กรรม ตอนที่ 10


    เพราะฉะนั้นแทนที่จะนึกถึงว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่ก็ตามแต่ แต่แทนที่จะมีเวรโดยการผูกโกรธ ก็เป็นผู้มีเมตตาต่อกันทันที จึงหมดเวรได้ ไม่ใช่ว่าต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร โดยที่ไม่รู้ว่าท่านที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้ จะเป็นกี่ท่านก็ตาม อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรก็ได้ ทั้งๆ ที่อุทิศส่วนกุศลให้ก็ยังไม่รู้ว่า มีใครอุทิศส่วนกุศลให้บ้าง

    อย่าลืมนะคะ ที่จะคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ก็อย่างที่เห็นๆ กันนี่แหละค่ะ ก็ไม่ทราบว่า เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันในชาติไหน

    ถ้าคิดว่าในสังสารวัฏฏ์อาจจะเคยเป็นในชาติหนึ่งชาติใด ก็มีเมตตาต่อผู้ที่กำลังพบ กำลังเห็นทันที แทนที่รอโอกาสว่า ไปทำบุญแล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน และมองไม่เห็น

    3407 องค์ของอกุศลกรรมบถ

    ท่านอาจารย์ ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านถามเรื่องของอกุศลกรรมบถ และท่านก็กลัวว่ากรรมที่ท่านได้ทำไปแล้ว จะครบองค์ของกรรมบถ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอกุศลกรรมที่ครบองค์ ก็ย่อมสามารถปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แต่ความจริงถ้าท่านผู้นั้นจะพิจารณาจิตใจของท่านเอง ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ท่านกลัวว่าจะเป็นอกุศลกรรมที่จะครบองค์ หรือว่าท่านกลัวการที่จะได้รับผลของกรรมที่ครบองค์

    ข้อความที่มีปรากฏในอรรถกถาหรือในพระไตรปิฎก ก็จะไม่ขอกล่าวถึงโดยละเอียด โดยเฉพาะในคัมภีร์อัฏฐสาลินี ซึ่งเป็นอรรถกถาของธัมมสังคนีปกรณ์ ได้แสดงเรื่องของอกุศลกรรมบถ และองค์ของอกุศลกรรมบถไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้นท่านที่สนใจจะศึกษาได้จากทั้งพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะข้อความบางตอนซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะลืมพิจารณา เช่น มีท่านที่ถามเรื่องอกุศลกรรมบถ ที่ท่านกลัวว่ากรรมที่ท่านกระทำเป็นกรรมที่จะครบองค์หรือเปล่า

    ดูท่านเป็นห่วงเรื่ององค์ของกรรมว่าจะครบหรือไม่ครบ เพราะเหตุว่าท่านกลัวการรับผลของกรรมมากกว่าที่จะกลัวว่าเป็นกรรม เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเป็นอกุศลกรรม รู้สึกว่าถ้าไม่ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก จะไม่กลัวเลย จะทำกันได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะอกุศลกรรมบถทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม แต่ที่กลัวจริงๆ กลัวว่าเมื่ออกุศลกรรมบถนั้นครบองค์ สามารถที่จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิ แต่ถ้าไม่ครบองค์ก็สามารถให้ผลในปวัตติกาล หมายความว่าเมื่อเกิดแล้วในคติใดคติหนึ่ง อกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ไม่ครบองค์ สามารถเป็นเหตุปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น รับผลของกรรม รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางลิ้น ทางกาย ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล ไม่มีใครกลัวผลของกุศลกรรม แต่ถ้าทางฝ่ายอกุศลกรรม กลัวผลมากกว่ากลัวอกุศลกรรม แต่ที่จริงแล้ว ควรที่จะได้กลัวแม้กิเลส หรืออกุศลจิตที่ยังไม่ถึงความเป็นอกุศลกรรม เพราะเหตุว่าถ้าอกุศลจิตเกิดบ่อยๆ และมีกำลังเพิ่มขึ้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ

    เพราะฉะนั้นก็ควรจะได้พิจารณาจริงๆ โดยละเอียดทีเดียวในชีวิตประจำวันว่า อกุศลจิตเกิดมากไหม แล้วก็เป็นอกุศลกรรมบ้างหรือเปล่า

