จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013


    เพราะฉะนั้นนี่ก็คงเป็นวิริยารัมภกถา ที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็น้อมศึกษาพิจารณาจนกว่าจะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    6972 พอที่จะเป็นปัจจัยให้ชวนวิถีเป็นกุศลเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าใจธรรมได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ พอที่จะเป็นปัจจัยให้ชวนวิถีเป็นกุศลเพิ่มขึ้นได้ไหมคะ ในเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าไม่ฟังเลย ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นผลของอดีตกรรม เป็นวิบาก ขณะใดเป็นชวนวิถีที่จะสั่งสมสันดานที่เป็นกุศลหรืออกุศล ผู้นั้นก็ย่อมจะไม่มีการเห็นโทษของอกุศล ไม่มีการอบรมเจริญกุศล สังสารวัฏฏ์ก็ย่อมจะต้องยืดยาวต่อไป แล้วก็อกุศลจิตเกิดมาก หรือกุศลจิตเกิดมาก เพราะฉะนั้นผลข้างหน้าจะเป็นกุศลวิบาก หรือว่าเป็นอกุศลวิบาก ซึ่งทุกท่านก็ย่อมสามารถที่จะพิจารณารู้ธรรมที่เกิดกับตัวท่านได้ตามความเป็นจริง

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ หรือยังคิดว่าไม่ใช่กรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    6992 เข้าใจอรรถความหมายของจิตเกื้อกูลให้สติเกิดรู้ลักษณะของจิต

    ท่านอาจารย์ สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตที่ได้กล่าวถึงแล้ว

    ประการที่ ๑ คือ จิตเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ ย่อมจะเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยิน หรือว่ากำลังได้กลิ่น หรือว่ากำลังลิ้มรส หรือว่ากำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางกายลักษณะต่างๆ เพราะเหตุว่านั่นเป็นจิต ไม่ใช่ตัวตน เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏนั้นๆ ได้

    อรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิต

    ประการที่ ๒ คือ ชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ทุกท่านก็จะทราบได้ว่า ท่านมีอุปนิสัยอย่างนี้ เพราะเหตุว่าท่านสะสมโลภะมาก หรือว่าโทสะมาก หรือว่าโมหะมาก หรือสะสมโลภะแรง โทสะอ่อน โมหะอ่อน ซึ่งทำให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน

    อรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการต่อไป คือ

    ประการที่ ๓ ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    ถ้าทราบเรื่องของวิถีจิตแล้ว ก็คงจะเข้าใจความหมายที่เป็นสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะเหตุว่าชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    6993 จิตดวงต่อไปที่เกิดสั่งสมทุกอย่างที่มีในจิตดวงก่อน

    ที่ทุกท่านกำลังสั่งสม ชวนวิถีนี้ไม่สูญหายไปไหนเลย แม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นและดับไป แต่การดับของจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตดวงต่อไปที่เกิดก็สั่งสมทุกอย่างของจิตดวงก่อน เพราะเหตุว่าเกิดเพราะจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นชวนวิถีจิตที่สั่งสมสันดานก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก

    สังสารวัฏฏ์ เท่าที่ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินได้ฟัง ก็มี กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์

    กิเลสวัฏฏ์ฏะ วนเวียน กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สั่งสมสันดาน และเป็นเหตุให้กระทำ กัมมวัฏฏะ เมื่อมีกรรมซึ่งเป็นเหตุ เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งเป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ไม่สูญหาย เพราะเหตุว่าจะเป็นปัจจัยให้เกิด วิปากวัฏฏ์

    แล้วเวลาที่วิบากเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ปราศจากกิเลสวัฏฏ์อีก เพราะเหตุว่ามีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นเมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดวิบาก เป็นกุศลวิบากบ้าง อกุศลวิบากบ้าง ไม่รู้จบ ใช่ไหมคะ ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม สังสารวัฏฏ์ทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นวนเวียนอยู่เรื่อยๆ

    มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหมคะ

    6994 ปฏิจจสมุปปาท กับ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และ วิปากวัฏฏ์

