ความจริงแห่งชีวิต [140] กุศลจิต ที่ไม่เกิดร่วม และเกิดร่วมกับ ปัญญาเจตสิก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผัสสเจตสิกเป็นนเหตุ แต่ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าจิตดวงใดเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุหนึ่งเหตุใดในเหตุ ๖ ผัสสเจตสิกนั้นก็เป็นสเหตุกะ ถ้าจิตดวงใดเป็นอเหตุกะ คือไม่มีเจตสิก ๖ ซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับอเหตุกจิตนั้นก็เป็นอเหตุกะด้วย ฉะนั้น ผัสสเจตสิกจึงเป็นนเหตุ และบางขณะก็เป็นสเหตุกะ บางขณะก็เป็นอเหตุกะ
ชีวิตของทุกท่านในวันหนึ่งๆ นั้นมีทั้งสเหตุกจิตและอเหตุกจิต แต่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่ทราบว่าขณะไหนเป็นสเหตุกจิตและขณะไหนเป็นอเหตุกจิต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพจิตแต่ละขณะไว้อย่างละเอียดว่า จิตขณะใดเป็นอเหตุกจิต ขณะใดเป็นสเหตุกจิต และจิตที่เป็นสเหตุกะนั้นเกิดร่วมกับเหตุกี่เหตุและมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง
โมหมูลจิตมีโมหเหตุเกิดร่วมด้วยเหตุเดียว จึงเป็นเอกเหตุกะ
โลภมูลจิตเกิดร่วมกับ ๒ เหตุ คือ โมหเหตุ และโลภเหตุ จึงเป็นทวิเหตุกะ
โทสมูลจิตเกิดร่วมกับ ๒ เหตุ คือ โมหเหตุ และโทสเหตุ จึงเป็นทวิเหตุกะ
สำหรับกุศลจิตนั้นก็ต้องมีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นก็เป็นกุศลจิตไม่ได้ กุศลจิต ๒ ประเภท คือ กุศลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก และกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ฉะนั้น กุศลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาจะมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ และอโทสเหตุ จึงเป็นทวิเหตุกะ และกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาจะมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ จึงเป็นติเหตุกะกุศลจิตไม่เป็นเอกเหตุกะเลย เพราะต้องมีทั้งอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จึงจะเป็นกุศลจิตได้
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์
เรียนท่านผู้รู้
สรุปว่า สเหตุกจิต เป็น โสภณจิตเท่านั้น คือ ไม่มีโลภะ ไม่มีโมหะ ไม่มีโทสะ แต่ถ้าเมื่อใดที่มี โลภะ โทสะ และโมหะ หมายความว่า เป็นอโสภณจิต และเกิดกับจิตชาติอกุศล เป็นอเหตุกจิต
นอกจากนี้ อเหตุกจิต ยังเกิดกับ จิตชาติกุศล และอกุศลวิบาก ด้วย
ดิฉันสรุปถูกต้องหรือไม่
ขอบพระคุณค่ะ
เรียน ความเห็นที่ 2
ที่ท่านสรุปมาไม่ถูกครับ
สเหตุกจิต มีทั้งโสภณจิต และอโสภณจิต
อโสภณจิต คือ จิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘
อเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย มีจิต ๒ ชาติ คือ วิบากชาติ และกิริยาชาติ
เรียน ความเห็นที่ 3
กรุณายกตัวอย่าง จิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และเป็น อโสภณจิต ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
ขอสนทนากับคุณวิริยะ ค่ะ
คุณวิริยะลองพิจารณาประโยคนี้ประกอบด้วยนะคะ ในกรณีของ "โสภณเหตุ" มีความต่างกัน ระหว่าง โสภณเหตุ และกุศลเหตุ