    เริ่มจากอกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อน อย่างกฏัตตาวาปนกรรม เพราะว่าในวันหนึ่งๆ คงจะไม่มีใครจะกระทำอกุศลกรรมขั้นครุกรรม แต่คงจะหลีกเลี่ยงกฏัตตาวาปนกรรมที่เป็นอกุศลกรรมยาก สำหรับผู้ที่มีอกุศลจิตมาก และก็ไม่เห็นภัยของอกุศลจิต ที่ว่า ถ้ามีมาก และสะสมไปย่อมเป็นปัจจัยทำให้เกิดอกุศลกรรม

    3408 ความวิจิตรของจิต กับ ปโยคสมบัติ

    สำหรับเรื่องของจิต ที่สำคัญที่สุด คือ กิเลส และกรรมต่างๆ ที่ได้กระทำแล้ว ย่อมสะสมสืบต่ออยู่ในจิต เป็นพื้นฐานของจิต ซึ่งก็ย่อมต้องแล้วแต่ภพหนึ่งชาติหนึ่งจะเกิดในคติใด จะเป็นคติสมบัติหรือคติวิบัติ อุปธิสมบัติหรืออุปธิวิบัติ กาลสมบัติหรือกาลวิบัติ ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ เป็นปัจจัยทำให้กิเลส หรืออกุศลซึ่งได้สะสมมาในจิต มีโอกาสจะเกิดมาก และน้อยตามพื้นฐานของกรรม และวิบากนั้นๆ ที่จะให้ผล

    อย่างปโยคสมบัติ ความสามารถในกิจการงานต่างๆ ทุกท่านก็คงจะอยากเก่ง ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด คงจะไม่มีคนที่อยากทำไม่เป็น หรือทำไม่เก่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการฝีมือ หรือกิจการใดๆ ก็ตาม ย่อมอยากที่จะกระทำได้อย่างดี แต่ก็น่าอัศจรรย์ในการสะสมของจิต ทุกคนก็มีมือ ๒ ข้าง มีนิ้วข้างละ ๕ นิ้ว มีปากกา มีดินสอ มีพู่กัน แต่ความสามารถในการเขียนรูป ในการวาดรูป ทั้งๆ ที่มี ๕ นิ้ว และก็มีปากกา มีดินสอ แต่ปโยคสมบัติต่างกัน คือ ความสามารถที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมเป็นไปตามการสะสมของจิตซึ่งละเอียดมาก เนิ่นนานมาในแสนโกฏิกัปป์ และก็มีต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้นการสะสมของจิตทำให้ปโยคสมบัติวิจิตรต่างๆ กัน ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้กระทำกรรมที่วิจิตรต่างๆ กันด้วย แม้แต่กิริยาอาการ ท่าทาง ทุกคนคงอยากเป็นผู้ที่น่ารัก มีเสน่ห์ อ่อนหวาน แต่บางคนก็แข็ง ทั้งๆ ที่รู้ดีว่า ถ้าเป็นบุคคลที่อ่อนหวาน น่ารัก มีเสน่ห์ เป็นสมบัติอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดวิบากกรรมต่างๆ ที่เป็นฝ่ายดีได้ เพราะเหตุว่าคติก็ดี อุปธิก็ดี กาลก็ดี ปโยคก็ดี เป็นฐานของวิบากข้างหน้าที่จะเกิด แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

    ไม่มีใครชอบการแยบยลของอกุศลกรรม ความคิดวิจิตรต่างๆ แต่บางคนก็มีความชาญฉลาดแยบยลที่จะกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้

    นี่ก็เป็นเรื่องของการสะสมของกิเลส ซึ่งถ้าไม่เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล แล้วแก้ไขโดยการเจริญกุศลขึ้น ความวิจิตรทางฝ่ายอกุศลย่อมต้องมีมากทีเดียว

    3409 กตัตตาวาปณกรรม

    เพราะฉะนั้นก็จะพิจารณาได้จากชีวิตประจำวันในเรื่องของกฏัตตาวาปนกรรม ซึ่งเป็นกรรมอย่างอ่อนๆ ก่อน

    ขณะที่ละเมอแล้วทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด บางคนละเมอทำการงาน อาจจะตักน้ำ เก็บมะม่วง หรือทำอะไรหลายอย่าง ในขณะนั้นเป็นกรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นอกุศลจิต

