กรรม ตอนที่ 15
แต่ถ้ายังไม่ล่วงออกไปก็เป็นมโนกรรมทางมโนทวาร
สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด วันนี้ทั้งวัน ท่านผู้ฟังพูดเรื่องความเห็นบ้างหรือยังคะ ตั้งแต่เช้ามา คิดเรื่องความเห็นบ้างหรือเปล่า บาปไม่มี บุญไม่มี คิดอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ตั้งแต่เช้า หรือไม่ได้คิดอะไร ก็มีชีวิตดำเนินไปตามปกติประจำวัน แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด ขอเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล เวลาที่ท่านผู้ฟังมาฟังธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิทางกายทวาร ได้ไหมคะ และถ้ามีการมาฟังสนทนาธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิทางวจีทวาร คงจะไม่นั่งเฉยๆ แล้วก็นั่งคิดเอาๆ เรื่องของบาป เรื่องของบุญ เป็นชั่วโมง เป็นนาทีว่า บาปมี บุญมี หรือบางท่านอาจจะคิดว่า บาปไม่มี บุญไม่มี นั่งคิดไปเป็นชั่วโมงอย่างนี้ ไม่ทราบจะมีท่านผู้ใดทำอย่างนี้หรือเปล่า แต่เข้าใจว่าเวลาที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น จะมีทวารของความเห็นผิดด้วย คือ เป็นกายทวาร หรือวจีทวาร หรือแม้ว่าไม่ใช่ความเห็นผิด ท่านผู้ฟังลองพิจารณาคำพูดของท่าน ท่านคิดอย่างไร ท่านพูดอย่างนั้น ไม่ค่อยจะเก็บเอาไว้ใช่ไหมคะ บางท่านพูดไปแล้วเสียใจ ถ้าคิดเสียก่อนที่จะพูดก็จะดีกว่า แต่ว่าโดยมากพอคิดก็พูดเลย ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นเมื่อท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไร ในขณะนั้นเป็นเวลาที่ขณะที่ท่านจะพูดถึงความเห็นนั้น ถ้าจะเป็นเรื่องบาปบุญคุณโทษต่างๆ ก็มีวจีทวาร เป็นทวารของมโนกรรม คือ มิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ ในการสนทนาธรรมย่อมมีบางคนเป็นสัมมาทิฏฐิ บางคนก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น จะไม่นั่งเฉยๆ เงียบๆ แล้วก็คิด แต่จะแสดงความเห็นออกไป โดยเป็นวจีทวารของสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ แต่บางท่านก็คิดถึงเรื่องมิจฉาทิฏฐิอยู่บ่อยๆ และนานๆ เป็นอัธยาศัย เพราะบางท่านอาจจะเป็นผู้ที่ไม่พูด แต่ก็คิด แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ท่านจะพิจารณาว่า ชีวิตประจำวันจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ท่านทำอย่านี้บ่อยหรือเปล่า คือนั่งคิดเรื่องกรรมไม่มี โลกนี้โลกหน้าไม่มี หรือว่าในวันหนึ่งๆ ชีวิตจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น จนกว่าจะมีการสนทนาหรือการแลกเปลี่ยนความคิดกัน แล้วในขณะที่ท่านคิดอย่างไร ด้วยจิตอย่างไร ก็มีวจีทวารเป็นทางของมโนกรรม คือ มิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิในขณะนั้น
3943 ล่วงทุจริตกรรมเพราะขาดหิริโอตตัปปะ
เรื่องของกรรมคงยังไม่ชัดเจน จนกว่าท่านผู้ฟังจะอ่านแล้วอ่านอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีกบ่อยๆ แต่ให้ทราบว่า ความสำคัญ คือ ไม่ควรนึกถึงว่าครบองค์หรือไม่ครบองค์ แล้วก็ล่วงทุจริตกรรมไปทางไหน จะเป็นทางมโนกรรม ทางวจีทวารหรือกายทวาร ขอแต่เพียงว่า ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของอกุศลจิต เพื่อที่จะได้เกิดหิริโอตตัปปะตามขั้นของแต่ละบุคคล เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นปุถุชน ที่ยังล่วงทุจริตกรรมเพราะขาดหิริโอตตัปปะ ไม่เห็นว่าอกุศลกรรมในขณะนั้นเป็นสิ่งที่ควรละอาย และเป็นสิ่งที่ควรเว้น จึงล่วงได้ แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านก็จะละเว้นอกุศลกรรมตามคุณธรรมของท่าน จนถึงขั้นที่เห็นภัยแม้โทษเพียงเล็กน้อยของอกุศลจิต จึงสามารถที่จะละหรือดับได้เป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์
3944 โลภะ คือ อภิชฌา
ถาม ผมสงสัยเรื่องอภิชฌา อภิชฌาที่อาจารย์บอกว่า เพ่งเล็งสิ่งของของคนอื่นโดยที่เป็นทุจริต คำว่า ทุจริตนี่มีความหมายอย่างไร คิดจะขโมยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ โดยวิธีไหนก็ได้ค่ะ
