สมถภาวนา ตอนที่ 03
เพราะฉะนั้น บางท่านใคร่จะสงบโดยไม่รู้ลักษณะของจิตว่า ขณะใดจิตสงบ ขณะใดจิตไม่สงบก็เป็นไปไม่ได้ที่จะอบรมเจริญความสงบให้มากขึ้น บางท่านก็คิดว่าการจะเจริญสมถภาวนา เมื่อไรจะได้ฟังเสียที เพื่อจะได้สงบเร็วๆ โดยไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังฟังสงบหรือเปล่า ถ้าขณะที่กำลังฟังไม่รู้ลักษณะของจิตว่าสงบไหม จะอบรมเจริญความสงบให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่า ความสงบจะเกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยอะไร การศึกษาธรรมทำให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะไหม ขณะที่กำลังเข้าใจในสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นสงบไหม ถ้าไม่รู้ว่า ขณะเหล่านี้เป็นความสงบ และใคร่ที่จะไปแสวงหาความสงบอื่น โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะใดจิตสงบ และควรจะอบรมเจริญความสงบโดยอาศัยเหตุปัจจัยที่กำลังทำให้จิตสงบอยู่ในขณะที่ฟังธรรม ซึ่งเป็นธัมมานุสติ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าไม่ศึกษาลักษณะของจิต มุ่งหน้าต้องการจะสงบ โดยไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ ไม่มีวันที่จะสงบ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นเพียงลักษณะของอกุศลจิตที่ต้องการความสงบโดยไม่รู้ลักษณะของความสงบ
เพราะฉะนั้น ท่านที่ใจร้อน อยากจะสงบเร็วๆ อยากจะฟังเรื่องของสมถภาวนาเร็วๆ จะได้สงบ ขอให้ทราบว่า ขณะที่กำลังฟังสงบไหม ถ้าขณะที่กำลังฟังไม่สงบ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้อบรมความสงบยิ่งขึ้น แต่รู้ลักษณะความผ่องใสของจิตซึ่งปราศจากอกุศลในขณะที่กำลังฟัง และเข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของความสงบของจิตซึ่งเกิดจากการฟังธรรม ก็ย่อมเป็นปัจจัยทำให้เจริญความสงบ เพราะระลึกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังจนกระทั่งจิตสงบขึ้นได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของการภาวนาทั้งหลาย ไม่ใช่เรื่องรีบร้อนที่จะทำโดยไม่เข้าใจถูกต้องแม้ลักษณะของความสงบของจิตใจที่จะไปเจริญการนั่ง และให้จิตจดจ้องด้วยความพอใจ ด้วยความต้องการ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของความสงบของจิต จะไม่ทำให้จิตสงบ แต่ทำให้เกิดสภาพของอกุศลที่เป็นสภาพของอวิชชา คือ การไม่รู้อะไรว่า ขณะนั้นอะไรเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น และบางครั้งก็จะเป็นปรากฏการณ์แปลกๆ ซึ่งผิดปกติซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการอบรมเจริญปัญญา หรือไม่ใช่ลักษณะความสงบของจิตซึ่งสามารถอบรมเจริญได้แม้ในชีวิตประจำวัน
บางท่านก็กล่าวว่า ไปเสียก่อนเถอะ ไปแสวงหาอาจารย์ แล้วอาจารย์ท่านก็สอนเองว่า ความสงบขั้นสูงต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างไร พึ่งบุคคลอื่นโดยคิดว่า ไปเสียก่อนแล้วท่านจะสอนให้ปฏิบัติอย่างไร ความสงบขั้นสูงจึงจะเกิดได้ แต่ขอให้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า ความสงบของใคร ความสงบของท่านต้องเกิดจากปัญญาของท่านที่เข้าใจเรื่องความสงบว่า ความสงบนั้นคือจิตที่เป็นกุศลที่สงบจากอกุศล ในขณะที่ให้ทานก็เป็นความสงบของจิต แต่เป็นไปในการให้ ในขณะที่วิรัติทุจริตก็เป็นความสงบของจิตซึ่งเป็นไปกับงดเว้นทุจริต แต่ในชีวิตประจำวันท่านไม่ได้ให้ทานตลอดเวลา ท่านไม่ได้วิรัติทุจริตตลอดเวลา เพราะว่าไม่มีวัตถุที่จะให้วิรัติ
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้สภาพของจิตจริงๆ ว่า ขณะใดเป็นกุศลแล้วเจริญอบรมกุศลซึ่งเป็นการภาวนา ซึ่งไม่ใช่ขั้นของทานหรือศีล แต่เป็นขั้นที่จะให้จิตสงบในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นบาท เป็นปัจจัยให้ท่านเป็นผู้สงบขึ้น โดยไม่หวังว่า ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรอย่างนี้ ไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใดแล้วอาจารย์ก็จะทำให้ท่านปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดจนกระทั่งท่านสามารถสงบขึ้นได้อย่างขั้นสูง นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย และถ้าปกติประจำวันไม่สงบ แล้วจะไปหวังว่า ไปที่หนึ่งที่ใดแล้วจะสงบ จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อปกติประจำวันไม่มีปัจจัยของความสงบเลย แต่ถ้าชีวิตปกติประจำวันอย่างนี้ท่านมีปัญญาเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งมีลักษณะสงบ ย่อมสามารถจะระลึกแล้วเจริญความสงบของจิตซึ่งท่านรู้ว่า ขณะนั้นสงบให้สงบยิ่งขึ้น เพิ่มความสงบในชีวิตประจำวันได้