    มีตัวอย่างจริงๆ ไหมคะ ในเรื่องความวิจิตรของจิต ที่จะพิจารณาเรื่องความหนักเบาของกรรม เพราะเหตุว่าในขณะที่นอนหลับ และละเมอ ไม่เหมือนในขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ว่ายังมีการทำสิ่งต่างๆ ได้ เห็น แล้วก็ได้ยิน แล้วก็มีการเคลื่อนไหวต่างๆ มีการกระทำต่างๆ ถ้าละเมอเดินลงไปรับประทานน้ำ แล้วก็กลับขึ้นมานอน ขณะนั้นก็ไม่เป็นอกุศลกรรม แต่ก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งประกอบด้วยอุทธัจจโมหมูลจิตอย่างมาก ทำให้เป็นผู้ที่ขาดความรู้สึกตัว การละเมอคงจะไม่เกิดกับทุกท่าน แต่ทำไมบางท่านเป็นได้

    นี่คือการสะสมอย่างวิจิตรทีเดียวในสังสารวัฏฏ์ บางคนอาจจะละเมอทำทุจริตกรรม ได้ไหมคะ ขณะนั้นเป็นกรรมไหม เป็นอกุศลกรรมบถไหม เป็น

    ถ้าวิกลจริตแล้วกระทำปาณาติบาตเป็นอกุศลกรรมบถไหม

    นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาแต่ละเรื่องโดยละเอียดว่า อกุศลจิตเป็นอย่างไร อกุศลกรรมบถเป็นอย่างไร และอกุศลจิต อกุศลกรรมในขณะที่ขาดสติสัมปชัญญะ เช่น ขณะที่ละเมอ หรือในขณะที่วิกลจริต กับขณะที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัวเต็มที่ ก็เป็นภาวะที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้นข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ ว่าด้วยมโนกรรมทวาร มีข้อความว่า

    จริงอยู่ กรรมที่ถึงความหวั่นไหวในกายทวาร และวจีทวาร แต่ไม่ถึงกับเป็นกรรมบถก็มี ถึงความฟุ้งในมโนทวาร แต่ไม่ถึงกับเป็นกรรมบถก็มี

    ข้อความในอัฏฐสาลินี ยกตัวอย่างของคนที่คิดว่าจะไปล่าสัตว์ และเตรียมธนู ฟั่นเชือก ลับหอก นุ่งห่มเสื้อผ้า รับประทานอาหาร เพียงเท่านี้ย่อมเป็นอันหวั่นไหวในกายทวาร ผู้นั้นเที่ยวไปในป่าตลอดวัน ไม่ได้อะไร แม้เพียงกระต่าย และตุ่น อกุศลนี้จัดเป็นกายกรรมหรือไม่

    แก้ว่า คือตอบว่า ไม่เป็น

    ถามว่า ทำไมไม่เป็น

    แก้ว่า เพราะไม่ถึงความเป็นกรรมบถ แต่พึงทราบว่าเป็นกายทุจริตอย่างเดียว

    สำหรับกายกรรมทางวจีทวารก็โดยอีกนัยหนึ่ง คือ สั่งให้คนอื่นจัดเตรียมเป็นต้น ด้วยวาจา แต่ถ้ายังไม่ได้สัตว์สักตัวหนึ่ง แม้กระต่ายหรือตุ่น ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นกายกรรม เพราะเหตุว่าปาณาติบาตนั้นยังไม่สำเร็จ ยังไม่ครบองค์ แต่ว่าการกระทำทั้งหมดในขณะนั้น ชื่อว่า เป็นกายทุจริต ไม่ใช่กายสุจริต เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำของอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น อกุศลจิตที่ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ มี ที่ทำไปด้วยความรู้สึกตัวเต็มที่ ก็มี และที่ทำไปด้วยความไม่รู้สึกตัว ก็มี เช่น ในขณะที่ละเมอ บางท่านเป็นผู้ที่ขาดความรู้สึกตัวชั่วระยะหนึ่ง อาจจะออกจากบ้านไปโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นใคร อาจจะต้องมีการรักษาพยาบาลอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะรู้สึกตัวได้มากน้อยแค่ไหน บางท่านก็รู้สึกตัวเร็ว และแปลกใจจริงๆ ในขณะที่ไม่สามารถที่จะจำอะไรได้เลย และได้ทำอะไรบ้างในขณะที่จำอะไรไม่ได้

    อันนี้ก็แสดงไว้ว่าเป็นผลของการดื่มสุรา ซึ่งทำให้เป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นถ้าสะสมการขาดสติสัมปชัญญะมากๆ ก็ย่อมจะทำให้เป็นผู้ที่ขาดความรู้สึกตัว เพราะว่าแต่ละคนก็เป็นผู้มีกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วมากทีเดียว จนไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า วิบากหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ จะเป็นวิบากประเภทใด ทางไหน

