อาสีวิสสูตร .. อสรพิษ ๔ จำพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12660
อ่าน  6,378

Oo๐ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ๐oO

... สนทนาธรรมที่ ...

<> มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา <>

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๐ มิ.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

อาสีวิสสูตร

ว่าด้วยอสรพิษ ๔ จำพวก

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑- หน้าที่ ๓๖๖

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑[เล่มที่ 28] - หน้าที่ ๓๖๖

อาสีวิสวรรคที่ ๔

อาสีวิสสูตร

ว่าด้วยอสรพิษ ๔ จำพวก

[๓๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า มีอสรพิษ ๔ จำพวก มีเดชกล้าพิษร้าย ถ้ามีบุรุษรักชีวิต ผู้ไม่อยากตายรักสุข เกลียดทุกข์มา ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านบุรุษ อสรพิษ ๔ จำพวก

นี้ มีเดชกล้าพิษร้าย ท่านพึงปลุกให้ลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลาให้กินอาหารตามเวลา ให้เข้าสู่ที่อยู่ตามเวลา เวลาใด อสรพิษทั้ง๔จำพวกนี้ ตัวใดตัวหนึ่งโกรธขึ้น เวลานั้น ท่านก็จะพึงถึงความตายหรือถึงทุกข์ปางตาย กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย. [๓๑๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวกนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านบุรุษ มีเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกอยู่ ๕ คน ได้ติดตามท่านมาพบท่านในที่ใดก็จะฆ่าท่านเสีย ในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย [๓๑๑] ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวก และกลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ คนนั้น จึงหนีไปในที่อื่น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านบุรุษ มีเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบติดตามท่านมา พบท่านในที่ใด ก็จะตัดศีรษะของท่านเสียในที่นั้น กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย.

[๓๑๒] ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวก ซึ่งมีเดชกล้า กลัวเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึกทั้ง ๕ และกลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบอยู่ จึงหนีไปในที่อื่น เขาพบบ้านร้างเข้า จึงเข้าไปยังเรือนร้างว่างเปล่าหลังหนึ่ง ลูบคลำภาชนะว่างเปล่าชนิดหนึ่ง ชนทั้งหลาย พึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านบุรุษมีโจรทั้งหลายคอยฆ่าชาวบ้าน เข้ามาบ้านร้างนี้เสมอ กิจใดที่ท่านควรทำ ก็จงทำกิจนั้นเสีย. [๓๑๓] ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง ๔ กลัวเพชฌฆาตทั้ง ๕ กลัวเพชฌฆาตคนที่ ๖ และกลัวโจรผู้คอยฆ่าชาวบ้าน จึงหนีไปในที่อื่น เขาไปพบห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ มีภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นไม่มี. [๓๑๔] ครั้งนั้น บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้ ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้น พยายามไปด้วยมือและด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้โดยความสวัสดี ครั้นแล้วบุรุษนั้นทำตามความคิดอย่างนั้น ก็ข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว ขึ้นบกไปเป็นพราหมณ์.

[๓๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เราทำขึ้นเพื่อจะให้เข้าใจเนื้อความโดยง่าย ในข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้ คำว่า อสรพิษที่มีเดชกล้าทั้ง ๔ จำพวกนั้น เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดินธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คำว่า เพชฌฆาตทั้ง ๕ คนที่เป็นข้าศึกนั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คำว่า เพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศ เงื้อดาบอยู่นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่าบ้านร้างนั้นเป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖.
[๓๑๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้บัณฑิตผู้ฉลาด มีปัญญาใคร่ครวญอายตนะภายใน ๖ นั้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะปรากฏว่าเป็นของว่าง เปล่า สูญทั้งนั้น. คำว่า โจรผู้ฆ่าชาวบ้านนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก๖ ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปที่เป็นที่พอใจและไม่พอใจ หูย่อมเดือดร้อน เพราะเสียงเป็นที่พอใจและไม่พอใจ จมูกย่อมเดือดร้อนเพราะกลิ่นเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ลิ้นย่อมเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจและไม่พอใจ กายย่อมเดือดร้อนเพราะโผฏฐัพพะเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ใจย่อมเดือดร้อนเพราะธรรมารมณ์เป็นที่พอใจและไม่พอใจ

คำว่า ห้วงน้ำใหญ่นั้น เป็นชื่อแห่งโอฆะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ คำว่า ฝั่งข้างนี้อันเป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยอันตรายนั้น เป็นชื่อแห่งร่างกายของตน คำว่า ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษม ปลอดภัยนั้น เป็นชื่อแห่งนิพพาน คำว่า แพนั้นเป็นชื่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ คำว่าพยายามข้ามไปด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่งวิริยารัมภะ คำว่า ข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วขึ้นบกไปเป็นพราหมณ์ เป็นชื่อแห่งพระอรหันต์.

