จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016


    ไม่ว่าจะอีกกี่หมื่นปีกี่ล้านปีก็ตาม เพราะฉะนั้นเมื่อมีตากำลังเห็น รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา สภาพธรรมใดเป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สามารถที่จะดับกิเลสได้ ก็ชื่อว่า ประจักษ์ในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นจริงๆ

    7015 ผู้ที่บรรลุโดยไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม ท่านรู้เรื่องวิถีจิตดีหรือไม่

    ผู้ฟัง ผมเคยได้ยินนักศึกษาพระอภิธรรมบางคนกล่าวว่า พระอริยบุคคลในครั้งพุทธกาล บางทีปัญญาของท่านยังน้อยไป เพราะว่าท่านไม่ได้ศึกษาเรื่องของพระอภิธรรม เพราะฉะนั้นอยากจะถามว่า ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลในครั้งพุทธกาล โดยที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม พระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นท่านรู้เรื่องของวิถีจิต ดีไหมครับ

    ท่านอาจารย์ พระอภิธรรมคืออะไรล่ะคะ

    ผู้ฟัง ก็คือธรรมซิครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พระอภิธรรมไม่ใช่อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่ตำราเป็นเล่มๆ หรือเป็นหน้าๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อผู้ที่เป็นเนยยบุคคลไม่สามารถจะเข้าใจได้ทันที พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอภิธรรมโดยละเอียด เพื่อทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลให้สติของผู้ฟังโดยละเอียดเกิดระลึกได้

    7016 ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล กับ ความเข้าใจกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

    อย่างในคราวก่อนได้พูดถึงอรรถ คือ ลักษณะของจิตประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่า “เป็นธรรมชาติซึ่งกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก”

    ชื่อว่า “เป็นธรรมชาติซึ่งกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก”

    สั้นๆ แค่นี้ พอไหมคะ เข้าใจไหม เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล ต้องไม่ใช่ผู้ที่เป็นปทปรมะด้วย

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็ยังต้องรู้ความต่างกันว่า สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้น คือ ผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยช้า อย่าลืมนะคะ แต่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ผู้ใดถึงจะสอนมาก ถึงจะฟังมาก ถึงจะแสดงหรือกล่าวธรรมมาก แต่ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นปทปรมบุคคล

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นเนยยบุคคลต้องฟังมาก เพราะเพียงฟังว่า “ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติที่กรรม กิเลส สั่งสมวิบาก” ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ซึ่งเป็นจิต กิเลสก็มี ไม่ใช่ว่า หมด วิบากก็มี ไม่ใช่ว่าหมด กรรมก็มี ไม่ใช่ว่าหมด แล้วทำไมไม่ประจักษ์แจ้ง เพียงฟังว่า “ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติที่กรรมกิเลสสั่งสมวิบาก”

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของกิเลสโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องของกรรมโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องของวิปาก คือ วิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องปฏิจจสมุปปาท คือ กิเลสวัฏฏ์โดยละเอียด กัมมวัฏโดยละเอียด วิปากวัฏฏ์โดยละเอียด

    ทรงแสดงว่าในขณะหนึ่งที่สภาพธรรมใดที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเกิดขึ้น สภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีปัจจัยอะไรทำให้เกิดขึ้น และรูปนั้นมีปัจจัยอะไรบ้างทำให้เกิดขึ้น

    ที่กำลังเห็นแต่ละขณะนี้ กว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ เท่านั้นจริงๆ ดับไปแล้ว ที่กำลังพูดถึงการเห็นนี้ ก็ไม่รู้ว่า นามธรรมกี่ประเภทได้ดับไปแล้ว และการเห็นแต่ละขณะที่จะเกิดได้ ก็มีปัจจัยหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วิบากจิตประเภทต่างๆ อกุศลจิตประเภทต่างๆ หรือกรรมประเภทต่างๆ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้คนที่เป็นเนยยบุคคลฟัง ฟังแล้วก็ฟังอีก แล้วก็พิจารณาเพื่อที่จะไม่หลงลืม เพราะถ้าไม่อาศัยการฟัง ทุกคนไม่พ้นความคิด เพราะฉะนั้นก็จะต้องคิดเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอภิธรรม ไม่ใช่เรื่องของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อฟังเรื่องของอภิธรรม หรือธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากขึ้น บ่อยขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้ไม่หลงลืมที่สติจะเกิดระลึกศึกษา เพื่อรู้ชัดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ปฏิจจสมุปปาทโดยย่อ ที่เป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์ ไม่ใช่เพียงให้เข้าใจว่า เมื่อกิเลสยังมี กรรมก็ต้องมี เมื่อกรรมยังมี วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็ต้องมี และเมื่อกิเลสไม่หมด ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมอีก และเมื่อกรรมมี ก็เป็นปัจจัยให้วิบากเกิดขึ้นอีก

