วิชาให้มีสติ อาจารย์ได้มาโดยวิธีการอย่างไร

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43705
อ่าน  266

ผู้ฟัง. ขอทราบข้อสงสัยดังนี้ วิชาให้มีสติ เป็นวิชาพิเศษขนาดยาวพิสดารชอบกล นับว่าประหลาดที่สุดของอาจารย์ ใครก็ตามฟังเข้าใจแล้ว เป็นได้ทั้งหลักวิชาและหลักปฏิบัติในชีวิตประจำของแต่ละคนได้ดีมาก หากรู้จักใช้ ประโยชน์อย่างยิ่ง และสำคัญที่สุดถ้ามีสติเฉพาะจวนจะตาย ดีแน่

คำว่า สติ คงเป็นชื่อจำง่ายไม่ต้องท่อง มีการงานรู้สึกตัวเป็นลักษณะรู้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอ อาจารย์ผู้ให้วิทยาทานนี้ เตือนให้เจริญสติเนืองๆ ยังจำกัดความหมายไว้อีกว่า การเจริญสติไม่มีแบบฉบับ ทำให้กันดูไม่ได้ ถ้ามีแบบฉบับก็ไม่เรียกว่าเจริญสติ ทั้งเน้นชัดอีกว่าสติจะเกิดขึ้นเองก็ไม่ได้ ต้องอาศัยทวารทั้ง ๖ เป็นเหตุเป็นปัจจัย จะสร้างหรือบังคับให้สติเกิดก็ไม่ได้ ยังห้ามไม่ให้เจาะจงจดจ้อง นึกคิดเอาตามใจชอบให้ผิดปกติ

พอมาถึงตรงนี้ก็กล่าวว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างรวดเร็ว คงมีความหมายว่า สติของคนทุกคนเกิดดับอยู่แล้ว เจ้าของสติไม่รู้ ผู้มีความสังเกตจะทราบได้เมื่อสติเกิดขึ้นขณะใด ลักษณะของนามรูปก็ปรากฏแล้วพิจารณาให้รู้ นามใดรูปใดเกิดจากทวารไหนให้ชัดว่า นามนั้นรูปนั้นมีลักษณะอย่างไร ถ้ารู้อย่างนี้ปัญญาก็จะเกิดทีละขั้นๆ เมื่อสติเจริญมากเข้าๆ ปัญญาก็สมบูรณ์ การละคลายตัวตนที่ยึดมั่นถือมั่นก็จะหมดไป จำได้เพียงเท่านี้จะผิดหรือจะถูกยังไม่แน่เหมือนกัน ใคร่ทราบว่าการเจริญสติที่ว่าไม่มีแบบฉบับนั้น ขอคำอธิบายให้ชัดเจนว่า อาจารย์ได้มาโดยวิธีการอย่างไร หากบอกให้ส่วนรวมเข้าใจ จะดีมาก

สุ. ที่ถามว่าได้มาโดยวิธีการอย่างไร คงจะไม่คิดว่านอกตำราใช่ไหม ตำราคืออะไร? พระไตรปิฏก ท่านผู้ใดสงสัยก็ศึกษาดูได้ ตั้งแต่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วแต่ละท่านนี้สะสมเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดนามและรูปต่างๆ กันไม่เหมือนกัน แต่ละคนจะคิดก็ต้องคิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคย รู้รส เคยพอใจ เคยไม่พอใจ

เพราะฉะนั้น จะวางกฏเกณฑ์ให้ขณะนี้รู้นามนั้น ขณะนั้นรู้รูปนี้ ได้อย่างไร ในเมื่อเหตุปัจจัยอาจจะทำให้โลภะของคนหนึ่งเกิด สำหรับอีกคนหนึ่งเป็นโทสะ สำหรับอีกคนหนึ่งเป็นกุศล แล้วแต่ว่าขณะนั้นนามชนิดใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วแต่ละคนบังคับสติให้เกิดพร้อมๆ กันได้ไหม? ก็ไม่ได้ บางคนขณะนี้ไม่เกิด ต่อไปอีกประเดี๋ยวหนึ่งสติก็เกิดขึ้น และเมื่อเกิดแล้ว คนนั้นจะรู้ที่เสียงว่าเป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางหูเท่านั้น อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่ได้ยิน อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่เย็น อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่เมื่อย อีกคนหนึ่งอาจจะรู้ที่กำลังคิดนึกก็ได้ ก็เป็นสิ่งที่แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะวางกฏเกณฑ์แบบฉบับได้เลย ปัญหานี้ควรจะเปลี่ยนเป็นว่า การมีแบบฉบับวางกฏเกณฑ์นั้น อยู่ที่ไหนในพระไตรปิฏก มีท่านผู้ใด

ใน นาวาสูตร ที่ ๘ มีข้อความว่า ก็ บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้น เหมือนเทวดา บูชาพระอินทร์ ฉะนั้นการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด จะมีความนอบน้อมเคารพในครูอาจารย์ หรือว่าผู้ที่ให้ความเข้าใจเรื่องธรรมนั้น ก็จะต้องกระทำในฐานะที่สมควรด้วย เพราะเหตุว่าบางท่านนั้นเคารพในครูอาจารย์เกินพระรัตนตรัย ต้องขอประทานโทษ ที่จะใช้คำนี้ เพราะเหตุว่า บางท่านไม่สนใจที่จะสอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย แล้วแต่ว่าผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้นจะกล่าวว่าอย่างไร ก็พึงพอใจในเหตุผลของผู้นั้นโดยที่ไม่เทียบเคียงเหตุผล ไม่สอบทานกับพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุการที่จะเคารพบุคคลที่เป็นครูอาจารย์นั้น ก็ต้องเคารพในส่วนที่เป็นครูอาจารย์ ไม่เหนือกว่าการเคารพในพระรัตนตรัย คือในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์

