จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
แม้ว่าจะดับกิเลสกามแล้ว ก็ยังเป็นกามาวจรจิต เพราะเหตุว่ารู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ ถ้าจะให้ง่าย ก็คือขณะใดที่ไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิตแล้ว เป็นกามาวจรจิตทั้งหมด แม้ในขณะที่กำลังอบรมเจริญความสงบ เพื่อที่จะให้เป็นรูปาวจรจิต ขณะที่จิตเริ่มสงบขึ้น สงบขึ้น จะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดในสมถภาวนา ๔๐ ก็ตาม ขณะใดที่รูปาวจรจิตยังไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิตนั่นเอง ซึ่งกำลังอบรมเพื่อที่จะให้รูปาวจรจิตเกิดขึ้น หรือในขณะที่อบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง โดยที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิดขณะใด ขณะเหล่านั้นก็เป็นกามาวจรจิตนั่นเอง แม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ก็เป็นกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่โลกุตตรจิตแล้ว
เพราะฉะนั้นจิตใดๆ ทั้งหมด ถ้าไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิตแล้ว เป็นกามาวจรจิตทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณ ก็เป็นกามาวจรจิต แม้ว่าจะเป็นอุปจารสมาธิ ก็เป็นกามาวจรจิต พ้นไปได้ยากจากกามาวจรจิต
ยังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องของกามาวจรจิต ทุกขณะเลยเป็นกามาวจรจิตโดยทั่วไป
7671 กิริยาจิต คือ อะไร
ถาม กิริยาจิต คืออะไรครับ
ท่านอาจารย์ จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก
ผู้ถาม อย่างจิตเห็น ทำหน้าที่เห็นอย่างเดียว เป็นกิริยาจิตใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เป็นวิบากจิตค่ะ อันนี้ต้องศึกษาจึงจะทราบได้ว่า ไม่ใช่กิริยาจิต นี่เป็นเหตุที่จะทำให้ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะเหตุว่าถ้าไม่ทรงแสดงว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นวิบากจิต เป็นผลของอดีตกรรมซึ่งได้กระทำแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะเห็นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่กิริยาจิต แต่เป็นวิบากจิต
7672 นิพพาน ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต แล้วเป็นอะไร
ผู้ถาม นิพพานนี้ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม คือ จิต ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ นิพพานไม่ใช่จิต เจตสิก รูป
ผู้ถาม แล้วเป็นอะไรครับ
ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นปรมัตถธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะของนิพพานได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริง
ผู้ถาม พระพรหมเป็นปุถุชนหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ พรหมที่เป็นอริยบุคคลก็มี เป็นปุถุชนก็มี
7674 กามาวจรจิต คือ อกุศลจิต ๑๒ - อเหตุกจิต ๑๘ - กามาโสภณ
สำหรับกามาวจรจิต ยังมีอะไรสงสัยอีกไหมคะ มีมากประเภท เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต คือ จิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ ๑๘ ดวง และเป็นกามโสภณ ๒๔
ขณะนี้ให้ทราบว่า กามาวจรจิตซึ่งมีมากถึง ๕๔ ดวง หรือ ๕๔ ประเภทนี้ ก็เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง ซึ่งอกุศลจิตจะเป็นรูปาวจรภูมิ จะเป็นรูปธาตุ จะเป็นอรูปธาตุ หรือโลกุตรธาตุไม่ได้เลย
อกุศลจิตทั้งหมด คือ ทั้ง ๑๒ ดวง เป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิต เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในวัตถุกามทั้งหลาย เว้นนิพพาน
7675 เหตุที่ทรงแสดงอโสภณจิต โดยอกุศลจิต ๑๒ ดวงก่อน