    เข้าใจเท่านี้ไม่พอค่ะ เพราะเหตุว่าต้องเข้าใจโดยละเอียด แม้แต่ในขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง หรือวาระหนึ่ง กิเลสเมื่อไร วิบากเมื่อไร กรรมเมื่อไร ต้องรู้ชัด และสามารถจะประจักษ์แจ้งในสภาพที่เกิดดับจริงๆ ในขณะนี้ได้ แล้วจึงจะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะทำให้บุคคลที่ได้ฟังอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้าไม่อาศัยการฟัง เพียงแต่ได้ยินได้ฟังบ้างนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็เข้าใจบ้างนิดๆ หน่อยๆ ไม่มีทางที่ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะแม้แต่การที่จะรู้ลักษณะของกิเลสวัฏฏ์ หรือกัมมวัฏ หรือวิปากวัฏฏ์ ก็ไม่ใช่ในขณะอื่น ไม่ใช่ว่าพอเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นทีก็วิบากแล้ว นี่เป็นผลของกรรม ก็จะต้องเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งในอดีต พอถึงเวลาที่ได้ความสุข ได้ลาภ ได้ยศ ก็บุญแล้ว เป็นผลของกรรมในอดีตกรรมใดกรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นกุศลให้ผล แต่ว่าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ นี่คือปฏิจจสมุปปาท เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ชัดจริงๆ ในวิบาก ถ้าไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ในขณะที่ได้กลิ่น ไม่ใช่ในขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ในขณะที่กระทบสิ่งที่ปรากฏทางกาย แล้วจะเป็นขณะไหน เพราะเหตุว่าวิบากทั้งหมด คือ ในขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่กระทบทางจมูก ลิ้มรสที่กระทบทางลิ้น รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจปฏิจจสมุปปาทให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ต้องในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เข้าใจเพียงเผินๆ หรือย่อๆ ว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกรรม กรรมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก และในขณะที่กำลังเห็น ไม่รู้ว่าเป็นวิบากอย่างไร

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ทุกประการ หมดความสงสัยได้ คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนชำนาญ จนคล่องแคล่ว จนมีปัจจัยที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ แล้วก็จะรู้ชัดขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม

    มีข้อสงสัยไหมคะในคราวนี้

    7017 ผู้ที่กล่าวว่าพ้นทุกข์ได้โดยไม่ต้องศึกษาเป็นโจรปล้นศาสนาอย่างไร

    ถาม ผมยังติดใจคำพูดในอรรถกถาที่อาจารย์ได้ยกมากล่าวว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์ ไม่ต้องอาศัยการศึกษา ปฏิบัติอย่างเดียว เพราะว่าผู้ที่ศึกษานั้นไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้ คำพูดเช่นนี้เป็นโจรปล้นศาสนา ผมไม่เข้าใจว่า “ปล้น” อย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ สำหรับบุคคลที่กล่าวอย่างนั้นนะคะ ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาว่า เป็นผู้ที่มีปัญญา หรือผู้ที่มีปัญญาทรามที่จะกล่าวอย่างนั้น พูดถูกหรือพูดผิด มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้

    ผู้ฟัง ก็มีนี่ครับ ครั้งพุทธกาล ผู้ที่ศึกษาโดยย่อ ฟังธรรมนิดหน่อย

    ท่านอาจารย์ ก็ยังเป็นผู้ที่ศึกษาอยู่นั่นเอง และเพราะเหตุว่าได้อบรมเจริญปัญญาในอดีต พร้อมที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยเพียงทรงแสดงสั้นๆ ไม่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย เหมือนอย่างผู้ที่เป็นเนยยบุคคล เพราะเพียงคาถาสั้นๆ เทศนาสั้นๆ ก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อันนี้ผมก็ว่า ท่านอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวถูก เพราะว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมก็ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ตั้งแต่ปฏิเวธเสื่อมไป ปฏิบัติเสื่อมไป ปริยัติเสื่อมไป ลิงคะเสื่อมไป ธาตุเสื่อมไป พุทธศาสนาจะหมดก็หมดด้วยอย่างนี้