    ท่านที่เคยอยากทราบเรื่อง ปฏิจจสมุปปาท คือ ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น นี่คือเรื่องของกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ และวิปากวัฏฏ์ เริ่มตั้งแต่ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์ แล้วหรือยังคะ

    อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร “สังขาร” ที่นี่คือ ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กุศลกรรม อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลกรรม อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ อรูปกุศลกรรม เพราะกรรมใดที่เนื่องกับรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศล เป็นกุศลที่เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเป็นรูปฌาน กรรมใดก็ตามซึ่งยังเนื่องกับรูป เป็นปุญญาภิสังขาร กุศลกรรมใดที่เนื่องกับรูปเป็นปุญญาภิสังขาร

    เพราะฉะนั้นสังขารจึงมี ๓ โดยนัยของปฏิจจสมุปปาท คือ ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ กุศลกรรมทั้งหลายที่เนื่องกับรูป อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลกรรมทั้งหมด อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ อรูปฌานกรรม ๔ เท่านั้น เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ได้แก่ ปฏิสนธิจิตในภูมิต่างๆ ตามเหตุของกรรมนั้น เป็นปฏิจจสมุปปาทหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปปาทไม่ได้อยู่ที่อื่น แล้วก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คือ ในทุกๆ ขณะนี้ ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใด จะทรงแสดงโดยนัยของปรมัตถธรรม ๔ ทรงแสดงโดยนัยของอริยสัจธรรม ๔ หรือทรงแสดงโดยนัยของปฏิจจสมุปปาท ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้เอง

    6995 ความลึกซึ้งของปฏิจสมุปปาท

    ถาม ปฏิจจสมุปปาท พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ในพระสูตรนี่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้ยินแล้วก็ว่า ปฏิจจสมุปปาทนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ลึกซึ้งๆ แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ก็รู้เข้าใจดีอยู่ ปฏิจจสมุปปาทนี้ และโดยที่เราศึกษา ผู้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็รู้จริงๆ ว่า ปฏิจสมุปปาทนี้อาศัยธรรมซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้น แล้วท่านก็รู้จริงๆ แล้วทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น” เพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ รู้แค่ไหนละคะ ถ้ารู้เพียงแค่กิเลสวัฏฏ์ เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏ กัมมวัฏเป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสวัฏฏ์อีก กิเลสวัฏฏ์นั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏอีก กัมมวัฏนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์อีก รู้แค่นี้ หรือว่ารู้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้อีก มีหลายขั้น หลายระดับค่ะ สำหรับความเข้าใจปฏิจจสมุปปาทค่ะ

    ผู้ฟัง ความรู้ของพระโสดาบันนี้ จะต้องรู้มากกว่านี้ซิครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ายังไม่ถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง นั่นซิครับ เพราะว่าปฏิจจสมุปปาทธรรมนี้เป็นความรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมจึงสงสัยว่า เช่น อัครสาวกหรือมหาสาวกก็ยังรู้ไม่หมดอย่างนั้นหรือครับ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ไม่สามารถจะรู้ละเอียดและลึกซึ้ง โดยทั่ว โดยตลอด เช่นเดียวกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังลองไล่ไปก็ได้นะคะ จะได้รู้ว่า ความรู้ของท่านถึงที่สุดที่ตรงไหน เช่น ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถูกไหมคะ ทุกคนที่เกิดขึ้น คือ ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียวเท่านั้นในบรรดากรรมนับไม่ถ้วนที่ได้กระทำมาแล้วในชาติก่อนๆ ทั้งหมด แต่กรรมใดให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตนั้นเป็นผลของกรรมนั้น แล้วก็กรรมนั้นเองที่เกิดขึ้นก็เพราะเหตุว่ามีอวิชชาเป็นปัจจัย