เพราะฉะนั้น ก็เคารพครูอาจารย์ในความเมตตาที่ท่านอนุเคราะห์แสดงธรรม อุปการะเกื้อกูลให้ได้เข้าใจธรรม แต่ว่าจะต้องสอบทานธรรมนั้นกับพระธรรมวินัย จนกระทั่งให้ได้เหตุผล แต่ไม่ใช่จะไปลบหลู่ครูบาอาจารย์ ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนกับพระธรรมวินัยที่ได้สอบทานแล้ว ในที่นี้จึงกล่าวว่า ก็บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้นเหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น บุคคลผู้ที่เคารพนอบน้อมบุคคลที่เป็นครูอาจารย์ก็เป็นผู้ที่มีคุณความดี ก็เปรียบได้กับเทวดา ส่วนครูอาจารย์ที่ให้ความรู้ในทางธรรมนั้น ก็เปรียบได้กับพระอินทร์ซึ่งเป็นหัวหน้าของเทวดา ไม่ใช่ให้สูงกว่าพระรัตนตรัย ไม่ใช่ให้สูงกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ให้พึงบูชาเหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์และมีข้อความต่อไปว่า

ผู้อันเตวาสิกบูชาแล้ว มีจิตเลื่อมใสในอันเตวาสิกนั้น ย่อมชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง นี่ก็ต้องทั้บุคคลซึ่งจะพึงเป็นที่เคารพบูชานั้น บุคคลนั้นเป็นพหูสูต งสองฝ่าย คือทั้งผู้ที่ชี้แจงธรรมและผู้ที่รับฟังธรรมด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับการนอบน้อมก็ต้องมีจิตเลื่อมใสในผู้รับฟังธรรม แล้วก็ชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้งเป็นการอุปการะด้วย บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาทคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น กระทำธรรม นั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้งแสดงธรรม และเป็นผู้ละเอียด

พยัญชนะในพระไตรปิฏกละเอียดมาก เวลาที่จะแสดงธรรมในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็มีอรรถพยัญชนะสมบูรณ์ในข้อความนั้น แม้แต่ผู้ที่เป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่ประมาทคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น ก็ต้องกระทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ การที่จะกระทำธรรมให้มีประโยชน์ ก็คือใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้ง แสดงธรรมแก่บุคคลอื่น และเป็นผู้ละเอียด เมื่อรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ก็ไม่พึงเป็นผู้ที่ไม่แสดงธรรมนั้นแก่ผู้อื่น ควรที่จะแสดงธรรมที่ได้ศึกษา ได้ใคร่ครวญ ได้พิจารณา ได้เข้าใจแล้วนั้นต่อๆ ไป ด้วยความเป็นผู้ละเอียด อย่าเป็นผู้ที่ฟังเผินๆ หรือว่าจับข้อความจากธรรมเพียงเผินๆ ไม่ใคร่ครวญพิจารณาให้รอบคอบก่อน แล้วแสดงแก่ผู้อื่น เพราะเหตุว่าอันนี้ก็จะเป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิดตามไปด้วย ข้อความต่อไปมีว่า

อันเตวาสิก ส้องเสพอาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย เป็นคนเขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย นี่ก็เป็นอันตรายอีกเหมือนกัน ที่ว่าอันเตวาสิกส้องเสพอาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย ผู้เป็นคนเขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์และริษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย เพราะว่าธรรมนั้นไม่สามารถจะอุปการะให้พ้นจากความตาย ให้พ้นจากการที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าผู้นั้นไม่เป็นผู้เขลา ไม่เป็นผู้ที่มีธรรมน้อย ก็ย่อมจะอุปการะสามารถที่จะทำให้อันเตวาสิกผู้ที่เป็นศิษย์นั้นบรรลุประโยชน์ และพ้นจากความตายได้ ข้อความต่อไปมีว่า

บุคคลไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งแล้ว ไม่ใคร่ครวญเนื้อความในสำนักแห่ง บุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้ด้วยตนเอง ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ จะสามารถให้ผู้อื่นเพ่งพินิจได้อย่างไร เหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชื่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ จะสามารถช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้อย่างไร ฉะนั้น ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น เป็น ผู้ฉลาดมีสติ พึงช่วยผู้อื่นแม้มีจำนวนมากในเรือนั้น ให้ข้ามได้แม้ฉันใด ผู้ใดไปด้วยมัคคญาณทั้ง ๔ อบรมตนเป็นพหูสูตร ไม่มีความหวั่นไหวเป็นธรรมดา ผู้นั้นแลรู้ชัดอยู่ พึงยังผู้อื่นผู้ตั้งใจสดับและสมบูรณ์ด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสสัย ให้เพ่งพินิจได้ ก็ฉันนั้น

เพราะเหตุนั้นแล บุคคลควรคบสัปบุรุษผู้มีปัญญา เป็นพหูสูตร บุคคลผู้คบบุคคลเช่นนั้น รู้ชัดเนื้อความนั้นแล้ว ปฏิบัติอยู่รู้แจ้งธรรมแล้ว พึงได้ความสุข เป็นข้อความในพระไตรปิฏก ซึ่งได้กล่าวเตือนถึงในเรื่องการใคร่ครวญธรรม เพราะเหตุว่าอุปมาเหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชื่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ ย่อมไม่สามารถจะช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้ แต่ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพายและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น ถึงแม้เราจะได้ฟังเรื่องของมรรค์มีองค์ ๘ ว่าในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น จะต้องเจริญสติ จะต้องเป็นผู้เจริญมรรค์มีองค์ ๘ แต่ถ้าไม่พิจารณาไม่ใคร่ครวญในมรรค์ทั้ง ๘ นั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ด้วยความแยบคายคือด้วยความสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผล ก็เท่ากับผู้ที่ไม่รู้อุบายในเรือ มีเรือจริงมีของหลายอย่างในเรือนั้น แต่ไม่ทราบว่าของนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ก็ไม่สามารถจะใช้เรือนั้นให้เป็นประโยชน์ได้ ฉันใด ในเรื่องของ มรรค์มีองค์ ๘ ก็เช่นเดียวกัน คือจะต้องมีการศึกษาให้เข้าใจเรื่องของมรรค์มีองค์ ๘ ไม่ให้คลาดเคลื่อนไข้วเขวแล้วจึงจะเป็นผู้ที่รู้อุบายในเรือนั้น สามารถที่จะใช้ประโยชน์ให้เรือนั้นถึงฝั่งได้

นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าท่านผู้ใด มีพระธรรมวินัยเป็นศาสดา แล้วก็มีคูรบาอาจารย์ที่อุปการะให้ความรู้ความเข้าใจ แต่ว่าผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งธรรมนั้น ถ้ามีความมั่นใจในบุคคลโดยที่ไม่สอบทานธรรม ซึ่งได้ฟังจากบุคคลนั้น กับพระธรรมวินัยก็ย่อมเป็นอันตรายได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ทราบถึงความลึกซึ้งของธรรม แล้วก็อาจจะเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนไป

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะฟังธรรมจากใคร ก็ควรที่จะได้พิจารณาใคร่ครวญสอบทานอยู่เสมอ จนกระทั่งได้เหตุผลที่สมบูรณ์ ถ้าท่านศึกษาหรือว่าอ่านในพระไตรปิฏกจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่ท่านข้องใจ จะมีคำอธิบายอย่างละเอียด และอีกประการหนึ่งบางทีท่านอาจจะไม่ทราบว่า บุคคลในครั้งโน้นท่านมีความสงสัยกันเรื่องอะไร ท่านสนทนากันเรื่องอะไร เพราะว่าการสนทนาธรรมมีเรื่องที่จะสนทนามากมายหลายประการ จะสนทนาเรื่องอริยสัจจ์ ๔ จะสนทนาเรื่องปฏิจจสมุปปาทะ จะสนทนาเรื่องมรรคมีองค์ ๘ จะสนทนาเรื่องญาณ จะสนทนาเรื่องอะไรก็มีมากมายหลายเรื่อง และบุคคลในครั้งโน้นท่านคิดอย่างไร ท่านถามอย่างไร ก็เป็นการที่ว่าถ้าท่านศึกษาพระไตรปิฎกมากขึ้น ท่านก็จะได้ความรู้ความแจ่มแจ้งมากขึ้นด้วย แต่ว่าจะเห็นได้ว่า บุคคลซึ่งศึกษาธรรมมีความเข้าใจธรรม จะไม่เห็นว่าตนเองนั้นสำคัญ แต่ว่าสิ่งสำคัญคือพระธรรมวินัย สิ่งสำคัญคือพระรัตนตรัย ท่านเหล่านั้นจะไม่คิดว่าท่านเป็นใหญ่ ไม่คิดถึงว่าให้ใครๆ มาเคารพกราบไหว้นับถือเป็นครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีศิษย์ หรือมีผู้ฟังธรรมมากๆ ท่านเหล่านั้นจะไม่คิดถึงตัวท่านเลย แต่จะคิดถึงพระธรรมวินัยและคิดถึงพระรัตนตรัยเป็นใหญ่ ที่จะยกตัวอย่างอีกสูตรหนึ่ง เพื่อที่จะให้ท่านเห็นถึงความคิด หรือความข้องใจของบุคคลในครั้งนั้น หรือหัวข้อที่บุคคลในครั้งนั้นสนทนาธรรมกัน แล้วธรรมที่ได้ฟังจะอุปการะแก่ผู้ฟังอย่างไร

ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสถ์ พรามณวรรค โฆฏมุขสูตร ข้อ ๖๓๐ ซึ่งเป็นสมัยที่พระผู้มีพระภาคดับเสด็จขันธปรินิพพานแล้ว สมัยหนึ่ง ท่านพระอุเทนอยู่ ณ เขมิยอัมพวัน ใกล้เมืองพาราณสี สมัยนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า โฆฏมุขะ ได้ไปถึงเมืองพาราณสีด้วยกรณียกิจบางอย่าง แล้วได้เดินเที่ยวเล่นไปมาเป็นการพักผ่อน แล้วได้เข้าไปยังเขมิยอัมพวันครั้งนั้น ท่านพระอุเทนเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง โฆฏมุขพราหมณ์ก็เข้าไปหาปราศัย เดินตามท่านพระอุเทนซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แล้วได้กล่าวกับท่าน พระอุเทนว่า ดูกร สมณะผู้เจริญ การบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านไม่เห็นข้อนั้น หรือไม่เห็นธรรมในเรื่องนี้

คือว่า โฆฏมุขพราหมณ์ไม่เห็นประโยชน์ของการบรรพชาอุปสมบทเป็นบรรพชิตเลย จึงได้กล่าวว่าการบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี พราหมณ์เองมีความเห็นว่า การบวชเป็นบรรพชิตไม่มีประโยชน์ แต่ท่านพระอุเทนเป็นบรรพชิต ฉะนั้นความเห็นของท่านพระอุเทนกับความเห็นของโฆฏมุขพราหมณ์นั้น ก็ย่อมจะต่างกัน ซึ่งเมื่อโฆฏมุขพราหมณ์ได้กล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอุเทนลงจากที่เดินจงกรมเข้าไปยังวิหาร แล้วนั่งลงบนอาสนะที่จัดไว้ แม้โฆฏมุขพราหมณ์ก็ลงจากที่จงกรมเข้าไปยังวิหารแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระอุเทน ได้กล่าวกับโฆฏมุขพราหมณ์ว่า ดูกร พราหมณ์ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาก็เชิญนั่งเถิด นี่เป็นคำเชิญของพระภิกษุในครั้งอดีต สำนวนก็ไพเราะ คือแล้วแต่ว่าผู้ฟังปรารถนาจะนั่งก็นั่งได้ ไม่ปรารถนาจะนั่งก็แล้วแต่อัธยาศัย