ที่แสดงกามาวจรจิต ๕๔ โดยแสดงอกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิต ๑๘ ตามลำดับ ก็เพราะทั้งอกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ เป็นอโสภณจิต แสดงจิตประเภทซึ่งไม่ดีงาม ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเสียก่อน เพราะมีมากในชีวิตประจำวัน
และสำหรับอโสภณจิต ๓๐ ดวง ก็แสดงเรื่องอกุศลจิต ๑๒ ดวงก่อน เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงโดยนัยต่างๆ และทั้งๆ ที่มีมากและรู้ยาก เมื่อรู้แล้วก็ยังละยาก เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงโดยประการทั้งปวง ที่จะให้เห็นโทษของอกุศลจิต ทุกท่านไม่มีใคร ไม่รู้จักอกุศลจิต ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าคุ้นเคยกับคำว่า โลภะ โทสะ โมหะ อยู่เสมอ และทุกท่านก็พอจะรู้ลางๆ ว่า มีอกุศลจิตมาก คือ ไม่พ้นไปจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่การที่จะละโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะรู้เรื่องของอกุศลจิตเสียก่อน
7676 ความหมายของ อกุศล
สำหรับอกุศล ๑๒ ดวง ควรที่จะได้ทราบความหมายของ “อกุศล” ซึ่งในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า
ชื่อว่า “อกุศล” เพราะไม่ใช่ “กุศล”
โดยมากถ้ามีคำปฏิเสธอยู่ข้างหน้า คือ “อ” ก็มักแสดงโดยนัยว่า ตรงกันข้ามเสมอ แทนที่จะอธิบายว่าเป็นอย่างไร ก็บอกแต่เพียงว่า เพราะไม่ใช่กุศล คำอธิบายต่อไปมีว่า
คือเป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล ดุจศัตรู ผู้มิใช่มิตร เป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร
คือตรงกันข้ามกับการกระทำของมิตรทุกอย่าง กุศลนี้เหมือนเพื่อนที่จะอำนวยความสะดวกสบาย ความสุข เกื้อกูลอุปการะ ให้คุณทุกประการ
เพราะฉะนั้นอกุศลเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล คือ ตรงกันข้าม กระทำทุกอย่างที่มิตรไม่กระทำ เพราะฉะนั้นก็เปรียบเหมือนศัตรู ซึ่งไม่ใช่มิตร ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร
เพราะฉะนั้นศัตรูของทุกท่านไม่ใช่อยู่ข้างนอก หรือว่าอยู่ภายนอกเลย แต่ว่าอยู่ภายในและใกล้ชิดที่สุด คือ ทุกขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรู ไม่ใช่มิตร
7677 โลภมูลจิตเป็นศัตรูที่คอยเอาใจทุกอย่าง
สำหรับโลภมูลจิต ทุกท่านก็คงทราบนะคะ เป็นศัตรูที่คอยเอาใจทุกอย่าง ให้เพลิดเพลินให้ยินดี และให้สะดวกสบาย ไม่ให้เดือดร้อนใจ เพราะฉะนั้นก็ย่อมไม่พรากจากไปเลย เพราะว่าเป็นผู้ที่คอยเอาใจให้สบาย พะเน้าพะนอทุกสิ่งทุกประการ ซึ่งทุกท่านก็คงชอบ ใช่ไหมคะ ศัตรูคนนี้ แต่เป็นศัตรูที่ใกล้ชิด และคอยเอาอกเอาใจด้วย คอยทำให้สบายใจ ให้เพลิดเพลินทุกอย่าง เพราะฉะนั้นก็ไม่เห็นโทษ ไม่คิดที่จะอยากจากศัตรูผู้นี้ไปเลย
7678 ลักษณะของอกุศล ตรงข้ามกับ ลักษณะของกุศล
สำหรับลักษณะของอกุศล ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า
“อกุศล” มีวิบากเป็นทุกข์ มีโทษเป็นลักษณะ
ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับลักษณะของกุศล
สำหรับลักษณะของกุศลธรรมมี ๒ นัย คือ
“กุศล” มีสุขวิบาก อันไม่มีโทษ เป็นลักษณะ มีอันกำจัดอกุศล เป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีความผ่องแผ้ว เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ มีโยนิโสมนสิการ เป็นปทัฏฐาน โดยนัยหนึ่ง
อีกนัยหนึ่ง หรืออีกอย่างหนึ่ง
“กุศล” ชื่อว่า ความไม่มีโทษ เป็นลักษณะ มีภาวะผ่องแผ้ว เป็นรสะ มีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ มีโยนิโสมนสิการ หรือความไม่มีโทษ เป็นปทัฏฐาน
ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้นะคะว่า แล้วแต่ความสามารถ หรือแล้วแต่การสะสมของผู้ที่จะพิจารณา เพื่อที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่เป็นกุศลว่า ท่านระลึกถึงลักษณะใด เช่น ลักษณะของกุศลนัยที่หนึ่ง ที่ว่า มีสุขวิบาก อันไม่มีโทษ เป็นลักษณะ
เวลาที่ได้รับผลของกุศล ขณะนั้นก็เป็นความสะดวกสบาย ความสุข ไม่มีความเดือดร้อนใจ พอที่จะรู้ว่า กุศลแล้วก็ย่อมจะมีลักษณะที่มีสุขวิบาก คือ ให้ผลเป็นสุข
เคยพิจารณาที่จะรู้ลักษณะของกุศลไหมคะ ขณะใดที่สะดวกสบาย เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นก็ทราบได้ว่า เป็นผล คือ ลักษณะของกุศล ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ให้ผลเป็นสุขวิบาก คือ วิบากที่เป็นสุข นั่นเป็นลักษณะของกุศล
มีอันกำจัดอกุศล เป็นรสะ เป็นกิจ
ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นย่อมกำจัดอกุศล เช่น เวลาที่เกิดโกรธขึ้นมา เป็นอกุศล แต่พอเปลี่ยนจากโกรธเป็นความเมตตา เพราะระลึกได้ว่า ความโกรธเป็นอกุศล ให้โทษ เป็นศัตรูผู้ทำร้ายจิต เป็นศัตรูที่ใกล้ชิดที่สุด คือ ไม่ใช่ศัตรูภายนอก แต่เป็นศัตรูภายใน และเมื่อรู้อย่างนี้ก็เกิดเมตตา แทนที่จะเกิดโทสะ หรือปฏิฆะขึ้น ขณะนั้นก็กำจัดอกุศล เวลาที่กุศลเกิดไม่ว่าจะเป็นทาน ก็กำจัดอกุศล คือ ความตระหนี่ เวลาที่กุศลจิตเกิดเป็นศีล ขณะนั้นก็กำจัดอกุศล คือ การเบียดเบียนประทุษร้าย เพราะฉะนั้นธรรมชาติของกุศล มีรสะ คือ มีกิจที่กำจัดอกุศล
มีความผ่องแผ้ว เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ
ถ้าจะสังเกตลักษณะของจิต ในขณะที่เป็นกุศล จะทราบได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่สะอาด หรือว่าผ่องแผ้ว ปราศจากเดือดร้อนใจ หรือว่าปราศจากความเศร้าหมอง ด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ หรือโมหะ ในขณะนั้นก็มีความผ่องแผ้ว เป็นอาการปรากฏ
แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงและประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงสามารถพิจารณาเห็นความผ่องแผ้ว ซึ่งเป็นอาการปรากฏของกุศลจิต เพราะว่าบางท่านพอเกิดสบายใจ ก็เข้าใจว่าผ่องแผ้ว แต่ว่าลักษณะที่สบายใจ ไม่ใช่กุศล เป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นความพอใจ ไม่ใช่ความผ่องแผ้ว แต่ถ้าเป็นความผ่องแผ้วแล้ว เป็นสภาพที่ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจากอิสสา ปราศจากมานะ ขณะใด ขณะนั้นจึงเป็นสภาพของจิตที่ผ่องแผ้ว เพราะปราศจากอกุศล อย่าถือความสบายใจ หรือความพอใจ เป็นความผ่องแผ้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะสามารถเห็นอาการที่ปรากฏของกุศลธรรมได้
มีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย เป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด
นี่คือสภาพธรรมที่เป็นกุศลนะคะ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นอกุศลก็ตรงกันข้าม คือ มีวิบาก เป็นทุกข์ มีโทษ เป็นลักษณะ
7679 ที่ชื่อว่า สุข เพราะทนได้ง่าย ที่ชื่อว่า ทุกข์ เพราะทนได้ยาก
ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี อธิบายว่า
ที่ชื่อว่า “สุข” เพราะทนได้ง่าย ที่ชื่อว่า “ทุกข์” เพราะทนได้ยาก
สุขก็ต้องทนใช่ไหมคะ จึงจะสุข ต้องทนไหมคะ จะรับประทานอาหารอร่อย ไม่ใช่ว่าได้มาลอยๆ คืออยู่ดีๆ ก็ลอยมา ไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหมคะ ต้องทุกข์เพราะต้องทำให้อร่อย ต้องแสวงหา ที่จะให้อร่อย ขาดนิดขาดหน่อย ก็จะไม่อร่อยเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องแสวงหา แต่ว่าทนได้ง่ายที่จะแสวงหาในสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุข
เพราะฉะนั้นขณะใดซึ่งเป็นสุข ให้ทราบว่าขณะนั้นเพราะเป็นสิ่งที่ทนได้ง่าย แม้ว่าจะต้องทนก็ทนได้ ต่างกับขณะที่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสภาพที่ทนได้ยาก
