กิริยาอาการใดๆ ที่เป็นของสมณะต้องประพฤติ ปฏิบัติ ขณะนี้ที่เรามีเพศที่ต่างจากคฤหัสถ์แล้ว กิริยาอาการใดๆ ที่เป็นของสมณะ ที่ดีขึ้นไปอีกกว่านี้ก็ต้องทำ ขณะนี้เรามีเพศที่ต่างจากคฤหัสถ์แล้ว การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยชาวบ้าน เราต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย

ขณะนี้เรามีเพศที่ต่างจากคฤหัสถ์แล้ว เราติเตียนตนเองด้วยศีลได้หรือไม่? ท่านผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนตนเองด้วยศีลได้หรือไม่? และเราต้องเข้าใจและพิจารณาว่า เรามีกรรมเป็นของๆ ตน ทำกรรมใดไว้ต้องรับผลของกรรมนั้น และพิจารณาเนืองๆ ว่า กาลเวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เราพิจารณาเนืองๆ ว่า คุณวิเศษมีในตนหรือไม่? ถ้าหากว่าบรรพชิตอื่น จะถามเรา เราจะไม่เป็นผู้เก้อเขิน

นี่เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ในหลักการของสมณะที่ต้องประพฤติปฏิบัติ!!! จากนั้นก็คือเรื่องของกถาวัตถุ ก็คือ พูด สนทนาในเรื่องของความมักน้อยไหม? สันโดษไหม? ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ไหม? เป็นคนที่จะต้องสงัดกาย สงัดวาจาไหม? แล้วก็พูดถึงเรื่องของศีลไหม? เรื่องสมาธิไหม? ปัญญาไหม? วิมุติไหม? ก็คือ ความหลุดพ้นไหม? แล้วก็วิมุตติญาณทัสสนะไหม? ในส่วนเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของภิกษุจะต้องประพฤติปฏิบัติตามนี้ และพระองค์ก็ทรงวางไว้เพื่อเตือนสติในส่วนของภิกษุ

ประเด็นที่จะต้องพูดต่อไปก็คือว่า มาเพื่อเรียกร้องเพื่ออะไร? ท่านต้องการอะไร? ปัจจัยสี่ที่มีอยู่ เพียงพอหรือว่าขาดแคลนอย่างไร? หรือว่า สิ่งที่เรียกร้องนั้นเป็นไปตาม โลภะ โทสะ โมหะ เป็นไปเพื่อลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ของใคร? พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้อย่างนั้นหรือ? หรือว่า เราต้องคลุกคลีในสิ่งเหล่านี้หรือ? เพื่อที่จะต้องได้มาอย่างนี้หรือ? ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา

เราชาวพุทธพิจารณาในส่วนนี้แล้วว่าท่านบวช สละ เพื่อละคลาย แต่ว่าต้องการสิ่งเหล่านั้น เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม? ได้สิ่งเหล่านั้นมาแล้วจะทำให้ศาสนาของพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ บริบูรณ์ไหม? นี่เป็นทางที่เราจะต้องพิจารณาร่วมกันว่า เป็นเช่นไร? เหมาะหรือไม่เหมาะ ท่านทั้งหลายฟังแล้วก็คงจะตัดสินใจได้ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ

คุณปริญญา กราบท่านอาจารย์ครับ ในฐานะที่ผมเป็นอุบาสก เป็นชาวพุทธ ซึ่งคิดว่าพระพุทธศาสนาคงจะดำรงอยู่ได้ด้วยการที่มีผู้ศึกษาธรรม และคิดว่าสามารถที่จะบอกกับพระภิกษุที่ออกมาชุมนุมประท้วงว่า สิ่งเหล่านี้ที่ท่านทำไม่ถูกตามพระวินัยบัญญัติ ท่านไม่สมควรที่จะทำเช่นนี้ และการกระทำเช่นนี้ ขอให้ท่านพิจารณาและลาสิกขาบทไป เพื่อความสงบสุขและความถูกต้องของพระพุทธศาสนา ก็จะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ความคิดเห็นอันนี้ถูกต้องประการใดครับ

ท่านอาจารย์ ถ้าทุกคนมีความเข้าใจถูกต้องว่าการกระทำนั้นสมควรหรือเปล่า? เช่นทุกอย่างเลยที่ท่านกระทำ การเดินขบวนถูกต้องหรือเปล่า? การประท้วง ถูกต้องหรือเปล่า? เป็นคำพูดที่เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อขัดเกลากิเลสหรือเปล่า? ไม่มีสักประการเดียว!!!

