อาชานียสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙

 
มศพ.
วันที่  27 มี.ค. 2559
หมายเลข  27602
อ่าน  1,103

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๙

คือ

อาชานียสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓หน้าที่ ๔๘๕

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓หน้าที่ ๔๘๕ ๕. ปฐมอาชานียสูตร
(ว่าด้วยองค์ ๓ ของม้าต้น และ ของภิกษุ)

[๕๓๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย ตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ จึงเป็นพาหนะคู่ควรแก่พระราชา เป็นม้าต้นเท่ากับว่า เป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว องค์ ๓ คืออะไร คือ สีงาม ๑ กำลังดี ๑ มีฝีเท้า ๑ ม้าอาชาไนยตัวประเสริฐของพระราชา ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ นี้แล จึงเป็นพาหนะคู่ควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น เท่ากับว่าเป็นองคาพยพของพระราชาทีเดียว

ฉันเดียวกันนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ จึงเป็นผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า องค์ ๓ คืออะไร คือ วรรณะงาม ๑ เข้มแข็ง ๑ มีเชาว์ ๑

ภิกษุ วรรณะงาม เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เห็นภัยในโทษมาตรว่าน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุ วรรณะงาม

ภิกษุ เข้มแข็ง เป็นอย่างไร ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม แข็งขัน บากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างนี้เรียกว่า ภิกษุเข้มแข็ง

ภิกษุมีเชาว์ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ทั่วถึงตามจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้ เรียกว่า ภิกษุมีเชาว์

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๓ นี้แล จึงเป็นผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

จบปฐมอาชานียสูตรที่ ๕
อรรถกถาปฐมอาชานียสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมอาชานียสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้;-
บทว่า องฺเคหิ คือ ด้วยองค์คุณทั้งหลาย. บทว่า ราชารโห คือ (ม้าอาชาไนย) สมควร คือ เหมาะสมแก่พระราชา. บทว่า ราชโภคฺโค คือ เป็นม้าต้นของพระราชา. บทว่า รญฺโญ องฺคํ ได้แก่ ถึงการนับว่าเป็นอังคาพยพของพระราชา เพราะมีเท้าหน้าและเท้าหลังเป็นต้น สมส่วน. บทว่า วณฺณสมปนฺโน ได้แก่ถึงพร้อมด้วยสีร่างกาย. บทว่า พลสมฺปนฺโน ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่ เพียบพร้อมด้วยพลังความเร็ว.
บทว่า อาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรรับบิณฑบาต กล่าวคือของที่เขานำมาบูชา. บทว่า ปาหุเนยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควร (ที่จะรับ) ภัตรที่จัดไว้ต้อนรับแขก. บทว่า ทกฺขิเณยฺโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่ทักษิณา กล่าวคือของที่เขาถวายด้วยศรัทธา ด้วยอำนาจสละทานวัตถุ ๑๐ อย่าง. บทว่า อญฺชลิกรณีโย ได้แก่ เป็นผู้สมควรแก่การประคองอัญชลี. บทว่า อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ได้แก่ เป็นสถานที่งอกงามแห่งบุญของชาวโลกทั้งหมด ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน.
บทว่า วณฺณสมฺปนฺโนได้แก่ถึงพร้อมด้วยวรรณะคือคุณ. บทว่า พลสมฺปนฺโน ได้แก่สมบูรณ์ด้วยพลังวิริยะ. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่เพียบพร้อมด้วยกำลังญาณ. บทว่า ถามวา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยกำลังแห่งญาณ. บทว่า ทฬฺหปรกฺกโม ได้แก่ มีความบากบั่นมั่นคง. บทว่า อนิกฺขิตฺตธุโร ได้แก่ ไม่วางธุระ คือ ปฏิบัติไปด้วยคิดอย่างนี้ว่า เราไม่บรรลุอรหัตตผลซึ่งเป็นผลอันเลิศแล้ว จักไม่ทอดทิ้งธุระ คือ ความเพียร.
ในสูตรนี้ โสดาปัตติมรรคพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจสัจจะ ๔ และความเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความเร็วแห่งญาณ ตรัสไว้แล้วด้วยโสดาปัตติมรรคแล.

จบอรรถกถาปฐมอาชานียสูตรที่ ๕


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 มี.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อาชานียสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติของม้าอาชาไนยซึ่งควรจะเป็นม้าต้นของพระราชา เปรียบเทียบกับคุณสมบัติของพระภิกษุในพระธรรมวินัยซึ่งควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

คุณสมบัติของม้าอาชาไนย
๑.มีสีงาม
๒.กำลังดี
๓.มีฝีเท้า
คุณสมบัติของพระภิกษุ

๑. มีวรรณะงาม คือ สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
๒. เข้มแข็ง คือ มีความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อเจริญกุศลธรรม เข้มแข็ง บากบั่นไม่คง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๓.มีเชาว์ คือ รู้อริยสัจจธรรม ตามความเป็นจริง

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การทำความเพียรในพระพุทธศาสนา เพื่อการบรรลุธรรม
กิเลสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ควรจะต้องขจัดขัดเกลา
รังเกียจกิเลส
โคจร ๓ อย่าง
อาจาระและโคจร
พระอริยบุคคล

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 28 มี.ค. 2559

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 28 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ อนุโมทนา สาธุ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 28 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 29 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 1 เม.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