อาชัญญสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙

 
มศพ.
วันที่  20 มี.ค. 2559
หมายเลข  27585
อ่าน  961

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙

คือ

อาชัญญสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๓๘๔

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๓๘๔

๓. อาชัญญสูตร

[๑๐๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย ตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบด้วยองค์สมบัติ ๘ ประการ สมควรเป็นม้าต้นม้าทรง ย่อมถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะได้ดีทีเดียว องค์สมบัติ ๘ ประการเป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชาในโลกนี้ ย่อมมีกำเนิดดีทั้ง ๒ ฝ่ายคือฝ่ายมารดาและบิดา เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนยตัวอื่นเกิดกัน ๑ ย่อมบริโภคของกินที่เขาให้สดหรือแห้งก็ตาม เรียบร้อย ไม่เรี่ยราด ๑ ย่อมรังเกียจที่จะนั่งหรือนอนทับอุจจาระปัสสาวะ ๑ เป็นสัตว์ยินดี มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่รบกวนม้าเหล่าอื่น ๑ เป็นสัตว์เผยความโอ้อวดความพยศคดโกงแก่นายสารถีอย่างเปิดเผย ๑ นายสารถีพยายามปราบความพยศคดโกงเหล่านั้นของมันได้ ๑ เป็นสัตว์ลากเข็นภาระ เกิดความคิดว่า ม้าอื่นจะเข็นภาระได้หรือไม่ก็ตามสำหรับภาระนี้เราเข็นได้ อนึ่ง เมื่อเดินก็เดินตรงตามทาง ๑ เป็นสัตว์มีกำลังวังชา คือ ทรงกำลังไว้อยู่จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชาประกอบด้วยองค์สมบัติ ๘ ประการนี้แล สมควรเป็นม้าต้นม้าทรงถึงการนับว่าเป็นพระราชพาหนะได้ดีทีเดียว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้นรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ ฉันโภชนะที่เขาถวายเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม โดยเคารพ ไม่รังเกียจ ๑ เกลียดแต่กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และการถึงพร้อมด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ๑ เธอยินดีอยู่ มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่รบกวนภิกษุเหล่าอื่นให้เดือดร้อน ๑ เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงตามเป็นจริงในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้แจ้ง ๑ พระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ย่อมพยายามช่วย กำจัดความโอ้อวดเป็นต้นเหล่านั้นของเธอได้ ๑ อนึ่ง ย่อมเป็นผู้ศึกษาสำเหนียก คือ ใฝ่ใจอยู่ว่า ภิกษุเหล่าอื่นจะศึกษาหรือไม่ก็ตาม ข้อนี้เราจักศึกษาเมื่อปฏิบัติย่อมปฏิบัติตามทางตรงทีเดียว ในข้อนั้นพึงทราบทางตรงดังนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๑ เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ว่า เลือดเนื้อในร่างกายของเรา จงเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที เรายังไม่ได้บรรลุอิฐผลที่จะพึงบรรลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเป็นอันขาด ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลายภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้นรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.
จบ อาชัญญสูตรที่ ๓

อรรถกถาอัสสาชานียสูตรที่ ๓

อัสสาชานียสูตรที่ ๓ วินิจฉัยดังต่อไปนี้.บทว่า องฺเคหิ ได้แก่ด้วยองค์คือคุณ. บทว่า ตสฺสํ ทิสายํ ชาโต โหติ ความว่า ม้าสินธพอาชาไนยเกิดในทิศริมฝั่งแม่น้ำสินธุนั้น ม้าอาชาไนยชั้นดี แม้เหล่าอื่น ย่อมเกิดในที่นั้นนั่นเอง. บทว่า อลฺลํ สุกฺขํ วา ได้แก่หญ้าสด หรือหญ้าแห้ง. บทว่า น จ อญฺเญ อสฺเส อุพฺเพเชตา ความว่า ม้าอาชาไนยนั้น ไม่รบกวน คือไม่กระทบกระทั่ง ไม่รังแก ไม่ทะเลาะกะม้าเหล่าอื่น. บทว่า สาเถยฺยานิ แปลว่า อวดดี. บทว่า กูเฏยฺยานิ แปลว่าโกง. บทว่า ชิมฺเหยฺยานิ แปลว่า ลวง. บทว่า วงฺเกยฺยานิ แปลว่า คด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ม้าอาชาไนยนั้นยังไม่ได้ศึกษาด้วยบทแม้ทั้ง ๔ ด้วยประการฉะนี้. บทว่า วาหิ ได้แก่นำภาระไปเป็นสภาวะ คือ สนองคำสั่งที่เขาให้. บทว่า ยาวชีวิตมรณปริยาทานา ได้แก่ จนจบชีวิตลงด้วยมรณะ. บทว่า สกฺกจฺจํ ปริภุญฺชติ ความว่า พิจารณาโภชนะ เหมือนน้ำอมฤตแล้วจึงบริโภคด้วยตนเองนั่นแหละ. ในบทว่า ปุริสถาเมน เป็นต้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถึงกำลังคือญาณ เป็นต้น. บทว่า สณฺฐานํได้แก่ ย่อหย่อน.

จบอรรถกถาอัสสาชานียสูตร.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อาชัญญสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติของม้าอาชาไนยซึ่งควรจะเป็นม้าต้นของพระราชา เปรียบเทียบกับคุณสมบัติของพระภิกษุในพระธรรมวินัยซึ่งควรเป็นนาบุญของโลก ดังนี้

คุณสมบัติของม้าอาชาไนย
๑.มีกำเนิดดีทั้งฝ่ายมารดาและบิดา เกิดในถิ่นที่ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีเกิด
๒.กินหญ้าสด หญ้าแห้ง อย่างเรียบร้อย ไม่เรี่ยราด
๓.รังเกียจที่จะหมอบทับอุจจาระ ปัสสาวะ
๔.สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมอย่างเป็นสุข ไม่รบกวนม้าตัวอื่น
๕. เปิดเผยความโอ้อวดพยศคดโกงแก่นายสารถี
๖. อาศัยนายสารถีสามารถปราบความโอ้อวดพยศ คดโกงของตนเองได้
๗. ลากภาระไปได้ แม้ว่าม้าตัวอื่นจะลากหรือไม่ลากก็ตาม และ ดำเนินไปตามทางตรงเท่านั้น
๘.มีกำลังจนถึงขณะสุดท้ายของชีวิต

คุณสมบัติของพระภิกษุ

๑. มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
๒.ฉันโภชนะที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา จะเศร้าหมองหรือประณีต ก็ไม่รังเกียจ
๓. รังเกียจทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
๔. สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมอย่างเป็นสุข ไม่รบกวนภิกษุรูปอื่นๆ
๕.เปิดเผยความโอ้อวดพยศคดโกงแก่พระศาสดาหรือเพื่อนผู้ประพฤติประเสริฐร่วมกัน
๖.อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนผู้ประพฤติประเสริฐร่วมกัน ปราบความโอ้อวด พยศ คดโกงของตนเองได้
๗.ใฝ่ใจในการศึกษา และดำเนินตามทางตรงคืออริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น
๘. มีความเพียร

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
โคจร ๓ อย่าง
อาจาระและโคจร
พระอริยบุคคล
พระอรหันต์สิ้นสุดการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ [คาถาธรรมบท]
การทำความเพียรในพระพุทธศาสนา เพื่อการบรรลุธรรม
กิเลสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ควรจะต้องขจัดขัดเกลา
รังเกียจกิเลส

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 21 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 21 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 22 มี.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 23 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 25 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 27 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ อนุโมทนา สาธุ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