เพราะฉะนั้น ผิดกฏหมายของบ้านเมืองหรือเปล่า? ก็ต้องคำนึงถึงด้วย ในครั้งโน้นก็มีพระภิกษุที่ถูกจับ ใช่ไหมคะคุณสงบ ทำไมจับพระภิกษุได้?

อ.สงบ ถ้าทำผิดกฏหมายบ้านเมืองแล้วนี้ก็คือล่วงพระวินัยแล้ว ก็ต้องทำตามกฏนั้น

ท่านอาจารย์ ที่ว่ามีโจรแล้วก็เอาของไป...

อ.สงบ มีโจร แล้วก็เอาของไป แม้ท่านไม่ได้ขโมยเลย แต่เอาไปซ่อนไว้ในบาตรบริขารท่าน แล้วเขาจับได้ ก็นำไปสู่ที่วินิจฉัย พระราชาก็วินิจฉัยตัดสินประหารชีวิตด้วย ลูกศิษย์ของท่านพระมหากัสสปะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าพระภิกษุอยู่เหนือกฏหมาย หรือใครจะทำอะไรพระภิกษุไม่ได้ เพราะเหตุว่า พระภิกษุก็คือประชาชน อย่างตัวอย่างที่ว่า ยังไม่ได้ไต่สวนให้รอบคอบใช่ไหม? แต่ก็ถูกจับไปแล้ว เพราะหลักฐาน จนกว่าจะรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น สำหรับคฤหัสถ์ ก็มีความผิดในฐานะที่ว่า เมื่อทำผิดกฏหมายก็ต้องถูกลงโทษ แต่พระภิกษุ ทั้งฝ่ายกฏหมายและทั้งฝ่ายพระวินัยด้วย

เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าทำได้เหนือประชาชน แต่จะต้องขัดเกลา ยิ่งกว่าประชาชน!!! เพราะหตุว่า ประชาชนอาจไปยืนพูดจาส่งเสียงดังข้างถนนก็ได้ พระภิกษุทำได้ไหม? ไม่ได้!!! แค่นี้ก็ไม่ได้แล้ว!!

เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงก็คือ พระภิกษุคือบุคคลที่อยู่อีกโลกหนึ่งที่สงบยิ่ง เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และคฤหัสถ์ที่เห็นประโยชน์ของการที่ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละความสุขสบายทั้งหมดในเพศคฤหัสถ์ เพื่อที่จะศึกษาและเพื่อที่จะช่วยทะนุบำรุงพระศาสนาต่อไป โดยการศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งของคฤหัสถ์ ซึ่งไม่ว่างพอที่จะได้ศึกษาอย่างพระภิกษุ นั่นจึงจะเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น พระภิกษุอยู่อีกโลกหนึ่ง คือโลกของความสงบ จะเป็นอย่างชาวบ้านไม่ได้เลย!!! ถ้าผู้ใดก็ตาม ทำผิดกฏหมายก็ต้องถูกลงโทษทั้งนั้น ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฏหมายได้ แม้พระภิกษุก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่เหนือกฏหมาย แล้วก็ต้องผิดตามพระวินัยอีกด้วย

อ.สงบ ต้องมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบสองเท่า เท่าหนึ่งก็คือเป็นเรื่องของพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ แค่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยตรงแล้วก็เคร่งครัดแล้ว ไม่มีกฏหมายใดๆ ที่จะเข้ามาแตะต้องท่านได้เลย แต่ถ้าหากว่าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนถึงขนาดล่วงข้อกฏหมายของชาวบ้านด้วย ก็ยิ่งจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องสำหรับพระภิกษุ ท่านต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

ประเด็นที่จะต้องพูดถึงต่อไปก็คือว่า ในการที่จะออกมาเรียกร้องนี้ ในสมัยพุทธกาลมีไหม? มีไหมที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ดี ท่านพระเจ้าพิมพิสารก็ดี ท่านจะต้องมีพระภิกษุออกมาเรียกร้องไหม? ว่าให้ต้องตั้งอันนี้ ให้ทำอันโน้น อันนี้ ก็คือว่า แม้แต่ขอชาวบ้านในเรื่องปัจจัยสี่ก็ยังขอไม่ได้!!! เช่น ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา ไปขอปัจจัยสี่ไม่ได้ เป็นอาบัติ หรือคุณปริญญาไปปวารณาไว้ว่า ให้มาบิณฑบาตรหนึ่งวัน ผมมาบิณฑบาตรสองวัน ก็เป็นอาบัติ ไม่ได้ ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณานะครับ ไม่ต้องพูดถึงว่า เรื่องเรียกร้องให้ทำอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น อะไรนี่ ถ้าราชอาณาจักรในยุคโน้นท่านเห็นเหมาะสม ท่านก็ถวายตามสมควรสำหรับปัจจัยสี่ แต่ว่าไม่มีเรื่องอื่นที่จะต้องถวายเกินไปกว่านั้น

