จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
ว่า สติปัฏฐานเป็นต้น หรือว่าเทศนาแห่งกุศลธรรมทั้งหลายเป็นต้นเหล่านี้ บุคคลอื่นจะเอาอกุศลธรรมมาเป็นกุศลธรรม ทำขึ้นใหม่ โดยการกระทำธรรมเหล่าอื่นให้เป็นสติปัฏฐานเป็นต้น ได้หรือ ได้ไหมคะ ไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาแล้วเข้าใจในเหตุผลแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า คำสอนซึ่งเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง คนอื่นไม่สามารถจะเปลี่ยนสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้เป็นอย่างอื่นได้ เข้าใจผิดได้ แต่ว่าเปลี่ยนไม่ได้
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้
7625 ให้สมาทานศีล กับ ให้รับศีล เหมือนกันหรือไม่
ผู้ถาม พยัญชนะต่างๆ ที่ว่า ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง สงสัยมานานแล้วว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคก็ดี พระภิกษุสงฆ์ก็ดี แสดงธรรมจบแล้ว ผู้ฟัง คือ อุบาสก อุบาสิกา จะมีคำว่า สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ก่อนที่ยังไม่ได้อ่านอรรถกถา ก็ยังสงสัยอยู่ว่า พยัญชนะต่างๆ นี้ หมายความถึงอะไร เพราะเมื่ออรรถกถาอธิบายอย่างนี้ ก็ทำให้เข้าใจดีขึ้น
ยังสงสัยอยู่ ทุกวันนี้ที่เราอาราธนาศีล บางคนก็บอกว่า ให้สมาทานศีล บางคนก็บอกว่าให้รับศีล คำว่า รับศีล กับสมาทานศีล เหมือนกันไหมครับ
ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ ให้ถือเอาโดยความถูกต้อง
เพราะฉะนั้นข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งมีอยู่บ่อยๆ ที่ว่า ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ก็คือในขณะที่ท่านผู้ฟังกำลังฟังธรรมอยู่ในขณะนี้นั่นเอง คือ ให้ฟัง แล้วให้พิจารณาให้ถูกต้อง เพื่อที่จะให้ถือเอาความถูกต้องของสภาพธรรม
7626 กิเลสเป็นอกุศลเจตสิก
ถาม ผมสงสัยความหมายของคำว่า “กิเลส” พิจารณาแล้วยังไม่แน่ใจว่า เข้าใจถูกต้อง ขอความกรุณาให้อาจารย์ช่วยอธิบาย
ท่านอาจารย์ กิเลสเป็นสภาพธรรมซึ่งทำให้จิตใจเศร้าหมอง คือ เป็นอกุศล ได้แก่ เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลเจตสิก
ผู้ถาม กิเลสนี่เป็นอะไรครับ
ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลเจตสิก
ผู้ถาม แล้วที่เขาแปลว่า “กิเลส” เป็นสิ่งที่หมักหมมอยู่ในสันดาน และในสันดานนั้น ย่อมเป็นทั้งกุศลหมักหมมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ที่แปลมาก็รู้สึกจะไม่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ถ้าสะอาดก็ไม่หมักหมมนะคะ ถ้าสกปรกก็หมักหมม
เพราะฉะนั้นอกุศลธรรมซึ่งเป็นกิเลส มี ๓ ขั้น ที่ละเอียดที่สุด เป็นอนุสัยกิเลส สะสมอยู่ในจิต ไม่หายไปไหนเลย
โลภมูลจิต ความต้องการ ความโลภ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ดับไปแล้ว ไม่หมดเชื้อ สะสมสืบต่อในจิต พร้อมที่จะเกิดขึ้น เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่น่าพอใจ แต่ว่าขณะใดที่ไม่ประสบกับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งน่าพอใจ ขณะนั้นก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปริยุฏฐานกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลาง เวลาที่มีการเห็น การได้ยินแล้ว เกิดความยินดี ความพอใจขึ้น หรือความไม่พอใจ เป็นปฏิฆะ เป็นโทสะ ในขณะนั้นก็เป็นปริยุฏฐานกิเลส แล้วก็กิเลสอีกขั้นหนึ่ง ก็เป็นกิเลสขั้นหยาบ ซึ่งทำให้ล่วงศีล ๕
7627 กุศลก็มีการสะสมเหมือนกัน กุศลไม่ใช่กิเลสหรือ
ผู้ถาม ก็กุศลมีการเก็บไว้เหมือนกัน เพราะว่ากุศลนี้ก็ค่อยๆ เจริญขึ้น อย่างนี้ไม่เรียกว่า กิเลสหรือครับ
ท่านอาจารย์ กุศลไม่ใช่กิเลสค่ะ
