ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงแรม ดิอิมเพรส น่าน อ.เมือง จ.น่าน [วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ] ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากรของมูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม ในหัวข้อ "วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" ณ ห้อง ดิอิมเพรส คอนเวนชั่น ฮอลล์ โรงแรม ดิอิมเพรส น่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ระหว่างเวลา ๙.๐๐ น. - ๑๕.๓๐ น. โดยความสนับสนุนจาก วิทยาลัยชุมชนน่าน เทศบาลเมืองน่าน และ มูลนิธิฮักเมืองน่าน
การได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมการสนทนาธรรมในหัวข้อ "วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" ที่จังหวัดน่านในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้าที่เมื่อทราบข่าวว่ามูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนามีกำหนดการที่จะเดินทางไปรณรงค์ เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แก่สาธารณชนตามจังหวัดต่างๆ อันเนื่องมาจากการที่ชาวพุทธมีการประพฤติต่างๆ ผิดไปจากพระธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ อย่างมากมาย กว้างขวาง เพราะขาดการศึกษา ขาดความรู้ ความเข้าใจ จนเป็นเหตุให้เป็นวิกฤตอย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา ในปัจจุบัน โดยมีจังหวัดน่านเป็นจังหวัดแรก ของการรณรงค์ในต่างจังหวัด
จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดเล็กๆ ของภาคเหนือ ที่มีความสะอาด เงียบสงบ น่าอยู่ คนเมืองน่านมีอัธยาศัยน่ารัก ทราบว่าจังหวัดน่านเคยได้รับรางวัลต่างๆ มากมายหลายรางวัล เช่น รางวัลชนะเลิศเมืองสะอาดของอาเซียน จากการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ปี ๒๕๖๑ และ รางวัลเมืองปลอดภัยระดับโลก จาก WHO (World Health Organization) หรือองค์การอนามัยโลก ปี ๒๕๕๖ เป็นต้น โดยส่วนตัว รู้สึกภูมิใจที่น่านเป็นถิ่นของแม่และบรรพบุรุษของแม่ พ่อเริ่มต้นชีวิตราชการ ทั้งพบรักและแต่งงานกับแม่ที่นี่ ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง แม่บอกว่า ข้าพเจ้าถือปฏิสนธิที่จังหวัดน่าน (แม่อุ้มทองไปจากน่าน) ก่อนที่พ่อจะย้ายกลับไปทำราชการที่จังหวัดชัยนาทบ้านเกิดของพ่อ น่านจึงเป็นที่ๆ พ่อ-แม่และข้าพเจ้าประทับใจ (ไปคนละอย่าง) ก่อนพ่อเสียชีวิต ข้าพเจ้ามีโอกาสพาท่านกลับมาเยี่ยมเพื่อนเก่าๆ สมัยที่ท่านและเพื่อนๆ เคยรับราชการกระทรวงสาธารณสุขด้วยกันมาแต่ยุคสมัยที่ต้องขี่ม้าลัดเลาะไปราชการตามดอยและพักค้างอ้างแรมตามตำบลท้องที่ต่างๆ ที่ห่างไกลร่วมกัน ท่านและเพื่อนๆ มีความสุขมากเมื่อพบกัน พลอยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขไปด้วย แม้เมื่อขณะที่กำลังเขียนเล่าความหลัง ซึ่งเป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ไปแล้วนี้ เมื่อได้หวนรำลึกถึงอดีต ยิ่งทำให้มั่นคงขึ้นในธรรมที่ทรงแสดง มั่นคงขึ้นในเมตตาของท่านอาจารย์ ที่กล่าวถึงการ "ทำดีและศึกษาพระธรรม" ซึ่งทำให้เห็นถึงอัธยาศัยที่สะสมมา ในการเป็นผู้ที่ไม่รั้งรอ ผัดผ่อน ในอันที่จะทำความดีทันทีที่มีโอกาส เพราะเหตุที่ บุคคลไม่สามารถย้อนกลับไปทำในสิ่งที่ควรทำในอดีตที่ผ่านไปแล้วได้ เมื่อเห็นว่าสิ่งใดเป็นความดีที่ควรทำจึงทำทันที เพราะอาจไม่มีโอกาสเช่นว่านั้นอีกเลย ในชีวิต
การจัดให้มีการสนทนาธรรมของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่จังหวัดน่านในหัวข้อ "วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากชาวจังหวัดน่าน ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการหลายภาคส่วน มีทั้งข้าราชการทหารที่นำโดย พล.ต.ธวัช ศรีสว่าง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ที่ ๓๘ และ พ.อ.รุศมนตรี จิณเสน รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ที่ ๓๘ นำกำลังพล จำนวน ๓๐ นาย เข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจน ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน หน่วยงานประชาสัมพันธ์ต่างๆ วิทยาลัยชุมชนน่าน เทศบาลเมืองน่าน มูลนิธิฮักเมืองน่าน รวมถึงพุทธสมาคมจังหวัดน่าน ที่มีทั้งท่านผู้ร่วมก่อตั้งพุทธสมาคมน่าน คุณสะดวก จันทะเสน และท่านอุปนายกของพุทธสมาคมน่าน คุณจรูญ อินทศร ก็เข้าร่วมรับฟังและร่วมสนทนาแสดงความเห็นในที่สนทนาไว้อย่างน่าสนใจยิ่งด้วยเช่นกัน การได้เห็นคนเมืองน่านมีความสนใจ ใส่ใจ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันทำนุบำรุง รักษาพระศาสนาคือคำสอนที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้เช่นนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกดีใจ ภูมิใจ ที่ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชาวน่านเช่นกัน นึกถึงพ่อซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยเห็นพ่อติดตามอ่านวารสารทางธรรมที่มีผู้พิมพ์เผยแพร่ในสมัยโน้นอยู่บ่อยๆ ไม่เคยเห็นพ่อคล้องพระเครื่องใดๆ ท่านเคยบอกกับลูกๆ ว่า พระอยู่ที่ใจ (เมื่อได้ศึกษาธรรม จึงรู้ถึงความลึกซึ้งว่า การจะเป็นบุคคลที่มีที่พึ่งที่แท้จริง มีพระธรรมอยู่ที่ใจ คือ มีความเข้าใจธรรมในหนทางที่ถูกต้องที่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ นั่นเอง) ทั้งเคยเห็นจดหมายที่คุณลุงหมออรรถ อภิสุข เพื่อนรักที่สุดของพ่อซึ่งลงหลักปักฐานอยู่ที่น่านจนลูกหลานมีกิจการรุ่งเรืองหลากหลายในปัจจุบัน เขียนมาสนทนาเรื่องพระพุทธศาสนากับพ่อ (ซึ่งพ่อสอดจดหมายเก็บไว้ในวารสารธรรมที่ปัจจุบันเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย) ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ คงได้ชื่นชมอนุโมทนาในความใส่ใจของชาวน่าน ต่อวิกฤตพระพุทธศาสนาเช่นนี้เป็นแน่แท้
ในส่วนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ซึ่งเข้าร่วมอยู่ฟังการสนทนาตั้งแต่ต้นจนจบรายการ ทราบว่าท่านนายกเทศมนตรีน่านท่านให้ความสนใจมาก ถึงกับเดินทางมาร่วมฟังและสังเกตการณ์ การจัดสนทนาธรรมในหัวข้อ "วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ" ที่ทางมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ด้วย (ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร [วิกฤตพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ] ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑) และสำหรับวันนี้ ทุกท่านที่เข้าร่วมฟังและร่วมสนทนา มีความตั้งใจฟังด้วยดีมาก น่าชื่นชมชาวน่านจริงๆ ครับ
เมื่อได้กลับมาฟังความการสนทนาเพื่อถอดความการสนทนาบางส่วนเพื่อนำลงบันทึกไว้ เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ของการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ก็พบว่า ความการสนทนาตลอดทั้งภาคเช้าและบ่าย มีเนื้อหาที่ชวนติดตามและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับความเข้าใจในพระธรรมและพระวินัยที่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ เป็นประโยชน์และเกื้อกูลอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีความหวังดี ปรารถนาดีต่อพระศาสนาอย่างจริงใจ ในอันที่จะช่วยกันทำนุบำรุง รักษา พระศาสนาคือคำสอนที่ถูกต้องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นั้น ให้สถิตดำรงมั่นคงสืบไป เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่จะได้มีโอกาสศึกษา เข้าใจในพระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อการสละ ละคลาย กิเลส หาใช่หนทางของการอยากมี อยากได้ อยากเป็น อยากปฏิบัติ (แต่ไม่เข้าใจว่าปฏิบัติที่ถูกต้องคืออย่างไร) เช่นที่เป็นกันอยู่มากมายจนวิกฤตยิ่งในปัจจุบัน
อ.คำปั่น ในช่วงแรก เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในความเป็นจริงของธรรมะก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาว่า มีความสำคัญอย่างไร และที่กล่าวว่า พระพุทธศาสนากำลังอยู่ในภาวะวิกฤตนั้น วิกฤตอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ความเข้าใจต้องเกิดจาการไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟัง เราจะใช้เวลานานสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ว่า ไตร่ตรองและเข้าใจ จนถึงที่สุด เช่น คำว่า "พระพุทธศาสนา" ฟังเผินเหมือนกับว่าทุกคนรู้จัก แต่ว่า "ศาสนา" คือ "คำสอน" และมีคำว่า "พุทธศาสนา" แต่คำว่า "พุทธะ" ลึกซึ้งแค่ไหน? เพราะเหตุว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงซึ่งถูกปกปิดไว้ในสังสารวัฏฏ์ ต้องใช้คำนี้เลย เราจะไม่เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมและไม่เข้าใจถึงความลึกซึ้งว่า ประมาทใน "คำแต่ละคำ" ไม่ได้เลย เพราะว่า ทุกคำ เกิดจากการที่ได้ทรงตรัสรู้ "รู้" มีหลายอย่าง รู้เรื่องนั้นรู้เรื่องนี้ คิดว่าสูงสุดแล้ว แต่ว่าแม้เทวดาและพรหมก็ยังต้องมาทูลถามปัญหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงว่าไม่มีผู้ใดเปรียบได้เลย เพราะฉะนั้น "แต่ละคำ" ฟังด้วยความเคารพ ด้วยความไม่เผิน