โฆฏมุขพราหมณ์ก็กล่าวว่า ก็ข้าพเจ้ารอการเชื้อเชิญของท่านพระอุเทนนี้แล จึงยังไม่นั่ง เพราะว่าคนเช่นข้าพเจ้าอันใครไม่เชื้อเชิญก่อนแล้ว จะพึงสำคัญการที่จะพึงนั่งบนอาสนะ อย่างไร นี่ก็เป็นธรรมเนียมของพราหมณ์ ถ้าไม่มีคนเชื้อเชิญแล้วก็ย่อมจะไม่นั่งหรือผู้ที่เป็นแขกก็เหมือนกัน ถ้าเจ้าของสถานที่ยังไม่เชื้อเชิญก็ย่อมไม่นั่ง แล้วโฆฏมุขพราหมณ์ก็ถือเอาอาสนะที่ต่ำแห่งหนึ่ง เพราะท่านก็ทราบว่าท่านไม่ได้เป็นบรรพชิต ฉะนั้นก็นั่งที่อาสนะที่ต่ำกว่า ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอุเทน มีข้อความเหมือนกับที่ได้กล่าวกับท่านพระอุเทนตอนที่ท่านพระอุเทน ยังเดินจงกรมอยู่ที่เขมิยอัมพวัน คือ

ดูกร สมณะ การบวชอันชอบธรรมย่อมไม่มี ในเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายเช่นท่านไม่เห็นข้อนั้น หรือไม่เห็นธรรมใน เรื่องนั้น ฟังในตอนต้นๆ เผินๆ เหมือนกับจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ขอให้ทราบว่าผู้ที่เป็นบัณฑิต ไม่ว่าหัวข้อธรรมที่นำมาสนทนากับท่านนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ท่านน้อมไปสู่เหตุและผลของการปฏิบัติในตอนสุดท้ายเสมอ ซึ่งก็จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังนั้นเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น แต่ขอให้ฟังคำสนทนาระหว่างท่านพระอุเทนกับโฆฏมุขพราหมณ์ต่อไป ท่านพระอุเทนกล่าวว่า ดูกร พราหมณ์ ถ้าท่านพึงยอมคำที่ควรยอม และพึงคัดค้านคำที่ควรคัดค้านของเรา อนึ่งท่านไม่พึงรู้เนื้อความแห่งภาษิตใด พึงซักถามเราในภาษิตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ท่านอุเทน ภาษิตนี้อย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน เพราะ ทำได้อย่างนี้ เราทั้งสองพึงมีการเจรจาปราศัยในเรื่องนี้กันได้

คือก่อนที่จะสนทนากัน ก็จะต้องตกลงกันเสียก่อนว่า ถ้ามีข้อความใดที่เป็นเหตุผล ก็จะต้องยอมรับตามเหตุผลนั้น ถ้ามีสิ่งใดที่พึงคัดค้านไม่เห็นด้วย ก็ขอให้แสดงความคิดเห็นคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยนั้น และถ้ามีภาษิตคำใดที่ไม่เข้าใจชัดก็ขอให้ถามเพื่อให้เข้าใจภาษิตนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจะสนทนากันในเรื่องของธรรมซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็รับว่าจะกระทำเช่นนั้น ท่านพระอุเทนก็กล่าวว่า ดูกร พราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน

จำพวกที่ ๑ เป็นผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการ ทำตนให้เดือดร้อน

จำพวกที่ ๒ เป็นผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

จำพวกที่ ๓ เป็นผู้ที่ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน

จำพวกที่ ๔ ไม่เป็นผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความ ขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มีความหิว เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน

แล้วท่านพระอุเทนก็ถามโฆฏมุขพราหมณ์ ต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลไหนย่อมยังจิตของท่านให้ยินดี มีบุคคล ๔ จำพวก แต่ต่อไปพราหมณ์นี้ก็จะขอให้ท่านพระอุเทนบรรยายขยายความชี้แจงบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยละเอียดอีก แต่ว่าก่อนอื่นท่านพระอุเทน ก็ได้ถามโฆฏมุขพราหมณ์ก่อนว่า ในบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลใดย่อมยังจิตใจของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้ ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวตอบว่า บุคคลจำพวกที่ ๔ คือพวกที่ไม่ยังทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการประกอบความเดือดร้อนทั้งกับตนเองและผู้อื่น ย่อมยังจิตของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้

ซึ่งท่านพระอุเทนเมื่อได้ฟังแล้วก็ถามเหตุผลจริงๆ ท่านสนทนาธรรมกันจริงๆ ต้องการเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่ว่าตอบแล้วพอใจในเหตุผลนั้นโดยง่าย เพราะฉะนั้นโฆฏมุขพราหมณ์จะได้ตอบอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอุเทนก็ยังต้องการเหตุผลว่า เพราะเหตุใด บุคคลที่ไม่เป็นผู้ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น จึงเป็นผู้ที่ทำให้จิตของโฆฏมุขพราหมณ์ยินดีได้ ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้ชี้แจงให้ฟังว่า สำหรับผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อนนั้น ย่อมกระทำตนผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน

เป็นความจริงใช่ไหมคะ ที่ว่า ทุกคนต้องการความสุข ไม่มีใครต้องการความทุกข์เลย แล้วไปทรมานตัวทำไมไปทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทำไม เพื่ออะไรเพราะฉะนั้น เมื่อข้อปฏิบัตินั้นเป็นเช่นนั้น คือเป็นผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อน แล้วก็ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ก็ย่อมทำตนผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อนโดยเปล่าประโยชน์ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๒ เป็นบุคคลที่กระทำให้บุคคลอื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการกระทำบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ก็ย่อมทำบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อนด้วย ไม่ใช่แต่ตนเองเท่านั้นรักสุขเกลียดทุกข์ แม้บุคคลอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้ที่ทำให้บุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน ก็ย่อมไม่ทำให้จิตของโฆฏมุขพราหมณ์ยินดีได้