ผู้ถาม กิเลสใช้ในความหมายที่เป็นอกุศลเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทำให้จิตเศร้าหมอง เป็นอกุศล
วันหนึ่งๆ กุศลเกิดมากพอที่จะสังเกต หรือว่าอกุศลเกิดมากพอที่จะสังเกต เพราะฉะนั้นทางฝ่ายอกุศลย่อมหมักหมม สะสม ปรากฏว่าเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง เพราะเกิดบ่อยและเกิดมาก ส่วนกุศลนั้นเกิดน้อยมาก ชั่วขณะที่คิดจะให้ทาน เพียงเห็นวัตถุทานที่น่าพอใจก็เกิดอกุศลแล้วแทนกุศล เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ นี้การสะสมทางฝ่ายกุศลย่อมน้อยกว่า เพราะฉะนั้น การปรากฏก็ย่อมปรากฏความเศร้าหมองของอกุศลที่สะสมเป็นกิเลสขั้นต่างๆ
7628 จิตวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร
สำหรับอรรถ คือ ความหมายของจิต ๕ ประการ ก็ได้กล่าวถึงแล้วในบางแห่ง คือในอภิธัมมัตถวิภาวินี ได้แสดงไว้ ๖ ประการ คือ แสดงว่า จิตวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร
เพราะเหตุว่าสิ่งต่างๆ ที่มีจริง สภาพธรรมทั้งหลายที่จะไม่เป็นอารมณ์ของจิตไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะวิจิตรสักเท่าไร ก็สามารถที่จะเป็นอารมณ์ของจิตได้ เพราะฉะนั้นจิตจึงวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร
7629 สภาวลักษณะของจิต
สำหรับสภาวะลักษณะของจิต ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบแล้วว่า ลักษณะของธรรมมี ๒ ประการ คือ สามัญลักษณะ อย่างหนึ่ง และสภาวะลักษณะ อีกอย่างหนึ่ง
ก่อนที่จะได้กล่าวถึงจิตประเภทต่างๆ ก็จะได้ประมวลสรุปลักษณะ ซึ่งเป็นสภาวะลักษณะของจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิต โดยประเภทของภูมิต่างๆ หรือว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต โดยชาติ ก็ตาม ประมวลสรุปลักษณะของจิตทุกประเภทแล้ว สภาวะลักษณะของจิต ก็คือ
อารมฺมณ วิชานนลกฺขณํ มีการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพฺพํคมรสํ มีการถึงก่อน คือ มีความเป็นหัวหน้า เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
สนฺธาน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการสืบเนื่องกัน คือ เกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
นามรูปปทฏฺฐานํ มีนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นเองตามลำพังลอยๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตย่อมอาศัยนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
สำหรับในภูมิซึ่งมีแต่นามธรรม เช่น อรูปพรหม ไม่มีรูปเลย เพราะฉะนั้นในภูมินั้น จิตก็ต้องอาศัยเพียงเจตสิก คือ นามธรรมเท่านั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
7630 จิตเป็นหัวหน้า แล้วใครเป็นลูกน้อง
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยเรื่องสภาวะลักษณะของจิตไหมคะ
ถาม จิตเป็นหัวหน้า อยากถามว่าใครเป็นลูกน้องครับ
ท่านอาจารย์ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยค่ะ
ผู้ถาม ก็มีพุทธพจน์บทหนึ่งบอกว่า มโนคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนพยา พุทธพจน์บทนี้ ผมก็ยังไม่เข้าใจ ท่านแปลว่า จิตถึงก่อน จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน อย่างนี้ ผมก็อยากจะรู้ว่า จิตที่เป็นประธานนี้ เป็นประธานของเจตสิก ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ
ผู้ถาม ที่ว่ารู้แจ้ง คือ จิตเป็นผู้รู้ เจตสิกไม่ได้รู้หรือครับ
ท่านอาจารย์ เจตสิกมี ๕๒ ประเภท แล้วก็เจตสิกแต่ละประเภทๆ ก็มีลักษณะและมีกิจการงานของตนๆ เป็นลักษณะที่ต่างกันออกไปเป็น ๕๒ ลักษณะ
ผู้ถาม และที่ว่าจิตถึงก่อนนั้น ถึงก่อนใครครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อุปมาก็คงจะยากที่จะเข้าใจนะคะ ข้อความในอัฏฐสาลินี มีข้อความว่า
เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่รักษาเมือง นั่งอยู่ที่ทางสี่แพร่ง กลางเมือง ย่อมตรวจตรากำหนดคนที่ผ่านเข้ามาว่า คนนี้เป็นคนประจำ คนนี้มาใหม่ ฉันใด พึงทราบข้ออุปมัย ฉันนั้น ข้อนี้สมกับคำที่พระนาคเสนเถระกล่าวไว้ว่า
เหมือนอย่างว่า คนรักษาพระนคร นั่งอยู่ที่ถนนสี่แยก ณ ท่ามกลางพระนครแล้ว จะพึงแลเห็นบุรุษที่มาอยู่แต่ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ฉันใด บุคคลเห็นรูปได้ด้วยนัยน์ตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ย่อมรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์นั้นได้ชัดด้วยวิญญาณ ก็ฉันนั้น เพราะมุ่งถึงทวาร ดังที่กล่าวมาแล้ว
จิตนั่นแหละในฐานะที่รู้อารมณ์ ชื่อว่า เป็นหัวหน้า คือ เที่ยวไปข้างหน้า ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า มีความเป็นหัวหน้า เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
ท่านผู้ฟังคงจะติดพยัญชนะที่ว่า จิตถึงก่อน เป็นธรรมชาติที่ถึงก่อน ใช่ไหมคะ พังดูแล้วก็น่าคิดนะคะว่า ถึงอะไรก่อน ไปไหน และไปถึงที่ไหน ถึงอะไรก่อน จึงแสดงว่า จิตเป็นธรรมชาติที่เป็นหัวหน้า ถึงก่อน
คำอุปมานะคะ คนที่อยู่ในเมือง ตรงกลางสี่แยก ย่อมเห็นสิ่งที่จะมาทั้งทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก คือ โดยทวารแล้ว จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เช่น ทางตานี้ จิตเห็น ผัสสเจตสิกกระทบ ไม่เห็น สัญญาเจตสิก จำ ไม่เห็น เวทนาเจตสิก รู้สึก ไม่เห็น
แต่จิตเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ เหมือนคนที่อยู่สี่แยก ตรงกลาง แล้วก็ไม่ว่าใครจะมาทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันอก ทิศเหนือ คนที่อยู่ตรงกลางที่ตรงสี่แยกนี้ เห็นก่อนถูกไหมคะ ถ้าจะหมายความถึงว่า ถึงก่อน หมายความถึง เห็นก่อน แต่ว่าโดยสภาพจริงๆ แล้ว จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ในขณะที่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทั้งหมดกระทำกิจเฉพาะของตนๆ แต่ไม่ใช่เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์อย่างจิต
เช่น ผัสสเจตสิก กระทบรูปารมณ์ ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นเป็นประธาน เป็นสภาพที่รู้แจ้ง คือ เห็นอารมณ์ แต่ผัสสเจตสิกกระทบกับรูปารมณ์เท่านั้น ในขณะที่เวทนาเจตสิกรู้สึกอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบและจิตรู้แจ้ง
เวลาที่ผัสสเจตสิกกระทบ จิตรู้แจ้ง สัญญาจำอารมณ์ สัญญาจำ สัญญาทำอย่างอื่นไม่ได้ และเจตสิกอื่นๆ ก็กระทำกิจของตนๆ
เพราะฉะนั้นที่ว่า จิตถึงก่อน โดยทวาร และเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร จึงชื่อว่า “ถึงก่อน” เพราะว่าอุปมาเหมือนคนที่อยู่ตรงสี่แยก และเห็นก่อน เพราะเหตุว่าอยู่ตรงสี่แยก จึงเห็น ไม่ว่าใครจะมาทางทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็เห็นก่อน เพราะอยู่ตรงสี่แยก ฉันใด ที่ว่าจิตเป็นสภาพที่ถึงก่อน เป็นใหญ่ เป็นประธาน ก็โดยนัยนั้น
7631 จิต - โยนิโสมนสิการจนสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง
มีข้อสงสัยเรื่องสภาวลักษณะของจิตไหมคะ
อย่าลืมนะคะ โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาจน “สมาทาน” คือ ถือเอาด้วยความถูกต้องในลักษณะของจิต “อาจหาญ” ให้เกิดความอุตสาหะในการที่จะเข้าใจลักษณะของจิต และอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของจิต แล้ว “ร่าเริง” ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยการไม่ยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ทำให้สำเร็จประโยชน์ คือรู้ว่า ประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้ คือ สามารถที่จะเข้าใจสภาวะลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
