ใครๆ ก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้

 
เมตตา
วันที่  1 ม.ค. 2567
หมายเลข  47208
อ่าน  424

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ลุมพินี, เนปาล วันศุกร์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 441

๓. สัมมาสัมพุทธสูตร

ว่าด้วยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[๑๗๐๓] กรุงสาวัตถี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อริยสัจ ๔ ประการนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้แล ตามความเป็นจริง ตถาคต เขาจึงกล่าวว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบสัมมาสัมพุทธสูตรที่ ๓


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลเอก

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 187

ที่ชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่ากระไร? เพราะอรรถว่า ไม่มีผู้อื่นเหมือน เพราะอรรถว่าพิเศษโดยคุณ เพราะอรรถว่า เสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลเสมอ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่เหมือนกับมหาชนทั่วไป โดยคุณคือโพธิสมภารนับตั้งแต่ทรงรำพึงถึงบารมี ๑๐ ตามลำดับและโดยพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเอก เพราะอรรถว่า ไม่มีใครเหมือนบ้าง.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงมีคุณพิเศษกว่าคุณของเหล่าสัตว์ผู้มีคุณทั่วไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อบุคคลเอก เพราะอรรถว่า มีความพิเศษโดยคุณ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนๆ ไม่เสมอด้วยสัตว์ทุกจำพวก แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านี้พระองค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้เสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น โดยพระคุณคือรูปกาย และพระคุณคือนามกาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเอก เพราะอรรถว่าเสมอกับพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ.


[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 589

ในการแก้ปัญหาว่า กติ สีลานิ - ศีลมีเท่าไร เพราะปกติของศีลมีเท่าไร เพราะปกติของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ ในโลก ท่านกล่าวว่า สีลํ ไว้ในบทนี้ว่า

กุสลสีลํ - กุศลเป็นศีล อกุสลสีลํ - อกุศลเป็นศีล อพฺยากตสีลํ - อัพยากฤตเป็นศีล


ท่านภันเต: ขอความเข้าใจความลึกซึ้งของ ศีล ๕

ท่านอาจารย์: เราต้องเริ่มต้นเพื่อเข้าใจแต่ละคำของสิ่งที่มีจริง เป็นต้นว่า ศีล คืออะไร มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงคำ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐

ท่านภันเต: ศีลมีอะไรบ้างบอกได้ว่ามีเท่าไหร่ แต่ความหมายของศีลคืออะไร ไม่ทราบเลย

ท่านอาจารย์: ถ้าดิฉันบอกว่า ศีล ๕ คือ ๑ .. ๒ .. ๓ .. ๔ .. ๕ .. ดิฉันเป็นพระพุทธเจ้าหรือเปล่า?

ท่านภันเต: ใครพูดก็ได้

ท่านอาจารย์: ถ้าคุณวีระพูดว่า ศีล ๘ มี ๑ .. ๒ .. ๓ .. ๔ .. ๕ .. ๖ .. ๗ .. ๘ .. คุณวีระเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า?

ท่านภันเต: ไม่เป็น

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าไม่ฟังคำของพระองค์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ แล้วเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงคำเดียวลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ก่อนอื่นต้องรู้ว่า ใครๆ ก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ นอกจากผู้ที่รู้ว่า ทุกอย่างที่มีเดี๋ยวนี้ ความจริง คืออะไร? ความจริงเดี๋ยวนี้ คืออะไร?

ท่านภันเต: อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาให้ความเข้าใจ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรีบ ไม่ใช่อยากรู้เร็วๆ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ต้องคิด เพราะส่วนใหญ่คนไม่ค่อยคิด ไม่เคยหัดคิด จำแล้วก็ทำตาม นั่นไม่ใช่ปัญญา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแม้เพียงคำเดียว ไม่ใช่ให้คนจำ แต่ให้เข้าใจความลึกซึ้งของคำนั้น

เพราะฉะนั้น ลองพูด คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักคำซิ

ท่านภันเต: คำว่า สมาธิ

ท่านอาจารย์: พูดซิ สมาธิ คุณวีระพูดซิ สมาธิ

พี่วีระ: สมาธิ

ท่านอาจารย์: ทุกคนมีความรู้เท่ากันไหม?

ท่านภันเต: ไม่

ท่านอาจารย์: แล้วพระพุทธเจ้าพูดสมาธิ เราพูดสมาธิ ปัญญาต่างกันไหม?

ท่านภันเต: ต่างกัน

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คิดว่าเข้าใจ คำ ของพระพุทธเจ้าโดยไม่รู้ความลึกซึ้งได้ไหม?