ท่านอาจารย์ หมายความว่าเรียกร้องอะไรไม่ได้

อ.สงบ ไม่ทราบว่าจะเรียกร้องอะไร เพราะว่าเราเสียสละหมดแล้ว!!! ก็แค่จีวร จีวรท่านก็ต้องกำหนดอีก ใช้มากเกินสองผืนก็ไม่ได้อีก

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ผู้นั้นไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย!!!

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๑๘

อัคคิขันโธปมสูตร

พระศาสดาประทับนั่งแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูกองไฟใหญ่โน้น แล้วทรงแสดงอัคคิขันโธปมสูตร. ก็เมื่อตรัสไวยากรณ์นี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป รากเลือด ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์. ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป มีจิตไม่ยึดมั่น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย.

ก็เพราะได้ฟังไวยากรณ์นั้น นามกายของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ก็กลัดกลุ้ม เมื่อนามกายกลัดกลุ้ม กรัชกายก็รุ่มร้อน เมื่อกรัชกายรุ่มร้อน โลหิตอุ่นที่คั่งก็พุ่งออกจากปาก. ภิกษุ (อีก) ประมาณ ๖๐ รูป คิดว่าการประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิตในพระพุทธศาสนา ทำได้ยากหนอ แล้วพากันลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ส่งญาณมุ่งตรงต่อเทศนาของพระศาสดา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดรากเลือด ภิกษุเหล่านั้นต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุเหล่าใดสึกเป็นคฤหัสถ์ ภิกษุเหล่านั้นพากันย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อย. ภิกษุเหล่าใดบรรลุพระอรหัต ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล.

...ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณปริญญา คุณเบญจมาส สีดาโสม...

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณปริญญา คุณเบญจมาส สีดาโสม
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 มี.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณปริญญา คุณเบญจมาส สีดาโสม
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 14 มี.ค. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
napachant
วันที่ 14 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 14 มี.ค. 2559

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
siraya
วันที่ 15 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Noparat
วันที่ 15 มี.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณปริญญา-คุณเบญจมาส สีดาโสม
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 15 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 16 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 16 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ อนุโมทนา สาธุ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peem
วันที่ 16 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
j.jim
วันที่ 16 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Boonyavee
วันที่ 16 มี.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

และกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของเจ้าภาพและทุกๆ ท่าน

และกราบอนุโมทนาในกุศลวิริยะ ของคุณวันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
kanchana.c
วันที่ 19 มี.ค. 2559

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน ท่านอาจารย์ วิทยากร เจ้าภาพทั้ง ๒ และลูกหลานที่มาช่วยกันต้อนรับ เจ้าภาพร่วมเลี้ยงอาหาร ผู้ร่วมสนทนา และคุณวันชัย ภู่งาม ที่นำเรื่องราวและบรรยายกาศที่อบอุ่นฉันญาติมิตรในการสนทนาธรรมครั้งนี้มาแบ่งปัน (ที่สำคัญ คือ หัวข้อธรรมที่ยกจากพระไตรปิฎกและการสนทนาในครั้งนี้) เป็นกาลครั้งหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ที่น่าจดจำ ไม่แน่ว่า ในอนาคตกาลนานไกล อาจจะระลึกได้ว่า เพราะครั้งหนึ่งได้ร่วมสนทนาธรรมที่บ้านคุณปริญญาและคุณเบญจมาศ จึงเกิดกุศลจิตจากการได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น และการอนุโมทนาในกุศลของทุกท่านทำให้ได้รับผลเป็นกุศลวิบากในชาตินั้นๆ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่นำความเข้าใจธรรมของท่านมาเผยแพร่ต่ออย่างยาวนานเกือบ 60 ปีโดยไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ท้อถอย แม้จะมีผู้เข้าใจตามน้อยอย่างไรก็ตาม ท่านเคยกล่าวว่า ท่านปีติอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่ามีผู้เข้าใจธรรม ท่านคือกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง กราบเท้ามาด้วยความเคารพค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