7680 ลักษณะของกุศลธรรมอีกประการหนึ่ง
สำหรับลักษณะของกุศลธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ
“กุศล” ชื่อว่า มีความไม่มีโทษ เป็นลักษณะ
คือสภาพของกุศลจิต หรือกุศลธรรมในขณะนั้นเองที่เกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ เช่น เมตตา เวลาเกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนเลย แต่ตรงกันข้ามทำให้เกิดความสบายใจ เพราะไม่ดูหมิ่น ไม่รังเกียจคนอื่น มีความเป็นเพื่อน มีความเป็นมิตร พร้อมที่จะอุปการะ เกื้อกูลอย่างจริงใจ
เพราะฉะนั้นลักษณะของกุศลเป็นสภาพที่มีความไม่มีโทษ เป็นลักษณะ
มีภาวะผ่องแผ้ว เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
มีโยนิโสมนสิการ คือ ความไม่มีโทษ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
อาการที่ปรากฏที่ทุกคนรู้ก็คือว่า กุศลมีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นอาการปรากฏ ถ้าเห็นใครที่พรั่งพร้อม สมบูรณ์ เพียบพร้อมทุกอย่าง ทุกคนก็มักจะเอ่ยว่า เป็นผลของกุศล ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็เห็นวิบาก คือ เห็นผลของกุศล เพราะเหตุว่าย่อมมีวิบากที่น่าปรารถนา เป็นอาการที่ปรากฏของกุศล
7681 กุศลจิตเกิดยาก มีวิธีให้บุญกุศลเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือไม่
ถาม ปกติกุศลจิตนี้เกิดยาก มีวิธีอะไรบ้างไหมครับ ที่จะทำให้จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นบ่อยๆ
ท่านอาจารย์ เป็นความจริงที่ว่า อกุศลเกิดง่าย เกิดเร็ว เกิดมาก แต่กุศลนี้เกิดยากและเกิดน้อย แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้อกุศลซึ่งเกิดง่าย เกิดเร็ว เกิดมาก ก็เป็นเพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิดมาก เกิดง่าย เกิดเร็ว หรือกุศลที่จะเกิดก็เป็นอนัตตา ถ้าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยแล้ว กุศลก็เกิดไม่ได้
7682 เหตุให้เกิดกุศล ด้วยสามารถที่กำหนดคือพิจารณาได้
ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ แสดงเหตุให้เกิดกุศล ๔ ประการ คือ
ด้วยสามารถที่กำหนด คือ พิจารณาได้ ๑ ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ๑ ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ ๑ ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ ๑
ก็ต้องอธิบายอีกเหมือนกันนะคะ มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่เข้าใจว่า ด้วยสามารถที่กำหนดได้ คืออย่างไร ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน คืออย่างไร ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ คืออย่างไร ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ คืออย่างไร
ชีวิตประจำวันจริงๆ นี้ ทุกท่านอยากประสบกับอารมณ์ที่ดีๆ ทั้งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ใช่ไหมคะ ขณะนั้นที่อยากประสบกับอารมณ์ที่ดีๆ ทางตา ทางหู ทาง จมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะที่ต้องการ ขณะที่ปรารถนาอารมณ์ที่ดีๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นอกุศล ตอนหนึ่งแล้วนะคะ ขณะที่ปรารถนาหรือต้องการ แล้วเวลาเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้ลิ้มรสที่ดี ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ดี ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน เป็นกุศลหรืออกุศลคะ เป็นอกุศลอีก ก่อนที่จะได้ก็เป็นอกุศล และทันทีที่เห็นสิ่งที่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นอกุศลอีก เพราะฉะนั้นการที่กุศลจิตจะเกิดได้ แม้ว่ากระทบกับอารมณ์ที่ดี