7632 ไม่มีคำว่า จิตสั่ง เพราะไม่มีลักขณาธิจตุกของจิตสั่ง
ไม่มีคำว่า จิตสั่งเลย ใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ หรือเป็นรสะ หรือจะเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือจะเป็นปทัฏฐาน แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดๆ ก็ตาม มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ
เพราะฉะนั้นการที่จะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของจิตได้ ก็ต้องตรงกับลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ คือ เห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู เป็นต้น
7633 ทรงแสดงจิตโดย ๒ นัย คือ จิต ๘๙ กับ จิต ๑๒๑
สำหรับจิตทั้งหมด ทรงแสดงไว้โดย ๒ นัย คือ โดยนัยของจิต ๘๙ ดวง และโดยนัยของจิต ๑๒๑ ดวง โดยพิเศษ ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียด แม้แต่ในข้อความที่ว่า
จิตโดยประเภททั้งหมดมี ๘๙ ดวง หรือ ๘๙ ประเภท
เพียงเท่านี้ก็สามารถที่จะเป็นพุทธานุสติ ทำให้ระลึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคได้ เพราะเหตุว่าทุกท่านไม่ได้มีจิตครบทั้ง ๘๙ หรือสามารถที่จะรู้ได้ว่า จิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้นดับไปแต่ละขณะนั้น อยู่ในประเภทไหน หรือว่าเป็นจิตประเภทไหน แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ว่าจิตในมนุษย์ภูมิ หรือในอบายภูมิ หรือในพรหมโลก ในรูปพรหมภูมิ ในอรูปพรหมภูมิก็ตาม เมื่อได้ประมวลลักษณะของจิต ซึ่งเกิดดับแต่ละขณะ แม้ว่าจะต่างกันไปๆ ตามปัจจัยที่ทำให้ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ แต่เมื่อรวบรวมประเภทของจิตทั้งหมดแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับแต่ละขณะต่างๆ กันไปนั้น เมื่อจัดโดยประเภทแล้ว ก็ต่างกันออกไปเป็น ๘๙ ประเภท หรือว่า ๑๒๑ ประเภท โดยพิเศษ
เพราะฉะนั้นเพียงได้ยินได้ฟังแล้วพิจารณา ก็สามารถที่จะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ แล้วก็เป็นพุทธานุสติ แล้วก็จะได้พิจารณาสภาพธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยประเภทของจิตชนิดต่างๆ ให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าจิตเป็นธรรมชาติที่ใกล้ตัวที่สุด แต่ละขณะ แต่ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ยากที่ใครจะกล่าวได้ว่า รู้ลักษณะของจิตตามความเป็นจริง เพราะทุกท่านก็รู้จักชื่อเผินๆ ว่า มีจิต แต่ถ้าถามว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตมีลักษณะอย่างไร มีกิจการงานอย่างไร ก็ย่อมจะตอบไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
7634 จิต ๘๙ แสดงโลกุตตรจิต ๘ แต่จิต ๑๒๑ แสดงโลกุตตรฌาน ๔๐
สำหรับจิต ๘๙ ดวงนั้น ทรงแสดงโดยประเภทของโลกุตตรจิต ๘ ดวง สำหรับผู้ที่โลกุตตรจิตไม่ได้เกิดพร้อมฌานจิตขั้นต่างๆ แต่โดยนัยของจิต ๑๒๑ ดวง สำหรับผู้ที่โลกุตตรจิตเกิดพร้อมกับฌานจิตขั้นต่างๆ จึงเป็นโลกุตตรจิต ๔๐ ดวง ซึ่งได้แก่
โสตาปัตติมรรคจิตปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑ ปัญจมฌาน ๑ รวมเป็นโสตาปัตติมรรคจิต ๕ ดวง
โสตาปัตติผลจิตปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑ ปัญจมฌาน ๑ รวมเป็นโสตาปัตติผลจิต ๕ ดวง
เมื่อรวมโสตาปัตติมรรคจิต ๕ และโสตาปัตติผลจิต ๕ โดยนัยของฌาน ๕ แล้วก็เป็น ๑๐ ดวง
สกทาคามิมรรคจิตและสกทาคามิผลจิต ก็โดยนัยเดียวกัน ๑๐ ดวง
อนาคามิมรรคจิต ๕ และอนาคามีผลจิต ๕ รวมเป็น ๑๐ ดวง
อรหัตตมรรคจิต ๕ และอรหัตตผลจิต ๕ รวมเป็น ๑๐ ดวง
จึงเป็นโลกุตรฌานจิต ๔๐ ดวง
7635 ผู้จะที่แสดงฤทธิ์ได้ ต้องบรรลุถึงอรูปฌานที่ ๔ หรือไม่