จบ อาสีวิสสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปริศนา
วันที่ 15 มิ.ย. 2552

คำว่า ห้วงน้ำใหญ่ นั้น...เป็นชื่อแห่ง โอฆะทั้ง ๔

คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ

.คำว่า ฝั่งข้างนี้

อันเป็น ที่น่ารังเกียจ มีภัยอันตราย นั้น เป็นชื่อแห่ง ร่างกายของตน .คำว่า ฝั่งข้างโน้น

เป็นที่เกษม ปลอดภัย นั้น เป็นชื่อแห่ง นิพพาน . คำว่า

แพ

นั้น...เป็นชื่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ .คำว่าพยายามข้ามไป ด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่งวิริยารัมภะ . คำว่า ข้ามฟาก ถึงฝั่งโน้น แล้วขึ้นบก ไปเป็นพราหมณ์ เป็นชื่อแห่งพระอรหันต์.

.
.
....................ขออนุโมทนา................

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
dron
วันที่ 15 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 16 มิ.ย. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 16 มิ.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อาสีวิสสูตร (ว่าด้วยอสรพิษ ๔ จำพวก)

ข้อความโดยสรุป
พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยอุปมาโวหาร ดังต่อไปนี้ คือ มีคนให้อสรพิษ ๔ จำพวกซึ่งมีพิษร้าย แก่บุรุษคนหนึ่ง ผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย โดยให้บำรุงเลี้ยงรักษาอย่างดี, บุรุษคนดังกล่าว กลัวอสรพิษทั้ง ๔ จำพวก จึงหนีไป เขาเป็นผู้ถูกเพชฌฆาตผู้เป็นข้าศึก ๕ คนติดตามมา และ ยังถูกเพชฌาตคนที่ ๖ ผู้เป็นสายลับคอยติดตามพร้อมที่จะฆ่าอยู่ตลอดเวลา เขาเกิดความกลัวขึ้น จึงหนีไปอีก ไปพบบ้านร้าง จึงได้เข้าไปอาศัยบ้านร้าง เมื่อมีคนบอกว่า มีพวกโจรที่คอยจะฆ่าชาวบ้านเข้ามาบ้านร้างหลังนี้เสมอ เขาเกิดความกลัวขึ้น จึงหนีไปอีก ไปพบกับห้วงน้ำใหญ่ เขาคิดว่า ฝั่งนี้มีภัย มีอันตราย ฝั่งโน้นเป็นฝั่งที่ปลอดภัย ควรที่จะข้ามไปฝั่งโน้น แต่เนื่องจากว่ายังไม่มีแพหรือสะพานที่จะข้ามไปได้ จึงควรเก็บรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ใบไม้ มัดเป็นแพ แล้วเกาะแพไป โดยพยายามใช้มือและเท้า ก็จะพึงถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดิภาพ เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็ทำตามที่คิดทุกประการ จึงข้ามถึงฝั่งได้ ขึ้นบกไปเป็นพราหมณ์ อสรพิษทั้ง ๔ ตัว = มหาภูตรูป ๔, เพชฌฆาต ๕ คน = อุปาทานขันธ์ ๕, เพชฌฆาตคนที่ ๖ ผู้เป็นสายลับ =นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดีพอใจ) , บ้านร้าง = อายตนะภายใน ๖, โจรผู้ฆ่าชาวบ้าน = อายตนะภายนอก ๖, ห้วงน้ำใหญ่ = โอฆะ (ห้วงน้ำคือกิเลส ๔ ได้แก่ ความยินดีพอใจในกาม – ในภพ, ความเห็นผิด และ อวิชชา) , ฝั่งนี้ = กายของตน, ฝั่งโน้น = นิพพาน, แพ = อริยมรรคมีองค์ ๘, ความพยายามที่จะข้ามถึงฝั่งโดยใช้มือและเท้า = วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร) , เป็นพราหมณ์ = เป็นพระอรหันต์ ผู้หมดจดจากกิเลส.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 16 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
opanayigo
วันที่ 18 มิ.ย. 2552

กราบอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ING
วันที่ 19 มิ.ย. 2552

สาธุ......... ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khondeebkk
วันที่ 20 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wirat.k
วันที่ 21 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
captpok
วันที่ 21 มิ.ย. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 เม.ย. 2559

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

๑. อาสีวิสสูตร ว่าด้วยอสรพิษ ๔ จําพวก

ข้อความส่วนหนึ่งดังนี้

.... ผู้ยืนอยู่ฝั่งนี้อันน่ารังเกียจ ประสงค์จะข้ามห้วงน้ำพักอยู่ ๒-๓ วัน ค่อยๆ ตระเตรียมเรือแล้วขึ้นเรือ เป็นเหมือนเล่นน้ำ แม้เมื่อเขาทำอย่างนั้น ก็ยังขึ้นเรือไม่ได้ย่อมถึงความพินาศฉันใด ภิกษุผู้ใคร่จะข้ามห้วงน้ำคือกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ควรทำความเนิ่นช้าว่า เรายังเป็นหนุ่มอยู่ จักผูกแพคือมรรคมีองค์ ๘ ต่อเวลาเราแก่เสียก่อน.

จริงอยู่ ภิกษุเมื่อทำอยู่อย่างนี้ แม้เวลาแก่ก็ยังไม่ถึง ก็ถึงความพินาศ แม้แก่ก็ยังไม่ถึง ก็ไม่อาจทำได้. แต่ควรระลึกถึงภัทเทกรัตตสูตรเป็นต้น แล้วรีบเร่งผูกแพคืออริยมรรคนี้ทันที.

ก็บุคคลจะผูกแพ ควรมีมือเท้าบริบูรณ์.

จริงอยู่ คนมีเท้าเป็นโรคพุพอง หรือมีเท้าหงิกง่อย ไม่สามารถจะยืนได้ บุคคลผู้มีมือเป็นแผลเป็นต้น ไม่อาจจับใบหญ้าใบไม้เป็นต้นได้ฉันใด ภิกษุผู้จะผูกแพคืออริยมรรคนี้ก็ฉันนั้น พึงปรารถนาความบริบูรณ์ ด้วยเท้าคือศีล และด้วยมือคือศรัทธา.
จริงอยู่ บุคคลผู้ทุศีลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ตั้งมั่นในพระศาสนา ไม่เชื่อข้อปฏิบัติ ไม่อาจจะผูกแพคืออริยมรรคได้.

อนึ่ง แม้บุคคลผู้มือเท้าบริบูรณ์ แต่ไม่มีเรี่ยวแรง ถูกพยาธิเบียดเบียน ก็ไม่สามารถจะผูกแพได้ ต่อสมบูรณ์ด้วยกำลังเท่านั้นจึงสามารถฉันใด แม้คนมีศีลมีศรัทธาก็ฉันนั้น แต่เป็นคนเกียจคร้าน นั่งจมน่าเกลียด ก็ไม่สามารถจะผูกแพคือมรรคนี้ได้ ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ ฉะนั้น ผู้ประสงค์จะผูกแพคือมรรคนี้ จึงควรปรารภความเพียร.


ศึกษาเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่ค่ะ..

วิริยารัมภกถา

ลักษณะความเพียร

มีความเพียร

ความเพียรที่เป็นบารมี

ความเพียร ท่านเรียกว่า อารัมภะ

ปรารภความเพียร วีริยารมฺภกถา

ทำไมต้องเป็นความอดทนมากกว่าความเพียร

วิริยะ [ธรรมสังคณี]

ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้

กราบแทบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารยสุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นอย่างสูงยิ่ง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
mek0291
วันที่ 25 มิ.ย. 2565

อนุโมทนาแด่มูลนิธิศึกษาฯ ที่ได้เผยแผ่คำสอนของพระศาสนาให้ท่านที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและนำมาปฏิบัติ สาธุๆ ๆ อนุโมทามี

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 25 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