    ทุกท่านที่เกิด ปฏิสนธิจิตเกิดนี้ ในปฏิสนธิจิตนั้นจะปราศจากอวิชชานุสัยไม่ได้เลย แม้ว่าจิตที่เป็นกุศลวิบากจิต ไม่มีโมหเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจการงาน เพราะเป็นกุศลวิบาก แต่อวิชชาไม่ได้ดับ ไม่ได้หมด ยังสะสมเป็นพืชเชื้อนอนเนื่องอยู่ในจิต ไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่ว่ามีอนุสัย คือ ความไม่รู้ นอนเนื่องอยู่ในปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นกุศลวิบาก ถ้าเกิดในกามสุคติภูมิ แต่ว่าอวิชชามาจากไหน ลองไล่ความรู้ของท่านผู้ฟังไปซิคะ จะสามารถรู้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะกล่าวว่า ปฏิจจสมุปปาทนั้นตื้นได้ไหม พอไปถึง “อวิชชา” นี้น่ะค่ะ แต่ไม่ใช่ว่า ท่านไม่สามารถจะรู้อวิชชา แต่อวิชชาที่ท่านสามารถรู้ได้ขณะนี้ ไม่ใช่สาวไปชาติก่อนโน้นๆ ๆ ในอนันตชาตินับไม่ถ้วน แต่ว่าในขณะนี้เองค่ะ สามารถที่จะรู้ว่า มีอวิชชา

    ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่รู้ว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็น “อวิชชา” ถ้าไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แล้วดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็น “อวิชชา”

    ด้วยเหตุนี้ผู้ใดที่เกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตจะต้องมี “อวิชชานุสัย” แม้ว่าแม้ว่าโมหเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะที่เป็นกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ แต่เมื่อปฏิสนธิเกิดแล้วนี้ ขอให้ดูสภาพของเด็กที่ขณะจิตต่อๆ ไปเต็มไปด้วยอวิชชา และเมื่อเติบโตขึ้นมีการศึกษา มีการเล่าเรียน มีการประกอบอาชีพการงานต่างๆ หมดอวิชชาหรือเปล่าคะ ยังคงไม่รู้เหมือนเดิม ถ้าไม่มีการศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยละเอียด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองนั้นมีอวิชชา คือ ไม่รู้ว่า “ไม่รู้อะไร” เพราะเหตุว่าเห็นก็เข้าใจว่ารู้ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ในขณะนั้นเป็นการไม่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา

    6996 อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

    ควรระลึกเสมอว่าการศึกษาให้เข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูปนั้น ก็เพื่อ อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นปรากฏแต่ละขณะตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ถ้าศึกษาเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริงตามที่ได้ศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    6997 ทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหาอยู่

    ธรรมเป็นเรื่องชีวิตจริงๆ ทุกๆ วัน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงจุติ เพราะฉะนั้นก็ควรจะได้ทราบลักษณะสภาพของชีวิตของแต่ละท่าน หรือจิตใจของท่านแต่ละขณะว่า เป็นธรรมประเภทไหน

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงลักษณะของจิตซึ่งมีอรรถว่า

    ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลสสั่งสมวิบาก ซึ่งก็แสดงถึงปฏิจจสมุปปาททั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ และวิปากวัฏฏ์ นั่นเอง ซึ่งกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์ ก็ไม่ได้อยู่ในขณะอื่น นอกจากทุกๆ ขณะนี้เองว่า ในขณะนี้จิตที่เกิดเป็นกิเลสวัฏฏ์ หรือเป็นกัมมวัฏ หรือเป็นวิปากวัฏฏ์

    ซึ่งในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เมื่อมีผัสสะแล้ว ผัสสะก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา และเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา โลภะ เป็นประจำ จริงไหมคะ

    นี่ชีวิตจริงๆ ที่จะต้องพิสูจน์พระธรรมว่าเป็นอย่างนี้หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมก็จะทำให้เห็นว่า ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือพ้นจากปัจจัยที่จะทำให้เกิดตัณหาเลย ผู้ที่จะพ้นจากตัณหาได้ มีบุคคลเดียว คือผู้ที่เป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ตัณหาก็ต้องมี เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีที่จะให้พ้นจากความติด ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อยังไม่ถึงความเป็นสกทาคามี ก็ยังไม่บางเบา ยังเป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และเมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบัน ผู้ที่เป็นปุถุชน จะมีกิเลสหนาแน่นมากสักเพียงไหน หนีไม่พ้นความที่จะยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าแต่ละบุคคลจะสะสมความพอใจในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะ มากน้อยต่างๆ กันไป แล้วจะทำอย่างไร นี่ตามความเป็นจริง