บางคนบอกว่า รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างไร สวดมนต์ รู้จักหรือยัง? ไหว้พระ เวียนเทียน พอถึงวันสำคัญก็ สวดมนต์ ไหว้พระ เวียนเทียน นั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? แสดงว่าผู้นั้น รู้จักพุทธศาสนาหรือเปล๋า? เพราะว่า ศาสนาเป็น "คำสอน" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ไม่ใช่เพียงให้ใครมาเวียนเทียนหรือว่ามาสวดมนต์ หรือว่ามากราบไหว้ แต่ "ทุกคำ" เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ได้ฟังคำ ที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์
เพราะฉะนั้น "พุทธะ" เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ใครที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้เข้าใจแต่ละคำ เป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นรัตนะที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่า อานุภาพหรือเตชะหรือเดช ของแต่ละคำซึ่งเป็นพระธรรม สามารถที่จะ "ทำให้เข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน ในสังสารวัฏฏ์" คิดดู เคยเข้าใจอะไรมาบ้าง? ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่พอฟังพระธรรมแต่ละคำ ต้องฟังและไตร่ตรอง เพื่อเป็นความเข้าใจของตนเอง
นี่คือมรดก ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้กับพุทธบริษัท ผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ที่จะศึกษาด้วยความเคารพ มิฉะนั้นแล้ว ก็เข้าใจว่าพระพุทธศาสนา เพียงสวดมนต์ แล้วก็เวียนเทียน พอถึงวันสำคัญ ส่วนใหญ่ก็แค่นี้เอง ทั้งวัน แต่ว่าตามความเป็นจริง แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ตามพระปัญญาคุณที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะทรงตรัสรู้ความจริง เพราะฉะนั้น ทุกคำที่จะได้ฟัง ขอให้ไตร่ตรอง และถ้าไม่เข้าใจก็ ซักถาม จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ คุ้มค่าแก่การฟังแต่ละคำ
ขอเริ่มต้นด้วยคำว่า "รัตนะ" สิ่งที่ประเสริฐที่สุด เมื่อมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็น "พุทธรัตนะ" เหนือสิ่งอื่นใด แก้วแหวนเงินทองใดๆ ก็ไม่มีค่าเท่ากับพระปัญญาคุณ ซึ่งทำให้พระองค์บริสุทธิ์จากความไม่รู้ทั้งหมด ดับกิเลสได้ และมีพระมหากรุณาที่จะอนุเคราะห์ให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย ถ้าไม่ทรงมีพระมหากรุณา แต่ละคนจะไม่ได้ยินคำที่ตรัสเลย แม้แต่คำเดียว แล้วก็จะเห็นความลึกซึ้งจริงๆ ว่า ถ้าไม่มีการได้ฟัง ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงใดๆ ได้ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ทุกคนก็ได้ยินคำว่า "ธรรมะ" มานาน บอกได้ไหม ธรรมะคืออะไร? ทุกอย่าง ถ้าจะเป็นความรู้ ก็ต้องตั้งต้นว่า "คืออะไร?" ก่อนที่จะรู้ความลึกซึ้งของคำนั้นมากขึ้น มากขึ้น ก็ต้องตั้งต้นก่อนว่า คืออะไร? เพราะฉะนั้น ธรรมะคืออะไร? ถ้าตอบได้ก็ขอเชิญตอบสักท่านหนึ่ง เป็นการสนทนา เพื่อคนอื่นจะได้ฟังด้วย
คุณสะดวก จันทเสน กราบท่านอาจารย์สุจินต์ และคณะวิทยากรทุกท่าน กราบทุกท่านที่มาร่วมสนทนาธรรมในวันนี้ทุกท่าน ผม สะดวก จันทเสน เป็นคนศรีสะเกษ เป็นเขยเมืองน่าน มาอยู่เมืองน่านเมื่อปี ๒๕๒๔ ตอนนี้อายุ ๖๙ มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะร่วมกับอาจารย์ประดิษฐ์ เพชรแสงอนันต์ และได้ตั้งกลุ่มพุทธสมาคมจังหวัดน่านขึ้น เมื่อปี ๒๕๔๕ ตั้งแต่นั้นมาก็ศึกษาธรรมะ และจัดรายการธรรมะใต้ร่มโพธิ์ ที่ สวท.น่าน ทุกวันอังคาร ทุ่มครึ่งถึงสองทุ่ม กล่าวถึงธรรมะที่ตนเองได้ศึกษา เป็นคนต่อต้านเรื่องไอที ต่อมาได้เปิดโทรทัศน์เจอท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ช่อง ๑๑ เจอตอนตีห้า สักพักก็หายไป ไม่รู้จะทำอย่างไร ถามลูกชายว่า อยากจะฟังคนนี้ เขาก็ซื้อโทรศัพท์ให้แล้วก็สอนวิธีเปิด ฟังท่านทุกวัน เป็นแฟนรายการประจำ เจออาจารย์คำปั่น ท่านปริญญา อาจารย์อรรณพ หลายๆ ท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม
ก็เพิ่งรู้ว่า ธรรมะคืออะไร ทำไมผมเกิดมาตั้ง ย่าง ๖๙ ไม่รู้เลย แม้แต่จะอ่านพระไตรปิฎกฉบับประชาชนอย่างลึกซึ้ง ผมเองอ่านแล้วก็ทำแผ่นป้ายไวนิลใหญ่ๆ ลงทุนเอง เอาไว้ตั้งโชว์ในงานต่างๆ เพื่ออยากให้รู้ว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้เรื่องอะไร แต่ก็ยังไม่เข้าใจ พอมาฟังท่านอาจารย์สุจินต์ จึงบอกว่า โอ..กึ่งพุทธกาลแล้ว ยังไม่เสื่อม ห้าพันปีน่าจะได้ ยังมีคนที่พูดคำของพระพุทธองค์แล้วเราเข้าใจ ไม่สงสัยที่จะถามว่าธรรมะคืออะไร แต่อยากจะให้อาจารย์สอบความเข้าใจหน่อยก็ได้ ในฐานะเป็นคนเมืองน่าน ว่า ธรรมะ จากการฟัง ท่านก็บอกว่า เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงมีอยู่สองอย่าง ก็คือ สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น นี่พูดเฉพาะทางตา สิ่งที่เห็นจะเรียกจิตก็ได้ วิญญาณก็ได้ ธาตุรู้ก็ได้ เห็นสิ่งที่ถูกเห็น นี่คือความจริงที่ปรากฏ
ผมไม่สงสัยหรอกว่า ทำไมจึงมีแต่การเวียนเทียน การสวดมนต์ ซึ่งไม่ได้แปล ไม่เข้าใจ ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ทำอยู่แค่นี้ แม้แต่พระที่บวชเองตามวัดต่างๆ ท่านไม่ได้สอนเหมือนท่านอาจารย์สุจินต์ เพื่ออยากจะถามว่า คืออะไร? สิ่งที่ทำ ทำแต่พิธีกรรม มันวิกฤตขนาดไหน ก็อยากจะแสดงความเห็นในฐานะคนเมืองน่านที่ตั้งใจจะเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์เหมือนท่านอาจารย์สุจินต์
ลงเฟซทุกวัน ลงไลน์ในกลุ่มที่ควรจะลง ก็ชื่นชมว่า เป็นบุญของเมืองน่าน ท่านนายกเทศมนตรีเมืองน่าน ท่านสุรพล เธียร
ก็ไม่รู้จะถามอะไร เพียงแต่อยากแสดงความรู้สึกว่า ใช่เลย ถ้าหากไม่รู้แล้วก็คงมีแต่พิธีกรรมต่างๆ ในวัดต่อไป ก็คงวิกฤตต่อไป เพราะเหตุว่าท่านไม่รู้ แล้วท่านจะสอนอย่างไร แม้รู้แล้ว ในกลุ่มพุทธสมาคมจังหวัดน่าน ผมเองอยากจะขยายความว่าธรรมะคืออะไร สิ่งที่ถูกรู้กับสิ่งที่รู้คืออะไร ใช่เราหรือเปล่า จะละเราได้อย่างไร หาคนฟังไม่ได้เลย อยากจะขยายความต่อจากท่านอาจารย์สุจินต์ ในฐานะที่เข้าใจถูก มีผู้หนึ่งสนใจ อยู่อำเภอนาหมื่นบอกว่า ท่านสะดวก จัดประชุมที่พุทธสมาคมสิ จะฟัง ผมบอกว่าให้ท่านมา กำหนดวันเลยจะเอาวันไหน ค่าใช้จ่ายผมจะเลี้ยงอาหารฟรี มาฟัง ไม่มีใครมาท่านมาคนเดียวก็ได้ มาไม่ได้ ไม่สามารถมีคนอยากฟังได้ (หัวเราะ) ก็ขอแสดงความรู้สึกในฐานะคนเมืองน่าน ขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์
ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนานะคะ ที่มีผู้ที่รู้ทางที่จะทะนุบำรุงพระศาสนา ว่าไม่ใช่เวียนเทียน หรือว่า ไม่ใช่สวดมนต์ แต่เป็นการ "เข้าใจคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศ" เพื่อที่จะให้คนที่ฟัง "เกิดความเข้าใจของตนเอง" นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วไม่เข้าใจ ต้องถามคนอื่น แต่ว่า "ฟังแล้วก็ ไตร่ตรอง" เข้าใจเมื่อไหร่ "เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" และรู้ว่า เพียงแค่คำเดียว ก็ต่างกับคำอื่นๆ เช่น ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนเลย แต่ว่าความเข้าใจต้องละเอียดขึ้น เดี๋ยวนี้ คิดหรือเปล่า? ว่ากำลังมี "สิ่งที่มีจริง" ซึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทุกอย่างที่มีจริง ต่างกับที่เราเคยคิด
เพราะฉะนั้น เพียงแค่ถาม ว่าเดี๋ยวนี้ อะไรมีจริง? ตอบเองได้แล้วใช่ไหม? จากคำที่บอกว่า "ทุกสิ่งที่มีจริง" ภาษาบาลีใช้คำว่า "ธรรมะ" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง และทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง ตั้งแต่ตรัสรู้ จนใกล้ที่จะปรินิพพาน เป็นเรื่องสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ อะไรมีจริง? ถ้าไม่ตอบ ไม่คิด ก็ไม่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร? และทรงแสดงอะไร? แต่ถ้าเริ่ม ก็จะเป็นความเข้าใจของตนเอง ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจสิ่งซึ่งมีตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย ~ !!
