กรรม ตอนที่ 01


    2126 กิจของจิต กับ ความวิจิตรของกรรม

    เรื่องของกิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ที่ทำกิจเกิดขึ้นสืบเนื่องจากจุติจิตของชาติก่อน ซึ่งการที่แต่ละชีวิตจะมีการเกิดต่างกัน ไม่ใช่จะจำกัดแต่เฉพาะในมนุษยภูมิเท่านั้น แม้แต่ภูมิอื่นๆ เช่นเดรัจฉานภูมิ สัตว์เดรัจฉาน ก็จะเห็นความวิจิตรได้ ช้างก็อยู่อย่างช้าง มีอาหารของช้าง งูก็อยู่อย่างงู มีอาหารของงู นกก็อยู่อย่างนก ที่อยู่ก็ต่างกัน แม้แต่การเกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมแสดงความวิจิตรของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ต่างกันตั้งแต่เกิดเรื่อยไปจนกระทั่งถึงจุติ แล้วก็ตลอดไปจนถึงชาติต่อๆ ไป

    ในแต่ละขณะไม่สามารถจะย้อนกลับเป็นบุคคลแม้เมื่อวานนี้ หรือเมื่อวันก่อน หรือแม้ในชาติก่อน แสดงว่าทุกขณะเกิดขึ้นเพื่อที่จะไปเท่านั้น ไปสู่อารมณ์ต่างๆ โดยจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง

    เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา น่าพิจารณามาก เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิต

    2127 กรรมคือเจตนาเจตสิก

    กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งตามปกติเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักประเภทเดียวซึ่งจะขาดเจตนาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลก็เป็นกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบาก เป็นผลของกุศล ก็เป็นเจตนาที่เป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกุศลหรืออกุศลที่เป็นเหตุ เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ไม่ใช่ทั้งวิบาก แต่ว่าเป็นเจตนาที่เป็นเพียงกิริยา

    ถ้าดูข้อความในอรรถกถา จะมีคำว่า “กัมมสมาทาน” แปลโดยศัพท์ หมายความว่า การถือเอาซึ่งกรรม ทุกท่านเวลาที่จะทำกุศล มีเจตนา มีความตั้งใจที่จะถือเอาหรือที่จะกระทำแล้วซึ่งกุศลนั้นๆ ใช่ไหมคะ อย่างท่านที่ตั้งใจจะถวายทาน มีการถือเอาซึ่งกรรม คือ กระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะกระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะถือกรรมนั้น ต้องการจะเอาซึ่งกรรมนั้น ต้องการจะกระทำกรรมนั้นนั่นเอง หรือขณะที่จะกระทำอกุศลกรรมชนิดหนึ่งชนิดใด กัมมสมาทาน การถือเอาซึ่งกรรม ได้แก่ การตั้งใจยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏได้ใช่ไหมคะ ตั้งใจจะกระทำซึ่งกรรมใด ก็คือการถือเอาซึ่งกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ จงใจ ยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นกรรมของแต่ละท่านก็ต้องต่างกันไปตามกัมมสมาทาน การตั้งใจที่จะถือเอาซึ่งกรรมนั้นๆ บางท่านก็สนใจที่จะถอดเทป ท่านก็มีกัมมสมาทาน คือ การถือเอาซึ่งกรรมนั้น ตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้น กรรมนั้นบุคคลนั้นย่อมถือเอาแล้ว เพราะเหตุว่าสมาทาน คือ ถือเอาซึ่งกรรมนั้น

    นี่ก็เป็นสำนวนที่แปลโดยศัพท์ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วก็คือความจงใจ ความตั้งใจเกิดขึ้นที่จะกระทำสิ่งใด บุคคลนั้นก็ย่อมถือเอาแล้วซึ่งกรรมนั้น หมายความว่าย่อมกระทำกรรมนั้นนั่นเอง