    นี่คือทุกชีวิตซึ่งเกิดมาแล้วมีปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหา ตั้งแต่อย่างบาง ที่ไม่รู้สึกเลยว่า ขณะนี้เป็นความพอใจทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนกว่ากิเลสนั้นจะมีกำลังปรากฏเป็นปริยุฏฐานกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสที่ทำให้ปรากฏว่า ขณะนั้นจิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เช่น นิวรณธรรม เป็นต้น ถึงจะรู้ว่า ตนเองกำลังมีกิเลส

    6998 ผู้ที่ยังมีกิเลสมาก ก็จะต้องอบรมปัยญาเพื่อละคลายกิเลส

    เพราะฉะนั้นการที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะต้องรู้ด้วยว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสมาก ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส แล้วตั้งแต่เกิดมาจะทำอย่างไร สำหรับผู้ที่มีบุตรหลาน ญาติมิตรสหาย ซึ่งมีผู้ที่เกิดใหม่มา ก็รู้ทันทีว่า ผู้ที่เกิดมานั้นเต็มไปด้วยกิเลส

    เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการอบรมกาย วาจา ตั้งแต่วัยเด็ก โดยผู้ที่เป็นมารดา บิดา ญาติ มิตรสหาย หรือครูอาจารย์ ที่จะให้เห็นประโยชน์ของการอบรมธรรมที่จะให้เป็นฝ่ายกุศลเกิดขึ้น ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง โดยมารยาท ซึ่งเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา อบรมให้เป็นผู้ที่รู้จักเคารพนอบน้อม ให้เป็นผู้ที่มีเมตตากรุณา มีความกตัญญู มีการช่วยเหลือบุคคลอื่น มีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อบุคคลอื่น ซึ่งทุกท่านก็จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เด็กมา แต่ละบุคคลก็มีพื้นของจิตใจที่จะรับฟังคำสอน คำอบรมในทางที่ดีงาม ในทางที่เป็นกุศล หรือว่าถ้าไม่มีบุคคลใดที่จะกล่าวสอน ท่านก็อาจจะมีจิตใจที่เป็นพื้นสะสมมาที่จะพิจารณาเห็นว่า ธรรมฝ่ายใดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ สิ่งใดที่เป็นอกุศล ควรละเว้น โดยอัธยาศัยของท่านเอง นี่ตั้งแต่เด็ก แต่ว่าในระหว่างนั้น ก็ไม่มีใครที่จะพ้นจากโลภะหรือตัณหาได้ แต่อวิชชานั้นเองเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล

    เพราะฉะนั้นแม้ว่ายังไม่ได้ดับอวิชชา ยังมีตัณหา แต่ก็ยังมีพื้นของจิตใจที่จะให้เกิดกุศลกรรมด้วย ไม่ใช่มีแต่อกุศลกรรมเท่านั้น และเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็ไม่ใช่ว่า ตัณหาจะหมดไปตามวัย แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญธรรมที่จะขัดเกลาอกุศล อกุศลทั้งหลายก็ยังมีอยู่เต็ม

    เพราะฉะนั้นในชีวิตการงานของแต่ละบุคคล ซึ่งทุกท่านก็จะพิจารณาได้ว่า ระหว่างที่มีชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยที่ประกอบกิจการงาน อกุศลของท่านมีมากติดตามมา หรือว่ากุศลที่เป็นพื้นของจิตสามารถที่จะเกิดประคับประคองให้กิจการงานของท่านดำเนินไปพร้อมด้วยกุศลจิตได้ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเจริญกุศลได้ทั้งนั้น แต่ว่าทุกท่านจะต้องพิจารณาว่า ท่านมีกุศลเกิดด้วย หรือมีแต่อกุศล ในขณะที่ประกอบกิจการงาน

