จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
ถ้าเป็นกุศลก็สั่งสมโดยการเกิดซ้ำ ๗ ครั้ง
เพราะฉะนั้นแต่ละบุคคลจึงมีอัธยาศัยต่างๆ กัน แม้แต่พระอรหันต์ ไม่เหมือนกัน การสะสมของจิตของแต่ละบุคคลนี้ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายนี้ท่านก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน เป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ กัน เช่น ท่านพระสารีบุตร เป็นเอตทัคคะในทางปัญญา ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นเอตทัคคะในทางอิทธิปาฏิหาริย์ ท่านพระมหากัสสป เป็นเอตทัคคะในการรักษาธุดงค์และสรรเสริญธุดงค์ ท่านพระอนุรุทธะ ก็เป็นเอตทัคคะในทางจักขุทิพย์
นี่เป็นการสั่งสมของชวนวิถี ซึ่งต่างกันไปในทางกุศล ฉันใด ในทางอกุศล ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็มีการสะสมที่ต่างๆ กัน เหมือนท่านผู้ฟังในขณะนี้ คิดไม่เหมือนกันเลย พูดไม่เหมือนกันเลย กาย วาจา ไม่เหมือนกันเลย ตามการสะสม
6884 การสะสมที่ชวนวิถีจิตสะสมไปทุกขณะจนเป็นอุปนิสัย
เพราะฉะนั้นการสะสมที่ชวนวิถีจิตก็สะสมไปทุกๆ ขณะ จนกระทั่งเป็นอุปนิสัยต่างๆ การกระทำกิริยาอาการทางกาย ทางวาจาต่างๆ เพราะฉะนั้นบางท่านแม้เห็นพระอรหันต์ ก็ยังสันนิษฐานอาการที่ปรากฏภายนอกแล้วก็เกิดการดูหมิ่นขึ้น เช่น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ เวลาเห็นท่านพระมหากัจจายนะลงมาจากภูเขา ก็กล่าวว่า ท่านผู้นี้มีอาการเหมือนลิง
การสั่งสมของชวนวิถีจิตของวัสสการพราหมณ์ที่สำคัญตน แม้ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสให้ท่านขอให้ท่านพระมหากัจจายนะอดโทษให้ การสั่งสมมานะ ทำให้วัสสการพราหมณ์ไม่สามารถจะกระทำเช่นนั้นได้ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงพยากรณ์ว่า เมื่อวัสสการพราหมณ์สิ้นชีวิตลง จะต้องเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ วัสสการพราหมณ์ก็ให้คนไปปลูกกล้วย อาหารของลิงไว้ พร้อมที่จะไปเกิดเป็นลิง
เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ให้เห็นโทษของการสะสมของทางฝ่ายอกุศลว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้ว การสะสมของจิตแต่ละขณะ โดยความสามารถของชวนวิถี ซึ่งเกิดซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง ก็จะทำให้แต่ละบุคคลนี้มีกาย มีวาจา ต่างๆ กัน เป็นวาสนา ซึ่งคำว่า “วาสนา” นี้ หมายความถึงการสะสมจนชิน จนกระทั่งเป็นอาการที่ปรากฏ ไม่ใช่ความหมายในภาษาไทย ซึ่งวาสนาแล้วจะหมายความถึง ความเป็นใหญ่เป็นโตต่างๆ แต่ “วาสนา” หมายความถึงการสะสมของอกุศล จนกระทั่งเป็นสิ่งที่เคยชินเป็นประจำทางกาย ทางวาจา
6885 ผู้ที่ละวาสนาได้มีเพียงบุคคลเดียวคือพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะละวาสนาได้มีบุคคลเดียวเท่านั้น คือ พระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์องค์อื่นดับกิเลสได้ หมดกิเลส ไม่มีเชื้อใดๆ ของกิเลสที่จะเกิดเลย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะละวาสนาได้ เพราะการสั่งสมเนิ่นนานมาในสังสารวัฏฏ์ด้วยความสามารถของ “ชวนวิถี”
สำหรับวันนี้ได้กี่วิถีจิตคะ ๖ เหลืออีก ๑ ซึ่งวิถีจิตทั้งหมดมี ๗ วิถี