    นี่ก็คือกรรมที่ต่างๆ กันของแต่ละบุคคล

    2128 พิจารณากรรมที่กำลังกระทำในชีวิตประจำวัน

    และโดยมากเวลาที่พูดถึงเรื่องกรรม ทุกท่านอาจจะนึกถึงกรรมใหญ่ๆ เช่น กุศลกรรม ได้แก่การถวายทาน หรือการทอดกฐินต่างๆ แต่ว่าชีวิตประจำวันของท่านอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลใด กรรมที่ท่านกระทำต่อบุคคลนั้น เคยพิจารณาบ้างไหมคะว่า เป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ไม่ต้องคิดถึงกรรมใหญ่ๆ ที่จะกระทำ เช่น ถวายทาน หรือทอดกฐิน แต่กรรมที่กระทำต่อบุคคลใกล้ชิดเป็นประจำวัน ถ้าได้พิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ย่อมทำให้ละอกุศลกรรม และเจริญกุศลกรรมมากขึ้น เพราะเหตุว่าท่านคงจะไม่กระทำกรรมกับคนที่ท่านไม่รู้จักเลย ใช่ไหมคะ เดินผ่านกันไป สวนกันมาตามถนนหนทาง จะมีการกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมกับบุคคลเหล่านั้นไหมคะ แต่กับผู้ที่ใกล้ชิดในบ้าน ในครอบครัว ระหว่างมิตรสหาย วงศาคณาญาติ เคยพิจารณากรรมของท่านต่อบุคคลอื่นหรือเปล่า ในระหว่างมิตรสหาย หรือว่าผู้ใกล้ชิด ผู้ที่คุ้นเคย หรือผู้ที่อยู่ในบ้าน บางท่านอาจจะไม่ชอบคนใกล้ชิด หรือว่าคนที่พบกันบ่อยๆ บางทีความรู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้นแล้วในจิต ยังไม่ถึงกับแสดงออกทางกายหรือวาจา แต่ปรากฏบ้างได้ไหม ลองคิดดูนะคะ แล้วถ้ามีกำลังมากขึ้น กายกระทำสิ่งใดบ้างซึ่งเป็นกายกรรมแล้ว วาจากระทำคำพูดสิ่งใดบ้างซึ่งเป็นวจีกรรมแล้ว ทำไมไม่คิดถึงผู้ที่อยู่ใกล้ หรือมิตรสหาย ซึ่งเป็นผู้ที่ท่านมักจะทำกรรมเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ มากกว่าบุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาจริงๆ และข้อความในอรรถกถา เช่นในมโนรถปุรณีอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร ข้อ ๔๗๓ ก็ได้แสดงเรื่องของกรรมไว้ครบถ้วน ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะอ่านเองก็จะมีข้อความที่สมบูรณ์ และยาวน่าพิจารณาทีเดียว

    2129 กรรม ๑๑ ในพระสูตร

    ข้อความในมโนรถปุรณีอรรถกถา มีข้อความว่า

    จริงอยู่ โดยปริยายแห่งพระสุตตันตปิฎก กรรมทั้งหลาย ๑๑ อย่าง อันท่านจำแนกไว้แล้ว

    ถามว่าท่านจำแนกไว้อย่างไร

    แก้ว่า ท่านจำแนกไว้ว่า

    ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม หมายความถึงกรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติ

    อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไป

    อปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไปอีกไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์

    ครุกรรม คือ กรรมหนัก

    พหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง

    อาสันนกรรม คือ กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะจุติ คือใกล้จะสิ้นชีวิต

    กฏัตตาวาปนกรรม คือ กรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ใช่ครุกรรม พหุลกรรม อาสันนกรรม

    ชนกกรรม คือ กรรมที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    อุปถัมภกกรรม คือ กรรมซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่อุปถัมภ์หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว

    อุปปีฬกกรรม คือ กรรมที่เบียดเบียนกรรมอื่นซึ่งกำลังให้ผลอยู่

    อุปฆาตกกรรม คือ กรรมซึ่งตัดรอนกรรมอื่นที่กำลังให้ผลอยู่

    สำหรับทั่วๆ ไป ท่านผู้ฟังมักจะได้ยินคำว่า “กรรม ๑๒” แต่สำหรับในมโนรถปุรณีอรรถกถา นิทานวรรค แสดงถึงกรรม ๑๑

    โดยปริยายแห่งพระอภิธรรม จำแนกกรรมไว้ ๑๖ ประการ

    นี่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องของกรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ

    2130 วิบากต้องอาศัยกรรมเป็นกัมมปัจจัย

    วิบากทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกรรมเป็นกัมมปัจจัย ถ้าไม่มีกรรมแล้ว วิบากย่อมเกิดไม่ได้เลย แต่ที่ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก หรือโสตวิญญาณกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก สันตีรณกุศลวิบาก หรือตทาลัมพนกุศลวิบากก็ตาม ต้องเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย

    เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทำให้บุคคลต่างกันไป จิตที่ทำกิจปฏิสนธิบางประเภทก็มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางประเภทก็ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกรรมที่ต่างกันแล้วว่า ถ้ากรรมใดไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก จะให้ผลทำให้วิบากที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก จะให้เป็นผลเป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกได้ไหมคะ ลองคิดดู กรรมที่เป็นไปเกี่ยวเนื่องประกอบกับปัญญาทำให้เกิดวิบาก คือ จิตที่ประกอบกับปัญญาได้ แต่กรรมที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปกับปัญญา จะทำให้เกิดวิบากที่ไม่ประกอบกับปัญญาได้ไหม

    นี่ค่ะ เป็นเรื่องที่จะต้องอ่านมาก ฟังมาก ศึกษามาก พิจารณามาก ใคร่ครวญมากเพื่อที่จะได้ไม่ลืมว่า ได้ค่ะ อย่าลืมนะคะ ว่า กรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวิบากที่ประกอบด้วยปัญญาได้ นี่ตอนหนึ่ง และกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เกี่ยวเนื่องกับปัญญาทำให้เกิดวิบากซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับปัญญา ได้ไหม ได้หรือไม่ได้คะ ได้ค่ะ

    มหากุศลมีทั้งหมด ๘ ดวง ทำให้เกิดกุศลวิบาก ๑๖ ดวง เป็นกุศลวิบากที่ประกอบด้วยปัญญากี่ดวง ที่ไม่ประกอบกับปัญญากี่ดวง เห็นไหมคะ ได้หรือไม่ได้

    นี่คือการที่จะต้องศึกษาจริงๆ พิจารณาจริงๆ ยังสงสัยไหมคะในเรื่องนี้ เรื่องของกรรมนั่นเอง แต่เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดที่ได้ทรงแสดงไว้ จะต้องพิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง จนเป็นความเข้าใจในเหตุในผลจริงๆ

    เมื่อเป็นกุศลที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปกับปัญญา เพราะฉะนั้นก็ทำให้เกิดวิบากที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ นี่ไม่ผิดค่ะ แต่ก็ทำให้เกิดกุศลวิบากที่ไม่ประกอบกับปัญญาด้วยได้ เพราะเหตุว่ามหากุศลมี ๘ ดวง ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ในมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวงนั้น ก็ทำให้เกิดมหาวิบากได้ และทำให้เกิดกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาได้

    สงสัยหรือเปล่าคะ จริงหรือเปล่า เป็นไปได้หรือเปล่า ถ้าเป็นไปไม่ได้จะทรงแสดงไว้ไหมคะว่า ผลของมหากุศล ๘ ดวง ทำให้เกิดกุศลวิบาก ๑๖ ดวง เป็นมหาวิบาก ๘ ดวง เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง

    มีผู้สงสัยในเหตุผลไหมคะว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ และจะเป็นได้อย่างไร

    ท่านผู้ฟังซึ่งเริ่มที่จะสนใจพระธรรม ก็เปิดวิทยุฟัง ฟังแล้วก็บอกว่าไม่เข้าใจ มีไหมคะ เป็นมหากุศลหรือเปล่าที่ฟัง เรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่ฟังน่ะเป็นมหากุศลหรือเปล่า อย่าลืมนะคะ ที่ฟัง ถามถึงขณะที่ฟัง ไม่ได้ถามถึงขณะที่กำลังฟังแล้วเผลอสติ แต่ขณะที่กำลังฟังนี่เป็นกุศลหรือเปล่า เป็นไหมคะ ถ้าไม่เป็นจะฟังไหม คิดดู ย่อมไม่ฟัง แต่เมื่อฟังแล้วไม่เข้าใจ บอกเลยว่าฟังหลายครั้งแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจะประกอบด้วยปัญญาไหมคะ ยังไม่ประกอบ แต่ว่าเมื่อมีการฟังแล้วก็เข้าใจบ้าง ยังไม่ใช่การชัดเจนจริงๆ ปัญญาอ่อนหรือคมในขณะที่ฟังแล้วก็เข้าใจบ้าง เพิ่งจะเข้าใจเงาๆ นิดๆ หลังจากที่บางท่านอาจจะฟังมาเป็นเวลานานทีเดียว