ไม่ทราบว่าจะมีคำตอบไหม? ขณะนี้ เมื่อกี้นี้พูดถึง "เห็น" มีจริงๆ แน่ เวลาที่ได้ฟังธรรมะ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่กำลังฟังที่พูดความจริงของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น พอพูดถึง "เห็น" เดี๋ยวนี้กำลังเห็น ไม่ใช่เรื่องเห็นเท่านั้น แต่มี "เห็น" ให้รู้ว่า รู้หรือเปล่าว่า "เห็น" เกิดขึ้น ถ้าเห็นไม่เกิด จะมี "เห็น" ไหม? แค่นี้ ต้องไตร่ตรองแล้ว เพื่อที่จะได้เข้าใจความจริงของ "เห็น" ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ต่อไป เห็นต้องเกิด ถ้าเห็นไม่เกิด ไม่มีเห็น ทุกคนเห็นแล้วใช่ไหม? "ใครทำ" ให้ "เห็น" เกิด? มีใครทำให้ "เห็น" เกิด ได้ไหม? กำลังเห็นอย่างนี้ เห็นแล้วด้วย "ได้ยิน" ใครทำให้ "ได้ยิน" เกิด? "คิด" ใครทำให้ "คิด" เกิด? "จำ" ก็มี ใครทำให้ "จำ" เกิด? ไม่รู้สักอย่าง ว่าแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง มีเพื่อให้เข้าใจความจริง แต่ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เข้าใจผิด เข้าใจว่า เป็น เราเห็น ,เราได้ยิน, เราคิด, เราจำ
ขั้น "เริ่มต้น" ยากไหม? เปลี่ยนจากสิ่งที่ไม่เคยรู้เลย ซึ่ง "เคยเป็นเรา" ทั้งหมด!! เป็น "สิ่งที่มีจริง" แต่ละหนึ่ง ต้อง "แต่ละหนึ่ง" จริงๆ เพราะว่า "เห็น" ไม่ใช่ "ได้ยิน" ขณะที่ได้ยิน ถ้าเป็นเราได้ยิน ได้ยินหมดแล้ว เราอยู่ไหน? ก็ไม่มีเราเลย เพราะฉะนั้น จากคำนี้ ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจคำที่พระองค์ตรัสไว้ ว่า ธรรมะทั้งหลาย คือสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ทั้งหมด เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง และยั่งยืน!!
เพราะ จากการที่ทรงตรัสรู้ จะนำไปสู่การเข้าใจความจริงที่พระองค์ตรัสว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นมีการดับไปเป็นธรรมดา ฟังชินหู คิดอย่างไร? คิดว่าเกิดแล้วต้องตาย หรือว่าเกิดแล้วก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ว่าความจริง ละเอียดกว่านั้นคือ สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ประมาทไม่ได้เลย สิ่งที่เกิดนั้นแหละ มีความดับ เป็นธรรมดา แสดงว่าขณะนี้ ถ้าเข้าใจประโยคนี้ "เห็น" เกิดแล้วดับ "ได้ยิน" ไม่ใช่ "เห็น" เพราะฉะนั้น ขณะได้ยิน ไม่มีเห็น ได้ยินก็ต้องเกิดขึ้น แล้วก็ดับ มีอะไรในชีวิต แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ในขณะนี้เอง ซึ่งเกิดแล้วไม่ดับบ้าง?
นี่คือสิ่งที่ต้อง "ฟัง" จนกว่าจะมี "ความเข้าใจที่มั่นคง" มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถจะถึง "ปัญญาอีกระดับหนึ่ง" ซึ่งเป็น "ปฏิปัตติ" ธรรม เพราะเหตุว่า ความลึกซึ้งของธรรมะ มี ๓ ระดับขั้น "ปริยัติ" ได้ยินบ่อยๆ ตามวัดวาก็จะมีตึกมีอาคารปริยัติธรรม แต่ "ปริยัติ" คือ ฟังพระพุทธพจน์ "ฟัง" หมายความว่าอย่างไร? เข้าใจด้วย ไม่ใช่แค่ได้ยิน!!
เพราะฉะนั้น เมื่อกี้นี้ ฟังคำว่า "ธรรมะ" เข้าใจระดับไหน? สามารถที่จะรู้ไหม ว่าสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ เริ่มพิจารณาไตร่ตรองว่า ไม่เที่ยง "อนิจจัง" สิ่งที่ไม่เที่ยง จะนำความสุขที่แท้จริงมาให้ได้หรือ? จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์จริงๆ ปัญญาถึงระดับที่สามารถ "ถึงเฉพาะเห็น" ที่กำลังเกิดดับ " (ถึงเฉพาะ) ได้ยิน" ที่กำลังเกิดดับ ทั้งหมดต้องมาจากการฟัง และมีความเข้าใจ รอบรู้อย่างมั่นคง ว่า "เดี๋ยวนี้เป็นธรรมะ"
การฟังธรรมะ เข้าใจธรรมะ รู้แจ้งธรรมะ ไม่ต้องไปที่ไหนเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า กำลังมีธรรมะ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ที่กำลังมีธรรมะ ก่อนฟัง ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรมะ แต่เดี๋ยวนี้ พิจารณา ไตร่ตรอง ทุกขณะเป็นธรรมะคือเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป สืบต่ออย่างเร็ว สุดที่จะประมาณได้ จึงยากแก่การที่จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริง ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เรา
บางคนสงสัย ความต่างกันของไม่มีเรากับไม่ใช่เรา เป็นอย่างไร ก็ธรรมดา เดี๋ยวนี้ มี "สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ" สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น "ไม่มีเรา" แต่มี "สิ่งที่กำลังปรากฏ" จะพูดสลับกลับกันอย่างไรก็ได้ แต่ "ขอให้เป็นความเข้าใจจริงๆ " นี่คือ "ขั้นแรก" ที่จะ "เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เพียงแค่สองคำ สามคำ สี่คำ แต่ที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา มาก เพื่ออะไร? เพื่อ "ความเข้าใจ" จนกระทั่ง สามารถที่จะ "รู้ความจริง" ได้
คุณสะดวก จันทะเสน กราบท่านอาจารย์สุจินต์อีกครั้ง อยากจะสนทนาเพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายที่มาร่วมรับฟัง มีคำว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ , สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ แล้วก็ มีการฟัง เรียกว่า สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ขอกล่าวเฉพาะเรื่อง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ หลายท่านที่ศึกษา ที่ฟังพระเทศน์ ท่านก็บอกว่า อยากจะรู้ธรรมะ จะต้องไปสำนักโน้น สำนักนี้ ไปปฏิบัติ จากการฟังท่านอาจารย์สุจินต์ ผมเองก่อนที่จะได้ฟังก็ไปตานัง เลนัง ของอาจารย์....ที่เชียงใหม่ สิบวัน ไปนั่งปฏิบัติ มีอยู่เกือบร้อยคน สามวันแรกใจมันต้านมาก หมายความว่า ทำอย่างนี้แล้วจะรู้อะไร? นี่คือเข้าใจว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ต้องไปทำ เสร็จแล้วกลับมาบ้าน มาทำต่อที่วังกาบรางอีกเจ็ดวัน ปิดทวารทั้งหมด หมายความว่า ทำเหมือนตานัง เลนัง เพราะเจ้าสำนักวังกาบรางก็ไปตานัง เลนัง สิบวันเหมือนกัน สิบวันนี้ไม่คุยกันเลย จะทำเหมือนคนป่วย จะเดินชั่วโมงหนึ่ง เดินจงกรมนะครับ แล้วนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง สลับกัน ทำอยู่อย่างนั้นแหละ ถึงเวลาไปทานข้าวก็จะเดินช้าๆ เหมือนที่ท่านอาจารย์บอกว่า เดินอย่างนั้นผิดปกติ จะไปรู้เรื่องอะไร
ก็อยากจะสนทนาว่า เพราะไม่รู้ว่าคำว่า ปฏิปัตติ คือ การเข้าถึง เข้าใจว่าไม่ต้องไปทำ ตรงนี้ชาวพุทธจะเข้าใจคำกล่าวที่ว่า ไม่ต้องทำอะไร ปฏิบัติในภาษาบาลีว่า ปฏิปัตติ ก็รู้ว่าใช่เลย เพราะว่าเมื่อก่อนท่านพระสารีบุตร ท่านสาวกต่างๆ ท่านอัครมหาสาวกหรือสาวกทั้งหลาย ก็ไม่ไปปฏิบัติ ไม่มีสำนักปฏิบัติ แล้วทำไมวิกฤตที่กึ่งพุทธกาลจึงมีสำนักปฏิบัติ อยากจะขอให้ขยายความว่า คำว่าปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าให้ไปเดินจงกรมหรือไปนั่งสมาธิ โดยไม่รู้อะไร นี่คือสิ่งที่อยากร่วมสนทนาด้วย เพราะความไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ จึงไปทำ เมื่อไม่ได้ฟังคำของพระพุทธองค์ อย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กรุณาขยายว่า ธรรมะคืออะไร ตรงที่ไปนั่งสมาธินี้ นั่งแล้วท่านก็ไม่สอน แต่ท่่านให้ดูว่าฐานกระทบ กระทบหนอ กระทบหนอ ชั่วโมงหนึ่ง (หัวเราะ) นั่งอยู่อย่างนั้น จนกลับมา ไม่ได้ลบหลู่ครูบาอาจารย์ แต่เล่าความจริงให้ฟังว่า มันไม่ใช่ทาง ใช่ทางก็ตรงนี้แหละ ตรงหน้านี้แหละ คือผู้กล่าวคำของพระพุทธองค์
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทำให้ทุกคนเข้าใจความหมายของคำว่า "วิกฤตพระพุทธศาสนา" ใช่ไหม? เพราะไม่รู้แล้วทำ ด้วยเหตุนี้ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ใช่ให้ไม่รู้ แต่ "ทุกคำ" ทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็แต่ละคำด้วย เช่น คำว่า ปริยัติธรรม ธรรมะซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ ซึ่งผู้ที่เคารพต้องฟัง ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น แต่ฟังแล้วไตร่ตรอง เข้าใจขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย จนรอบรู้ในพระพุทธพจน์ ไม่เปลี่ยน รอบรู้คือมั่นคง เพราะ "คำของผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว" เปลี่ยนไม่ได้!! เพราะเหตุว่า ตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด!! แล้วจะเปลี่ยนได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า "ธรรมะ" เดี๋ยวนี้เอง ทั้งหมดที่มีจริง เป็นธรรมะ "เห็น" เป็นธรรมะ "ได้ยิน" เป็นธรรมะ มั่นใจไหม ว่าไม่ใช่เรา นั่นคือ รอบรู้หรือยัง? ถ้ายังไม่รอบรู้ ก็ยังคงมี "ตัวเรา" จะต้องการทำสิ่งนั้น หวังสิ่งนี้ื คิดว่าจะสำเร็จได้ด้วยการทำ ด้วยความเป็นตัวตน แต่ "แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ต้องมั่นคง เป็นสัจจญาณ หมายความว่า เป็นปัญญาที่รู้ความจริงว่า เดี๋ยวนี้เอง สิ่งที่กำลังปรากฏ เกิดแล้วดับนี่คือเริ่มมั่นคง จนกระทั่ง จะไปที่ไหนด้วยความไม่รู้ นอกจากพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า ฟังแล้วยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะเหตุว่า เป็นปัญญาเพียงขั้นรู้ ด้วยความเข้าใว่า ขณะนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี เกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง นี่คือ ปริยัติ หรือสัจจญาณ
ถ้าไม่มีปริยัติ "ปฏิปัตติ" ที่เราใช้ภาษาไทยว่า "ปฏิบัติ" เกิดไม่ได้เลย!! เอาความไม่รู้ไปปฏิบัติ แล้วจะรู้อะไร? นี่คือวิกฤต!!
สัจจญาณ เมื่อมีความมั่นคงแล้ว ไม่มีเราใช่ไหม? แล้วอะไรปฏิบัติ? ต้องรู้ตั้งแต่ "ขั้นฟัง" ว่าไม่มีเรา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา แต่เป็น "ธรรมะที่เป็นฝ่ายกุศล" เช่น "สติพร้อมกับปัญญา" ที่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฟังจนกระทั่งไม่สงสัย ใน "เห็น" ใน "ได้ยิน" ที่กำลังปรากฏในขณะนี้!!
เพราะฉะนั้น "สภาพธรรมที่ปฏิปัตติ" (ที่ปฏิบัติ-ในภาษาไทย) ต้องเกิดจาก "ความเข้าใจขั้นปริยัติ" เพราะฉะนั้น จะได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ และสติ ถ้าเป็น "สติ" คือ "สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล" ที่มานั่งนี้ เพราะสติรู้ว่า "ถ้าฟังแล้วจะได้เข้าใจสิ่งซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เข้าใจขึ้น" เมื่อมีปัญญาในขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ เพียงขั้นต้น รู้เลยว่า หนทางที่จะรู้ความจริงมีหนทางเดียว คือ "ฟัง-เข้าใจ" ต้องเป็น "ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น" จึงจะเป็นปัจจัยให้สติอีกระดับหนึ่ง คือสติปัฏฐาน หรือจะใช้คำว่าสติสัมปชัญญะ เพราะประกอบด้วยปัญญา "เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ตามปรกติ" ทีละหนึ่ง โดยไม่ใช่เรา รู้ด้วยว่า "ขณะนั้นเป็นอนัตตา" ไม่ได้หวัง ไม่ได้ต้องการ เพราะรู้ว่า จะไป "ทำสติ" ได้อย่างไร!! และจะไป "ทำปัญญา" ได้อย่างไร!! ในเมื่อ "ไม่มีเหตุที่จะให้เกิด" เกิดไม่ได้!!!
ด้วยเหตุนี้ ต้องมีความมั่นคง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุที่จะให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างมั่นคง ในปริยัติ ปฏิปัตติหรือกิจจญาณเกิดไม่ได้เลย กว่าจะถึงปฏิเวธ เดี๋ยวนี้เกิดดับ ประจักษ์กับปัญญาที่เริ่มเข้าใจ จนละคลายการยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเรา ตามลำดับขั้น กว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล รู้แจ้งอริยสัจจะ ที่มีอยู่ในตำราเรียน แต่เรียนแต่ชื่อ แล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลย นั่นก็คือ วิกฤต ทำอะไรก็ตาม ด้วยความไม่รู้ นำไปสู่ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ก็เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมะ ความเข้าใจคำสอนที่ถูกต้อง จึงเป็นการทะนุบำรุง รักษาพระศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไปได้
คุณสะดวก จันทะเสน ขออภัยท่านอาจารย์อีกครั้ง ขอเล่าเรื่องในเฟซ (บุ๊ค) ให้ฟังได้ไหม
ท่านอาจารย์ เชิญเลยค่ะ
คุณสะดวก จันทะเสน เขาบอกว่าอีแก่นี้มายุ่งอะไรกับพระธรรมวินัย มันรู้อะไร ผมต้องโต้ตอบทันทีเลยว่า ท่านรู้หรือไม่ว่าศาสนาพุทธคืออะไร? ลงเยอะหลายเฟซเลย จะด่าท่านอาจารย์ เป็นแค่คนแก่แล้วจะรู้อะไร พระเขาปฏิบัติ มีสำนักต่างๆ มากมาย
ท่านอาจารย์ ที่จริง ไม่ต้องตอบโต้เลย พระธรรมวินัยที่ได้ฟังนั้นแหละ จะเป็นคำตอบ โดยที่เราไม่ต้องตอบอะไรเลย ใช่ไหม? อย่าง ปฏิบัติคืออะไร? และ ธรรมวินัยคืออะไร? ธรรมรัตนะคืออะไร? เราก็พูด "คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว" นั่นคือคำตอบ แต่ไม่ต้องไปโต้หรือว่า ไปกล่าวอะไร ที่ไม่ทำให้เขาสามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำที่พูดไป สามารถจะรู้ได้ว่า นั่นคือคำตอบ
คุณสะดวก จันทะเสน ที่ตอบก็ไม่ได้ตอบโต้แบบด่าเขา แต่ตั้งคำถามเขาว่า ก่อนจะกล่าววาทะอย่างนั้นไป ท่านรู้หรือไม่ ก็กล่าวด้วยดี
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมะ (เขา) ก็คงจะไม่กล่าวอย่างนั้นเลย ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ผู้กล่าว "เพราะไม่เข้าใจธรรมะ" ขอเชิญคุณจริยาค่ะ