    ข้อสำคัญก็ต้องเข้าใจด้วยว่า กรรมได้แก่เจตนา

    ในคราวก่อนที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เอาขยะไปทิ้งแล้วท่านผู้ใดได้รับประโยชน์จากอาหารที่เหลือ ก็เข้าใจว่า วันหนึ่งท่านหิวก็คงจะโซซัดโซเซไปพบอาหาร คงเป็นผลของการนำขยะไปทิ้ง แล้วก็มีบุคคลได้รับประโยชน์จากอาหารที่ท่านทิ้งไป โดยไม่มีเจตนา แต่ต้องเข้าใจว่า เจตนาเท่านั้นที่เป็นกรรม ถ้าทิ้งเฉยๆ อย่าคิดว่าเป็นกุศลกรรม แต่ถ้าให้แม้จะเป็นอาหารเหลือ แต่มีเจตนาที่ให้เป็นประโยชน์ ในขณะนั้นจึงจะเป็นกรรม

    เพราะฉะนั้น สำหรับกฏัตตาวาปนกรรม กรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันฝ่ายอกุศลก็มี ทางฝ่ายกุศลก็มี ซึ่งถ้ากรรมใหญ่ๆ หรือกรรมหนักๆ ไม่มีที่จะให้ผลก่อนจะจุติ กฏัตตาวาปนกรรม คือ กรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็จะสามารถทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้

    3410 คติสมบัติ - อุปธิสมบัติ -กาลสมบัติ- ปโยคสมบัติ

    ถาม คติสมบัติ อุปธิสมบัติ กาลสมบัติ ปโยคสมบัติ ทั้ง ๔ อย่างนี้ต้องเกิดพร้อมกัน หรือว่าแยกกันได้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุการณ์ แต่ละขณะ เช่น คติสมบัติเกิดแล้ว ก็แล้วไปแล้ว แล้วกาลสมบัติก็แล้วแต่ ไฟไหม้ ฝนตก น้ำท่วม เมื่อไร ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์เมื่อไร ประชาชนมีใจเมตตาประกอบด้วยกุศลเมื่อไร มากไปด้วยอกุศลเมื่อไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละกาล

    ผู้ถาม ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกัน เกิดทีละอย่างก็ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุการณ์

    3466 กิเลส - กรรม - ปฏิสนธิกิจ

    ที่ได้กล่าวเรื่องของกรรม ก็เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังขอให้กล่าวถึงกิจของจิตทั้ง ๑๔ กิจ ซึ่งเริ่มด้วยปฏิสนธิกิจ ซึ่งปฏิสนธิกิจเกิดต่อจากจิตดวงสุดท้ายของชาติก่อน แล้วถ้าปราศจากกรรม ปฏิสนธิจิตก็ไม่มี และถ้าปราศจากกิเลส กรรมทั้งหลายก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้นโดยนัยของสมุจจปฏิปาทก็คือ กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์

    3467 ปัจจัยโดยแท้ของแต่ละกรรมคือโลภะ

    ข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร ที่ได้กล่าวถึงเรื่องของกรรมต่างๆ คือ กรรม ๑๑ กรรม ๑๒ กรรม ๑๖ ได้แสดงถึงนิทาน หรือนิทานะ ไม่ใช่นิทานที่เล่าให้เด็กฟัง แต่หมายถึงเหตุ ปัจจัย ที่มา ที่เกิดขึ้นของกรรมต่างๆ มีข้อความว่า

    ข้อว่า โลโภนิทานํ กมฺมามํ สมุทญาย ความว่า สภาวะคือความโลภ ความอยากได้ ชื่อว่า โลภะ เป็นนิทาน คือ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ย่อมมีเพื่อทำให้กลุ่มแห่งการเกิดขึ้นของกรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปในวัฏฏะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมทุกอย่าง ทุกประเภท มีโลภะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย

    ลองพิจารณาดูแต่ละกรรมๆ ปัจจัยที่ลึก ปัจจัยดั้งเดิม ปัจจัยแท้ๆ ของแต่ละกรรมนั้นก็คือโลภะ ความอยากได้ย่อมมี เพื่อทำให้เป็นกลุ่มแห่งการเกิดขึ้นของกรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะกรรมเดียว กรรมทุกกรรมที่ได้เกิดแล้ว ที่กำลังเกิดอยู่ และที่จะเกิดต่อไป ย่อมมีโลภะเป็นเหตุที่ทำให้สัตว์เป็นไปในวัฏฏะ