ส่วนบุคคลที่ ๓ คือบุคคลที่กระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ขวนขวายในการกระทำให้ตนและบุคคลอื่นเดือดร้อนนั้น ก็ย่อมทำตนและบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อนด้วย ซึ่งก็เป็นบุคคลซึ่งไม่ทำให้จิตของโฆฏมุขพราหมณ์ยินดีได้

ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ เป็นผู้ที่ไม่กระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการกระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อนนั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่กระทำ ตนและบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน เพราะฉะนั้น บุคคลจำพวกที่ ๔ นี้ ย่อมยังจิตของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้

ท่านผู้ฟังก็คงจะยินดีในจิตใจ หรือในบุคคลประเภทที่ ๔ นี้ เช่นเดียวกันเพราะว่าไม่ทำทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน

ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ เป็นผู้ที่ไม่กระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการกระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อนนั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่กระทำตนและบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน เพราะฉะนั้น บุคคลจำพวกที่ ๔ นี้ ย่อมยังจิตของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้ ท่านผู้ฟังก็คงจะยินดีในจิตใจ หรือในบุคคลประเภทที่ ๔ นี้ เช่นเดียวกันเพราะว่าไม่ทำทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ซึ่งพระอุเทนเมื่อได้ฟังโฆฏมุขพราหมณ์รับรองเช่นนั้น ก็ได้ถามโฆฏมุขพรามณ์ต่อไปว่า

ในบริษัท ๒ จำพวก คือจำพวกที่ ๑ นั้น เป็นบริษัทที่ยินดีในแก้วมณีแสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน (บริษัทในที่นี้ก็ได้แก่หมู่คนนั่นเอง) ส่วนอีกบริษัท ๑ นั้น ไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณี ไม่แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต โฆฏมุขพราหมณ์เห็นบุคคลนี้ในบริษัทไหนมาก คือเห็นในหมู่บริษัทซึ่งยังยินดีในแก้วมณี แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน หรือว่าในหมู่บริษัทซึ่งไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณี ไม่แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้ตอบตามความจริงว่า เห็นบุคคลนี้ในบริษัทที่ไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณี ไม่แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต

นี่ก็เป็นการรับรองอยู่ในตัวว่า การบรรพชาเป็นบรรพชิตนั้นมีประโยชน์ ไม่ได้ทำตนเองให้เดือดร้อนด้วยการที่ยังยินดี หมกมุ่น แสวงหาทั้งเงินทอง บุตร ภรรยา ทาสีทาส นาที่ดิน ทองและเงิน แล้วก็ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเพราะความยินดีในแก้วมณี ในการแสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงินเลย ซึ่งท่านพระอุเทนเมื่อได้ฟังโฆฏมุขพราหมณ์กล่าวดังนี้แล้ว ท่านก็บอกว่าท่านเข้าใจว่า ทำไมโฆฏมุขพราหมณ์จึงได้กล่าวอย่างนั้น โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวกับท่านพระอุเทนต่อไปว่าวาจาที่ท่านกล่าวกับข้าพเจ้านั้น เป็นวาจามีเหตุสนับสนุนโดยแท้ การบวชอันชอบธรรมมีจริง ข้าพเจ้ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้ และขอท่านโปรดจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ และขอให้จำแนกบุคคล ๔ โดยละเอียด

คือท่านที่มีปัญญาถ้าท่านเห็นเหตุผล ท่านก็ยอมรับในเหตุผล และท่านก็กล่าวให้บุคคลที่ท่านรับฟังเหตุผลนั้น ได้จำไว้ด้วยว่า ท่านได้มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้แล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้ขอให้ท่านพระอุเทนจำแนกบุคคล ๔ นั้นโดยละเอียด ซึ่งท่านพระอุเทนก็ได้จำแนกบุคคล ๔ นั้นโดยละเอียดว่า บุคคลที่กระทำตนให้เดือดร้อน ขวนขวายในการกระทำตนให้เดือดร้อนนั้น ก็ได้แก่ผู้ที่ปฏิบัติผิด เช่นเป็นคนเปลือยไม่มีประโยชน์เลย แต่เข้าใจว่าเป็นการหมดกิเลส ละกิเลส กิเลสน้อย เป็นผู้ไร้มารยาท เป็นผู้เยียวยาอัตตภาพ หรือว่าเลี้ยงชีวิตด้วยการทรมานตัว ด้วยข้าวเพียงคำเดียวบ้าง ๒ คำบ้าง หรือ ด้วยอาหารที่ค้างวัน ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง หรือว่าด้วยการนุ่งห่มผ้าห่อศพ หรือผ้าที่ไม่สบาย หรือด้วยการถือการอาบน้ำวันละ ๓ ครั้งบ้าง

นอกจากนั้นยังมีเรื่องปฏิบัติผิดอีกมากทีเดียว ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย การทรมารตน หรือขวนขวายในการทรมานตนให้เดือดร้อนนั้นมีประโยชน์อะไร ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทาเป็นของที่แน่นอนที่สุด เพราะว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้นไม่ทรมานในเรื่องการนั่ง ไม่ทรมานในเรื่องการนอน ไม่ทรมานในเรื่องการยืน ไม่ทรมานในเรื่องการเดิน ไม่ทรมานในเรื่องการเคลื่อนไหว เหยียดคู้ตามปกติ ไม่ทรมานในเรื่องการรักษาอัตตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารตามปกติ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละกิเลสได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริง ละความไม่รู้ ละความสงสัย จึงจะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปนั้นว่าเป็นตัวตนเป็นลำดับขั้น ไม่ใช่ละด้วยการทรมานตนแล้วก็ผิดปกติ แล้วไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ว่าทรมานตน ด้วยการนั่งผิดปกติ ทรมานตนด้วยการนอนผิดปกติ ทรมานตนด้วยการยืนการเดิน ก็ผิดปกติ เพราะเหตุว่า คำว่าผิดปกตินอกจากจะหมายความถึงในครั้งอดีต ซึ่งท่านมีการยืนกระโย่งเท้ายืนไม่เต็มเท้า ยืนนานๆ ทรมานตัวอยู่นานๆ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถด้วยความเข้าใจผิดแล้ว ท่านก็ควรจะทราบถึงมัชฌิมาปฏิปทาด้วย ว่าขณะใดที่ท่านมีความต้องการในการนั่งนานๆ เป็นการทรมานตัวไหม? ในการเดินนานๆ เป็นการทรมานตัวไหม? ในการยืนนานๆ เป็นการทรมานตัวไหม? และการที่จะรู้แจ้งสภาพของธรรมที่ปรากฏทุกๆ ขณะตามความเป็นจริงนั้น จำเป็นหรือที่จะต้องทรมาน ในเมื่อนามรูปก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล อัพยากตะ ก็มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นทั้งนั้น

ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ตามปกตินามรูปก็เกิดดับ ฉะนั้น ปัญญาจะต้องพิจารณาเจริญเหตุให้สมควรกับผล และรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกตินั้นตาม ความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยความต้องการที่จะไปทรมานตน หรือว่าประกอบการขวนขวายในการทรมานตน แล้วก็เข้าใจว่าต้องทรมานเช่นนั้นจึงจะรู้ความจริงได้ หรือว่าจึงจะรู้ทุกข์ได้ แต่หมายความว่าการจะรู้ทุกข์ได้นั้น ต้องเป็นการเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปเป็นลำดับขั้นตามความเป็นจริง

สำหรับบุคคลจำพวกที่ ๒ นั้น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ได้แก่ผู้ที่ฆ่าสัตว์ หรือว่าเป็นโจร มีอาชีพในทางทุจริต มีการงานที่หยาบช้า นี่ก็เป็นการทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน อันนี้ถ้าเข้าใจในเรื่องของสัมมาอาชีวะ หรือสัมมาอาชีพ ก็จะเห็นได้ว่าจะไม่ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่หยาบช้า เพราะว่าไม่ใช่ทรมานหรือทำให้บุคคลอื่นสัตว์อื่นให้เดือดร้อน ด้วยการฆ่าสัตว์ ด้วยการเป็นโจร หรือว่าด้วยการมีอาชีพซึ่งไม่สุจริต

ประการที่ ๓ เป็นผู้ที่ปฏิบัติผิดด้วยการทำตนให้เดือดร้อน และทำให้ผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย ในเรื่องนี้ก็กล่าวรวมหมดไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นสมณพราหมณ์หรือเป็นบุคคลใดก็ตาม เป็นผู้ที่ทรมานตนด้วยการนอนบนพื้นดินปกติธรรมดาก็ไม่ได้นอนอย่างนั้น แต่เมื่อมีความเข้าใจผิดก็ทรมานตนด้วยการนอนบนพื้นดิน แล้วก็ยังไม่พอ ยังสั่งให้บุคคลอื่นนอนบนพื้นดินด้วย ตนเองก็อดอาหารรับประทานเพียงเล็กน้อย สอนให้ผู้อื่นหรือสั่งให้ผู้อื่นอดอาหารด้วย ในครั้งโน้นก็มีความเห็นผิด ด้วยการที่สั่งให้ผู้อื่นฆ่าโค แพะ แกะ บูชายัญ หรือว่าให้ตัดต้นไม้ ให้ทำโรงบูชายัญ ซึ่งก็เป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์เลย นอกจากว่าจะทำตนเองให้เดือดร้อนและทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย

ประการที่ ๔ ท่านพระอุเทนกล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้ไม่กระทำตนให้เดือดร้อน ไม่กระทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้จำแนกธรรม ทรงสอนหมู่สัตว์ สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี หรือบุคคลผู้เกิดภายหลังในตระกูลหนึ่งตระกูลใด ได้ฟังธรรมนั้นย่อมได้สัทธาในพระผู้มีพระภาค ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วก็เป็นผู้มีศีล มีความประพฤติทางกายทางวาจางาม เพราะ เหตุว่า ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ทำตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรม ไม่ได้เห็นว่าการทรมานตน จะเป็นเหตุนำมาให้เกิดปัญญาละกิเลสได้เลย เพราะเหตุว่าข้อปฏิบัติของพระองค์นั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่การทรมานตนด้วยประการหนึ่งประการใด แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ให้เพลินไปในอกุศลทั้งหลาย แต่ให้มีสติพิจารณารู้สภาพธรรมที่ปรากฏบ่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้ง ละคลายความไม่รู้ละคลายความสงสัยในธรรมนั้น และ เมื่อได้ทรงแสดงธรรมคฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดีหรือว่าบุตรตระกูลหนึ่งตระกูลใดในภายหลัง แม้ในสมัยนี้ล่วงเลยมาตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว แต่ว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมได้เห็นประโยชน์ของธรรมของพระผู้มีพระภาค ก็ได้สละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่ทรมานตน แต่เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่อบรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ

สำหรับการอบรมก็ด้วยศีล ซึ่งก็คงจะทราบแล้วถึงข้อบัญญัติต่างๆ นอกจากนั้นในเรื่องของการพูด ผู้ที่ได้รับการอบรมตามธรรมวินัยเป็นบรรพชิตนั้น พูดถูกกาละ พูดคำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เห็นความละเอียดของพระธรรมวินัย ซึ่งแสดงไว้ละเอียดกว่านี้มาก เพราะว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ย่อมประกอบด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะ มีสติรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการดื่ม ในการพูด ในการนิ่ง ในการเคี้ยว ในการลิ้ม คือทุกอย่างที่เป็นอยู่แล้วตามปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าเป็นผู้ที่มีสติรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ในการพูด ในการนิ่ง ในการคิด ในการคู้ ในการเหยียด