    เพราะฉะนั้นถ้ากุศลนั้นให้ผลจะทำให้เกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกไหม นิดเดียวเท่านั้นเอง เพิ่งจะเริ่ม แต่ว่ายังไม่เข้าใจอะไรมากมาย เช่นได้ฟังว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเดือนเป็นปี ก็ยังคงพูดตาม คิดตามว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะของปัญญาที่พร้อมจะให้ผลเกิดขึ้นประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า ลองพิจารณาดู เพียงที่ฟัง แล้วก็น้อมไปนิดหนึ่งว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ จะสามารถทำให้มหาวิบากเกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกได้ไหม เพียงเท่านี้เอง จะเป็นปัจจัยให้มหาวิบากเกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกได้ไหม เพียงเท่านี้เองที่พูดตามไปหลังจากที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ พูดได้ แต่รู้อย่างนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นระดับขั้นของปัญญา จะเห็นได้ว่ามีหลายระดับขั้นจริงๆ ตั้งแต่เริ่มฟัง เป็นมหากุศลจริง แต่ยังไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ แล้วเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นสักนิดสักหน่อย แต่ยังคงเป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ โดยที่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ จะเป็นปัจจัยถึงกับให้มหาวิบากเกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกได้ไหม

    เพราะฉะนั้นมหากุศลญาณสัมปยุตต์เป็นปัจจัยให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิดได้ และเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิกเกิดด้วยได้

    2191 คิดถึงกรรมที่จะทำ หรือ คิดถึงกรรมที่กระทำอยู่

    นี่คือชีวิตประจำวัน กรรมที่ได้แต่ละท่านกำลังทำอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ควรคิดถึงกรรมที่จะทำ ซึ่งโดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงกรรมที่จะทำ ใช่ไหมคะ ปีนี้จะทำกุศลกรรมอะไร ก็อาจจะคิดไว้ เตรียมไว้ว่า จะทำกุศลกรรมอะไรบ้าง เดือนหน้าจะถวายทาน อาทิตย์หน้าอาจจะถวายทาน หรืออะไรอย่างนั้น แต่กำลังทำกรรมอะไรเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ควรที่จะได้พิจารณากรรมที่กำลังกระทำว่าเป็นกุศลหรืออกุศล แทนที่จะพิจารณากรรมที่จะกระทำ

    ขณะนี้เป็นกุศลกรรมหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ค่ะ ธรรม คือ ขณะนี้เองที่จะต้องพิจารณาเรื่องของจิตทั้งหมด เรื่องของเจตสิกทั้งหมด เรื่องของธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไม่พ้นจากในขณะนี้เอง เพียงแต่ว่าจะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ละเอียดที่สติจะระลึกที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ศึกษาตรงตามความเป็นจริงหรือเปล่า เพื่อที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้นจริงๆ เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกจนเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง โดยอาศัยความเข้าใจพระธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะสภาพของแต่ละขณะจิตซึ่งกำลังเกิดกับทุกท่าน ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้เป็นกุศลหรือเปล่า เป็นญาณสัมปยุตต์หรือเปล่า เห็นไหมคะ เดี๋ยวนี้เอง ถ้าสติเกิด เป็นมหากุศล ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พิสูจน์อีก ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง

    2192 ขณะที่ฟังธรรมไม่เข้าใจเป็นมหากุศลญานวิปยุตต์

    ขณะที่กำลังฟังธรรมในขณะนี้ ขณะที่เพียงฟังแล้วไม่เข้าใจก็ต้องเป็นมหากุศล แต่เมื่อไม่เข้าใจจะเป็นญาณสัมปยุตต์ได้ไหม ไม่ได้ และเมื่อฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจบ้างเล็กน้อย นิดหน่อย นิดเดียว อย่างเช่น นามธรรมเป็นสภาพรู้ มีใครบ้างที่ฟังประโยคนี้แล้วไม่เข้าใจ เข้าใจใช่ไหมคะ นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้ก็บอกแล้วว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงธาตุ คือ สภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นอาการรู้ แสดงว่าไม่มีรูปร่าง ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่นเลย เป็นแต่เพียงอาการรู้เท่านั้นเอง นี่เข้าใจแล้วนะคะ เป็นญาณสัมปยุตต์หรือยัง หรือว่าเพียงเงาๆ ที่จะรู้ว่า นี่คือลักษณะของนามธรรม

    ขณะที่กำลังเห็น ในพระไตรปิฎกพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังก็เข้าใจใช่ไหมคะว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าต้องเป็นจิต ไม่ใช่รูปที่กำลังเห็น แต่ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ จักขุวิญญาณเห็น ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะของธาตุรู้ที่เป็นจักขุวิญญาณคืออย่างไร ไม่ใช่ชื่อจักขุวิญญาณ แต่เป็นลักษณะ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ปัญญาสามารถที่จะรู้อย่างนี้หรือยัง หรือว่าเริ่มที่จะเข้าใจบ้างเล็กน้อย

    สภาพของจิตต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ต่ำที่สุด น้อยที่สุด สามารถจะให้ผลเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ได้ เพราะเหตุใดคะ ฟังแล้ว ไม่ฟังอีกเลย ๓๐ ปี ลืมไหมคะ นามธรรมเป็นอย่างไร ที่เคยได้ยินได้ฟังไว้ ที่ค่อยๆ น้อมไปทีละน้อย ถ้า ๓๐ ปีนั้นไม่ได้ฟังเลย เผอิญไปอยู่ที่อื่น หมดโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังด้วยประการใดๆ ก็ตาม จะเหมือนกับการที่ฟังอีกบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาอีกบ่อยๆ เนืองๆ ใกล้ชิดต่อลักษณะของสภาพที่เป็นธาตุรู้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงวันละเล็กละน้อย แต่ว่าสามารถเป็นปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น มากกว่าที่จะห่างเหินไปเสียเลย

    เพราะฉะนั้นในการฟังที่เป็นมหากุศลญานสัมปยุตต์เพียงครั้งแรกนั่นหรือ ที่จะให้ผลเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ในเมื่อมีกำลังอ่อน เกือบจะเรียกว่า มลายหายไปเลย ถ้าไม่มีการที่จะฟังอีกบ่อยๆ หรือไม่มีการที่จะน้อมพิจารณาอีกเนืองๆ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ไม่มีกำลังเลย

    เพราะฉะนั้นย่อมสามารถที่จะให้ผลเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ได้ แต่ถ้าผู้ใดอบรมเจริญปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรม ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมได้ ให้ผลเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ เพราะเหตุว่าปัญญาต่างขั้นกันเหลือเกินกับการที่เพียงเริ่มที่จะเข้าใจในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    2193 การให้ผลของมหากุศล

    สำหรับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ย่อมให้ผลทำให้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ก็ได้ หรือมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ก็ได้ แล้วแต่กำลังของปัญญา แต่มหากุศลญาณวิปปยุตต์ให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตในภูมิที่เป็นมนุษย์หรือเทวดา แต่ว่าจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ได้ หรือทำให้เป็นอเหตุกกุศลวิบากปฏิสนธิก็ได้

    การเกิดในภูมิมนุษย์ แต่ว่าพิการตั้งแต่กำเนิด ยังเป็นผลของกุศล คือ ไม่ทำให้เกิดในอบายภูมิ ไม่ทำให้เกิดในนรก ไม่ทำให้เกิดเป็นเปรต ไม่ทำให้เกิดเป็นอสุรกาย ไม่ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผลของกุศลที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะพิการตั้งแต่กำเนิด ก็ยังเป็นผลของกุศล แต่ว่าเป็นผลของกุศลที่อ่อนมาก

    เพราะฉะนั้นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ให้ผลเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ปฏิสนธิได้ หรือถ้าให้ผลเป็นกุศลวิบากสันตีรณปฏิสนธิก็ได้

    เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกท่านเป็นผู้ที่รู้จักตัวท่านมากกว่าบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นก็ย่อมทราบเหตุของการที่จะให้เกิดข้างหน้า ซึ่งไม่มีบุคคลอื่นสามารถที่จะทำให้ได้เลย นอกจากตัวของท่านเองว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์มีบ่อยๆ เนืองๆ มากขึ้นพอที่จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิพร้อมด้วยปัญญาเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ หรือว่าจะให้ผลอย่างอื่น กุศลแต่ละอย่างก็ให้ผลต่างกันไปตามกำลัง หรือตามประเภทของกุศลนั้นๆ

    2194 ฟังธรรมเป็นมหากุศล

    ขณะนี้ที่ทุกท่านกำลังฟังธรรม เป็นมหากุศล เป็นปัจจัยให้เกิดมหาวิบาก ถ้าจุติจิตเกิดแล้วดับไป กุศลนี้ให้ผล ก็ต้องแล้วแต่ว่าเป็นกุศลวันนี้ ขณะฟังธรรมวันนี้ที่เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์หรือญาณสัมปยุตต์ทำให้ปฏิสนธิจิตต่างกัน เป็นปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