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้
ถาม เรื่องของจิตโดยพิสดารที่อาจารย์กล่าวมานั้น ก็ยังมีความสงสัยว่า ทำไมบางคน เช่น ท่านพระจูฬปันถก ท่านภาวนาเอาผ้าขาวลูบไปแล้วภาวนาไป เสร็จแล้วท่านก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับมีอิทธิฤทธิ์ ซึ่งแสดงตนคนเดียว เป็นพันก็ได้ แสดงให้ภิกษุในวิหารของท่านเห็นเป็นพันก็ได้ อยากจะถามว่า จิตของท่านเป็นไปตามลำดับที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ท่านจะต้องเป็นพระโสดาบันบุคคลก่อน แม้แต่พระผู้มีพระภาคเองก็ต้องทรงเป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล แล้วจึงถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ถาม อันนี้ไม่ได้สงสัยหรอกครับว่า ปัญญาจะต้องเจริญไปตามลำดับขั้น แต่สงสัยตรงที่ว่า ท่านพระจูฬปันถก ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ฌานจิตก็ต้องเกิดไปตามลำดับขั้น และผู้ที่จะแสดงฤทธิ์ได้ จะต้องได้บรรลุถึงอรูปฌานที่ ๔ และเจริญวสีจนกระทั่งชำนาญ จึงจะแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ อยากถามว่า ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว และท่านได้อรูปฌานที่ ๔ ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะแสดงอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ได้ ต้องได้ฌานสมาบัติทั้ง ๘ หรือทั้ง ๙ โดยนัยของปัญจกนัย คือ ต้องได้ทั้งรูปฌาน ๕ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และต้องได้อรูปฌานด้วย
เหตุผลก็คือว่า ถ้าไม่ถึงอรูปฌาน แสดงว่ายังไม่มีความสามารถพอ ความมั่นคงของความสงบนี้ยังไม่พอที่จะทำให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ หรือคุณวิเศษต่างๆ ได้
แต่ในสมัยนี้ ท่านผู้ฟังอาจจะได้ทราบว่า มีการสามารถกระทำบางสิ่งบางอย่าง เพราะฉะนั้นบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่ถึงปฐมฌานหรือเปล่า หรือถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน อรูปฌานหรือเปล่า
แต่ให้ทราบว่า ทุกอย่างที่เป็นผลที่ถูกต้อง ต้องมาจากเหตุที่ถูกต้อง
7636 ผลของมิจฉาสมาธิ ผลของสัมมาสมาธิ
บางท่านอาจจะฝันแม่น ก็อาจจะสงสัยว่า แหมฝันทีไร ทำไมแม่นทุกที เป็นผู้ที่มีคุณวิเศษอะไรบางประการหรือเปล่า หรือบางท่านอาจจะสังหรณ์ใจ สังหรณ์ทีไร ก็เป็นไปอย่างที่สังหรณ์เสียทุกที ก็เป็นได้ บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า เป็นคุณวิเศษอะไรหรือเปล่า หรือบางท่านอาจจะนึกปรารถนาอะไร แล้วก็ได้สิ่งนั้น ก็คงจะนึกว่า เป็นคุณวิเศษอะไรหรือเปล่า อยากจะหายโรค ก็เกิดจะหายได้ หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น แต่ให้ทราบว่า นี่เป็นเพียงเศษเล็กเศษน้อยของการที่เคยอบรมเจริญสมาธิมาบ้าง หรือว่าอบรมเจริญความสงบบ้าง
แม้แต่ผลของมิจฉาสมาธิก็มีปรากฏให้เห็นเศษเล็กเศษน้อย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นกุศลแท้ๆ ซึ่งเป็นความสงบจริงๆ ตามขั้น ผลก็ย่อมต้องมีมากกว่านั้น
7637 ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลพร้อมฌาน
สำหรับผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลพร้อมด้วยฌานจิต ถ้าบุคคลนั้นเคยอบรมเจริญความสงบ และมีความสงบที่มั่นคงจริงๆ ด้วยปัญญาที่รู้ว่า ความสงบค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นกุศลจิตที่มั่นคงอย่างไร แล้วเวลาที่ถึงอุปจารสมาธิ ไม่แน่ว่าบุคคลนั้นจะสามารถถึงอัปปนาสมาธิหรือไม่ เพราะเหตุว่าผู้ที่อบรมเจริญความสงบ ซึ่งเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของความสงบของจิตจริงๆ เวลาที่เกิดความสงบขึ้นแล้ว จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และในบรรดาผู้ที่อบรมเจริญความสงบนี้ จะมีกี่ร้อยกี่พันท่านก็ตามที่จะบรรลุถึงอุปจารสมาธิก็สักท่านเดียว