และคำว่า "ไม่เป็นผู้ยึดถือในนิมิต ไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะ" จะไม่ยึดถือได้อย่างไร ถ้าไม่มีสติ ถ้าไม่มีการรู้สึกตัว ฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานเวลาที่มีสติมีการรู้สึกตัวเกิดขึ้นนั้น มีการรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลัง ปรากฏตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้ไม่ถือในนิมิตและอนุพยัญชนะ เป็นต้นว่าทางตา ถ้าขณะใดมีการรู้สึกตัวรู้ว่าที่กำลังเห็นนี้ ก็เป็นเพียงสภาพรู้ที่เพียงอาศัยตา หรือว่าเฉพาะปรากฏเมื่อลืมตาเท่านั้น หลับตาแล้วไม่มี ถ้าในขณะนั้นมีสติ รู้สภาพที่กำลังปรากฏที่กำลังเห็นตามความเป็นจริง ในขณะนั้นไม่ถือนิมิตไม่ถืออนุพยัญชนะ

คำว่า "นิมิต" คือรูปร่าง คำว่า "อนุพยัญชนะ" คือส่วนละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ตาม ทางหูถ้าหลงลืมสติในขณะนั้นไม่มีการรู้ว่าสภาพที่กำลังได้ยินนี้ก็เป็น สิ่งที่ปรากฏนิดเดียวทุกๆ ขณะนี้ทีละนิดเท่านั้นเอง ถ้าในขณะนั้นมีสติรู้ว่าสภาพนี้เป็นสภาพรู้เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ในขณะนั้นเป็นผู้ไม่ถือนิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ยึดถือว่าการ เห็นนั้นเป็นตัวตน แล้วก็ไม่ติดตามอนุพยัญชนะของเสียงด้วยการเจริญสติ

แต่ว่าผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตนั้นมีโอกาสมากกว่านั้น ไม่ใช่มีโอกาสเพียงแค่รักษาศีล เพราะเหตุว่า พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นงามทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด เมื่อเป็นผู้ที่ไม่วุ่นวายไปในธุรกิจการดำเนินชีวิตแบบฆราวาส มีการศึกษาทางกาย ทางวาจา ทางใจ นอกจากพระวินัยบัญญัติที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ก็ยังมีเวลาอีกมาก ซึ่งท่านก็ดำเนินชีวิตในทางที่เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ฉะนั้นผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ไม่ใช่เพียงประกอบด้วยศีล แต่ประกอบด้วยสมาธิ เป็นผู้เสพเสนาสนะอันสงัดคือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ รอมฟาง เมื่อเสพเสนาสนะที่สงัดเช่นนั้น ก็สามารถที่จะละนิวรณ์ เครื่องขัดขวางไม่ให้จิตสงบได้จนกระทั่งสามารถจะเกิดความสงบ ถึงขั้นเกิดความสงบขั้นอัปปนาสมาธิเป็นลำดับขั้นได้ สามารถที่จะระลึกชาติได้ สามารถที่จะรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ได้ นอกจากนั้นยังสามารถที่จะโน้มจิตไปเพื่อ "ญาณ"อันเป็นเหตุให้สิ้นกิเลสอาสวะได้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา เหล่านี้คืออาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อรู้อย่างนี้ย่อมพ้นจากอาสวะ บุคคลนี้เรียกว่าผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็นเสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว นี่คือ ตั้งแต่ศีล สมาธิ จนกระทั่งถึงปัญญา ซึ่งผู้ที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตย่อมมีโอกาส นอกจากจะประพฤติปฏิบัติทำกิจของสงฆ์ตามพระธรรมวินัย เวลาว่างท่านก็ปลีกตนในที่สงัดเพื่อความสงบ บรรลุฌานเป็นขั้นๆ สามารถที่จะระลึกชาติ จะรู้จุติปฏิสนธิ สามารถที่จะโน้มจิตไปเพื่อญาณ อันเป็นเหตุให้สิ้นอาสวะ

อันนี้ก็เป็นเรื่องประโยชน์ของสมาธิ นอกจากท่านจะประกอบด้วยศีล ท่านก็ยังประกอบด้วยสมาธิด้วย และเมื่อประกอบด้วยศีลสมาธิและปัญญาเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่เป็นผู้ที่ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อนและในการทำให้ผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย เมื่อท่านพระอุเทนกล่าวอย่างนี้แล้ว โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวกับท่านพระอุเทนว่า ข้าแต่ท่านอุเทน ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านอุเทนประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านอุเทน กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระอุเทนทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นี่คือความเลื่อมใสเวลาที่ได้ฟังธรรม ก็ขอถึงท่านพระอุเทนผู้แสดงธรรมนั้นเป็นสรณะ พร้อมทั้งธรรมที่แสดงและพระสงฆ์ด้วย แต่ท่านพระอุเทนกล่าว ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านอย่าได้ถึงอาตมาเป็นสรณะเลย เชิญท่านถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อาตมาถึงเป็นสรณะ เป็นสรณะเถิด โฏมุขพราหมณ์ ก็ได้กล่าวตอบท่านพระอุเทนว่า ข้าแต่ท่านอุเทน เดี่ยวนี้ท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน ท่านพระอุเทนกล่าวตอบว่า ดูกร พราหมณ์ เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว

โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอุเทน ถ้าแหละข้าพเจ้าพึงได้ฟังว่า ท่านพระโคดมพระองค์นั้นประทับอยู่ในหนทางแม้ ๑๐ โยชน์ ข้าพเจ้าก็พึงไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และต่อไปถึง ๒๐ โยชน์ ๓๐ โยชน์ ๔๐ โยชน์ ถึงแม้ ๑๐๐ โยชน์ โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า แม้สิ้นหนทาง ๑๐๐ โยชน์ ข้าพเจ้าก็พึงไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แต่ว่าท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพเจ้าขอถึงท่านพระโคดมพระองค์นั้นแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านอุเทนทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อนึ่ง มีเบี้ยเลี้ยงประจำที่พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานแก่ข้าพเจ้าทุกวัน ข้าพเจ้าขอถวายส่วนหนึ่งจากเบี้ยเลี้ยงประจำนั้น แด่ท่านอุเทน