    บทว่า โลภปักกตํ ความว่า อันความโลภกระทำทั่วแล้ว

    พิจารณาจริงๆ ก็เห็นจริงๆ ว่า ไม่มีขณะใดเลยที่ปราศจากโลภะ รับประทานอาหาร แสวงหาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ทำงานทุกอย่าง เลี้ยงชีพทุกอย่าง กระทำกิจในบ้านทุกอย่าง ก็เพราะเหตุว่าอันความโลภกระทำทั่วแล้ว ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา

    อธิบายว่า กรรมอันบุคคลผู้อันความโลภครอบงำแล้ว คือ อันคนโลภกระทำแล้ว เกิดแล้วจากความโลภ เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า เกิดจากความโลภ

    ถ้าพิจารณาจริงๆ ถึงเหตุแท้ๆ ของกรรมทั้งหลาย ก็คืออันคนโลภกระทำแล้ว เกิดแล้วจากความโลภ เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า เกิดจากความโลภ

    ความโลภเป็นเหตุเกิดขึ้นของกรรมนั้น เหตุนั้นกรรมนั้นชื่อว่า มีโลภะเป็นเหตุเกิดขึ้น ปัจจัยชื่อว่า สมุทัย อธิบายว่า กรรมมีความโลภเป็นปัจจัย ดังนี้

    ข้อว่า ยัตทัสสะ อัตตภาโว นิจภัตตติ (?) ความว่า อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดจากความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น

    ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย

    และข้อความที่ว่า

    อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดจากความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น

    นี่คือตัวท่าน ขอให้นึกข้อความที่ว่า อัตภาพของบุคคลผู้มีกรรมเกิดจากความโลภนั้น ย่อมเกิดในที่ใด เกิดแล้วในชาตินี้ เป็นบุคคลนี้ ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น มีรูปขันธ์เกิดสืบต่อมาจากปฏิสนธิ แล้วก็มีเวทนาขันธ์ ความรู้สึกต่างๆ เป็นประจำ มีสัญญาขันธ์สภาพที่จำสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ มีสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งความรัก ความชัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ในสิ่งที่ต่างๆ ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเมื่อขันธ์ทั้งหลายย่อมปรากฏในที่นั้น กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น

    ถ้าไม่มีขันธ์ทั้งหลาย กรรมทั้งหลายก็ให้ผลไม่ได้ แต่เหตุว่าเมื่อมีขันธ์ทั้งหลาย กรรมนั้นย่อมให้ผลในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น

    และข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถา จตุกนิบาต จตุถปัณณาสก์ วรรคที่ ๓ เจตนาสูตร ข้อ ๑๗๑ มีข้อความว่า

    ก็กรรมท่านกล่าวว่า เขต เพราะอรรถว่า เป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบาก

    ถ้าไม่มีกรรมเป็นเขตแดน วิบากก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นกรรมท่านกล่าวว่าเขต เพราะอรรถว่า เป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบาก

    ใครจะได้รับผลของกุศลกรรมมากน้อยเท่าไร ก็แล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเขต ซึ่งจะเป็นแดนงอกขึ้นแห่งวิบากของกรรมนั้นๆ

    ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างประณีต อย่างดี อย่างมาก เขตของกุศลวิบากก็มาก แต่ถ้าเป็นกุศลกรรมอย่างอ่อนๆ เขตของกุศลวิบากก็น้อย เพราะฉะนั้นบางคนก็เกิดมามีสุขน้อยกว่าทุกข์ เพราะว่าย่อมแล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเขต คือ เป็นแดนงอกขึ้นของวิบาก