    ทีนี้ถ้าบุคคลกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษา ก็หมายความว่า ทำให้ปริยัติเสื่อมเร็วกว่าปกติ เพราะฉะนั้น ที่ท่านกล่าวว่า เป็นโจรปล้นพระพุทธศาสนา ก็ด้วยประการนี้กระมังครับ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนาตลอด ๔๕ พรรษา แล้วก็ไม่มีใครศึกษา สมมติว่าค่อยๆ หายไป เลือนไป แล้วพระพุทธศาสนาจะอยู่ที่ไหน ในเมื่อไม่มีพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้นชื่อว่าเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาหรือเปล่า ถ้าเห็นว่าการศึกษาไม่สำคัญ และถ้าไม่ศึกษาแล้ว ใครจะเข้าใจธรรมได้ถูกพอที่จะกล่าวว่า ไม่ต้องศึกษา หรือว่าการปฏิบัตินั้นไม่ยาก ไม่ยากได้อย่างไร กำลังเห็นอย่างนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ทางตา ไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่ทางใจ เป็นแต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง อย่างนี้หรือคะ จะไม่ยากที่จะประจักษ์ ใครจะบอกได้ว่า ไม่ยาก ถ้าใครบอกว่าไม่ยากนั้นผิดหรือถูก แล้วขอให้แสดงหนทางปฏิบัติซิคะว่า ปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ยาก ทำอย่างไรจึงจะไม่ยาก วิธีไหนที่จะไม่ยาก

    เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ถูกต้อง จึงได้กล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก เป็นผู้มีปัญญาทราม แต่ก็ยังนั่งในท่ามกลางอุปัฏฐากทั้งหลายกล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ ซึ่งเท่ากับสละพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อทรงอนุเคราะห์แก่ผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือปทปรมะที่จะอบรมไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ที่กล่าวอย่างนั้นจะสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามปกติได้ไหมว่า เป็นสภาพรู้ ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ไม่ว่าจะได้กลิ่นอะไร ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก พร้อมทั้งรู้ปฏิจจสมุปปาท ไม่ใช่โดยเข้าใจ แต่ในขณะที่กำลังเห็นนี้เอง ขณะไหนเป็นกิเลสวัฏฏ์ ขณะไหนเป็นกัมมวัฏ ขณะไหนเป็นวิปากวัฏฏ์

    7018 การเข้าใจข้อปฏิบัติผิด ไม่ได้มีแต่เฉพาะในสมัยนี้

    สำหรับการเข้าใจเรื่องข้อปฏิบัติผิด ไม่ได้มีเฉพาะในสมัยนี้ และไม่ใช่มีเฉพาะในสมัยที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ยังไม่ปรินิพพาน แม้ในสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ๆ ๆ โน้น ก็มีการสะสมความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ

    7019 ประโยชน์ของการรู้ลักษณะของจิตประการที่ ๓

    สำหรับลักษณะประการที่ ๓ ของจิต ที่ว่า “ชื่อว่า จิต เพราะกรรมและกิเลสสั่งสมวิบาก” ประโยชน์ที่รู้อย่างนี้ ก็เพื่อที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า กำลังเห็นเป็นวิบาก ไม่ลืมที่สติจะระลึกและรู้จริงๆ ว่า กำลังเห็นเป็นวิบาก กำลังได้ยินเป็นวิบาก กำลังได้กลิ่นเป็นวิบาก กำลังลิ้มรสเป็นวิบาก กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบาก

    แต่ขณะที่เกิดความต้องการ ยินดี พอใจในสิ่งที่เห็น ไม่ใช่วิบากจิต ขณะนั้นเป็นกิเลส เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ในขณะที่เข้าใจเรื่องของกิเลส กรรม และวิบากว่า ไม่ใช่ขณะอื่น เมื่อเข้าใจแล้วก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกเพื่อที่จะรู้ชัดในลักษณะของธรรมที่ได้ยินได้ฟังว่า เป็นวิบากอย่างไร เพราะเหตุว่าเวลาที่เสียงเกิดขึ้น ก่อนนั้นไม่เคยรู้เลยว่า เสียงนั้นจะเกิด จะปรากฏ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใด ขณะนั้นรู้ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้ได้ยินเสียงใดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ซึ่งจะรู้ชัดยิ่งขึ้น เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมคะ

    7020 กรรม กิเลส วิบาก เป็นปัจจัยแต่ละประเภท

    ลักษณะประการที่ ๓ ของจิตที่ว่า “ชื่อว่า จิต เพราะกรรมและกิเลสสั่งสมวิบาก”

    มีคำว่า กิเลส มีคำว่า กรรม และมีคำว่า วิบาก ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยแต่ละอย่าง แต่ละประเภท

    “กิเลส” เป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง “เศร้าหมอง” ในที่นี้หมายความถึง “ความไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์” เช่น เวลาที่เกิดความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา ความต้องการเกิดขึ้น

    สบายหรือไม่สบายคะในขณะนั้น กำลังอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สบายหรือไม่สบาย ถ้าไม่อยากได้ ไม่เกิดโลภะ จะสบายกว่านั้นอีก ใช่ไหมคะ ไม่ต้องปรารถนา ไม่ต้องการ ไม่ต้องพอใจ ไม่ต้องติด ไม่ต้องอยากได้ แต่เวลาที่กำลังอยากได้ กำลังพอใจ อวิชชาไม่สามารถที่จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ ไม่สบาย เดือดร้อนแล้ว เพราะความพอใจ ไม่ว่าจะเกิดความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ทราบว่าเป็นความติด เป็นความเศร้าหมอง เป็นความเดือดร้อน ซึ่งอวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ บางทีบางท่านเข้าใจว่า เป็นศรัทธา แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่พิจารณา จะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ หรือเป็นศรัทธา

    7021 ลักษณะของความติดความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าของบรรพชิต หรือของฆราวาส ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า จะพ้นไปจากโลภะได้ไหม ครอบครองอยู่เสมอ ไม่ว่าสิ่งใดจะปรากฏ ลืมตาเห็นเกิดขึ้น พอใจแล้ว ต้องการแล้ว ตราบใดที่ความรู้สึกยังไม่ปรากฏว่า เป็นความไม่แช่มชื่น หรือเดือดร้อนกระสับกระส่าย ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของอาการของความติดหรือความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สำหรับคฤหัสถ์ ฉันใด บรรพชิตที่ยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จะต่างกันไหมคะ ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้นแต่ละชีวิตก็จะต้องมีปัญญาที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีความพอใจในชีวิตแบบใด ก็จะต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นด้วยศรัทธาจริงๆ หรือว่าเป็นด้วยโลภะ ความชอบ ความพอใจในชีวิตอย่างนั้น การที่จะเป็นผู้ที่เจริญในธรรมวินัยได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรง และลักษณะที่ตรงนั้นเป็นลักษณะของปัญญา พร้อมการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามการสะสม ตามเหตุปัจจัยจริงๆ

    7022 กุศล อกุศลที่เกิดแต่ละขณะ ไม่ใช่เป็นการสะสมเปล่าๆ

    ฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนมีทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลและอกุศลที่สั่งสมมามากมายเหลือเกิน เวลานี้สภาพธรรมใดยังไม่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ให้เห็นว่า สะสมมา ก็อาจจะคิดว่าไม่มี หรือว่าหมดไปแล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ามีปัจจัยพร้อมที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้นขณะใด ก็เกิดขึ้นปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ยังมีอยู่ แม้อกุศลอย่างนั้นๆ หรือกุศลนั้นๆ ที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีการเกิดขึ้นของกุศลและอกุศล ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการสะสมเปล่าๆ แต่ว่า “ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก”