เริ่มจาก “อาวัชชนวิถี” เป็นวิถีที่ ๑ และถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นทวิปัญจวิญญาณจิตดวงหนึ่งดวงใด คือ จะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏที่กระทบกับปสาทนั้นเป็นอารมณ์อะไร นั่นเป็นวิถีจิตที่ ๒ เมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากวิญญาณจิตที่ดับไป วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณะ พิจารณาอารมณ์ แล้วก็ดับไป วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนวิถีจิต กระทำกิจกำหนดอารมณ์ที่ปรากฏ เพื่อกุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดต่อ แล้วก็ดับไป วิถีที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต ซึ่งได้อธิบายไปแล้วในคราวก่อน
6887 ชวนะ โดยศัพท์แปลว่า ไปอย่างเร็ว หรือ แล่นไปในอารมณ์
ไม่ทราบยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหมคะ สำหรับเรื่องชวนวิถีจิต
ชวนะ โดยศัพท์แปลว่า ไปอย่างเร็ว หรือถ้าจะใช้คำว่า แล่นไปในอารมณ์ก็ได้ เป็นกุศลจิตก็ได้ เป็นอกุศลจิตก็ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ดับกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้นจิตที่ทำชวนกิจ สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์จึงเป็นกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก หรือผลข้างหน้า
สำหรับชวนวิถียังมีข้อสงสัยไหมครับ
6888 ตทารัมมณวิถี - ตทาลัมพณวิถี
วิถีที่ ๗ คือ ตทาลัมมณวิถี บางครั้งก็ใช้คำว่า ตทาลัมพณวิถี
จิตดวงนี้กระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เพราะอารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ถ้านับรูปๆ หนึ่งที่กระทบทวาร ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ ตั้งแต่อตีตภวังค์ เป็นขณะที่ ๑ ภวังคจลนะ เป็นขณะที่ ๒ ภวังคุปัจเฉทะ เป็นขณะที่ ๓ อาวัชชนะ เป็นขณะที่ ๔ ทวิปัญจวิญญาณ เป็นขณะที่ ๕ สัมปฏิจฉันนะ เป็นขณะที่ ๖ สันตีรณะ เป็นขณะที่ ๗ โวฏฐัพพนะ เป็นขณะที่ ๘ ชวนะอีก ๗ ขณะ เป็นขณะที่ ๑๕ อารมณ์ยังไม่ดับไป ยังเหลืออีก ๒ ขณะ
วิสัยของผู้ที่เป็นกามบุคคล เวลาที่ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วรูปนั้นยังไม่ดับ จะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อ จิตที่กระทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนะ ชื่อว่า ตทาลัมมณวิถี หรือ ตทาลัมพนวิถี ก็หมดวิถีของจิต หลังจากนั้นไปก็เป็นภวังคจิตต่อไป จนกว่าวิถีจิตต่อไปจะเกิดขึ้น
6889 ขณะใดที่เป็นภวังคจิต โลกนี้ไม่ปรากฏ
ซึ่งอย่าลืมว่า ขณะใดเป็นภวังคจิต โลกนี้ไม่ปรากฏ ความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องราวของบุคคลต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกนี้ไม่ปรากฏเลย ขณะที่เป็นภวังคจิต เวลาที่นอนหลับสนิท ไม่มีความรู้ความจำเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับโลกนี้ หมดเลย แล้วถ้าจุติจิตเกิด กระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ วิถีจิตต่อไปก็จะเป็นเรื่องของโลกอื่นต่อไป แต่เพราะเหตุว่ายังไม่จุติ แม้ว่าภวังคจิตนั้นจะไม่มีเรื่องราวต่างๆ ความคิด ความทรงจำเกี่ยวกับบุคคลต่างๆ และเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกนี้เลย แต่ว่าเวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะมีการเห็นรูปารมณ์ของโลกนี้ หรือสัททารมณ์ คือ เสียงต่างๆ ของโลกนี้ กลิ่นต่างๆ ของโลกนี้ รสต่างๆ ของโลกนี้ สิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่กระทบสัมผัสของโลกนี้
6890 มโนทวารวิถีจิต
เพราะฉะนั้นก็ให้เห็นความเป็นไปของขณะจิตว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และเมื่อรูปที่กระทบกับจักขุปสาทดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อในขณะที่เป็นภวังคจิต โลกนี้ไม่ปรากฏอีกแล้ว เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย
นี่เป็นวิถีทางทวารทั้ง ๕ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น แล้วต่อจากนั้น มโนทวารวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์เดียวกับอารมณ์ที่ปัญจทวารวิถีเพิ่งจะรับรู้ ที่ดับไปเกิดต่อ
เพราะฉะนั้นสำหรับมโนทวารวิถีจิต มีวิถีจิตไม่มากเท่ากับทางปัญจทวารวิถี เพราะอารมณ์ไม่ได้กระทบกับปสาท เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอตีตภวังค์ แต่ว่าก่อนที่จะมีการรำพึงถึงอารมณ์ที่รับทางปัญจทวารวิถี ก็จะต้องมีภวังค์คจลนะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วภวังคุปัจเฉทะก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วต่อจากนั้นมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้น
6891 มโนทวาราวัชชนจิต ทำกิจอาวัชชนกิจทางมโนทวาร
ถ้าเป็นทางมโนทวารแล้ว จิตที่ทำอาวัชชนจิต ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตคนละดวง แม้ว่ากระทำกิจอาวัชชนะ แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นกระทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร คือ ทางทวารทั้ง ๕ ไม่สามารถที่จะกระทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารได้
สำหรับมโนทวารวิถี จิตที่กระทำอาวัชชนกิจ มี ๑ ดวง ชื่อว่า “มโนทวาราวัชชนจิต” รำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร ไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ใดมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จริงไหม ในวันหนึ่งๆ นึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือว่านึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด เวลาที่จะเกิดการนึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นเพราะมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนเป็นวิถีจิตที่ ๑ ทางมโนทวารวิถี รำพึงถึงอารมณ์นั้น
6892 ทางมโนทวารวิถีมีวิถีจิตเพียง ๓
เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้วละก็ นึกถึงอารมณ์นั้น หรือว่าเรื่องนั้นด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตทีละประเภท ถ้าเป็นอกุศลจิตก็แล้วแต่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต ก็เกิดขึ้นแล้วดับไปๆ ๗ ครั้ง หรือว่า ๗ ขณะ ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ถึง ๗ ขณะเหมือนกัน ถ้าเป็นกุศลก็เช่นเดียวกัน เกิดแล้วก็ดับไป ๗ ขณะ ๗ ครั้ง แล้วต่อจากนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่แรง ตทาลัมมณจิตก็เกิดต่อ
เพราะฉะนั้นสำหรับทางมโนทวารวิถี จะมีวิถีจิตเกิดเพียง ๓ วิถีเท่านั้น คือ อาวัชชนวิถี ชวนวิถี และตทาลัมมณวิถี
6893 วิถีจิต ๗ วิถีเป็นได้เฉพาะทางปัญจทวารทีละทาง
สำหรับวิถีจิต ๗ วิถี เป็นได้เฉพาะทางปัญจทวารและทีละทาง ถ้าเป็นจักขุทวารวิถีทั้งหมด ๗ วิถี ก็ต้องเป็นจักขุทวารวิถี คือ รู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา
ถ้าเป็นโสตทวารวิถีที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ วิถีจิตทั้ง ๗ ก็เป็นโสตทวารวิถี ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน
มีข้องสงสัยอะไรไหมคะในเรื่องนี้
6894 เหตุใดวิถีจิตจึงมี ๔ วาระ
ถาม ก็วิถีจิตทั้งหมดมี ๔ วาระ มีตั้งแต่ตทาลัมพณวาระ ชวนวาระ โวฏฐัพพนวาระ โมฆวาระ ด้วยเหตุอะไรจึงต้องมีตั้ง ๔ วาระ มันเป็นไปได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังถามต่อไปถึงวาระ คือ การเกิดของวิถีจิตในการรู้อารมณ์แต่ละอารมณ์ ซึ่งในบางวาระ วิถีจิตก็เกิดทั้ง ๗ วิถี และในบางวาระวิถีจิตก็เกิด ๖ วิถี และในบางวาระวิถีจิตก็เกิด ๕ วิถี และในบางวาระวิถีจิตก็ไม่เกิดเลย มีแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะเท่านั้น เพราะเหตุว่าเวลาที่รูปกระทบกับปสาท เป็นอตีตภวังค์ กระทบอีก เป็นอตีตภวังค์อีก ยังไม่มีภวังคจลนะ ยังไม่ไหวที่จะรับรู้อารมณ์ที่กระทบ หรือว่าบางครั้งเวลาที่กระทบกับปสาทแล้ว กระทบกับอตีตภวังค์ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์ไหวที่จะรับรู้อารมณ์ใหม่ แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะเหตุว่ารูปนั้นก็ดับไป เพราะเวลาที่กระทบ เวลาที่ไหวหลายขณะ ไม่มีกำลังที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในขณะนั้น คนที่นอนหลับสนิท เขย่าแล้วก็ยังไม่ตื่น เขย่าแรงๆ ก็ยังไม่ตื่นอีก เพราะอะไรคะ อาวัชชนจิตไม่เกิด มีอตีตภวังค์ และภวังคจลนะ เพราะฉะนั้นเป็นโมฆวาระ เพราะเหตุว่าวิถีจิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ นั่นชื่อว่า “โมฆวาระ” เพราะเหตุว่าวิถีจิตไม่เกิด
และบางวิถี เวลาที่อตีตภวังค์เกิดแล้ว ภวังคจลนะเกิดแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว ปัญจวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว ชวนจิตไม่เกิด เพราะอะไรคะ เพราะรูปดับไปเสียก่อน นั่นชื่อว่า “โวฏฐัพพนวาระ”
ดีไหมคะ ไม่ทันให้ชวนวิถีจิตชอบ ชอบไหมคะ ไม่ได้บุญ แสดงว่ามีบุญที่จะเกิดเสมอๆ หรือคะ
นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา ว่าสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า เวลาที่อารมณ์กระทบปสาทแต่ละครั้งแล้ว วิถีจิตจะต้องเกิดตลอดไปทั้ง ๗ วิถี แล้วแต่ว่าบางวิถีเป็นโมฆวาระ วิถีจิตไม่เกิดเลย บางวิถีก็เป็น “โวฏฐัพพนวาระ” คือ เมื่อโวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับไป อารมณ์ก็ดับไป ชวนจิตไม่เกิด
บางวิถีชวนจิตเกิดแล้วดับไปๆ ๆ ๆ ๗ ครั้ง อารมณ์ก็ดับ เพราะฉะนั้น ตทาลัมมณวิถีจิตก็เกิดไม่ได้ การรู้อารมณ์ของจิตในวาระนั้น จึงมีวิถีจิตเพียง ๖ วิถี คือ ถึงชวนวิถีเท่านั้น แล้วรูปก็ดับไป เพราะฉะนั้นการรู้อารมณ์ในวาระนั้นจึงเป็น “ชวนวาระ”
และในบางวาระเวลาที่ชวนจิตเกิดดับ ๗ ครั้งแล้ว อารมณ์ยังไม่ดับไป นั่นเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการรู้อารมณ์ของวิถีจิตในวาระนั้น จึงเป็น “ตทาลัมพนวาระ”
6895 ธรรมทั้งหมดไม่ได้อยู่ในหนังสือแต่เป็นชีวิตจริงๆ แต่ละขณะ
นี่เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ แต่เวลาที่ใช้ศัพท์ต่างๆ ก็อาจจะทำให้สงสัยว่า หมายความว่าอะไร แต่เป็นชีวิตปกติประจำวัน
เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย แต่ว่าเป็นชีวิตจริงๆ แต่ละขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ขณะนี้ทุกท่านกำลังเห็น ทราบถึงวิถีจิตได้แล้วใช่ไหมคะ โดยการฟังว่า มีจิตอะไรเกิดบ้าง อาวัชชนจิตต้องมี วิญญาณจิตต้องมี ที่กำลังเห็น หลังจากนั้นสัมปฏิจฉันนจิตต้องมี สันตีรณจิตต้องมี โวฏฐัพพนจิตต้องมี ชวนจิตต้องมี
นี่เป็นความสำคัญที่สุด เวลาที่ชวนจิตเกิด ที่จะเตือนให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า ชวนวิถีจิตที่เกิดในขณะที่เห็น เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล สำคัญไหมคะ สั่งสมสันดานตนเอง ไม่ใช่หายไปไหนเลย แต่ละขณะจิตที่เกิด
6897 การศึกษาเรื่องของจิตจะต้องทราบชาติของจิตด้วย
เพราะฉะนั้น สำหรับการศึกษาเรื่องจิตและวิถีจิต หรือจิตที่พ้นวิถีก็ตาม จะต้องทราบด้วยว่า จิตนั้นเป็นชาติอะไร
เช่น ปฏิสนธิจิตทุกท่านทราบแล้วว่า เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งในกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วในอดีต เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เพียงชั่วขณะเดียวที่ทำกิจปฏิสนธิ ในภพหนึ่งชาติหนึ่งจะทำกิจปฏิสนธิอีกไม่ได้ ทำได้เพียงขณะแรกขณะเดียวที่เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้นที่เป็นปฏิสนธิจิต แล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย ซึ่งเมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นชาติวิบากดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทันที ทำกิจภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิต ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิต เพราะเหตุว่ากรรมไม่ได้กระทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดและดับไปเท่านั้น แต่กรรมก็ยังทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจสืบต่อ และสำหรับภวังคจิตดวงแรกที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ก็ชื่อว่า ปฐมภวังค์ ภวังค์ดวงต่อๆ ไป นับไหวไหมคะ ว่าถึงภวังค์ดวงที่เท่าไรแล้ว ในขณะนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย
และเมื่อภวังคจิตเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าวิถีจิตจะเกิด
6898 วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนจิต
สำหรับวิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนจิต มี ๒ ดวง อย่าลืมว่า จิตที่กระทำอาวัชชนกิจทางทวารทั้ง ๕ มีดวงหนึ่ง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และจิตที่กระทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารมีดวงหนึ่ง คือ มโนทวาราวัชชนจิต
ทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็น กิริยาจิต หมายความว่าไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต เพราะฉะนั้นอาวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ไม่ได้สั่งสมสันดานตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิต หรืออาวัชชนจิต ไม่ได้สั่งสมสันดาน
6899 วิบากจิต
หลังจากที่อาวัชชนจิตดับไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น ซึ่งเป็นจักขุวิญญาณ ก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้ได้เห็นอารมณ์ที่ดีเป็นอิฏฐารมณ์ หรือว่าอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เป็นอนิฏฐารมณ์
หรือทางหู โสตวิญญาณก็เป็นวิบากจิต ไม่มีใครรู้ใช่ไหมคะว่า ต่อไปโสตวิญญาณจะได้ยินเสียงอะไร แล้วแต่เหตุในอดีตทั้งสิ้น ทางจมูก ฆานวิญญาณ ที่รู้กลิ่น ก็เป็นวิบากจิต ทางลิ้น จิตที่ลิ้มรส ชิวหาวิญญาณก็เป็นวิบากจิต ทางกาย จิตที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นกายวิญญาณก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ซึ่งกระทำให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากอาวัชชนจิต และเมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นอนันตรปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดรับรู้อารมณ์นั้นต่อ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเป็นวิบาก เพราะเหตุว่ากรรมเดียวกับที่ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เป็นวิบาก แล้วก็ดับไป
เมื่อวิบากซึ่งเป็นสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว กรรมเดียวกันนั้นเองก็ทำให้สันตีรณจิต ซึ่งเป็นวิบาก เกิดขึ้นกระทำ “สันตีรณกิจ”
เพราะฉะนั้นในวิถีจิต จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก ไม่ได้สั่งสมสันดาน เพียงแต่เกิดขึ้นกระทำกิจ แล้วก็ดับไป
6900 โวฎฐัพพนจิต
ต่อจากนั้นโวฏฐัพพนจิตซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งกระทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร จิตดวงนั้นทำโวฏฐัพพนกิจทางมโนทวารทวาร เป็นกิริยาจิต ไม่ได้สั่งสมสันดาน แล้วก็ดับไป
6901 ชวนจิต
แต่เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อ คือ ชวนวิถีจิต ซึ่งกระทำกิจแล่นไปในอารมณ์ เป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และสำหรับพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ขณะนั้นสั่งสมสันดานตน
เพราะฉะนั้นในขณะนี้ทราบไหมคะว่า กำลังสั่งสมสันดานอยู่ แล้วแต่ว่าจะสั่งสมสันดานที่เป็นอกุศล หรือว่าจะสั่งสมสันดานที่เป็นกุศล ทราบหรือยังคะ
ทราบโดยฟัง แต่ที่จะให้ทราบจริงๆ ต้องเป็นสติปัฏฐานที่เกิดแล้วระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ จึงจะรู้ว่า ขณะที่เป็นกุศล ต่างกับขณะที่เป็นอกุศล
6932 แขก เป็นคำในพระไตรปิฎก หรือคำในอรรถกถาหรือไม่
ในคราวก่อน ท่านผู้ฟังถามว่า ที่ว่ามีแขกมา เป็นคำในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถาหรือเปล่า
ในอัฏฐสาลินี อุปมาการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ ว่า
พระราชาพระองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนพระแท่นบรรทม มหาดเล็กของพระองค์นั่งถวายอยู่งานนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คนยืนเรียงลำดับอยู่ ที่นั้นยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่ง ถือบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาทจึงได้ให้สัญญาณ เขาจึงเปิดประตูดูด้วยสัญญาณนั้น ทหารยามคนที่ ๑ รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่ ๒ คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา พระราชาได้เสวย
อุปมาไว้ละเอียดทีเดียวนะคะ แต่ว่าอย่าคิดว่าเป็นเรื่องว่า มีพระราชาพระองค์หนึ่งที่บรรทมหลับอยู่จริงๆ เพราะจิตเกิดขึ้นทีละดวง ทีละขณะ ขณะที่เป็นภวังคจิต ก็เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นกระทำภวังคกิจขณะเดียว ขณะนั้นจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะทำจะคิดอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าเกิดขึ้นกระทำภวังคกิจแล้วก็ดับไป
แต่คำอุปมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นการที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้นรับอารมณ์ว่า ขณะที่อารมณ์กระทบกับปสาท อารมณ์เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ถือเครื่องบรรณาการมาที่ประตูวัง ซึ่งในอัฏฐสาลินีอุปมาว่า นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร จักขุวิญญาณเป็นนายทวารหูหนวกที่อยู่ที่ประตู ซึ่งไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงเคาะที่ประตู หน้าที่ของจักขุวิญญาณ ไม่ใช่ได้ยินเสียงเคาะ แต่ที่ได้ยินเสียงนั้นเป็นมหาดเล็กที่ถวายอยู่งานนวดที่พระยุคลบาทของพระราชา ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นผู้ที่รู้ว่ามีคนมีแขกมาที่พระทวาร เพราะฉะนั้นก็ให้สัญญาณ คือ เมื่อรำพึงถึงแล้วก็ดับไป ให้สัญญาณแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นกระทำกิจเห็นที่จักขุปสาท แล้วต่อจากนั้นทหารยามคนที่ ๑ ก็รับเครื่องราชบรรณาการ
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050