สกุณัคฆีสูตร ... พระสูตรวันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๑

 
มศพ.
วันที่  6 มี.ค. 2561
หมายเลข  29547
อ่าน  1,353



นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••


... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๑

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้า ๓๘๙

๖. สกุณัคฆีสูตร

(ว่าด้วยอารมณ์โคจร)

[๖๙๘] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถ โดยรวดเร็ว ครั้งนั้น นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวนำไป ได้รำพันอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้อับโชค มีบุญน้อย ที่ได้เที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ถ้าวันนี้ เราเที่ยวไปในถิ่นอันเป็นของบิดาตนซึ่งควรเที่ยวไปไซร้ เหยี่ยวตัวนี้ เราก็สามารถต่อสู้ได้. เหยี่ยวจึงถามว่า แน่ะนกมูลไถ ก็ถิ่นซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นที่หากินของเจ้า เป็นเช่นไร?

นกมูลไถ ตอบว่า “คือ ที่ที่มีก้อนดินซึ่งเขาทำการไถไว้”

ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างกำลังของตน ปล่อยนกมูลไถไป พร้อมกับบอกว่า เจ้าจงไปเถิดนกมูลไถ เจ้าจะไปแม้ในที่นั้น ก็ไม่พ้นเราได้ นกมูลไถจึงไปยังที่ที่มีก้อนดินซึ่งเขาทำการไถไว้ ขึ้นสู่ก้อนดินใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวอยู่ว่า แน่ะเหยี่ยว บัดนี้ท่านจงมาจับเราเถิด แน่ะเหยี่ยว บัดนี้ท่านจงมาจับเราเถิด ครั้งนั้น เหยี่ยว หยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างในกำลังของตน จึงห่อปีกทั้ง ๒ โฉบนกมูลไถโดยรวดเร็ว ครั้งใด นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้โฉบลงมาเร็วหวังจะจับเรา ครั้งนั้น ก็หลบเข้าซอกดินนั่นเอง เหยี่ยวยังอกให้กระแทกดิน (ตาย) ในที่นั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่นอันมิใช่ถิ่นหากิน ย่อมเป็นเช่นนี้แล

[๖๙๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย อย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่นอันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์. ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร? คือ กามคุณ ๕. กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้ด้วยโสตะ... กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ... รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อารมณ์อื่น มิใช่โคจรของภิกษุ

[๗๐๐] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร คืออะไร? คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ

จบสกุณัคฆีสูตรที่ ๖

อรรถกถาสกุณัคฆีสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสกุณัคฆีสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ .-

บทว่า สกุณคฺฆิ ได้แก่ ชื่อว่า สกุณัคฆิ เพราะอรรถว่า ฆ่านก คำนั่นเป็นชื่อของเหยี่ยว

บทว่า สหสา อชฺฌปฺปตฺตา ได้แก่ โฉบลงโดยเร็ว เพราะความโลภ

บทว่า อลกฺขิกา ได้แก่เป็นผู้หมดสิริ

บทว่า อปฺปปุญฺญา แปลว่า เป็นผู้มีบุญน้อย

บทว่า สจชฺช มยํ ตัดบทเป็น สเจ อชฺช มยํ (ถ้าวันนี้ เรา)

บทว่า นงฺคลกฏฺฐกรณํ ได้แก่ การทำนาด้วยไถ คือไถใหม่ๆ อธิบายว่าทำนา

บทว่า เลณฺฑุฏฺฐานํ แปลว่า ที่แตกระแหง

บทว่า อวาทมานา คือเหยี่ยว เมื่อหยิ่ง อธิบายว่า กล่าวสรรเสริญกำลังของตนด้วยดี

บทว่า มหนฺตํ เลณฺฑุ อภิรุหิตฺวา ความว่า นกมูลไถกำหนดที่ก้อนดิน ๓ ก้อน ตั้งอยู่ โดยสัณฐานดังเตาไฟ ว่า เมื่อเหยี่ยวบินมาข้างนี้ เราจักหลีกไปข้างโน้น เมื่อบินมาข้างโน้น เราจักหลีกไปข้างนี้ ดังนี้ แล้วขึ้นก้อนดินก้อนหนึ่งในก้อนดิน ๓ ก้อนเหล่านั้น ยืนท้าอยู่

บทว่า สนฺธาย ได้แก่ หลุบปีกดุจลู่อก คือ ตั้งไว้ด้วยดี

บทว่า พหุ อาคโต โข มยายํ ความว่า นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้มาสู่ที่ไกลกว่าเพื่อต้องการจับเรา บัดนี้จักจับเราไม่ให้เหลือแม้แต่น้อย ดังนี้ จึงหลบเข้าไปในระหว่างดินนั้นแล คล้ายน้ำอ้อยงบติดอยู่ที่พื้น.