    กิเลสที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ถ้ามีมากๆ จะปรากฏเป็นทุจริตกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ถ้าไม่มีกิเลสต่างๆ เหล่านั้น อกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา เหล่านั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย และเมื่อกรรมได้กระทำไปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันกระทำกรรมนั้นสำเร็จลงไปแล้ว ดับไปแล้วก็จริง แต่ว่าการเกิดดับสืบต่อๆ กันของจิตทุกๆ ขณะต่อไป เจตนาที่กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่สะสมอยู่นั้น เป็นกัมมปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่จะทำให้ผล คือ วิบากเกิดขึ้น เป็นวิปากปัจจัย แต่ละขณะนี้มีปัจจัยจริงๆ ที่กำลังเรียนเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ให้ทราบว่า มีปัจจัยอยู่ด้วยทุกขณะ ไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเอง แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น กำลังเห็นขณะนี้ ไม่ใช่กิเลส ใช่ไหมคะ เพียงเห็น แต่เมื่อจิตนั้นดับไปแล้ว ความพอใจซึ่งเป็นโลภะก็เกิด หรือความไม่พอใจ ซึ่งเป็นโทสะก็เกิด หรือว่าผู้ที่สะสมกุศลมามาก กุศลก็เกิด หรือว่าผู้ที่สะสมสติปัฏฐานอยู่เสมอ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อมีความยินดี พอใจ สะสมสืบต่อกระทำกรรมแล้ว กรรมนั้นดับไปแล้ว แต่ว่าเป็นปัจจัยให้เกิดวิปากจิตและเจตสิก ในขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า ขณะใดเป็นกิเลส ขณะใดเป็นกรรม ขณะใดเป็นวิบาก

    กำลังเห็น เลือกไม่ได้เลย ทุกคนอยากจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เท่าไรก็ไม่พอ เห็นแล้วก็อยากจะเห็นอีก ทุกวันไป แต่ว่าเลือกไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ แม้ว่าทุกคนจะมีจักขุปสาทที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณโดยกระทบกับจักขุปสาท แล้วแต่กัมมปัจจัยจะเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม

    การได้ยินเสียง ก็เหมือนกันนะคะ ได้ยินเสียงที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม สภาพที่เป็นผลของกรรมนี้ ชื่อว่า “วิปาก” หรือภาษาไทยใช้คำว่า “วิบาก” เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าใครจะมีกุศลวิบากมาก หรือว่าอกุศลวิบากมาก ขณะต่อไปทราบไหมคะว่า จะได้ยินเสียงอะไร แล้วแต่กรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้นกรรมนั้นเองเป็นปัจจัย โดยเป็นกรรม จึงเป็นกัมมปัจจัย และปัจจัยทั้งหมดก็มีเพียง ๒๔ ปัจจัย ถ้าจะค่อยๆ ศึกษาไป แล้วก็เข้าใจไป พร้อมทั้งสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ยิ่งจะเข้าใจชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วควรรู้ และต้องรู้ ปัญญาจึงจะเจริญขึ้นถึงความแก่กล้าที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ๆ ๆ ๆ อยู่ ก็ไม่มีการที่จะดับกิเลสได้ และความรู้ก็รู้ขึ้นๆ ๆ ค่อยๆ รู้ขึ้นๆ อย่าพอใจว่ารู้แล้ว ก็ไม่แล้วเลยค่ะ ถ้าแล้ว ก็คือ พระอรหันต์ แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะรู้ขึ้นๆ ๆ ตั้งแต่ขั้นการฟัง และขั้นเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็ขั้นที่สติระลึกรู้ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และขั้นที่ปัญญาน้อมพิจารณาในสิ่งที่ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ

    7023 วิบากเป็นจิตและเจตสิกที่เกิด เพราะกรรมเป็นปัจจัย

    สำหรับวิบาก ได้แก่ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นเพราะกัมมปัจจัย ไม่มีใครบันดาลได้ แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น มีการได้ยินเกิดขึ้น มีการได้กลิ่นเกิดขึ้น มีการลิ้มรสเกิดขึ้น มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเกิดขึ้น ใครไม่ให้เห็นได้ ถ้าในขณะนี้เห็นแล้ว มีการได้ยินแล้ว ใครจะไม่ให้ได้ยินได้ ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นตัวตนที่จะบังคับ ที่จะยับยั้งได้ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า จิตและเจตสิกที่กำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นวิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน โดยเป็นวิปากปัจจัย จำเป็นต้องเกิดเป็นวิบาก เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นกุศลก็ไม่ใช่ เพราะในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม จิตที่เกิดพร้อมเจตสิกเป็นวิปากปัจจัยของเจตสิก เจตสิกที่เกิดพร้อมจิตเป็นวิปากปัจจัยของจิต ทั้งจิตและเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นวิบากทั้งสองอย่าง และเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยต่างก็เป็นวิปากปัจจัยแก่กันและกัน

    7024 รูปไม่ใช่วิบาก

    รูปไม่ใช่วิบาก รูปเกิดขึ้นเพราะกรรม แต่เพราะรูปไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นรูปไม่ใช่วิบาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