กายคันถะ

 
หาคำตอบ
วันที่  16 ส.ค. 2551
หมายเลข  9588
อ่าน  1,347
อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะเป็นความเห็นผิดอย่างไร

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 17 ส.ค. 2551

ในพระบาลีแสดงว่าความเห็นผิดที่เว้นจากสีลัพพตปรามาสกายคันถะเป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะเทั้งหมดครับคำอธิบายมีดังนี้

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๓๖

[๗๔๐] อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ เป็นไฉน? ความเห็นว่า โลกเที่ยง นี้แหละจริงอย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าโลกไม่เที่ยง นี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าโลกมีที่สุด นี้แหละจริงอย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าโลกไม่มีที่สุด นี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดีว่าชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้น นี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น นี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่เบื้องหน้า แต่มรณะนี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าสัตว์ไม่เป็นอยู่เบื้องหน้า แต่มรณะ นี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็มี ไม่เป็นอยู่ก็มี เบื้องหน้าแต่มรณะ นี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ว่าสัตว์ยังเป็นอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่ เบื้องหน้าแต่มรณะ นี้แหละจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้ก็ดี ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใดนี้เรียกว่า อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ. มิจฉาทิฏฐิแม้ทุกอย่าง เว้นสีลัพพตปรามาสกายคันถะจัดเป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 ส.ค. 2551

คันถะ เป็นกิเลสที่ร้อยรัดหรือรึงรัดหมู่สัตว์ไว้ไม่ให้ออกไปจากกวัฏฏะ สำหรับ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะเป็นหนึ่งในคันถะ ๔ อย่าง (อภิชฌากายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ โลภะ ๑ พยาปาทกายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ พยาบาท ปองร้าย โกรธ ไม่พอใจ ซึ่งเป็นลักษณะของโทสะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ การลูบคลำยึดมั่น ถือมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ๑ และ อิทังสัจจาภินิเวส-กายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ ความเห็นผิดว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ๑) จึงเห็นได้ว่า คันถะ ทั้ง ๔ ประการนั้น ย่อมไม่พ้นไปจากอกุศลธรรม ๓ ประเภท คือ โลภะ โทสะ และมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดทั้งหลาย ที่ไม่ใช่การลูบคลำยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด จัดเป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 17 ส.ค. 2551

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จากความไม่รู้ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความเข้าใจผิด เห็นผิดซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ พร้อมทั้งจะมีความเข้าใจถูกตรงตามสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏ ตามความเป็นจริง กิเลสทั้งหลายที่มีมากนั้นสามารถดับได้เด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีกเลย ด้วยอริยมรรค เท่านั้น โลภะที่ติดข้องยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ดับได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค โลภะที่ติดข้องในภพ ดับได้เด็ดขาดด้วยอรหัตตมรรค โทสะ ดับได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค สำหรับความเห็นผิดทั้งหลายทั้งปวง ดับได้เด็ดขาดด้วยโสดาปัตติมรรค ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 17 ส.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ต้องไม่ลืมก็คือ สภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่เห็นผิด ที่เห็นว่าโลกเที่ยง หมายถึงว่า ยึดถือว่าสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ เที่ยง ไม่เกิดดับจริงเป็นความเห็นผิด เช่น กล่าวว่า เห็นขณะนี้เที่ยงไม่เกิดดับ เพราะดูแล้วก็ไม่เกิดดับเลย เมื่อมีความเห็นว่า การเห็นเที่ยงก็ย่อมยึดถือด้วยความเห็นผิด เป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ หรือยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคลจริงที่เกิด ที่ตายที่เป็นอยู่ แต่ความเป็นจริงก็คือเป็นสภาพธรรมเท่านั้น ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีความเห็นผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เห็นว่าเที่ยง เป็นต้นโดยไม่ได้เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อดับกิเลส (สีลัพพตปรามาสกายคันถะ) ขณะนั้นเป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ซึ่งหากไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคล เป็นพื้นฐานแล้ว อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะก็ไม่มีและความเห็นผิดอื่นก็มีไม่ได้เลย ดูเหมือนที่กล่าวมาอยู่ในหนังสือ แต่ขณะใดที่เกิดความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ หรือสีลัพพตปรามาสกายคันถะ มีอยู่ในชีวิตประจำวันครับ การจะรู้ความจริงเพื่อดับกิเลส ไม่ใช่รู้ความหมายแต่ให้เข้าใจตัวจริงของขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิด เพื่อเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ขออนุโมทนาครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ.........

ใช่สีลพตปรามาสหรือไม่ สีลัพพตปรามาส รู้เรื่องราวของธรรมะ แต่ยังมีความเห็นผิดได้ สีลัพพตปรามาสความเห็นผิดในชีวิตประจำวัน การละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 18 ส.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