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้ตามความเป็นจริงในลักษณะของจิตที่สงบก่อนที่จะเจริญสมถภาวนาได้
3773 ปัญญารู้ลักษณะของจิตที่สงบในขณะนี้
ท่านอาจารย์ เรื่องความสงบของจิตซึ่งหลายท่านใคร่ที่จะได้เจริญ บางท่านก็มีข้อปฏิบัติที่ทำให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่เป็นสมาธิ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่รู้ลักษณะของความสงบ เพียงแต่ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด หรือสำนักหนึ่งสำนักใด ไม่ว่าเด็กเล็กผู้ใหญ่ ไม่มีความรู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าหรือคำสั่งให้จดจ้องอยู่ที่ธรรมหนึ่งธรรมใดแล้วจิตจะสงบ นั่นเป็นคำบอกเล่า
เพราะฉะนั้น โดยมากก็มักจะไปทำสมาธิโดยไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบ ซึ่งการที่สามารถจะรู้ได้ว่า จิตที่สงบเป็นอย่างไร ต้องเป็นปัญญา ซึ่งทุกท่านจะพิสูจน์ได้ในขณะนี้ ธรรมทั้งหลายพิสูจน์ได้ทุกขณะแม้ในขณะนี้เอง มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดทราบลักษณะของจิตไหมคะว่า ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดยขั้นคิดก็คิดว่า ท่านกำลังฟังธรรม จึงต้องเป็นกุศลจิต คิดว่าอย่างนั้นใช่ไหมคะ รู้จักชื่อของกุศลจิตที่กำลังฟังธรรม ไม่ใช่ไปดูมหรสพต่างๆ แต่นั่นเป็นชื่อ จิตอยู่ที่ไหนขณะนี้ เป็นกุศลอย่างไรขณะนี้ รู้ได้ไหมคะ
เพราะฉะนั้น ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่แสดงอาการที่เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าขณะนั้นจิตไม่ใส ไม่สะอาด ไม่ผ่องแผ้ว ไม่ผ่องใส ก็จะบอกไม่ได้เลยว่า เป็นกุศล ลักษณะอาการก็เหมือนเดิมที่เป็นอกุศลอยู่ ไม่ต่างกัน แต่ถ้าขณะใดที่มีสภาพที่ปราศจากความหนักของอกุศลทั้งหลาย แล้วมีความเบาใจ ความสบายใจ ความผ่องใส ความผ่องแผ้ว ความสะอาดของจิตปรากฏ ก็รู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตใจซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งทุกท่านมีอยู่เป็นประจำ แล้วท่านต้องการเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น เพราะว่ากุศลในชีวิตประจำวันที่กระทำกันอยู่ก็เป็นชั่วครั้งชั่วคราว เช่นในขณะที่ให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง แต่จิตก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ เกิดดับอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ไม่ให้ทาน แลไม่ได้วิรัติทุจริตทางกายหรือทางวาจา
เพราะฉะนั้น การรักษาจิต และอบรมกุศลจิตที่เป็นไปทางใจเพิ่มขึ้น จะต้องเป็นไปได้ด้วยปัญญา ความรู้ในลักษณะของจิตในขณะนั้น ถ้าใครมุ่งไปจดจ้องเป็นสมาธิโดยไม่รู้ลักษณะของจิตของท่านที่สงบเป็นอย่างไร ต่างกับขณะที่ไม่สงบอย่างไร ผู้นั้นไม่สามารถจะเจริญกุศลที่เป็นไปทางใจ คือเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาได้
3774 ทาน-การวิรัติทุจริต-ปัญญารู้ความสงบ
ท่านอาจารย์ ในขณะที่ให้ทาน วุ่นวาย ต้องมีเรื่องต้องทำมากมายหลายเรื่อง ความผ่องใสซึ่งปรากฏเป็นความสงบน้อยมากทีเดียว ถูกไหมคะ เพราะเหตุว่าแม้กุศลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญาก็สามารถกระทำทานกุศลได้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายก็ทำทานหรือรักษาศีลด้วยจิตที่เป็นกุศลเพียงเล็กน้อย เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบที่ปราศจากอกุศล แต่ถ้าศึกษาพระธรรมมากขึ้น และสังเกตรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ซึ่งต่างกับจิตที่เป็นอกุศลแล้ว แม้ขณะที่กระทำทานกุศล หรือการวิรัติทุจริต จิตของท่านก็จะเป็นกุศลเพิ่มขึ้น คือ กระทำด้วยความสงบ หรือกระทำด้วยสติปัฏฐานซึ่งระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นสงบ แต่ความสงบก็มีหลายลักษณะ ซึ่งไม่ได้อยู่ในหนังสือหรือในตำรา อยู่ที่ลักษณะของจิตของท่านซึ่งใกล้มาก สามารถจะศึกษา สามารถพิสูจน์ได้ แต่ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้เท่าที่ได้ฟัง และเข้าใจว่า สภาพธรรมปรากฏตลอดเวลา ทางตาก็เป็นสภาพธรรม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย เป็นธรรมแต่ละชนิดทั้งนั้น แต่ละลักษณะ แต่เมื่อธรรมปรากฏไม่รู้ ใช่ไหมคะ เวลานี้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมมีมากจริง แต่รู้สภาพธรรมอะไรบ้างแล้ว จิตขณะนี้สำคัญที่สุด ลองหาความสงบของจิตในขณะนี้ซิคะว่า พบไหม จิตกำลังมี สงบไหม ถ้าจิตไม่สงบ แล้วจะสงบเพราะอะไร นี่เป็นเหตุที่จะเจริญความสงบ คือ สมถภาวนาได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบว่า ขณะที่สงบต่างกับขณะที่ไม่สงบอย่างไร เพียงแต่จะไปจดจ้องทำสมาธิ ท่องบ่นภาวนาประการใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นจิตจะไม่สงบแน่นอน ไม่ใช่เป็นการเจริญสมถภาวนาด้วย
