ขณะนี้ เป็นอะไร?

 
nattawan
วันที่  24 ก.ค. 2567
หมายเลข  48184
อ่าน  197

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิฯ
อาสาฬหบูชา ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙

ขณะนี้ เป็นอะไร? ถ้าเป็นอกุศล เปลี่ยนเป็นกุศลได้ไหม? เกิดแล้วเป็นกุศลแล้วดับแล้ว เปลี่ยนไม่ได้เลย ศึกษาธรรมะเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ประโยชน์ที่สุดคือ ให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ไม่ใช่เรา ได้ยินคำไหนในพระไตรปิฎก ความลึกซึ้งของธรรมะนั้นไม่ใช่เพียงแต่ผ่านไปแล้วก็จำชื่อ จำเรื่อง แต่ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้!! เป็นอย่างที่ได้ทรงแสดงไว้หรือเปล่า?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

จุดตั้งต้น ก็คือ การฟังพระธรรม และไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ ฟังแล้วก็พิจารณาหาเหตุผล เพราะเหตุว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และทรงมีพระมหากรุณาแสดงพระธรรมถึง 45 พรรษาตลอดพระชนม์ชีพ นับตั้งแต่เมื่อได้ตรัสรู้แล้วได้เดินทางไปโปรดปัญจวัคคีย์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง และทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวงให้บุคคลอื่น ได้ฟัง ได้พิจารณา ได้อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่ทำให้เกิดปัญญา ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเรียนไปเท่าไรก็ยังไม่รู้ แต่เมื่อได้ฟังแล้ว สามารถพิจารณา และศึกษาเข้าใจเพิ่มขึ้น ถูกต้องขึ้น ชัดเจนขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แล้วก็มีนามธรรมและรูปธรรม เกิดดับสืบต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการคลอดจากครรภ์ของมารดา ขณะนั้น มีตาเห็น มีหูได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายรู้กระทบสัมผัสสิ่งที่ปรากฏ แต่ใครไปพูดอะไรด้วย เข้าใจไหม เด็กที่เพิ่งเกิด ไม่รู้เรื่องเลย แต่ว่ามีการเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสและเมื่อไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงแต่สภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็ยึดถือในอาการที่ปรากฏซึ่งเสมือนไม่เกิดดับว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็มี “สัมมุติ” คือ การยึดถือสภาพธรรม เพราะไม่รู้ปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

ขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

พระธรรมต้องเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง และมีอยู่ แต่การที่จะรู้ไม่ง่าย เพราะเหตุว่าจะต้องเข้าใจถูกต้องจริงๆ และจะต้องรู้ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

ธรรมะทั้งหมดเพื่อละการยึดถือความเป็นตัวตน

อย่าลืม ธรรมะทั้งหมด ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะชัดเจนขึ้น เพื่อจะได้มีเครื่องปรุงสำหรับปัญญา ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

ธรรมต้องพิจารณาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโลภะ โทสะโมหะ โดยพิจารณาตนเองว่าการที่ยังมีความติดข้องยึดมั่นผูกพันในบุคคล ควรที่จะคลายเกลียวออกหรือจะหมุนเกลียวให้แน่นเข้าไปอีก เพราะว่าในภพหนึ่งชาติหนึ่งทุกคนต้องมีความผูกพันมีความยึดมั่นในบุคคลต่างๆ โดยฐานะต่างๆ แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ควรที่จะคลาย หรือ ยึดมั่นให้มากขึ้น

ทางเดินของชีวิต

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

จะเห็นได้อย่างไร ก็ชอบไปหมด เดี๋ยวนี้เองก็กำลังชอบ ดอกไม้ก็สวย อะไรก็ดีไปหมด แล้วจะเห็นโทษได้อย่างไร แต่จากการฟังพระธรรม ลองคิดอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ชอบเสียเลยจะดีกว่าไหม ไม่เดือดร้อนที่จะต้องชอบ แม้แต่ความติดข้องก็เดือดร้อน แต่ถ้าไม่หวั่นไหว แล้วเห็นอะไรก็ตามแต่ ไม่ติดข้องในสิ่งนั้น แต่ต้องเป็นเพราะปัญญา ไม่ใช่เรา ยังมีเรา แล้วพยายามไม่ติดข้อง นั่นก็ไม่ถูกต้อง

