เรื่องพระกาลเถระ ... วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ คือ
เรื่องพระกาลเถระ
... จาก ...
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๒๑๘
๘. เรื่องพระกาลเถระ
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระกาลเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย สาสนํ" เป็นต้น.
พระเถระไม่ให้อุปัฏฐายิกาไปฟังธรรม
ดังได้ยินมา หญิงคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ตั้งอยู่ในฐานะแห่งมารดา ทำนุบำรุงพระเถระนั้นอยู่. พวกคนในเรือนแห่งผู้คุ้นเคยกันของหญิงนั้น ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว กลับมาเรือนแล้ว สรรเสริญอยู่ว่า "โอ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อัศจรรย์, โอ พระธรรมเทศนา ก็ไพเราะ." หญิงนั้น ฟังถ้อยคำของคนพวกนั้นแล้ว จึงบอกแก่พระกาละว่า "ท่านเจ้าข้า ดิฉันอยากจะฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาบ้าง." พระกาละห้ามเขาว่า "อย่าไปที่นั่นเลย." ในวันรุ่งขึ้น หญิงนั้น ก็ขออีก แม้อันพระกาละนั้นห้ามอยู่ถึง ๓ ครั้งก็ยังอยากจะฟังอยู่นั้นแล. มีคำถามสอดเข้ามาว่า "ก็เหตุไฉน? พระกาละจึงได้ห้ามอุบาสิกานั้น" แก้ว่า "ได้ยินว่า พระกาละ ได้มีความเห็นเช่นนี้ว่า "อุบาสิกานี้ ได้ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาแล้ว จักแตกจากเรา" เหตุนั้น พระกาละจึงได้ห้ามอุบาสิกานั้น.
วันหนึ่ง หญิงนั้น บริโภคอาหารเสร็จ สมาทานอุโบสถแล้ว สั่งบุตรีไว้ว่า "แม่ จงอังคาส (เลี้ยงดู) พระผู้เป็นเจ้าให้ดี " แล้วได้ไปวิหารแต่เช้าเทียว. ฝ่ายบุตรีของเขา ก็อังคาสพระกาละ โดยเรียบร้อย ในเวลาที่พระกาละมาถึง พระกาละถามว่า "อุบาสิกาผู้ใหญ่ไปไหน?" ธิดา ตอบว่า " ไปวิหารเพื่อฟังธรรม." พระกาละพอได้ฟังข่าวนั้น ทุรนทุรายอยู่เพราะความกลัดกลุ้มอันตั้งขึ้นในภายใน นึกว่า "เดี๋ยวนี้ อุบาสิกา นั้น แตกจากเราแล้ว" จึงรีบไป เห็นหญิงนั้นฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา จึงทูลพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า หญิงคนนี้ เขลา เขาไม่เข้าใจธรรมกถาอันละเอียด พระองค์อย่าตรัสธรรมกถาอันละเอียดซึ่งประดับด้วยสภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้น ตรัสแต่เพียงทานกถาหรือสีลกถาแก่เขาก็พอ."
สักการะย่อมฆ่าคนถ่อย
พระศาสดา ทรงทราบอัธยาศัยของเธอแล้ว ตรัสว่า "เธอเป็นคนปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า ห้ามปรามคำสอนของพระพุทธเจ้า เธอพยายามเพื่อฆ่าตนเอง " แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า
โย สาสนํ อรหตํ อริยานํ ธมฺมชีวินํ
ปฏิกฺโกสิ ทุมฺเมโธ ทิฏฺฐึ นิสฺสาย ปาปิกํ
คำแปล
“บุคคลใด มีปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า คัดค้านคำสอนของพระอริยบุคคล ผู้เป็นอรหันต์ ผู้มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม, บุคคลนั้น ย่อมเกิดมาเพื่อฆ่าตน เหมือนขุยแห่งไม้ไผ่ ฉะนั้น"
แก้อรรถ (คำอธิบายพระคาถา)
ความแห่งพระคาถานั้นว่า :- บุคคลใด มีปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า ห้ามปรามพวกคนผู้กล่าวอยู่ว่า 'จักฟังธรรม' ก็ดี ว่า 'จักถวายทาน' ก็ดี เพราะกลัวแต่เสื่อมสักการะของตน ชื่อว่า โต้แย้งคำสอนของพระอริยบุคคล ผู้เป็นพระอรหันต์ มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม คือ พระพุทธเจ้า, การโต้แย้ง และ ทิฏฐิอันเลวทราม นั้น ของบุคคลนั้น ย่อมเป็นเหมือนขุยของไม้มีหนาม กล่าวคือ ไม้ไผ่, เหตุนั้น ไม้ไผ่ เมื่อตกขุย ย่อมตกเพื่อฆ่าตนเท่านั้น ฉันใด; แม้บุคคลนั้น ก็ย่อมเกิดมาเพื่อฆ่าตน คือว่า เกิดมาเพื่อผลาญตนเอง ฉันนั้น สมจริงดังคาถาประพันธ์นี้ ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า
"ผลนั้นแล ย่อมฆ่าต้นกล้วยเสีย ผลนั้นแล ย่อมฆ่าไม้ไผ่เสีย, ผลนั้นแล ย่อมฆ่าไม้อ้อเสีย, ลูกในท้องย่อมฆ่าแม่ม้าอัศดรเสีย ฉันใด, สักการะ ก็ย่อมฆ่าบุรุษถ่อยเสีย ฉันนั้น."
ในเวลาจบเทศนา อุบาสิกาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เทศนาได้มีประโยชน์ แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล .
เรื่องพระกาลเถระ จบ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
เรื่องพระกาลเถระ
อุบาสิกาท่านหนึ่งในเมืองสาวัตถี อุปัฏฐากดูแลพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่า พระกาลเถระ เพื่อนบ้านของนางพอได้ไปฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว กลับมาสรรเสริญพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ทำให้อุบาสิกาท่านนี้ประสงค์ที่จะไปเข้าเฝ้าฟังพระธรรม จึงได้ไปขออนุญาตพระกาลเถระ แต่ก็ได้ถูกคัดค้านไม่ให้ไปถึง ๓ ครั้ง จนในที่สุดนางเลยตัดสินใจเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังพระธรรม โดยได้มอบหมายให้ธิดาเป็นคนดูแลพระกาลเถระแทน เมื่อพระกาลเถระมาถึงบ้านแล้ว ทราบความจริง เกิดความเดือดร้อนใจมาก จึงได้มุ่งหน้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า อุบาสิกา นี้ เป็นคนโง่ ขอพระองค์อย่าได้ทรงแสดงธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งให้แก่นาง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิการกระทำของพระกาลเถระ ว่า เธอเป็นคนมีปัญญาโฉด อาศัยความเห็นอันชั่วช้า คัดค้านพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมชื่อว่า เกิดมาเพื่อฆ่าตนเอง เหมือนขุยไผ่ทำลายต้นไผ่ ฉะนั้น (ตามข้อความในพระสูตร)
ผลจากการทรงแสดงพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าในครั้งนี้ เป็นเหตุให้อุบาสิกาได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และพระธรรม ก็ยังเป็นประโยชน์แก่ชนหมู่มาก.
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
โมหะ โมหเจตสิก ความเห็นผิด ความไม่รู้ อวิชชา
ผู้คัดค้านพระอภิธรรมมีโทษอย่างไร
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...