อยากบวช แต่ไม่อยากอยู่วัด
กระผมศึกษาพระธรรม (พระไตรปิฎกมา 5 ปี แล้ว) ฝึกวิปัสสนากรรมฐานมาคู่กันกับพระไตรปิฎก มั่นใจในธรรมของตน ตอนนี้ก็อายุมากแล้ว ถ้าเราบวชเป็นพระภิกษุ แล้วปลีกวิเวกมาปฏิบัติธรรมด้วยตนเองตามหัวไร่ปลายนาของตนเองปฏิบัติตามธุดงค์ 13 ถึงวันอุโบสถศีลค่อยไปร่วมปาติโมกข์กับคณะสงฆ์ที่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้ได้ไหม สาเหตุพระสงฆ์องค์เจ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมของพระพุทธองค์ ดูแล้วไม่สัปปายะ (ตามวนปัตถมสูตร) แนะนำผมด้วยตอนนี้อายุ 58 ปี แล้ว อีกสองปีก็เกษียณอายุราชการอยากบวชครับ
คูณดี แสนทอง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึงคำใด ประโยคใดก็ต้องเข้าใจถึงคำนั้น แต่ละคำอย่างถูกต้องก็จะทำให้เข้าใจว่าคำนั้นจริงหรือไม่ครับ บวช คือ อะไร บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวช
บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมาดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่มห่มที่ใส่) และที่สำคัญที่สุดคือ การบวชไม่ใช่ทางเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์ดับกิเลสครับ แต่ธรรมที่ทำให้ดับกิเลส ละกิเลสได้คือ สภาพธรรมที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งปัญญาไมไ่ด้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะต้องบวช เท่านั้นครับ แต่ปัญญาเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ดังนั้นปัญญาเกิดได้ โดยไม่จำกัดเพศ ว่าจะเป็นฆราวาส หรือ เพศบรรพชิต เพราะปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เกิดกับจิต จิตและเจตสิก จึงไม่ได้จำกัดที่จะเกิดที่เพศใด เกิดได้หมดทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้น เหตุให้เกิดปัญญา คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่ง การศึกษาพระธรรม จึงไม่ไ่ด้หมายความว่าจะต้องบวชเท่านั้น แม้ฆราวาส ก็ศึกษาพระธรรม และอบรมปัญญาได้ ในสมัยพุทธกาล มีฆราวาสที่บรรลุธรรม เป็นพระอริยเจ้าขั้นต่างๆ จนถึงพระอรหันต์ดับกิเลสมากมาย เพราะท่านรู้อัธยาศัยของตน ว่ายังไม่ได้ถึงขนาดสละทุกอย่างได้ แต่ท่านก็อบรมปัญญาในเพศฆราวาสดับกิเลสได้ครับ
ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าเพศใด บรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ หากไม่เข้าใจธรรม หรือ ปฏิบัติผิดก็ย่อมมีโทษ ดังนั้น ต้องเริ่มจากการศึกษาให้เข้าใจเบือ้งต้น แม้แต่คำว่า ปฏิบัติ คืออะไรให้ถูกต้องครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ
หากไมได้บวชด้วยความเข้าใจ และไม่ได้มีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยเลย การบวชนั้นก็เป็นโทษกับผู้บวชเพราะล่วงอาบัติต่างๆ มากมายและไม่เห็นโทษในอาบัตินั้น และทำให้เข้าใจในพระธรรมผิดก็ย่อมทำให้เป็นโทษกับผู้บวชเอง พระศาสนาก็เสื่อมเร็วขึ้นเพราะไมได้เริ่มจากความเข้าใจ ครับ ขออนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....การบวช เป็นเรื่องยาก [คาถาธรรมบท]
ขออนุโมทนา
ครับขอบพระคุณครับ ท่านPAderm ผมจะนำไปไตร่ตรองหรือโยนิโสมนสิการให้เห็นธรรม
สาธุ สาธุ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
~ คนที่จะเป็นพระภิกษุ ต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจ ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจธรรม ไม่ได้ขัดเกลากิเลส แต่ว่าบวช เพราะอยากบวช อย่างนั้น ไม่มีความจริงใจ แต่ถ้าเป็นคนที่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลส ย่อมรู้ตนเอง ว่า สามารถที่จะดำรงเพศบรรพชิตได้หรือไม่?
(อ้างอิงจากหัวข้อ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่ควรฟัง)
สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก การอบรมเจริญปัญญาไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย ถ้าหากว่ามีความประสงค์จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว แม้จะอยู่ครองเรือนเป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถศึกษาพระธรรมได้ เป็นคฤหัสถ์ที่ดี พร้อมกับอบรมเจริญปัญญา ได้ ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมาแล้วที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะไม่มีใครสามารถที่จะทราบได้ว่าโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมในชาตินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ถ้าหากเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ศึกษาเลย ไม่ต้องรีรอ แม้ยังเป็นเพศคฤหัสถ์ ดีกว่าไปบวชโดยไม่รู้ หรือ เพราะอยาก
ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว การปฏิบัติจะถูกต้องไม่ได้ เมื่อไม่ถูกแล้ว จะเป็นบุญไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ผมก็ใกล้เกษียณเช่นกัน ก็มีความคิดอยากจะบวชเหมือนกัน เพราะเห็นโทษภัยของการครองเรือน แต่เนื่องจากยังมีภาระหน้าที่ ที่ต้องกระทำอยู่ ก็ต้องอยู่ในเพศคฤหัสถ์ต่อไป โดยพิจารณาถึงสิ่งใดเป็นกุศลก็เจริญให้มาก สิ่งใดเป็นอกุศลก็งดหรือละเว้นเสีย อาศัยการได้ฟังธรรม สนทนาธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นการเตือนสติตัวเองได้เป็นอย่างดี สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องไปที่สำนักปฏิบัติธรรมที่ไหน แต่ตอนนี้ผมเป็นห่วงเยาวชนของชาติที่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะนักเรียนถูกบังคับให้ไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมทุกคน ตามวัดหรือสำนักปฏิบัติธรรม อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 - 3 วัน โดยมีการสวดมนต์ หรือที่เรียกว่า ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เดินจงกรม นอนสมาธิ เป็นหลัก ซึ่งต้องปฏิบัติตามนโยบาย โรงเรียนวิถีพุทธ นี่คือการวางรากฐานที่หนาแน่น ของ คำว่า การปฏิบัติธรรม ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก