สุคตสูตร ... พระสูตรสนทนาออนไลน์ วันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๔

 
มศพ.
วันที่  17 ม.ค. 2564
หมายเลข  33591
อ่าน  1,000

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

พระสูตรที่จะนำมาสนทนาออนไลน์

วันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๔

คือ

สุคตสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒- หน้าที่ ๓๘๑


[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒- หน้าที่ ๓๘๑

สุคตสูตร

(ว่าด้วยแบบแผนคำสอนของพระสุคต)

[๑๖๐] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระสุคตก็ดี วินัยพระสุคตก็ดี ยังประดิษฐานอยู่ในโลก อันนั้น เป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อความสุขของคนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เป็นความเจริญ เป็นผลดี เป็นความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ก็พระสุคตเป็นไฉน? คือ ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ (อรหํ) เป็น พระอรหันต์ (สมฺมาสมฺพุทฺโธ) เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ (วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (สุคโต) เป็นผู้ไปดี (โลกวิทู) เป็นผู้รู้แจ้งโลก (อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ) เป็นสารถีฝึกบุรุษไม่มีใครยิ่งกว่า (สตฺถา เทวมนุสฺสานํ) เป็นผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (พุทฺโธ) เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว (ภควา) เป็นผู้จำแนกธรรม นี้คือ พระสุคต

วินัยพระสุคตเป็นไฉน? คือ พระสุคตนั้น แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง ธรรมที่พระสุคตแสดง พรหมจรรย์ที่พระสุคตประกาศ นี้ คือ วินัยพระสุคต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระสุคต ก็ดี วินัยพระสุคต ก็ดี นี้ ยังประดิษฐานอยู่ในโลก อันนั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนมาก เพื่อความสุขของคนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เป็นความเจริญ เป็นผลดี เป็นความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุทั้งหลาย ในพระธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาผิด ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้ผิด เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ใช้ผิด ย่อมมีนัยอันผิดไปด้วย นี้ ธรรมประการที่ ๑ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมอันทำความว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเบื้องขวา นี้ธรรมประการที่ ๒ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุเหล่านั้น ไม่เอาใจใส่บอกสอนแก่ผู้อื่น เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงไป สูตรก็ขาดผู้เป็นมูล (อาจารย์) ไม่มีที่อาศัยสืบไป นี้ธรรมประการที่ ๓ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ใหญ่ๆ เป็นผู้สะสมบริขาร ปฏิบัติย่อหย่อน มุ่งไปในการดำเนินสู่ทางต่ำ ทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง ปัจฉิมชนตา (ประชุมชนผู้เกิดภายหลัง) ได้เยี่ยงอย่างภิกษุผู้ใหญ่เหล่านั้น ก็พลอยเป็นผู้สะสมบริขาร ปฏิบัติย่อหย่อน มุ่งไปในการดำเนินสู่ทางต่ำ ทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้งไปตามกัน นี้ธรรมประการที่ ๔ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธานไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แลธรรม ๔ ประการ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลอะเลือนอันตรธาน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุทั้งหลาย ในพระธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาด้วยบทพยัญชนะที่ใช้ถูกต้อง เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่ใช้ถูกต้อง ย่อมมีนัยอันถูกต้องเช่นกัน นี้ธรรมประการที่ ๑ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมอันทำความว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเบื้องขวา นี้ธรรมประการที่ ๒ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเหล่าใด เป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุเหล่านั้นเอาใจใส่บอกสอนสูตรแก่ผู้อื่น เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงไป สูตรก็ไม่ขาดมูล (อาจารย์) มีที่อาศัยสืบกันไป นี้ธรรมประการที่ ๓ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ใหญ่ๆ ไม่เป็นผู้สะสมบริขาร ไม่ปฏิบัติย่อหย่อน เป็นผู้ทอดธุระในการดำเนินสู่ทางต่ำ มุ่งหน้าไปทางปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลัง ได้เยี่ยงอย่างภิกษุผู้ใหญ่เหล่านั้นก็พากันเป็นผู้ไม่สะสมบริขาร ไม่ปฏิบัติย่อหย่อน เป็นผู้ทอดธุระในการดำเนินสู่ทางต่ำ มุ่งหน้าไปทางปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้งไปตามกัน นี้ธรรมประการที่ ๔ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แลธรรม ๔ ประการ เป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ ไม่เลอะเลือนอันตรธานไป

จบสุคตสูตรที่ ๑๐



อรรถกถาสุคตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสุคตสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ทุคฺคหิตํ ได้แก่ ถือกันมานอกลำดับ

บทว่า ปริยาปุณนฺติ ได้แก่ ถ่ายทอดมา คือ กล่าว ก็ในบทว่า ปทพฺยญฺชเนหิ นี้ ท่านกล่าวว่า บทของความนั่นแหละเป็นพยัญชนะ โดยพยัญชนะ

บทว่า ทุนฺนิกฺขิตฺตสฺส ได้แก่ ใช้ผิด คือ ตั้งไว้นอกลำดับ

บทว่า อตฺโถปิ ทุนฺนโย โหติ ได้แก่ ไม่อาจจะนำอรรถกถาอออกมากล่าวได้

บทว่า ฉินฺนมูลโก ได้แก่ ชื่อว่า ฉินฺนมูลก เพราะขาดภิกษุผู้เป็นมูล (อาจารย์)

บทว่า อปฺปฏิสรโณ คือ ไม่มีที่พึ่ง

บทว่า พาหุลฺลิกา ได้แก่ ปฏิบัติเพื่อสะสมปัจจัย

บทว่า สาถลิกา ได้แก่ ถือไตรสิกขาย่อหย่อน

บทว่า โอกฺกมเน ปุพฺพงฺคมา ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ท่านเรียกว่า โอกกมนะ เพราะเดินลงต่ำ (เสื่อม) อธิบายว่า มุ่งไปในโอกกมนะนั้น

บทว่า ปวิเวเก ได้แก่วิเวก ๓

บทว่า นิกฺขิตฺตธุรา ได้แก่ ไม่มีความเพียร

พึงทราบความในที่ทั้งปวงในสูตรนี้

จบอรรถกถาสุคตสูตรที่ ๑๐


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 17 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

สุคตสูตร

(ว่าด้วยแบบแผนคำสอนของพระสุคต)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า พระสุคต คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ วินัยพระสุคต คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นไปเพื่อความสุข แก่ชนหมู่มาก เพื่อความอนุเคราะห์โลก เพื่อความเจริญ เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระองค์ทรงแสดงว่า ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นเหตุให้พระสัทธรรม เลอะเลือนอันตรธาน ได้แก่

๑. เล่าเรียนธรรมด้วยบทพยัญชนะที่ใช้ผิด ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

๒. เป็นผู้ว่ายาก ไม่น้อมรับคำพร่ำสอนด้วยความเคารพ

๓. ผู้เข้าใจธรรม ไม่สนใจที่จะบอกสอนแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นละจากโลกนี้ไป ย่อมขาดผู้เป็นอาจารย์ ไม่มีที่อาศัยสืบไป

๔. ภิกษุผู้ใหญ่ ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย สะสมบริขาร ไม่สนใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ประชุมชนในภายหลังก็ถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง พลอยเป็นผู้ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย สะสมบริขาร ไม่สนใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ไปด้วย

และ ธรรม ๔ ประการ ซึ่งเป็นเหตุให้พระสัทธรรม ตั้งมั่น ไม่เลอะเลือน ได้แก่

๑. เล่าเรียนธรรม ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้ถูก ซึ่งจะมีเนื้อความที่ถูกต้อง มีความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่คลาดเคลื่อน

๒. เป็นผู้ว่าง่าย น้อมรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ

๓. ผู้เข้าใจธรรม เอาใจใส่ในการบอกสอนธรรม ซึ่งจะมีผู้สืบต่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ต่อไปอีก

๔. ภิกษุผู้ใหญ่ ไม่ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ไม่สะสมบริขาร มีความสนใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ประชุมชนในภายหลังก็ถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง พลอยเป็นผู้ไม่ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ไม่สะสมบริขาร และมีความสนใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ไปด้วย

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

สัทธรรม

สัทธรรมมีความหมายหลายนัย

พระสัทธรรม ๓ อย่าง [มหาวิภังค์]

องค์ประกอบของการฟังธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา

ผู้ทำให้พระสัทธรรมเสื่อมและมั่นคง

ฟังด้วยความเคารพ

เถระปลอม

การเป็นผู้ว่าง่ายคืออะไรและทำอย่างไรครับ

สมชื่อว่าชาวพุทธ

จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร

กล้าหรือไม่ที่จะฟังคำจริง

หน้าที่ของพุทธบริษัท

พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย

ภิกษุคือใคร

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pulit
วันที่ 19 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 22 ม.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 22 ม.ค. 2564

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