ถาม พระโสดาบันละอภิชฌายังไม่ได้ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เรื่องของศัพท์อีกแล้ว ใช้คำว่าโลภะได้ไหม ไม่ใช่ว่าต้องใช้คำว่า อภิชฌา แล้วเข้าใจว่าอภิชฌาต้องเป็นมโนกรรมซึ่งเป็นทุจริต พระโสดาบันมีโลภมูลจิต แต่พระโสดาบันไม่ล่วงศีล ๕ ขณะที่จิตมีอทินนาทาน ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้ ขณะนั้นมีอภิชฌาไหม ขณะนั้นมีอภิชฌา เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นกายกรรม แต่ใช้คำว่าอภิชฌาก็ได้ เพราะอภิชฌาคือโลภะนั่นเอง
3945 เจตนาเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดมโนกรรม
ถ้าจะกล่าวว่าเป็นมโนกรรม อย่าลืมว่า อกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทั้งหมดเป็นมโนกรรม นี่ตอนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระดับใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดทางปัญจทวาร เช่น ทางตาเห็นแล้วเกิดโลภมูลจิตขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต มีอกุศลเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นมโนทวาร
นี่คือความหมายทั่วไปเลยของคำว่า “มโนกรรม” แต่ถ้ากล่าวถึงมโนกรรมในอกุศลกรรมบถ ยกเพียง ๓ อย่าง ซึ่งจำแนกให้เห็นว่า กรรมใดเป็นกายกรรม กรรมใดเป็นวจีกรรม กรรมใดเป็นมโนกรรม และสำหรับมโนกรรมที่เป็นอกุศลเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร เพราะเหตุว่าแม้แต่เพียงอกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทั่วๆ ไป ก็เป็นมโนกรรมแล้ว โดยนัยที่กว้างมาก เมื่อยังไม่ล่วงเป็นทุจริตทางหนึ่งทางใดก็เป็นมโนกรรม
เพราะฉะนั้น อภิชฌาเมื่อยังไม่ล่วงเป็นทุจริตทางกาย หรือทางวาจาก็เป็นมโนกรรม
ถาม แสดงว่าพระโสดาบันละอภิชฌาในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้ใช่ไหมครับ
สุ ไม่มีการอยากได้ของของคนอื่นในทุจริตเลย ถ้าถามว่าพระโสดาบันยังมีมโนกรรมไหม
ผู้ฟัง มีครับ
ท่านอาจารย์ มี เพราะอกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงเป็นมโนกรรม
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด ข้อความในอัฏฐสาลินี ที่ว่า กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ๒๙ อันเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่ามโนกรรม และมโนทวาร ที่ใช้คำว่ามโนทวาร เพราะเหตุว่ายังไม่ล่วงออกไปทางกายหรือทางวาจา
ผู้ฟัง ถ้าเห็นว่าคุณบิดามารดามี แค่นี้ก็เป็นมโนกรรมซึ่งเป็นกุศลกรรมใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เห็นคุณมารดาบิดาก็ต้องเป็นกุศลกรรม
ผู้ฟัง เป็นสัมมาทิฏฐิ การเห็นว่าคุณบิดามารดามี และต้องทำการตอบแทน อย่างนี้ก็เป็นมโนกรรมแล้วใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นมโนกรรม
เรื่องของมโนกรรม ถ้าคิดถึงอย่างกว้างที่สุดแล้วจะไม่มีปัญหาเลย คือ ขณะใดก็ตามที่ยังไม่ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา กุศลเจตนา และอกุศลเจตนาทั้งหมดเป็นมโนกรรม ตัดปัญหาไปได้เลย แต่ถ้าถึงขั้นอกุศลกรรมบถ ยกเฉพาะ ๓ ที่เป็นมโนกรรม คือ อภิชฌา ๑ พยาปาท ๑ และมิจฉาทิฏฐิ ๑
3946 มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ดิ่งลง
และสำหรับมิจฉาทิฏฐิ ต้องเป็นความเห็นที่ดิ่งมั่นคงว่า การกระทำนั้นไม่ใช่กรรมที่จะให้เกิดผล ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่าง ถึงจะทำให้อกุศลกรรมบถแตกหรือขาด เชื่อว่าผลของกรรมไม่มี เชื่อว่ากรรมไม่มี เชื่อว่าการกระทำนั้นไม่เป็นกรรม
พิจารณาจิตสะดวกกว่า ง่ายกว่า ใช่ไหมคะ ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้น ก็รู้ว่าลักษณะสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพของอกุศลเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะทำให้ไม่กังวล และไม่ห่วงเรื่ององค์ของกรรมบถต่างๆ เพราะเหตุว่าสตินั้นสามารถที่จะระลึกรู้ความมีกำลังขึ้นของอกุศลได้
ถ้าสติเกิดในขณะนี้ พอที่จะรู้ลักษณะของกุศล และอกุศลไหมคะ ค่อยๆ รู้ไปในลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม ยังไม่ต้องห่วงว่ายังไม่สามารถที่จะแยกได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิต ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นวิบากจิต เป็นกิริยาจิต แต่ว่าการที่สติระลึกเพื่อที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งใช้คำว่า “นามธรรม” หรือเป็นลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ต้องค่อยๆ รู้ไปในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม กว่าที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต
คำว่า “กรรม” เป็นคำที่ชินหู แต่แม้กระนั้นเรื่องกรรม และเรื่องผลของกรรมก็เป็นปัญหา ไม่ใช่แต่เฉพาะในยุคนี้ แม้ในยุคก่อนๆ และในยุคต่อๆ ไป เพราะเหตุว่าบางท่านก็เห็นว่า การกระทำทั้งหลายไม่มีผลไม่ให้ผล อกุศลกรรมไม่ให้ผล หรือว่ากุศลกรรมไม่ให้ผล
ที่เข้าใจกันอย่างนี้ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดให้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า ที่ชื่อว่า “กรรม” หรือสภาพธรรมที่เป็นกรรมนั้น ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นไปก็ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑
สำหรับรูปปรมัตถ์เป็นกรรมหรือเปล่าคะ ไม่เป็น เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อรูปไม่ใช่กรรม ก็ต้องมีเหตุผลด้วยว่า เพราะอะไรรูปจึงไม่เป็นกรรม หรือว่ารูปจึงไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปธรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจักขุปสาท จักขุปสาทก็ไม่เห็นอะไร โสตปสาทก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรับกระทบเฉพาะเสียง และเวลาที่เสียงปรากฏก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมดไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่นามธรรม บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ถ้าไม่มีรูป กรรมจะมีได้ไหม แต่ถึงกระนั้นก็ตามรูปก็ไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้
จิตปรมัตถ์เป็นกรรมหรือเปล่าคะ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จิตเป็นสังขารธรรม ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตนั้นกี่ประเภท แต่จิตเป็นแต่เพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในขณะที่เห็น จิตเห็น แต่เวลาที่รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง คือ เวทนาเจตสิก
ในขณะที่เห็นแล้วก็จำได้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร สภาพที่จำก็ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือ สัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่กรรม
ถ้ากล่าวโดยกว้างอาจจะกล่าวได้ว่า จิตใดที่เป็นกุศล หรือจิตใดที่เป็นอกุศล ทำให้เกิดการกระทำที่เป็นอกุศลกรรม และอกุศลกรรม จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นจิตตุปาท เป็นกรรม แต่ถ้ากล่าวโดยเจาะจงแล้ว จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ใช่ตัวกรรม ไม่ใช่สภาพที่เป็นสภาพที่กระทำกรรม แต่ว่าเจตสิกดวงหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวง ซึ่งได้แก่เจตนาเจตสิกเป็นกรรม เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจงใจ ตั้งใจ ขวนขวาย หรือมุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์
4042 กุศลกรรม และอกุศลกรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก
ข้อความในพระอภิธรรมวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๒ แสดงลักษณะของเจตนาเจตสิก มีข้อความว่า
สภาพธรรมที่มีชื่อว่า เจตนา เพราะอรรถว่า มุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์ หรือถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม
ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะคิดนึก จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำอะไร ไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นสภาพของเจตนาเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ ไม่สามารถปรุงแต่งนิพพานได้ เพราะเหตุว่านิพพานเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด
4043 เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง
สำหรับเจตสิก ๕๒ ดวง มีเจตสิก ๗ ดวง ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความเป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวง จึงชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก
เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา
เพราะฉะนั้นโดยชาติของเจตนา ซึ่งท่านผู้ฟังเคยเข้าใจในลักษณะที่ว่า เป็นกุศลเจตนา หรือเป็นอกุศลเจตนา แต่ตามความจริงแล้วเพราะเหตุว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นลักษณะสภาพของเจตนาเจตสิกโดยชาติมีทั้ง ๔ ชาติ คือ เจตนาที่เป็นอกุศล ก็มี เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี เจตนาที่เป็นกิริยา คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก ก็มี
ถูกต้องไหมคะตามเหตุผล ในเมื่อเจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกก็ต้องมีครบทั้ง ๔ ชาติ คือ ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี
เพราะฉะนั้นเจตนาไม่ใช่มีแต่กุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนาเท่านั้น ไม่ว่าจิตใดจะเกิดที่ไหน ภูมิไหน ทำกิจอะไร เมื่อเป็นจิตเกิดขึ้น ในที่นั้นจะต้องมีเจตนาเจตสิกเป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง
4044 เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์
ถ้ากล่าวโดยขันธ์ เจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร ขันธ์มี ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑
รูปขันธ์ ได้แก่ ทุกรูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ได้แก่ ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีใจ เป็นโสมนัส เสียใจ เป็นโทมนัส หรืออทุกขมสุข หรืออุเบกขา เฉยๆ ก็เป็นเวทนาขันธ์
เพราะฉะนั้นเจตสิกที่นอกจากเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิกแล้ว ก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น
เพราะฉะนั้นในปฏิจจสมุปปาทจึงแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ซึ่งหมายความถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศล อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิต อเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอรูปกุศล คือ อรูปาวจรกุศล ๔ ดวง เพราะเหตุว่าสำหรับปุญญาภิสังขารนั้นรวมกามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศลทั้ง ๒ เพราะเหตุว่ายังเป็นกุศลที่ยังเป็นไปในรูป ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศลหรือรูปาวจรกุศล ก็เป็นปุญญาภิสังขาร
เมื่อจัดโดยขันธ์ เจตนาเป็นสังขารขันธ์ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงจำแนกสังขารขันธ์ตรัสว่า
ชื่อว่า สังขาร เพราะอรรถว่า ปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ ทรงแสดงไว้ด้วยคำว่า จักขุสัมผัสสชาเจตนา ดังนี้เป็นต้นในสุตตันตภาชินีย์ ในวิภังคปกรณ์ เพราะเป็นประธานในการปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะสังเกตสภาพลักษณะของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกรรม เป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัยได้ว่า เจตนานั้นมีการมุ่งหวัง คือ เป็นสภาพลักษณะที่จงใจ หรือตั้งใจเป็นลักษณะ ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า เหมือนกับลูกมือผู้เป็นหัวหน้า หรือเป็นนายช่างไม้ใหญ่เป็นต้น ย่อมยังกิจของตน และกิจของคนอื่นให้สำเร็จ คือ เป็นสภาพธรรมที่ถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ
4045 เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย
ท่านผู้ฟังคงจะพิจารณาเปรียบเทียบได้ ลักษณะของเหตุปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ โลภเจตสิก เป็นเหตุให้เกิดพอใจ ยินดี ต้องการ แต่โลภเจตสิกไม่ใช่เจตนาเจตสิก แต่เมื่อมีความยินดี มีความพอใจ มีความต้องการเกิดขึ้น ในขณะนั้นมีสภาพที่ขวนขวาย จงใจ หรือตั้งใจรวมอยู่ด้วย
แต่ว่าถ้ากล่าวถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย ก็จะเห็นได้ว่า เพราะเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท ทุกชาติ ทุกภูมิ
เพราะฉะนั้นสำหรับกัมมปัจจัย ก็จำแนกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ เป็นสหชาตกัมมปัจจัย ๑
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20