3775 ลักษณะของวิตกเจตสิก
ท่านอาจารย์ ยากที่จะรู้ไหมคะ ลักษณะของสภาพธรรม จิตมีอยู่ทุกขณะ แต่ถ้ามีการนึกเกิดขึ้น คือ วิตกเจตสิกตรึกถึงสิ่งต่างๆ ประกอบกับจิตในขณะนั้น พอจะบอกได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เช่น ถ้านึกถึงทาน การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะนั้นลักษณะของวิตกเจตสิกเป็นกุศลวิตก คือ ตรึกไปในเรื่องกุศล
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตตรึกนึกถึงกุศล ผู้นั้นก็สามารถรู้สภาพของจิตได้ว่า เป็นกุศลจิต ขณะใดที่ตรึกนึกถึงด้วยความโกรธ ด้วยความผูกโกรธ หรือด้วยความต้องการ ด้วยความติดข้อง ด้วยความอยากได้ เพราะลักษณะสภาพของวิตกเป็นอกุศลที่ตรึกไปในกามต่างๆ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือในพยาปาทะ คือ ความผูกโกรธ จึงทำให้สามารถรู้ได้ว่า ลักษณะของจิตขณะนั้นเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ปัญญาของแต่ละท่านสามารถส่องแทงตลอดลักษณะของจิตที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ ถ้าปราศจากอาการของสภาพธรรมอื่นที่ประกอบกับจิตในขณะนั้น แต่เป็นเรื่องที่สามารถจะระลึกศึกษา และรู้ได้ แต่ต้องเป็นเรื่องระลึก และสังเกต สำเหนียก พิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถเจริญกุศลที่เป็นภาวนา คือ สมถภาวนาหรือสติปัฏฐานได้
3776 ความสงบที่ตั้งมั่นคงขึ้นเพราะมีปัญญา
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังที่อยากเจริญสมถภาวนาขอให้คิดว่า ท่านจะให้จิตสงบโดยประกอบกับปัญญาที่รู้ลักษณะสิ่งที่ปรากฏ หรือต้องการให้จิตสงบโดยไม่ประกอบด้วยปัญญาขั้นที่รู้ความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมที่ปรากฏ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นจะต้องมีความสงบแล้วทีละเล็กทีละน้อย เช่นเดียวกับขณะที่ให้ทาน ถ้าไม่สงบ ไม่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะนั้น การให้ทานก็มีไม่ได้ เพราะคนไม่รู้แล้วก็หลงไปแล้ว ที่จะมีเจตนาที่เป็นกุศลในการให้ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น เจตนาที่เป็นกุศลที่จะให้ทานก็ไม่เกิดกับบุคคลนั้น ขณะใดที่มีเจตนาจะให้เป็นกุศล ขณะนั้นต้องปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นสงบ ขณะใดที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นสงบ
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 01
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 03
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 06
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 07
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 08
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 09
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 10
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 11
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 12
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 13
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 16
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 17
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 18
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 19
- วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 20
- สมถภาวนา ตอนที่ 01
- สมถภาวนา ตอนที่ 02
- สมถภาวนา ตอนที่ 03
- สมถภาวนา ตอนที่ 04
- สมถภาวนา ตอนที่ 05
- สมถภาวนา ตอนที่ 06
- สมถภาวนา ตอนที่ 07
- สมถภาวนา ตอนที่ 08
- สมถภาวนา ตอนที่ 09
- สมถภาวนา ตอนที่ 10
- สมถภาวนา ตอนที่ 11
- สมถภาวนา ตอนที่ 12
- สมถภาวนา ตอนที่ 13
- สมถภาวนา ตอนที่ 14
- สมถภาวนา ตอนที่ 15
- สมถภาวนา ตอนที่ 16
- สมถภาวนา ตอนที่ 17
- สมถภาวนา ตอนที่ 18
- สมถภาวนา ตอนที่ 19
- สมถภาวนา ตอนที่ 20