บทว่า อุรํ ปจฺจตาเฬสิ ความว่า เหยี่ยว เมื่อไม่สามารถดำรงความเร็วไว้ได้ เพราะแล่นไปด้วยคิดว่า “เราจักจับตัดหัวของนกมูลไถครั้งเดียว” กระแทกอกที่ดินนั้น ในทันใดนั้นเอง หัวใจของมันแตกแล้ว ครั้งนั้น นกมูลไถ ร่าเริงยินดีว่าเราเห็นหลังของศัตรู ดังนี้ จึงเดินไปมาตรงหัวใจของเหยี่ยวนั้น

จบอรรถกถาสกุณัคฆีสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 มี.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

สกุณัคฆีสูตร

(ว่าด้วยอารมณ์โคจร)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยทรงยกเรื่องที่เคยเกิดในอดีตมาแสดง ว่า นกมูลไถ เที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น อันไม่ใช่ถิ่นหากินของตน ถูกเหยี่ยวจับได้ จึงเสียใจรำพันว่าที่ถูกเหยี่ยวจับได้ก็เพราะเที่ยวไปยังถิ่นอื่น ถ้าอยู่ในถิ่นของตนก็ยังสามารถสู่กับเหยี่ยวได้ เหยี่ยวได้ฟังดังนั้น มีความหยิ่งในกำลังของตน จึงถามถึงถิ่นของนกมูลไถว่าอยู่ที่ใด นกมูลไถตอบว่า อยู่ที่ก้อนดินที่มีการไถซึ่งมีช่องให้อาศัยอยู่ได้ เหยี่ยวจึงปล่อยนกมูลไถไป เพราะมั่นใจว่าถึงแม้จะปล่อยนกมูลไถไปแล้วในที่สุดก็จะสามารถจับได้เหมือนเดิม เมื่อนกมูลไถกลับไปยังที่อยู่ของตนแล้ว ก็ท้าเหยี่ยวให้มาจับตน เหยี่ยวจึงบินลงด้วยความเร็วเพื่อที่จะจับนกมูลไถ นกมูลไถพอรู้ว่าเหยี่ยวกำลังบินมาก็รีบหลบเข้าไปอาศัยอยู่ที่ก้อนดิน จึงเป็นเหตุทำให้เหยี่ยวซึ่งบินมาด้วยความเร็วกระแทกกับก้อนดิน ตาย ณ ที่นั้นเลย

นี้เป็นเรื่องนกมูลไถที่เที่ยวไปในถิ่นอื่นอันมิใช่ถิ่นหากินของตน ย่อมประสบกับอันตรายเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย จึงไม่ควรเที่ยวไปในอารมณ์อันมิใช่โคจร (คือไม่ควรเที่ยวไป) ได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเมื่อเที่ยวไปในอารมณ์เหล่านี้ มาร คือ กิเลส ย่อมได้โอกาสที่จะครอบงำกระทำอันตรายต่างๆ ได้ เพราะในขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ปล่อยให้เป็นกุศล แต่ควรเที่ยวไปในอารมณ์ที่เป็นโคจร คือ สติปัฏฐาน ๔ (ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม) ซึ่งเป็นอารมณ์ของบิดาตน [บิดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า] เพราะเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ มาร คือ กิเลส ย่อมครอบงำไม่ได้

หมายเหตุ * คำว่า สกุณัคฆี (สะ-กุ-นัก-คี) แปลว่า ผู้ฆ่านก ซึ่งหมายถึงเหยี่ยว

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

สกุณัคฆิชาดก [นกมูลไถ กับ เหยี่ยว]

กามคุณ ๕

มาร ๕ [กิเลสมาร...ตอนที่ ๒]

โลภะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด

การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญขึ้นของกุศล

สภาพธรรมะต่างๆ เป็นสติปัฏฐาน

ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน !

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 19 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