ก็ดูผู้ที่ไม่เห็นว่าตนเองสำคัญ ว่าท่านจะคิดท่านจะกล่าวอย่างไร ท่านพระอุเทนก็ได้กล่าวกับโฆฏมุขพราหมณ์ว่า พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานอะไรเป็นเบี้ยเลี้ยงเป็นประจำแก่ท่าน โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานกหาปนะ ๕๐๐ เป็นเบี้ยเลี้ยงประจำวันแก่ข้าพเจ้า ท่านพระอุเทนก็กล่าวว่า การรับเงินและทอง ไม่สมควรแก่อาตมาทั้งหลายโฆฏมุขพราหมณ์ก็กล่าวตอบว่า ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านอุเทน ท่านพระอุเทนกล่าวว่าถ้าแลท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมา ก็ขอให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด ไม่จำกัดเจาะจงว่าต้องถวายท่าน แต่ว่าพึงกระทำประโยชน์แก่พระศาสนาแก่พระธรรมวินัย โดยการที่แทนการที่จะสร้างวิหารถวายตัวท่านเองโดยเฉพาะ ก็ขอให้โฆฏมุขพราหมณ์สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็เกิดความปิติยินดีมากทีเดียว ก็ได้กล่าวว่า ด้วยข้อที่ท่านอุเทนชักชวนข้าพเจ้าในสังฆทานนี้ ข้าพเจ้ามีใจชื่นชมยินดีเหลือประมาณ

ข้าแต่ท่านอุเทน ข้าพเจ้าจะให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้ด้วย ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย นี่เป็นสัทธาหรือความปิติชื่นชมยินดี ที่ไม่เห็นว่าท่านพระอุเทนนั้น จะเป็นผู้เห็นแก่ตน แต่เป็นผู้ที่เห็นแก่พระรัตนตรัย เป็นผู้ที่เห็นแก่พระธรรมวินัย แทนที่จะชักชวนให้เลื่อมใสในการให้สังฆทาน ฉะนั้น แทนที่จะให้สร้างโรงเลี้ยงด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำสำหรับตนดังที่กล่าวไว้ ก็ยังให้เพิ่มด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย ครั้งนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์ให้จัดสร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้และส่วนอื่น โรงเลี้ยงนั้นเรียกว่าโฆฏมุกขี ฉะนี้แล

นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การสนทนาธรรมเริ่มจากการที่ไม่เห็นประโยชน์ของการบวชเลย จนกระทั่งได้เห็นประโยชน์ของการบวช แล้วได้เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส ในตอนต้นก็เลื่อมใสในผู้แสดงคือท่านพระอุเทน แต่ภายหลังก็เลื่อมใสในพระรัตนตรัย

ท่านพระอุเทน ก็กล่าวว่า การรับเงินและทอง ไม่สมควรแก่อาตมาทั้งหลาย โฆฏมุขพราหมณ์ ก็กล่าวตอบว่า ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านอุเทน ท่านพระอุเทน กล่าวว่า ถ้าแลท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมา ก็ขอให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด

ไม่จำกัดเจาะจงว่าต้องถวายท่าน แต่ว่าพึงกระทำประโยชน์แก่พระศาสนาแก่พระธรรมวินัย โดยการที่แทนการที่จะสร้างวิหารถวายตัวท่านเองโดยเฉพาะ ก็ขอให้โฆฏมุขพราหมณ์สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็เกิดความปิติยินดีมากทีเดียว ก็ได้กล่าวว่า ด้วยข้อที่ท่านอุเทนชักชวนข้าพเจ้าในสังฆทานนี้ ข้าพเจ้ามีใจชื่นชมยินดีเหลือประมาณข้าแต่ท่านอุเทน ข้าพเจ้าจะให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้ด้วย ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย นี่เป็นสัทธาหรือความปิติชื่นชมยินดี ที่ไม่เห็นว่าท่านพระอุเทนนั้น จะเป็นผู้เห็นแก่ตน แต่เป็นผู้ที่เห็นแก่พระรัตนตรัย เป็นผู้ที่เห็นแก่พระธรรมวินัย แทนที่จะชักชวนให้เลื่อมใสในการให้สังฆทาน ฉะนั้น แทนที่จะให้สร้างโรงเลี้ยงด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำสำหรับตนดังที่กล่าวไว้ ก็ยังให้เพิ่มด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย ครั้งนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์ให้จัดสร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้และส่วนอื่น โรงเลี้ยงนั้นเรียกว่าโฆฏมุกขี ฉะนี้แล

นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การสนทนาธรรมเริ่มจากการที่ไม่เห็นประโยชน์ของการบวชเลย จนกระทั่งได้เห็นประโยชน์ของการบวช แล้วได้เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส ในตอนต้นก็เลื่อมใสในผู้แสดงคือท่านพระอุเทน แต่ภายหลังก็เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ถ้าท่านมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในพระพุทธ ในพระธรรม ใน พระสงฆ์แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าท่านจะไม่ได้เลื่อมใสในครูอาจารย์ของท่าน เพราะเหตุว่าถ้าครูอาจารย์เป็นพระอริยสาวก ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เจาะจงความเลื่อมใส เป็นรายบุคคล แต่การที่ท่านแสดงความเป็นอุบาสกอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นั่นก็แสดงความเคารพเลื่อมใสตั้งแต่ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระพุทธรัตนะและในพระธรรมและในพระสงฆ์ เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นเครื่องที่จะให้ท่านเห็นว่า ความเลื่อมใสใดๆ นั้น ไม่ควรจะให้เกินกว่าความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 23

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 24

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 25

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 26


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