อ.จริยา เจียมวิจิตร กราบเท้าท่านอาจารย์ค่ะ เมื่อกี้ท่านพูดถึงว่าการที่ผู้กล่าวในสื่อต่างๆ ดิฉันคิดว่าเป็นปรกติ เมื่อไหร่ที่คนที่เขามีความเห็นต่าง ก็ย่อมที่จะโต้ตอบ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท่านอาจารย์และ มศพ. (มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา) พยายามเผยแพร่ออกไป เป็นการให้ความรู้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อครู่นี้ ตั้งแต่คำว่า ธรรมะคืออะไร เมื่อไหร่ก็ตามที่การที่ท่านอาจารย์กล่าวคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้คนทั้งหลายได้รับรู้รับทราบ เมื่อไหร่ที่ไม่ถูกกับใจของใครๆ ก็คงจะต้องมีการโต้ตอบ
เพราะฉะนั้น กุศลกับอกุศลก็มักจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ดิฉันคิดว่า เมื่อไหร่ที่มีใครเขากล่าว (อย่างนั้น) ดิฉันคิดว่า การโต้ตอบไม่ได้มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าเป็นเพื่อนฝูง เราก็จะให้ความรู้ อย่างที่คุณสะดวกท่านให้ความรู้ แต่การที่จะไปโต้ตอบ ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่า ไม่ว่าเราจะโต้ตอบอย่างไร ถ้าความคิดของเขายังเห็นผิดอยู่ เขาก็เห็นว่าผิด คำหนึ่งที่คุณสะดวกพูดขึ้นมาก็คือว่า มีหน้าที่อะไรที่จะมาพูดเรื่องคำเหล่านี้ (พระธรรมวินัย) จริงๆ แล้ว คนที่เรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ย่อมต้องตระหนักในหน้าที่ของตนเองว่า มีหน้าที่ที่จะให้ความรู้ที่ถูกต้อง
โดยเฉพาะ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ท่านให้ความรู้มากว่า ๖๐ ปี แล้ว และความรู้ที่ท่านให้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ท่านกล่าวเอง ท่านกล่าวเสมอ ถ้าใครติดตามฟังเทปมาตั้งแต่สมัยที่ท่านบรรยายที่วัดบวรฯ ท่านจะบอกว่า ท่านเป็นเพียงผู้อ่านสาส์นของพระราชา เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟัง พิจารณา ไตร่ตรอง ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย เมื่อไม่เห็นด้วย ก็ถามไถ่มา เมื่อถามไถ่มา ด้วยความที่ท่านอาจารย์มีเมตตาอย่างยิ่ง ท่านก็จะค่อยๆ อธิบาย แต่ถ้าท่านผู้ใดท่านกล่าวหา ก็ปล่อยท่านเถอะค่ะ เราชี้เแจงให้กับคนที่ประสงค์จะรู้ ทราบ เพราะการที่เราไปโต้ตอบ สำหรับดิฉัน คิดว่าเสียเวลาเปล่า เวลาของเราทุกคนที่มีน้อย ควรเผยแพร่พระธรรมที่ถูกต้อง ให้กับคนทั้งหลาย ได้ยินได้ฟังดีกว่า
อ.คำปั่น ไม่ทราบว่า ได้ฟังมาตั้งแต่ต้น พอเห็นหรือยังว่า อะไรคือต้นตอของสิ่งที่นำมาซึ่งความวิกฤต ความเสื่อมอย่างหนักที่เกิดขึ้น เป็นไป พอที่จะเห็นไหม? ว่าคืออะไร? ที่เป็นต้นตอจริงๆ ของความเสื่อมอย่างหนักที่เกิดขึ้น เป็นไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติที่ผิด หรือว่า มีแต่พิธีกรรมที่ไม่ได้สอน ไม่ได้แสดงธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขอเชิญอาจารย์อรรณพครับ
ผศ.อรรณพ จะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร? จะเป็นชาวพุทธได้แค่เพียงเกิดมาแล้ว ทะเบียนบ้านบอกว่าเป็นชาวพุทธ หรือจะเป็นชาวพุทธโดยที่เราเชื่อคำของบุคคลต่างๆ ตามๆ กันมา? โดยที่ไม่เคยได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ แล้วก็ไม่ได้สอบทาน เขาบอกว่าอย่างนี้คือพุทธศาสนา เราก็ทำ เขาบอกว่าต้องไปปฏิบัติธรรม อย่างที่คุณสะดวกได้มายกตัวอย่าง ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจน แต่ลองคิดดูว่า ผู้ที่ใช้ชื่อว่าชาวพุทธ ไม่รู้จักเพียงคำว่าธรรมคืออะไร วิกฤตไหม? ตราบใดที่ยังคิดว่าธรรมะก็คือธรรมชาติ ต้นไม้ ป่าเขา อะไรอย่างนี้อยู่ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องตรัสรู้ ใครๆ ก็รู้!! ธรรมชาติคือต้นไม้ ป่าเขา ห้อง ถ้าอย่างนี้ทุกคนก็รู้อยู่แล้ว แล้วพระพุทธเจ้าจะสอนอย่างนี้หรือ? พื้นๆ อย่างนี้หรือ?
เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มเข้าใจ ความเข้าใจจะทิ้งในสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ แล้วก็รับเอาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสาระนั้น เราจะคิดเองไม่ได้เลย ใครจะคิดธรรมะกันเอง แม้จะเอาคำหรือข้อความในพระไตรปิฎกไป แล้วก็อาจจะตั้งมาเป็นลัทธิ เป็นสำนัก ตรงตามความเป็นจริงไหม? ไม่ใช่ว่าเราบอกว่า พระพุทธเจ้า เราต้องเชื่อ ถ้ามีใครสักคน อย่างเยาวชนรุ่นใหม่ เราบอกว่าให้เชื่อคนนี้ โดยที่เขาไม่รู้ว่าคนนี้คือใคร สอนอะไร เขาจะเชื่อไหม? แต่บางคนบอก เชื่อเลย
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าตอนนี้เราเพียงแต่บอกว่าทุกคนนับถือพระพุทธเจ้า ศาสดาเดียวกันก็ใช้ได้ ไม่ใช่ ต้องรู้ว่าพระองค์ทรงแสดงสิ่งที่เป็นจริง ที่ลึกเกินกว่าวิสัยมนุษย์ทั่วไปจะคิดกันได้ ถ้ายังคิดว่าธรรมะคือธรรมชาติ อะไรอย่างนี้อยู่ ก็ไม่ใช่ ก็ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่คน แต่เป็นตัวแท้ ตัวจริงของสภาพธรรมะนั้น นี่ต้องเริ่ม
และถ้าไม่เข้าใจพระวินัย ซึ่งเป็นความละเอียดอย่างยิ่ง ของการขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ถ้าผู้ที่จะบวช ไม่เข้าใจธรรมะเลย ว่าขณะนี้คือธรรมะ และไม่เห็นความละเอียดของสิกขาบทหรือศีลของพระภิกษุเลย พอเข้าไปอยู่ในเพศบรรพชิต ก็เป็นไปตามความไม่รู้และอำนาจของกิเลส ก็เลยคิดว่า ต้องใช้เงิน ก็คนอื่นเขาก็ต้องใช้เงิน แล้วบวชนี่ไม่ต้องใช้เงินแล้วจะทำอย่างไร จะเดินทางอย่างไร ค่าน้ำ ค่าไฟ อะไรอย่างไร ยุคนี้สมัยนี้ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ที่จะไม่รับเงินรับทอง ต้องรับเงินรับทอง
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว มีการสนทนาที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร ก็มีท่านหนึ่ง ท่านมาให้ความคิดที่พอจะเข้าใจได้ว่า ในยุคสมัยพุทธกาลหรือยุคก่อนๆ นั้น ภิกษุท่านอยู่ด้วยความมักน้อยสันโดษจริงๆ ภิกษุในธรรมวินัย แม้ผ้าที่จะครองเป็นผ้ากาสาวะ ซึ่งแปลว่าผ้าย้อมน้ำฝาด ก็เก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาย้อมน้ำฝาด เพื่อให้มีความสะอาดพอสมควร แล้วก็เอาชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาเย็บ โดยขึงที่ไม้ที่เรียกว่า กฐิน เป็นความละคลายของผู้ที่เป็นเพศภิกษุอย่างมาก ส่วนเราต้องไปซื้อเสื้อผ้า ปุๆ ปะๆ เราก็ไม่ได้ นอกจากวัยรุ่นเขาต้องการให้ปุปะ ขาด เพื่อศิลปะ อันนั้นอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนภิกษุ นี่คือการดำรงตนของภิกษุ บิณฑบาตไป ก็คือ ไม่ได้เจาะจงและไม่ได้เป็นการที่จะไปรับในสิ่งที่ตนเองต้องการเงินทอง ใช่ไหม?