นี่คือความที่เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย สำหรับความสงบแท้จริง ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา และสำหรับผู้ที่สามารถจะบรรลุถึงอุปจารสมาธิแล้ว เป็นพัน เป็นหมื่นท่าน ก็จะมีผู้ที่สามารถจะถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นปฐมฌานจิตสักท่านเดียว และบรรดาท่านที่บรรลุปฐมฌานแล้ว ที่จะบรรลุถึงทุติยฌานจิตในบรรดาหลายร้อยหลายพันท่านนั้น ก็จะมีเพียงท่านเดียว
เพราะฉะนั้นที่จะถึงฌานจิตขั้นต่อๆ ไป เช่น ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้โดยง่าย แม้แต่ในชาตินี้เอง ถ้าใครจะอบรมเจริญความสงบที่เป็นสมถภาวนา อาจจะตายไปเสียก่อนที่อุปจารสมาธิจะเกิด หรือว่าอัปปนาสมาธิจะเกิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่กาลสมบัติ ถึงแม้ว่าในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ แล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรมมีจำนวนน้อย แต่ผู้ที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้ามีจำนวนมากกว่ามาก
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา บรรลุถึงฌานจิตด้วย และสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ย่อมต้องเป็นผู้มีความชำนาญอย่างยิ่งในสมถภาวนา คือ ในฌานจิตขั้นต่างๆ บางท่านสามารถที่จะบรรลุถึงอรูปฌานจิต คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิด ไม่ได้เกิดพร้อมกับเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นปัญจมฌาน หรือไม่ได้เกิดพร้อมกับรูปปัญจมฌาน แต่อาจจะเกิดพร้อมกับปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌานก็ได้
นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แม้ในขณะที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมว่า ไม่ใช่การที่จะเลือกได้ ไม่ใช่การที่จะเจาะจง เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ละการติดข้อง แม้ในฌานจิต เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า แม้ฌานจิตก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหัคคตจิต เป็นจิตตานุปัสสนา ๑ ประเภท ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จะต้องรู้ตามความเป็นจริง เพื่อละความยึดถือ หรือความยินดีติดข้อง เพราะฉะนั้นไม่ว่าฌานจิตของท่านจะเกิด แล้วแต่ขณะนั้นอาจจะเป็นปฐมฌานเกิด หรือทุติยฌานเกิด หรือตติยฌานเกิด หรือจตุตถฌานเกิด หรืออรูปฌานเกิด โสตาปัตติมรรคจิตยังไม่เกิดก็ได้
เพราะฉะนั้นเวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้น อาจจะเป็นในขณะที่กำลังพิจารณาปฐมฌาน แล้วก็ประจักษ์ในความเกิดดับ รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือว่าในขณะที่กำลังจะเป็นพระโสดาบันบุคคล คือในขณะที่กำลังจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น กำลังมีปัญจมฌานเป็นอารมณ์ก็ได้ โดยที่ว่าแล้วแต่ความชำนาญ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็รู้ว่า ลักษณะของจิต ไม่ว่าจะเป็นฌานจิต หรือว่าอกุศลจิต หรือกามาวจรจิต ก็เป็นแต่เพียงจิต ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงไม่ได้เลือก แล้วก็ไม่ได้หวัง เพราะฉะนั้นเวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิดนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรเป็นอารมณ์
บางท่านเป็นผู้ที่เคยได้ฌาน แต่เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิด ไม่ได้ประกอบด้วยฌานขั้นหนึ่งขั้นใดเลยก็ได้
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050