ไม่อยากซะเลยดีกว่า

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 287

องค์ของปาณาติบาตนั้น มี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๘๙๑

อชิตปัญหาที่ ๑

ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ

[๔๒๕] อชิตมาณพ ทูลถามปัญหาว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร พระองค์ ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไร เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนอชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ เพราะความ ประมาท เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่อง ฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า กระแสทั้งหลาย ย่อมไหลไปใน อารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแส ทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้น กระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิต ย่อมปิดกั้นได้ด้วยธรรมอะไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้น กระแสในโลก เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้น กระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิต ย่อมปิดกั้นได้ด้วยปัญญา.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

ธรรมชาติเพียงดังว่าหมู่ไม้ในป่า ความสนิทสนม ความมีเยื่อใย

ถ้าไม่ค่อยสนิทสนมก็ยังตัดง่ายใช่ไหมคะ แต่ถ้ายิ่งสนิทสนมก็ยิ่งตัดยากเพราะฉะนั้น โลภะเป็นความสนิทสนม ทุกๆ ชาติจะละโลภะนี่ต้องยากมากทีเดียว
ความมีเยื่อใย ความพัวพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ความเป็นผู้หวัง หวังในรูป หวังในเสียง หวังในกลิ่น หวังในรส หวังในโผฏฐัพพะ หวังในลาภ หวังในทรัพย์ หวังในบุตร หวังในชีวิต กระซิบ กระซิบทั่ว กระซิบยิ่ง กิริยาที่กระซิบ ความเป็นผู้กระซิบ
เวลาที่กระซิบเบาๆ คนอื่นยังได้ยินใช่ไหมคะ แต่เวลาโลภะกระซิบนี้ ไม่มีใครได้ยิน แต่กระซิบอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้เลยนะคะ ขณะไหนนึกคิดขึ้นมาด้วยโลภะ ขณะนั้นก็กระซิบไปเป็นเรื่องต่างๆ

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1553

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

เพราะคุ้นเคยอยู่กับการสะสมอวิชชา ไม่คุ้นเคยกับการค่อยๆ สะสมปัญญา

เพราะคุ้นเคยอยู่กับความไม่เข้าใจ ความไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เพราะคุ้นเคยอยู่กับการยึดถือความเป็นตัวตน เป็นเขา เป็นเรา

เพราะคุ้นเคยอยู่กับการรักสุข เกลียดทุกข์

มีความเข้าใจผิดแล้วเลยเลือกรักโลภะ เกลียดโทสะ

เพราะ ... ไม่คุ้นเคยกับการละ

ละความเห็นผิด สะสมความเห็นถูก

ละความเห็นผิด สะสมความเห็นถูก

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เมตตา
วันที่ 24 ก.ค. 2567

ขณะนี้ เป็นอะไร? ถ้าเป็นอกุศล เปลี่ยนเป็นกุศลได้ไหม? เกิดแล้วเป็นกุศลแล้วดับแล้ว เปลี่ยนไม่ได้เลย ศึกษาธรรมะเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ประโยชน์ที่สุดคือ ให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้ ไม่ใช่เรา ได้ยินคำไหนในพระไตรปิฎก ความลึกซึ้งของธรรมะนั้นไม่ใช่เพียงแต่ผ่านไปแล้วก็จำชื่อ จำเรื่อง แต่ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้!! เป็นอย่างที่ได้ทรงแสดงไว้หรือเปล่า?

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

ขอบคุณ และยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nattawan
วันที่ 24 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