    ทุกท่านต้องมีผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา มีการเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขช่วยเหลือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือว่ามิตรสหายหรือเปล่า หรือว่าถ้าเป็นข้าราชการ ก็มีการช่วยเหลือผู้ที่มาติดต่อด้วยดี ให้ความสะดวกกับบุคคลอื่นหรือเปล่า

    ซึ่งนี่เป็นชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะประกอบกิจการใด ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตใจสะสมในทางกุศล กุศลสามารถจะเกิดได้มาก ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่มีตัณหา แล้วจะไม่สามารถทำกุศลกรรมได้เลย แต่ว่าทั้งๆ ที่ตัณหาก็ยังมี อวิชชาก็ยังมี ก็ยังมีการสะสมพื้นฐานของจิต ที่จะทำให้กุศลจิตเกิด

    ชีวิตประจำวันของแต่ละท่านจริงๆ ยังมีอวิชชา ยังมีตัณหา แต่ก็ยังมีกุศลเกิดได้มากหรือน้อย แล้วแต่การเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม

    6999 อวิชชามีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา

    ถาม เรื่องของปฏิจจสมุปปาทธรรม วัฏฏะ ๓ นี้ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์ คล้ายๆ กับว่าหมุนเวียนเป็นวงกลม แต่ปฏิจจสมุปปาทธรรมนี้มีอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ อยากจะถามว่า อวิชชามีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิด จะได้เป็นวงกลม

    ท่านอาจารย์ ที่ทรงแสดงไว้ คือ “อาสวะ” ซึ่งเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นอย่างบางเบาสืบต่อกันไปเกือบจะไม่ขาดสาย โดยที่จะไม่รู้เลยว่า เป็นกิเลส

    ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ว่า อาสวะมีอะไรบ้าง

    อาสวะ ที่ทรงแสดงไว้ บางแห่งมี ๓ บางแห่งมี ๔ บางแห่งมี ๕ บางแห่งมี ๖ บางแห่งมี ๗ โดยนัยของพระสูตร แต่โดยนัยของพระอภิธรรมแล้ว ทรงแสดงอาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ๑ ภวาสวะ ความยินดีพอใจในภพ คือ การเกิดขึ้นของขันธ์ ๑ ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิดต่างๆ ๑ อวิชชาสวะ คือความหลงไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ๑

    7000 เป็นอาสวะเพราะหมักดอง สะสม ไหลอยู่เป็นประจำ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็น “อาสวะ” เพราะว่า หมักดอง สะสม ไหลอยู่เป็นประจำเหมือนกับแผล ซึ่งย่อมมีเลือด หรือหนองไหลออก

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีตา เป็นทางไหลออก มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เป็นทางออกของกิเลส คือ ทันทีที่เห็น “รูป” หยุดยั้งความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ เพราะมีอวิชชาซึ่งเป็นอาสวะ ๑ ในอาสวะ ๔

    เพราะฉะนั้นกามาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ฏฐัพพะ หมักดอง แล้วสะสมพอกพูนอยู่ พร้อมที่จะไหลอยู่ทุกขณะที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นั่นเป็น “กามาสวะ” ซึ่งเป็นความจริง ทุกท่านพิสูจน์ได้ เวลาที่หลงลืมสติ ไปแล้วกับความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ภวาสวะ คือ ความพอใจในภพ ในความเป็นอยู่ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ สามารถที่จะดับกามาสวะ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท คำว่า “เป็นสมุจเฉท” คือ ไม่มีเชื้อที่จะเกิดขึ้นได้เลย ที่พระอนาคามีบุคคลจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นพระอนาคามีดับกามตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรูป ซึ่งปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏในจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น ในการกระทบสัมผัสซึ่งปรากฏทางกาย

    เพราะฉะนั้นพระอนาคามียังมีความพอใจในอะไรอยู่ ลองคิดดูถึงสภาพของจิต ที่ต่างกันจากความเป็นปุถุชน ซึ่งพอใจไปหมดทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี สามารถที่จะดับสนิทซึ่งความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เวลาเห็นนี้ ปุถุชนนี้ยินดีแล้ว พอใจแล้ว เป็นอาสวะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