ก็ต้องมีเหตุใช่ไหมคะ นี่เป็นเหตุที่บางคนสะสมมาที่จะเป็นกุศล แม้ว่าจะกระทบกับอารมณ์ที่ดี ก็ไม่เป็นอกุศล และบางคนทั้งๆ ที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดีเท่าไร เป็นอารมณ์ที่ปานกลาง แต่ก็มีการติดในอารมณ์นั้นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีความติดในอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตเกิดได้ อุปมาเหมือนกับนกเล็กๆ ซึ่งผูกไว้ด้วยเชือกเล็กๆ ก็ยังไม่สามารถจะสลัดสะบัดออกไปให้หลุดจากเชือกที่ผูกได้ ทั้งๆ ที่เป็นของที่เล็กน้อยเหลือเกิน แต่เมื่อสะสมมาที่จะถูกผูกไว้ ที่จะมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ในอารมณ์ที่ดีปานกลาง คือ ไม่ดีมาก ก็ยังไม่สามารถที่กุศลจิตจะเกิดได้ แต่สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะมีกุศลที่มีกำลัง แม้ว่าจะพรั่งพร้อมไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี กุศลจิตก็สามารถที่จะเกิดได้ เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดกุศล เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่น่าพอใจต่างๆ มี ๔ ประการ คือ
๑. ด้วยสามารถที่กำหนด คือ พิจารณาได้
หมายความว่า เป็นผู้ที่นิยมยินดีในกุศล เพราะพิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรเจริญ เพราะว่าบางท่านไม่ได้เห็นความดี ไม่ได้เห็นคุณของกุศลเลย ใช่ไหมคะ อกุศลดีกว่า ใช่ไหมคะ ต้องหามามากๆ เพื่อตัวเอง เรื่องอะไรที่จะสละให้บุคคลอื่น นั่นคือผู้ที่ไม่ได้พิจารณา หรือไม่มีความนิยม ไม่เห็นคุณของกุศล เพราะฉะนั้นก็คิดว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะมีมากๆ แทนที่จะเป็นผู้ที่นิยมยินดีในกุศล เพราะเห็นว่ากุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ
เพราะฉะนั้นทุกท่านในชีวิตประจำวันก็ต้องเริ่มจากการพิจารณาจริงๆ ว่า กุศลและอกุศล สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรเจริญให้มากขึ้น แม้ว่าอาจจะยังไม่มีมาก หรือว่าอาจจะยังทำไม่ได้ทันที แต่เพียงน้อมพิจารณาที่จะมีเหตุผลถูกต้องตามความเป็นจริงว่า กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ เป็นสิ่งที่ควรจะอบรมประพฤติให้มากขึ้น
นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจะทำให้กุศลจิตเกิดได้ คือ เป็นผู้ที่นิยมและเห็นว่า กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ
7683 เหตุให้เกิดกุศล ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน
ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ๑
คือในขณะที่อกุศลจิตเกิด แล้วก็เปลี่ยนเป็นกุศลได้ ชื่อว่า ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน
ในชีวิตประจำวันมีไหมคะ เวลาที่อกุศลจิตเกิด แล้วเกิดนึกได้ว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่ดี แล้วกุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน บางท่านก็ไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้ว่า ความโกรธไม่ดี ขณะที่ทั้งๆ รู้ ก็ยังคงพอใจที่จะโกรธต่อไปอีก ในขณะนั้นไม่ใช่ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน เพราะว่ายังไม่มีกำลังที่กุศลจิตจะเกิดขึ้น เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล แต่สำหรับบางท่านเร็วค่ะ อกุศลจิตเกิดไม่นานเท่าไร ก็สามารถที่จะระลึกได้ แล้วก็เปลี่ยนเป็นกุศล นั่นคือด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน
7684 เหตุให้เกิดกุศล ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ
ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ ๑