เพราะฉะนั้น บาตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ เป็นอัฐบริขาร ควรที่จะรับก้อนข้าวของประชาชนชาวพุทธ อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธา และของที่สมควร ไม่ใช่เป็นที่ใส่เงินทอง เดี๋ยวนี้เขาบอกว่าต้องใช้เงินทอง ซึ่งสมัยก่อนกับสมัยนี้ เดี๋ยวนี้ความสะดวกสบายของสถานที่ที่เป็นวัด อาราม กุฏิ ก็มีอยู่มากกว่าแต่ก่อน สมัยก่อนท่านอาจจะต้องอยู่ป่า ถ้าชาวพุทธไม่รู้จักว่าธรรมะคืออะไร ไม่รู้จักพระวินัย ก็จะมีอยู่สอง หนึ่งบวช สอง ไม่ได้บวช คือ บวชก็เป็นภิกษุ ไม่บวชก็เป็นอุบาสก อุบาสิกา แต่ถ้าไม่รู้แล้วไปบวช จะเป็นอย่างไร? ก็จะต้องไปละเมิดพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นความจริงที่สุด เมื่อเป็นความจริงก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าสิ่งนั้นเป็นจริงแล้ว แล้วพระวินัยก็ไม่รู้ พระธรรมก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น ทั้งผู้ที่บวชและผู้ที่ไม่บวช ก็ร่วมกันกระทำในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย จนกลายเป็นความเคยชิน แล้วเป็น "พุทธศาสนาแบบคิดกันเอง" ตามกันเอง เราต้องแยก ประเพณีในท้องถิ่นต่างๆ เป็นประเพณีคือเป็นของชนชาติ คนไทยเราก็คุ้นเคยกับวัฒนธรรม ประเพณี แต่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เราต้องแยกกัน ไม่ใช่ว่าเราไปคัดค้าน ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ก็สวยงาม อย่างเช่นภาคเหนือ จังหวัดน่านก็มีการรักษาศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม อะไรต่ออะไรที่สวยงาม แต่คนละเรื่อง อันนั้นก็ส่วนหนึ่งที่เราต้องรักษาไว้ในความเป็นศิลปะของชาติ
แต่ความเข้าใจพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ศึกษา ก็จบตั้งแต่แรก จุดเริ่มต้นของความวิกฤตคืออะไร? จุดเริ่มต้นของความวิกฤต ก็คือ ผู้ที่ใช้ชื่อว่าชาวพุทธไม่ศึกษา และ ไม่คิดจะศึกษา ก็มีแต่ความคิดความเคยชินไปตามที่เคยคิดเคยทำมา ไม่น้อมใจไปที่จะศึกษาในพระธรรมคำสอน แล้วจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร จึงเกิดวิกฤตต่างๆ มากมาย
เพราะฉะนั้น ถ้ามีอะไรที่เราเห็นว่า เป็นประเด็นที่เรายังไม่เห็นด้วย หรือจะเห็นด้วย หรือจะสนทนา ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะได้เข้าใจ แล้วก็จะเป็นจุดเริ่มของความที่ได้เข้าใจพระธรรมวินัย
คุณจรูญ อินทศร อุปนายกพุทธสมาคมน่าน กราบคารวะทุกท่านครับ นับว่าเป็นบุญของชาวน่าน ที่ท่านและคณะได้อุตส่าห์มาบรรยาย มาสนทนาธรรม ณ จุดนี้ นับว่าเป็นบุญเป็นวาสนา เพราะว่าผมเองก็เคยศึกษา เคยติดตามฟังธรรมะ ฟังการบรรยายอภิธรรมของท่านอาจารย์อยู่บ่อยๆ ก็ขอบอกกับท่านผู้ฟังที่อยู่ในนี้ว่า อันนี้เป็นของจริง ไม่มีอะไรแอบแฝง เคลือบแคลง พูดตรงตามธรรม ตามวินัย
ทีนี้ ปัญหาเมื่อกี้นี้ ท่านวิทยากรได้ถามที่ประชุมว่า ความเสื่อมมาจากอะไร? ก็นึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า สนิมเกิดจากเนื้อในเหล็ก อันนี้แน่นอน ศัตรูภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลัทธิอื่น ศาสนาอื่น จะมาทำลายเราไม่ได้ เพราะว่า พระพุทธเจ้าได้มอบพระศาสนาไว้กับอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี เป็นเจ้าของพระศาสนา ผมเองเคยไปบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุ ก็มีคนสนใจ เขาบอกว่า พูดเรื่องพระวินัยบ้างเถอะ เพราะทุกวันนี้ มันเละแล้ว ผมก็เอาพระวินัยของครูบาอาจารย์สายปฏิบัติไปพูดให้เขาฟัง ก็มีเสียงท้วงมาทางสายว่า ที่นี่ไม่ใช่วัด ด่ามาทางสาย ผมก็คิดว่า เขาคงจะเข้าใจผิด คิดว่าพระวินัยจะพูดกันเฉพาะในวัด ไม่ให้พุทธศาสนิกชน อุบาสก อุบาสิกา รับรู้ เขาจึงพูดคำนี้ออกมา แต่คิดย้อนกลับไปอีกที ก็เขาไม่เข้าใจ เขาไม่รู้ ว่า เราเป็นเจ้าของพระศาสนา
ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราพูดกันตรงๆ เลย ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ทั้งอุบาสก อุบาสิกา และทั้งนักบวช ช่วยกันทำลาย พระธรรมวินัยมีเท่าไหร่ เท่าไหร่ ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติตาม นอกลู่นอกทาง ในจังหวัดน่านเรานี่ก็เยอะ บางที คิดพิธี คิดอะไรขึ้นมาแปลกๆ เพิ่งสักประมาณห้าหกปีมานี้ ตักบาตรกลางคืน เอามาริเริ่ม ผมบอกเลย บอกแม้แต่ตัวนายกเทศมนตรีเอง ผมบอก ไปร่วมกับเขาทำไม ไปเป็นประธานเขาทำไม นั่นเป็นการทำลายพระศาสนานะ
(ท่านก็บอกว่า) ก็ผมไม่รู้จะทำอย่างไร นักการเมือง เขาก็จำเป็นต้องเฮโลสาระพา นี่ชาวพุทธเราเอง เราเห็นว่ามันไม่ถูกมันไม่ควร เราก็ท้วงติงกันสิ แต่เราไม่ใช่ไปด่า ท้วงติงว่า อันนี้มันมีในพระธรรมวินัยไหม? ตักบาตรกลางคืน
แล้วอย่างอื่นอีกมากมาย ไปสืบชะตา เก็บเงินที หัวละห้าร้อยๆ นอกลู่นอกทาง ฟังแล้วรู้สึกว่าสมเพชมาก น่าทุเรศสังเวชใจ แล้วเราทำอย่างไร เราในฐานะชาวพุทธ เราเป็นเจ้าของพระศาสนา ต้องช่วยกัน ทำความเข้าใจ ช่วยกันชี้แจง ผมเคยไปกราบครูบาอาจารย์สายปฏิบัติ ท่านบอก เรารู้ว่าท่านทำผิดวินัย เราทำไมไม่ทักท้วงท่าน อันนี้พระวินัยว่าไว้อย่างนี้ มันผิดไหม? มันขัดไหม? เราในฐานะเจ้าของพระศาสนา ถ้าเราเฉยเมย นิ่งอยู่ ก็เท่ากับว่าเรามีส่วนสนับสนุนให้เขาทำผิดต่อไป แต่ถ้าเราไปท้วงติง ไปชี้แจงเขา ด้วยวาจาสุภาพ ไม่ใช่ไปชี้หน้าด่า บอกว่าอันนี้ขัดนะ ผิดพระวินัยนะ ถ้าท่านไม่ปฏิบัติตาม เราก็ไม่ไปสนับสนุน เราก็ไปชี้แจงพวกญาติโยมพี่น้องของเราให้เข้าใจ อันนี้มันผิดพระวินัย เราอย่าไปส่งเสริมนะ เราอย่าไปสนับสนุน
นี่ก็เป็นการช่วยกันรักษาพระศาสนา แต่ส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องของพระ พระท่านทำ เห็นเหลืองๆ ก็นึกว่าเป็นทองคำหมด ความจริงไม่ใช่ ทองเหลืองก็มี นากก็มี เราไปให้ความเกรงใจกับนักบวชที่ประพฤตินอกลู่นอกทางมากเกินไป
มีพระองค์หนึ่ง ไปนั่งเป็นหมอสู่ขวัญเลย ผมเห็นกับตา ผมบอกว่า ทำได้อย่างไร ผมก็เลยซุบซิบบอก ให้คนอื่นเขาไปซุบซิบว่า ต่อไปอย่าทำนะ มันไม่ถูกเรื่อง ไปนั่งเป็นหมอสู่ขวัญ ตัวเองก็นุ่งเหลืองห่มเหลืองอยู่ นี่คือนอกลู่นอกทาง มีมาก เพราะฉะนั้น ผมขอวิงวอน ขอร้อง พวกเราทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธ เราอย่าไปสนับสนุน อันนี้ไม่ถูก อันนี้นอกธรรม นอกวินัย ไม่ถูก อธิบายเขา อธิบายผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าไปร่วม อย่าไปสนับสนุน อย่าไปใส่บาตร ถ้านอกธรรม นอกวินัย
เพราะฉะนั้น ชาวพุทธทั้งหลายเราต้องช่วยกัน ขณะนี้มันมีวิกฤตมาก วิกฤตจริงๆ วิกฤตทั้งนอกวัด ในวัด แต่เรานอกวัด เรามีส่วนที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ก็มีการสังคายนา และสมัยรัชกาลที่ ๑ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ถ้าทางบ้านเมืองไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่เข้าไปยุ่ง ทางฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา เจ้าของพระศาสนาไม่เข้าไปช่วยกดดัน ก็คงจะเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะยิ่งทรุดลง ทรุดลง ผมขออนุญาตแสดงความเห็นแค่นี้ครับ
อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ ในประเด็นที่คุณจรูญ ได้กล่าวถึงความวิกฤตที่เห็นชัด ปรากฏชัด ในสังคมไทย ซึ่งหลักๆ มาจากความที่ไม่ได้ศึกษาในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้เข้าใจในความเป็นจริงของพระธรรม จึงมีความประพฤติในทางที่ไม่ถูก มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นบรรพชิต รวมไปถึงผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ด้วย ทั้งหมดก็คือ ไม่ได้เข้าใจพระธรรมคำสอน ซึ่งก็มีข้อความในพระไตรปิฎกด้วย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรทั้งหมด มาจากความเป็นผู้ที่ไม่ได้คล้อยตามพระพุทธพจน์ ก็คือ ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจนั่นเอง เพราะฉะนั้น ต้นตอ หรือว่า ต้นเหตุที่สำคัญ ที่นำไปสู่ความวิกฤต ความเสื่อมต่างๆ ก็คือ ความไม่รู้ความจริง หนทางแก้ จึงไม่มีทางอื่นเลย นอกจากศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ศึกษาด้วยความเคารพ เห็นประโยชน์ของพระธรรมแต่ละคำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นรัตนะที่ประเสริฐที่สุด ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจความจริง เมื่อปัญญาเกิดขึ้น เจริญขึ้น ก็จะละทิ้งในสิ่งที่ผิดได้ และน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ตามพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
อ.จริยา เจียมวิจิตร ขออนุญาตแทรกนิดหนึ่งค่ะ คือเราก็พูดกันมาเยอะ พูดถึงว่า พระ พระวินัย ดิฉันเกรงว่าท่านผู้ฟังใหม่ๆ จะไม่ค่อยเข้าใจชัดแจ้ง อยากจะขอความกระจ่างว่า คำว่า "พระ" คือใคร? และ เกียวข้องกับ "พระวินัย" อย่างไร?