ท่านภันเต: ไม่ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเข้าใจจริงๆ ทุกอย่าง ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้ง เพราะพระองค์ตรัสรู้จึงตรัสคำนั้น ใครก็ตามได้ยินคำว่า สมาธิ พูดคำว่า สมาธิ แต่ไม่เข้าใจไม่รู้จักสมาธิ มีประโยชน์ไหม?

ท่านภันเต: ไม่มีประโยชน์

ท่านอาจารย์: พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมาธิ แต่คนฟังไม่ศึกษาด้วยความเคารพ คิดเอง แล้วบอกคนอื่นว่า นี่เป็นสมาธิ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา กี่คำ?

ท่านภันเต: เยอะมาก

ท่านอาจารย์: เข้าใจคำหนึ่งจริงๆ หรือเปล่า?

ท่านภันเต: ไม่เข้าใจ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ไม่จำคำพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่รู้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มจากคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร?

ท่านภันเต: เป็นผู้ที่สอนเพื่อที่เราจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ท่านอาจารย์: พระองค์ตรัสสอนว่าอะไร?

ท่านภันเต: สอนเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต เพื่อจะรู้ว่าเหตุมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อชีวิตเราไม่เดือดร้อนถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ไม่ดี

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่คำถาม

คุณสุขิน: ท่านอาจารย์ทวนใหม่ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องฟังดีๆ ทุกคำ ถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืออะไร พุทธะคืออะไร สัมมาคืออะไร

ท่านภันเต: ผู้มีปัญญา

ท่านอาจารย์: ปัญญาคืออะไร?

ท่านภันเต: ปัญญา คือสิ่งที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้รู้ไหม เดี๋ยวนี้มีจริงไหม?

ท่านภันเต: มีจริง

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เดี๋ยวนี้ คืออะไร?

ท่านภันเต: สิ่งที่มีจริงมีจริง

ท่านอาจารย์: แน่นอน แล้วอะไรมีจริงเดี๋ยวนี้

ท่านภันเต: ก็พยายามเข้าใจสิ่งที่ท่านอาจารย์พูด

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีอะไร คุณวีระ

พี่วีระ: มีธรรม

ท่านอาจารย์: ขอตัวอย่าง

พี่วีระ: สี

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้อะไรจริง?

ชาวไทย: เห็น

ท่านอาจารย์: จริงไหม?

ชาวไทย: เดี๋ยวนี้ได้ยินมีจริงๆ คิดมีจริง

ท่านอาจารย์: เห็นจริง เห็นไหมคะ ไม่ใช่ตอบว่าเป็นธรรม แล้วไม่รู้อะไร ไม่ใช่คำนั้น คำนี้ แต่ไม่รู้อะไร แต่ต้องมีจริงๆ เดี๋ยวนี้

ท่านภันเต: เห็น

ท่านอาจารย์: เห็น มีจริงไหม?

ท่านภันเต: มีจริง

ท่านอาจารย์: ได้ยินมีจริงไหม?

ท่านภันเต: มีจริง

ท่านอาจารย์: คิดมีจริงไหม?

ท่านภันเต: มีจริง

ท่านอาจารย์: จำมีจริงไหม?

ท่านภันเต: มีจริง

ท่านอาจารย์: สิ่งที่มีจริงทั้งหมดมีจริงๆ เป็นธรรม

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 431

๑๐. มหาปเทสสูตร

ว่าด้วยมหาประเทศ ๔

[๑๘๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อานันทเจดีย์ ใกล้โภคนคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมหาประเทศ ๔ นี้ เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มหาประเทศ ๔ เป็น ไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมาได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงเทียบเคียงในพระสูตร พึงสอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันไม่ได้ในพระสูตร สอบสวนกันไม่ได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ ภิกษุนี้รับมาผิดแล้ว เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนี้เสียทีเดียว อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย ถ้าเมื่อเทียบเคียงในพระสูตร สอบสวนในพระวินัย บทและพยัญชนะเหล่านั้น เทียบเคียงกันได้ในพระสูตร สอบสวนกันได้ในพระวินัย ในข้อนี้พึงลงสันนิษฐานได้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ และภิกษุนี้รับมาดีแล้ว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาประเทศข้อที่ ๑ เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้.

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงหรือ

ความหมายของ ศีล

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ฟังเพื่อรู้ความลึกซึ้งของธรรม

พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมคือสิ่งที่มีจริง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 3 ม.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