ด้วยการกระทำบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชิน ซึ่งก็จะต้องอาศัยการอบรมนะคะ บางท่านเป็นผู้ที่ตระหนี่ แต่เห็นว่าการตระหนี่ ถ้าตระหนี่มาก ไม่สามารถที่จะละความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการสละ ซึ่งถ้าได้สละทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยๆ ตอนหลังก็สามารถที่จะมีกำลังที่จะสละสิ่งซึ่งใหญ่กว่านั้นได้ แต่ถ้าแม้สิ่งเล็กน้อย ก็ยังไม่สามารถที่จะสละได้ และยังไม่สามารถที่จะสละบ่อยๆ สิ่งซึ่งใหญ่กว่านั้น ก็ย่อมไม่สามารถที่จะสละได้
เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่กระทำ คือ ประพฤติบ่อยๆ จนเคยชิน จึงเป็นด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ ๑
7685 เหตุให้เกิดกุศล ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้คือพิจารณาโดยแยบคาย
ประการที่ ๔ คือ ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้ คือ ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย
ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ รู้ทั้งรู้ว่า กุศลดีกว่าอกุศล แต่ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นทราบว่า เพราะไม่พิจารณาโดยแยบคาย อกุศลจิตจึงเกิด เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ยังอยากที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งก็ต้องฝืนอัธยาศัยที่สะสมมาไม่ได้ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เวลาที่อกุศลจิตเกิด รู้ว่า อโยนิโสมนสิการ ขาดการพิจารณาโดยแยบคาย แต่ทำอย่างไรจึงจะพิจารณาโดยแยบคายได้ เป็นอนัตตาอีกนะคะ เพราะว่าสำหรับท่านที่พิจารณาได้ มีโยนิโสมนสิการแล้ว ก็ยังห่วงคนอื่นอีกว่า ทำไมคนนั้นถึงไม่สามารถที่จะพิจารณาโดยแยบคายได้ เพราะว่าแต่ละคนก็ต่างกัน ไม่เหมือนกัน ซึ่งการที่บุคคลใดสามารถที่จะพิจารณาโดยแยบคาย ย่อมต้องเป็นไปได้ด้วยอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังต้องมีปัจจัยแม้จะพิจารณาที่จะแยบคาย หรือไม่แยบคาย ไม่ใช่ว่า เมื่ออยากจะให้พิจารณาโดยแยบคายขณะใด ก็เกิดการพิจารณาโดยแยบคายถูกต้องในขณะนั้น แต่ต้องอาศัยปัจจัย คือ “ปฏิรูปเทสวาส” อยู่ในประเทศอันสมควร คือ มีสัปบุรุษ มีผู้ที่มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก มีการปฏิบัติถูกในธรรม “สัปปุปริสูปนิสสย” ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ “สัทธัมมัสสวนะ” ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ “ปุพเพกตปุญญตา” ได้สั่งสมบุญมาแล้วแต่ปางก่อน เพราะเหตุว่าบางท่านก็ฟัง ทั้งๆ ที่ฟังด้วยกัน ความเข้าใจก็ต่างกัน แล้วกุศลจิตที่จะเกิดหรือไม่เกิด ก็ย่อมต่างกันตามการสะสมในปางก่อนที่ได้ผ่านมาแล้วในสังสารวัฏฏ์
นี่เป็นเหตุที่จะให้เกิดโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น สำหรับอโยนิโสมนสิการ เวลาที่อกุศลจิตจะเกิด ก็ต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ตรงกันข้าม คือ อปฏิรูปเทสวาส ไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีสัปบุรุษ ประการหนึ่ง อสัปปุริสสูปนิสสย ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ ประการหนึ่ง อสัทธัมมัสสวนะ ไม่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ ประการหนึ่ง ปุพเพอกตปุญญตา ไม่ได้สะสมบุญมาแล้วแต่ปางก่อน ประการหนึ่ง
เพราะฉะนั้นทุกท่านก็พิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ ที่อกุศลจิตเกิดมาก เป็นเพราะเหตุใด ขณะนี้ท่านผู้ฟังอยู่ในประเทศที่สมควร คือ มีโอกาสที่จะได้รับฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็ย่อมหมายความว่า การฟังธรรมนั้นยังไม่พอ หรือว่ายังไม่ได้สะสมบุญในอดีตมาพร้อมและพอที่จะให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050