อ.คำปั่น ก็เป็นประเด็นสำคัญมากเลยนะครับ ในการศึกษาพระธรรม ชาวพุทธก็ได้ยินคำว่า "พระ" มาจากคำว่า "วร" (วะ-ระ) ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ มีคำว่า "ภิกษุ" ด้วย ก็คือ "พระภิกษุ" ความหมายของ "ภิกษุ" ก็คือ ผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมะ เป็นผู้ที่เห็นทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ ตามความเป็นจริง
และอีกความหมายหนึ่งของภิกษุ ที่พอที่จะเข้าใจได้ ก็คือ ผู้ที่มีความละอายในอกุศล ยิ่งกว่าชีวิตของคฤหัสถ์ ท่านจึงสละชีวิตของคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง ก็คือเพศบรรพชิต ก็คือเพศที่จะต้องศึกษาธรรมะ อบรมปัญญา ขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิต ที่จะต้องมีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงรับเงินและทอง พระภิกษุที่บวชในพระธรรมวินัย ก็จะต้องมีความประพฤติคล้อยตามพระองค์ คือ ไม่รับเงินไม่รับทอง รวมถึง ไม่ยินดีด้วย นี่แสดงถึงชีวิตของพระภิกษุในพระธรรมวินัยจริงๆ ที่มีความเข้าใจธรรมและขัดเกลากิเลสของตนเอง
แล้วพระภิกษุเกี่ยวเนื่องกับพระวินัยอย่างไร? พระวินัยเป็นธรรมะที่เป็นไปเพื่อนำออกซึ่งกิเลส เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส จะเห็นได้ว่า สิกขาบท คือ บทที่จะต้องศึกษาและน้อมประพฤติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ทั้งหมด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่ออยู่ผาสุกของพระภิกษุในพระธรรมวินัย พระภิกษุทุกรูป ทุกยุค ทุกสมัย จะต้องศึกษาและเคารพในพระวินัย ไม่มีการล่วงละเมิดพระวินัยแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต แต่ถ้าภิกษุใดก็ตามที่ไม่ละอาย ที่ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะมีการล่วงละเมิด ผิดพระวินัย ก็เป็นโทษสำหรับภิกษุรูปนั้น กราบท่านอาจารย์ในความละเอียดครับ
ท่านอาจารย์ "ทุกคำ" ต้องละเอียด เห็นพระ ก็คิดว่าเป็นภิกษุ แต่ว่าตามความเป็นจริง ต้องรู้ว่า ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระภิกษุอย่างนี้ ตามพระธรรมวินัยหรือเปล่า? ก็ไม่มี แต่เมื่อมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้ที่ฟังพระธรรม ก็เหมือนอย่างขณะนี้ แต่ว่าอัธยาศัยต่างกัน คือ ผู้ที่เห็นโทษของการที่จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ สะดวก สบาย ทุกอย่าง จะร้องเพลง จะรับประทานอาหาร จะทำอะไร ได้หมด มีวงศาคณาญาติ มีเพื่อฝูง มิตรสหาย กับการที่จะ สละเพศคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิต ตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจากไหน? มาจากการได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย จะเป็นภิกษุไหม? ก็เป็นไม่ได้ ใช่ไหม? เพราะเหตุว่า ภิกษุคือ "ผู้ที่เห็นภัย" เพราะ "รู้ภัย" ว่า "ภัย" คือเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้ ใครเห็นบ้างว่าเป็นภัย ไม่มีทางที่จะเห็นได้เลย จนกว่าจะมีความเข้าใจละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ฟัง หลากหลายอัธยาศัย ในครั้งพุทธกาล เหมือนเดี๋ยวนี้ไหม? ไม่ว่าในกาลไหน การฟังสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แต่ละคน เข้าใจกันคนละระดับ หรืออาจะเข้าใจผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฟังด้วยดี ด้วยการที่จะเข้าใจจริงๆ ถ่องแท้ ในแต่ละคำ เช่น "ภิกษุ" ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรม ก็ไม่มีภิกษุในพระธรรมวินัย แต่ฟังแล้ว ปัญญาที่เริ่มเข้าใจความจริงว่า สามารถที่จะสละเพศคฤหัสถ์ รู้ตนเอง ไม่ใช่ให้ใครมาบอกว่า ให้บวชให้เต็มจำนวน ร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่เป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง เห็นว่าสามารถที่จะดำเนินรอยตามพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยสละเพศคฤหัสถ์ คำว่า "สละเพศคฤหัสถ์" หมายความว่า ผู้นั้น จะทำอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้อีกต่อไป เช่น หุงหาอาหารก็ไม่ได้ หัวเราะเล่นก็ไม่ได้ ร้องเพลงก็ไม่ได้ นี่คือ ผู้ที่จะประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะรู้ตนเองว่าจะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ต้องขออุปสมบท ไม่ใช่ไปบวชได้ตามใจชอบ
ใครที่นึกอยากจะบวชก็ไปเอาผ้ากาสาวพัสตร์มาใส่ ไม่ได้เลย แต่ว่า ผู้นั้นจะต้องรู้ว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่สูงยิ่ง ไม่ใช่ว่า ใครนึกอยากจะบวชก็บวช แต่ต้องได้รับอนุญาตจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยทุกข้อ ด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้น แต่ละคำ แม้พระวินัย ก็เกิดจากพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่รู้โทษ ซึ่งคนอื่นไม่รู้ ว่าโทษแม้เพียงเล็กน้อย ที่ชาวโลกเห็นว่าเล็กน้อย แท้ที่จริง นำมาซึ่งโทษใหญ่ในภายหลัง ประมาทไม่ได้เลย!!!
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ได้ฟังธรรมะ ก็รู้อัธยาศัยที่ต่างกัน เมื่อมีผู้ที่ขอบวชเป็นพระภิกษุ คนที่เป็นคฤหัสถ์ กราบไหว้ในอุปนิสัยที่สามารถ "สละเพศคฤหัสถ์" เพราะเหตุว่า ตนเองทำไม่ได้!! แต่พระภิกษุทำได้ แต่ต้องเป็น "ภิกษุในธรรมวินัย" ไม่ใช่ว่า ไม่ฟังพระธรรม ไม่รู้จักพระธรรม แล้วบวช เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ ไม่รู้จะทำอะไรก็บวช ใช่ไหม? บางคนป่วยไข้ได้เจ็บ อยากหายโรค ก็บวช บางคนสารพัดเหตุ ไม่มีอะไรเลย ก็บวช แต่ว่าไม่ได้เข้าใจธรรมะ!!! เพราะฉะนั้น เป็นการบวช สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยหรือเปล่า?