    3468 จะเกิดเป็นอะไรก็ไม่น่าเป็นห่วง

    ถาม ตามที่อาจารย์ถึงเรื่องจุติจิต ผมก็ไม่สงสัยว่า วันใดวันหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่งก็ต้องจุติแน่ทุกคน ที่นี้หวั่นแต่เรื่องปฏิสนธิ เพราะว่าตามปกติ ผู้ที่จุติไปแล้วจะปฏิสนธิต้องประกอบด้วยมารดาต้องมีระดู และบิดาต้องสมสู่ร่วมกัน แต่ประชาชนเดี๋ยวนี้ก็จะปิดกันเสียหมด มาคิดถึงสัตว์เดรัจฉาน ทั้งสัตว์น้ำสัตว์บกมากมายเหลือเกิน หวั่นว่าจะไปปฏิสนธิก็ลำบาก ยิ่งไปอยู่ในพวกสัมมาทิฏฐิยิ่งยาก กลัวจะไปอยู่กับพวกเดรัจฉาน เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เราจะทำอย่างไรดี ถึงจะไปจุติพร้อมกับบิดามารดาร่วมกัน แล้วจิตของเราก็ปฏิสนธิพร้อมกับมารดาพอดี กรรมใดที่จะพาไปครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของกรรม ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเลย เพราะเหตุว่าโลกนี้กว้างใหญ่ไพศาล และก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะโลกมนุษย์ในชมพูทวีป ในทวีปอื่นก็มีอยู่ ในจักรวาลอื่นก็มีด้วย เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าเป็นเรื่องที่จะต้องวิตกห่วงใยเลย และสำหรับเรื่องของการเกิด ถ้าเกิดในสวรรค์ก็ไม่ต้องอาศัยมารดาบิดา แล้วแต่กรรม แต่ถ้าเกิดในอบายภูมิ ก็อาจจะเกิดในไข่ เป็นอัณฑชะ หรือเกิดในครรภ์ เป็นชลาภุชะ โดยที่ไม่ต้องอาศัยไข่ หรือเกิดเป็นสังเสทชะกำเนิด คือ อาศัยเถ้าไคล้สิ่งสกปรกทั้งหลาย หรือว่าถ้าเกิดในนรก ก็เป็นอุปปาติกะกำเนิด

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องซึ่งได้มีแล้ว และก็ได้เกิดมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย จะไม่มีการเกิด แล้วก็แล้วแต่กรรมใดเป็นปัจจัย เลือกไม่ได้อีกเหมือนกัน สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ในขณะนี้ ทุกคนรู้ว่าต้องตายแน่ แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำไว้ มีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นยังไม่ทราบแน่ว่า ถ้าไม่ใช่ครุกรรมว่า จะเกิดที่ไหน ถ้าใครเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌาน ไม่เสื่อม ฌานจิตคล่องแคล่วมาก สามารถจะเกิดเมื่อไรก็ได้โดยรวดเร็ว เป็นวสี เป็นความชำนาญ จนกระทั่งก่อนจุติจิตจะเกิด ฌานจิตยังเกิดก่อนจุติ ผู้นั้นก็ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคลชั้นหนึ่งชั้นใดในรูปพรหม ๑๖ ภูมิ ตามระดับขั้นของฌาน ว่าเป็นผลของปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน แต่ว่าใครทำบ้างคะ ความสงบของจิตจนกระทั่งถึงขั้นฌาน เพราะเหตุว่าการที่จิตจะบรรลุความสงบขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ยากแสนยาก ไม่แน่เลยว่าในชาตินี้จะสามารถให้ฌานจิตเกิดได้ และยังเกิดแล้ว ถ้าไม่ชำนาญฌานจิตก็เสื่อม

    เพราะฉะนั้นฌานจิตทั้งหลายไม่ชื่อว่า อนันตริยกรรม แต่ชื่อว่า ครุกรรม เพราะเหตุว่าเป็นกรรมที่มีกำลังที่จะทำให้ปฏิสนธิในชาติต่อไปถ้าไม่เสื่อม เพราะเหตุว่าไม่ใช่อนันตริยกรรม แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล อนันตริยกรรมที่ได้กระทำแล้วนั้น แม้ว่าภายหลังบุคคลนั้นจะอบรมเจริญกุศลทุกขั้น แต่แม้อย่างนั้นอกุศลที่เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมที่ให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นขัดขวาง คือ หลังจากจุติจิตดับแล้ว อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิสืบต่อทันที โดยกุศลอื่นไม่สามารถจะให้ผลคั่นได้

    นี่คือความต่างกันของครุกรรม คือ ครุกรรมฝ่ายกุศล ได้แก่ มหัคคตกุศล ได้แก่ ฌานจิต แต่ไม่เป็นอนันตริยกรรม แต่ทางฝ่ายอกุศลแล้ว ครุกรรมเป็นอนันตริยกรรม ซึ่งเมื่อจุติจิตดับแล้วทำให้ปฏิสนธิที่เป็นอกุศลวิบากเกิดสืบต่อทันทีในอบายภูมิ

    เพราะฉะนั้นลองพิจารณาถึงชีวิตว่า ผู้ที่ไม่ได้ทำฌานจิต ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป จะปฏิสนธิที่ไหน

    3469 เป็นมนุษย์ชาตินี้กับปฏิสนธิชาติหน้า

    สำหรับผู้ที่เป็นมนุษย์ในชาตินี้ อาจจะเป็นคนที่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวกตั้งแต่เกิด เป็นสุคติปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก



    หมายเลข 3
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