ไม่เคยรู้เลยใช่ไหมว่า ไม่มีเรา?
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 325
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชนาติ.
ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง
รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง.
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 616
บทว่า ธมฺมทานํ ความว่า บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ เมื่อ (แสดง) จำแนกกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถออกไปว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ตำหนิ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไร้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดังนี้ กระทำกรรมและผลของกรรมให้ปรากฏ ดุจชี้ให้เห็นโลกนี้และโลกหน้า โดยประจักษ์แสดงธรรมให้เลิกละอกุศลธรรม ให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ธรรมทาน.ส่วนบุคคลบางพวก ชี้แจงสัจจะทั้งหลายให้แจ้งชัดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอภิญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปริญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปหาตัพพธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นภาเวตัพพธรรมดังนี้ แสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุอมตธรรม นี้ชื่อว่า ธรรมทาน
อ.คำปั่น: ได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวตั้งแต่ต้นไพเราะมากๆ ครับ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อได้ฟัง คำว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ก็เป็นคำที่ไพเราะอย่างยิ่ง แม้ในคำแปลก็ไพเราะครับว่า เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อกำจัด หรือว่า นำออกซึ่งปฏิปักษ์ ก็คือความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลาย ครับ ก็เห็นชัดเลยว่า ถ้าไม่ได้อาศัย คำ ของพระองค์ ไม่มีทางที่จะนำความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลายออกได้เลยครับ
ประเด็นที่จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ก็คือว่า การที่ได้ฟังได้ศึกษา แล้วค่อยๆ สะสมความเข้าใจที่ได้ฟังอยู่เสมอ ก็คือว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็ขอแค่ประโยคนี้ประโยคเดียวครับว่า ความเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตาครับ จะเปลี่ยนชีวิตของผู้ฟังผู้ศึกษาอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์: ไม่เคยรู้เลยใช่ไหมว่า ไม่มีเรา?
อ.คำปั่น: ไม่เคยรู้เลยครับ
ท่านอาจารย์: แล้วรู้หรือยัง ค่อยๆ ได้ฟังไหมว่า ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา นี่แหละค่ะ อีกนานเท่าไหร่กว่าจะมั่นคง?
อ.คำปั่น: นานมากๆ เลยครับ
ท่านอาจารย์: แม้ในขั้นความเข้าใจเบื้องต้น แล้วก็ความลึกซึ้งตั้งนานเท่าไหร่ที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นเรา แล้วกว่าจะหมดความเข้าใจว่าเป็นเราได้ อีกนานเท่าไหร่? ละเอียด รอบคอบ ลึกซึ้ง มิเช่นนั้น จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อ.คำปั่น: ก็ได้ฟังอย่างนี้ ก็ไตร่ตรองครับว่า ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่ง กว่าที่จะมั่นคงว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา จริงๆ ครับ เพราะว่า แม้แต่พยัญชนะที่ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ก็คือก็ต้องกล่าว แต่ละหนึ่งๆ ด้วยใช่ไหมครับ ไม่ใช่เหมารวมหมดเลยว่า ทั้งปวง ก็ดูเหมือนว่าตัวเองเข้าใจแล้ว แต่จริงๆ ก็ต้องเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งก็มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งครับ
ท่านอาจารย์: ทั้งปวงรวมกัน แล้วจะเข้าใจได้ไหม?
อ.คำปั่น: นั่นครับท่านอาจารย์ครับ ไม่มีทางเลยครับ ก็เป็นประโยชน์ครับ ได้รับการเกื้อกูลจากท่านอาจารย์อย่างนี้ ก็เห็นถึงความที่จะเป็นผู้ที่มีความมั่นคง จริงใจ อดทน ที่จะฟังที่จะศึกษาเพื่อค่อยๆ สะสมความเข้าใจในความเป็นจริงของ ธรรมแต่ละหนึ่งๆ ครับ
ท่านอาจารย์: ปัญญาบารมี สามารถรู้ความจริงที่ลึกซึ้ง แล้วก็เพื่อละ เนกขัมมบารมี มิเช่นนั้น ก็มีแต่เพิ่มความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลาย ต้องมีความเพียรที่จะฟังเพื่อเข้าใจถูกต้อง
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เราไม่ต้องไปเจียรไนโดยชื่อ แต่ตัวความเข้าใจนั้นเองที่ค่อยๆ ละด้วยความเข้าใจถูกต้อง
ก่อนจะตรัสรู้ ยังไม่ตรัสรู้ คิดดู ยังไม่เต็ม ยังไม่พร้อม เกิดไม่ได้ แล้วเราล่ะ? ทั้งวันทำดีอะไรบ้างหรือเปล่า? อดทนไหม? อภัยไหม? มีความเป็นมิตรมากน้อยแค่ไหน? มีประมาณหรือเปล่า คนคนนี้ได้ คนนั้นไม่ได้ หรือว่าถ้าเขาไม่ได้เข้าใจธรรม แล้วไม่มีการกล่าวธรรมให้เข้าใจ อะไรจะช่วยเขาได้?
เพราะฉะนั้น จะหวั่นไหวไหม ในการที่จะเป็นมิตรกับทุกคน เพราะว่า ไม่ใช่เรื่องเราที่จะไปทำอะไรใครได้เลยทั้งสิ้น จะไปติจะไปว่า จะไปทำอะไรทั้งหมด ก็ไร้สาระไม่เกิดประโยชน์ แต่ประโยชน์ คือกล่าว คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เขาเริ่มไตร่ตรอง ให้เขาเริ่มเห็นประโยชน์ จนกว่าเขาจะเริ่มเข้าใจความจริงเมื่อไหร่ เขาก็ละ เพราะปัญญาเกิดขึ้นเห็นโทษ เป็นคำที่พระองค์ตรัสสอนหรือเปล่า? ทุกคำ ทั้งอภัย อภัยทาน ทานไม่ใช่มีแต่อามิสทาน และยังมีธรรมทาน เพื่ออะไร? เพื่อขัดเกลาทุกอย่างที่หนาแน่น เหนียวแน่น เกินกว่าจะรู้ได้ว่า ในสังสารวัฏฏ์มีเท่าไหร่ แต่ชีวิตประจำวันเป็นเครื่องแสดงออก
คนที่พูดไม่จริง หรือพูดอย่างไม่จริงใจ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะอย่างโน้น เพราะอย่างนี้ เข้าใจว่า นั่นถูก ทำไมไม่ไปพูดความจริงล่ะ ความจริงประเสริฐสุดไม่ใช่หรือ? เป็นประโยชน์ทั้งอดีต อนาคต แม้ปัจจุบัน ไม่ได้ให้โทษกับใครเลย
ความจริงทำให้คนได้ตระหนัก ได้รู้ว่า ตนมีความผิดแค่ไหน มีอกุศลแค่ไหน แต่ถ้าไม่รู้ความจริง ก็หลีกไปเลี่ยงมา แล้วจะได้ประโยชน์อะไร
เพราะฉะนั้น กิเลสมีเยอะมาก หลายรูปแบบ ถ้ารู้ไม่ทัน ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
อ.คำปั่น: ก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งเลยครับ แล้วก็ที่สำคัญเมื่อสักครู่ได้ฟังท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง การเกื้อกูลด้วยธรรม ธรรมทานก็เป็นการให้ชีวิตที่ประเสริฐจริงๆ ครับ
ขอเชิญอ่านได้ที่..
ขอเชิญฟังได้ที่..
อบรมจนรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่เราก่อน
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