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องรู้จักจริงๆ ว่าภิกษุคือใคร? เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ควรอย่างยิ่ง ที่จะได้เข้าใจ "ความต่าง" ของเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต มิฉะนั้นแล้ว ก็จะคิดว่า ผู้ที่ใส่ผ้าต่างจากคฤหัสถ์ ที่ใช้คำว่า ครองจีวร เข้าใจธรรมะ!! รู้ธรรมะ!! แต่รู้ไหมว่า บวชเพราะอะไร? เพราะฉะนั้น ลองถามแต่ละท่านที่จะบวชว่า บวชเพราะอะไร? ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ สมควรไหม? ที่จะบวช? หรือว่าการบวชง่ายมาก ไม่ต้องเข้าใจธรรมะก็บวชได้ และบวชแล้วทำอะไร? ไม่ได้ทำอย่างที่เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะว่า ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่มีกิจของคฤหัสถ์อีกต่อไป ตั้งแต่ตื่นจนหลับ กระทำกิจของภิกษุ ๒ อย่าง คือ "คันถธุระ" หมายความถึง ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพราะได้ฟังแล้ว รู้ว่าไม่พอ เท่านั้นไม่พอ ยังจะต้องเข้าใจอีกมาก เพื่ออะไร? เพื่อปัญญาจะถึงการประจักษ์แจ้งความจริง ตามที่ได้ฟัง ทุกคำ
เช่น เดี๋ยวนี้ เราพูดว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นเกิด ต้องมีการ "ประจักษ์" การเกิดขึ้น!! สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิด สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา "ปัญญา" ต้องถึง การประจักษ์แจ้ง การเกิดดับ นี่คือจุดประสงค์ของการบวช ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างคฤหัสถ์ แล้วก็ฟังธรรมะ เพราะว่า คฤหัสถ์ที่สะสมการเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ฟังธรรมตามโอกาส อย่างบางท่านตั้งแต่เช้า บ่าย เย็น ค่ำ คฤหัสถ์สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่บวช เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ดับกิเลสเพิ่มขึ้น เป็นพระอนาคามี ละคลายความยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บรรลุความเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ เมื่อนั้น ไม่เป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ เห็นศรัทธามั่นคงที่จะขัดเกลากิเลส ที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีอะไรจะขัดเกลากิเลสได้เลย แต่ต้อง "ความเข้าใจ" ต่างหาก ความเข้าใจนั้นแหละทำกิจของความเข้าใจ ไม่มีเรา แต่ว่า เป็นปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่ขั้นปริยัติ จนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้ สติสัมปชัญญะ อีกระดับหนึ่งเกิดขึ้น จึงชื่อว่า "ปฏิปัตติ" จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้น พระธรรม สำหรับพุทธบริษัท ที่ไม่ได้มอบหมายว่า เฉพาะภิกษุ คฤหัสถ์ไม่ควรที่จะศึกษา ถ้าอย่างนั้นจะเป็นพุทธบริษัทได้อย่างไร เพราะเหตุว่า พุทธบริษัทสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ จึงเป็นคฤหัสถ์ต่อไปไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ลองคิด!! เพศบรรพชิตคือภิกษุ เป็นเพศของพระอรหันต์ ใช่ไหม? ซึ่งก่อนนั้น สามารถจะขัดเกลากิเลส ดับกิเลส จนถึงความเป็นพระอนาคามี โดยไม่ต้องบวชได้ ท่านจิตคฤหบดี ในครั้งพุทธกาล เป็นต้น ท่านอนาถบิณฑิก ทุกคนคงได้ยินบ่อยๆ ผู้เลิศในทางให้ทาน หรือแม้ หมอชีวกโกมารภัจจ์ ก็เป็นคฤหัสถ์และเป็นพระโสดาบัน รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะ "รู้ประมาณ" ว่าท่านสามารถจะมีชีวิตที่ขัดเกลากิเลส ในเพศคฤหัสถ์ แล้วก็ทำกิจของคฤหัสถ์ที่จะดำรงพระศาสนา โดยการที่เข้าใจพระธรรมวินัย
ในครั้งโน้น เวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทุกรูป ไม่เว้นเลย ต้องประพฤติปฏิบัติตามที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ ภิกษุใดไม่ประพฤติปฏิบัติตาม คฤหัสถ์เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก เพ่งโทษคือให้รู้ว่านั่นเป็นโทษ ติเตียนคือให้รู้ว่าภิกษุทำไม่ได้ โพนทะนาคือกระจายข่าวให้รู้ทั่วกัน
พระธรรม ยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง ถ้าไม่มีการเข้าใจว่าภิกษุคือใคร จะรู้ไหมว่านั่นเป็นภิกษุ หรือไม่ใช่ภิกษุ? เพราะฉะนั้น บวชเพื่อคันถธุระ ศึกษาพระธรรม ขัดเกลากิเลส โดยความเข้าใจนั้นต่างหากที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลส ตามระดับขั้นของปัญญา มิฉะนั้น ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย!!
เพราะฉะนั้น ใครที่จะบวช ต้องถาม บวชทำไม? จะบวชกันหรือเปล่า? ที่บวชมาแล้ว บวชกันเยอะเลยใช่ไหม? แต่ ถามว่า ทำไมบวช? คำตอบ? ยังไม่ได้เข้าใจธรรมะเลย คิดว่าบวชแล้วจะเข้าใจหรือ? แต่บวชแล้วกี่วันก็ตามแต่ ก็ไม่รู้ว่า ธรรมะคืออะไร ปริยัติคืออะไร ปฏิบัติคืออะไร ปฏิเวธคืออะไร สัจจญาณคืออะไร กิจจญาณคืออะไร กตญาณคืออะไร จึงมีสำนักปฏิบัติเพราะผู้ไม่รู้ ว่าธรรมดา ไม่ใช่ตัวตน จะไปสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ ปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมะตามลำดับ ต่างหาก ที่สามารถที่จะเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตา เพราะว่าธรรมะทุกอย่าง ไม่มีใครสามารถไปทำให้เกิดขึ้นได้เลย จะไปสำนักปฏิบัติ ทำได้หรือ? ทำเห็นเดี๋ยวนี้สิ ทำได้ยินเดี๋ยวนี้สิ ถ้าทำไม่ได้ แล้วจะไปทำสติปัญญาให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ชาวพุทธต้องเป็นผู้ที่ ไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็ซักถาม สนทนา เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้ในครั้งพุทธกาล พระอรหันต์ทั้งหลายท่านยังสนทนาธรรม เพราะท่านไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธจะต้องตระหนักว่า ถ้าเป็นชาวพุทธโดยไม่รู้จักพระพุทธศาสนา โดยไม่รู้จักพระรัตนตรัย เพราะว่าภิกษุที่บวชแล้วไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่สังฆรัตนะ แต่ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ที่อบรมปัญญา จนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคล ต่างหาก ที่เป็นสังฆรัตนะ!!!
เพราะฉะนั้น ก็มี "ภิกษุบุคคล" แล้วก็มี "สงฆ์" หมายความถึง "หมู่ของภิกษุ" ถ้าเป็น ภิกษุบุคคลทำผิด สงฆ์ไม่ได้ทำผิด แต่ภิกษุนั้น เฉพาะคนนั้น กระทำผิดพระวินัย โทษเป็นของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุทุกรูปต้องศึกษาธรรมะ และเข้าใจพระวินัย เพราะว่า พระวินัยขัดเกลากิเลส ซึ่งต่างกับการขัดเกลากิเลสของเพศคฤหัสถ์ ซึ่งคฤหัสถ์ก็ขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ โดยปัญญาที่เข้าใจพระธรรมตามลำดับ เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เรื่องของอัธยาศัยที่สะสมมา "ต่างกัน" เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบวชต้องจริงใจ แล้วก็ มีความเคารพในพระรัตนตรัย ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่อยากบวชก็บวช!! แล้วก็เพราะเหตุอื่นทั้งนั้นเลยที่บวช บางคนก็ไม่มีงานทำ ออกจากงานก็บวช ย่ำยีพระพุทธศาสนา เห็นว่าใครก็บวชได้ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา รู้คุณของพระรัตนตรัย แล้วก็สามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต โดยประพฤติตามสิกขาบททุกข้อ สิกขาบทที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเล็กๆ น้อยๆ ภิกษุที่มีศรัทธาในพระรัตนตรัยเห็นว่าเป็นโทษใหญ่ มีการสำนึกว่า เราได้ล่วงสิกขาบท คือทำผิดพระวินัย เพราะฉะนั้น จะต้องสำนึกผิด ปลงอาบัติ หมายความว่า กระทำคืน ให้รู้ว่าได้กระทำผิดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องกลับเข้ามาสู่ความเป็นภิกษุร่วมกับภิกษุอื่นๆ ได้ โดยต้องปลงอาบัติตามพระวินัยก่อน ไม่ใช่ว่านึกอยากจะทำอะไรก็ได้ บางท่านไม่เข้าใจก็บอกว่า เงินทองรับมาได้ แล้วก็ให้คนอื่น ไม่เข้าใจเลย แม้แต่รับ ขณะนั้นมีจิตยินดีหรือเปล่า? เป็นคฤหัสถ์หรือว่าเป็นพระภิกษุ?
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ จะดำรงพระพุทธศาสนาได้ ก็ต่อเมื่อ มีความเข้าใจพระธรรมและพระวินัย ซึ่งขณะนี้ เริ่มรู้หรือยัง? ว่าเข้าใจหรือเปล่า? เข้าใจมากน้อยแค่ไหน? จะดำรงพระศาสนากันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ไม่รู้จักพระศาสนา แล้วจะดำรงพระศาสนาได้อย่างไร? ที่จะดำรงพระศาสนาได้ ไม่ใช่วัดวาอาราม ไม่ใช่อิฐ หิน ปูน ทราย ไม่ใช่ประเพณีต่างๆ แต่ว่า ต้องเป็นความเข้าใจพระธรรม เท่านั้น จึงสามารถที่จะดำรงพระศาสนาไว้ได้ เพราะว่า "ศาสนา" คือ "คำสอน" พุทธะคือผู้ที่ทรงตรัสรู้ จะดำรงคำสอน ซึ่งพระองค์ได้ประทานให้พุทธบริษัท ก็ต่อเมื่อ พุทธบริษัทได้เข้าใจคำสอนนั้น จึงสามารถที่จะดำรงไว้ได้!!!
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
.........
ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมในครั้งนี้ทั้งหมด ได้ที่นี่...
แก้วแหวนเงินทองใดๆ ก็ไม่มีค่าเท่ากับพระปัญญาคุณ ซึ่งทำให้พระองค์บริสุทธิ์จากความไม่รู้ทั้งหมด ดับกิเลสได้ และมีพระมหากรุณาที่จะอนุเคราะห์ให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย ถ้าไม่ทรงมีพระมหากรุณา แต่ละคนจะไม่ได้ยินคำที่ตรัสเลย แม้แต่คำเดียว แล้วก็จะเห็นความลึกซึ้งจริงๆ ว่า ถ้าไม่มีการได้ฟัง ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงใดๆ ได้ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