ควรสังเกต ว่า ไม่ใช้ คำว่า กุศลเหตุ ๓ แต่ใช้ คำว่า โสภณเหตุ ๓ เพราะว่า กุศลเหตุ เป็น "เหตุ" ให้เกิด กุศลวิบากจิต ซึ่งเป็น "ผล"
แต่ "โสภณเหตุ" ซึ่งเป็นเหตุที่ดี นั้น. เกิดกับ กุศลวิบากจิต ก็ได้ เกิดกับ โสภณกิริยาจิต ก็ได้ "โสภณเหตุ" จึงไม่ได้เกิดแต่เฉพาะกับ "กุศลจิต" เท่านั้น
เป็นข้อความจากกระทู้นี้ ... 13493 และขอเรียนถามต่อไป ว่า "โสภณเหตุ" ซึ่งเป็นเหตุที่ดี นั้น. เกิดกับ กุศลวิบากจิต ก็ได้ เกิดกับ โสภณกิริยาจิต ก็ได้
"โสภณเหตุ" จึงไม่ได้เกิดแต่เฉพาะกับ "กุศลจิต" เท่านั้น
ประโยคข้างต้น ที่กล่าวถึง โสภณกุศลวิบากจิต และโสภณกิริยาจิต หมายถึง จิตของพระอรหันต์ เท่านั้น ถูกต้องหรือเปล่าคะ
โสภณจิตมี ๓ ชาติ คือ
กุศลชาติ ๑ จิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์
วิบากชาติ ๑ จิตของทุกบุคคล เว้นอเหตุกบุคคล
กิริยาชาติ ๑ เฉพาะจิตของพระอรหันต์เท่านั้น
เรียนคุณพุทธรักษา
ขอบคุณมากค่ะ ที่กรุณาอธิบาย ดิฉันค่อนข้างปัญญาทึบสักหน่อย บางครั้งไม่สามารถเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่งสักที เหมือนตอนศึกษาเรื่องวิถีจิต ครั้นจะคิดเอง สรุปเอง ก็มีหวังว่า จะผิดมากกว่าถูก จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรอย่างท่านทั้งหลาย ที่ท่านได้กรุณาอธิบายมาในเรื่อง โสภณเหตุ ที่เกิดกับวิบากจิตนั้น หมายความว่า วิบากจิตนั้นๆ มีเหตุที่ดีเกิดร่วมด้วย คือ อาจจะมี เหตุสอง หรือเหตุสาม เป็นเช่นนั้นหรือไม่
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนอาจารย์ประเชิญ
ต้องรบกวนถามอีกเพราะยังไม่เข้าใจและเรียนรู้ช้า คือ อเหตุกจิต อกุศลวิบาก หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เป็น อโสภณจิต เพราะไม่มีเหตุที่ดีเกิดร่วมด้วย ส่วน สเหตุกจิต ที่เป็น อโสภณจิตนั้น เป็นเช่นไร
ขอบพระคุณค่ะ
เรียน ความเห็นที่ 8
ถูกต้องครับ ถ้าเป็นสเหตุกวิบาก ต้องมีเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓
เรียน ความเห็นที่ 9
สเหตุกที่เป็นอโสภณะ ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ครับ
เรียน ความเห็นที่ 11
อกุศลจิต ๑๒ คือ โลภมูลจิต โมหมูลจิต และโทสมูลจิต มีโลภเหตุ โมหเหตุ และโทสเหตุ เกิดร่วมด้วย เป็นสเหตุกจิต และเป็นอโสภณจิต ใช่หรือไม่
และในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วๆ ไปที่ได้รับวิบากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็น อเหตุก กุศลหรืออกุศลวิบาก ใช่หรือไม่ และมหาวิบาก ๘ เป็น สเหตุก วิบากจิต มีเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ เป็นเหตุเจตสิกที่ดีที่เกิดร่วมด้วยนั้น ไม่ค่อยเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันใช่หรือไม่
คำถามอาจจะดูวุ่นวายซ้ำซ้อน กรุณาให้อภัยด้วยค่ะ เพราะเรื่อง อเหตุก สเหตุก โสภณ อโสภณ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจมานานแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าใจได้ถ้วนทั่ว
ขอบพระคุณค่ะ
ถูกต้องครับ
สเหตุกที่เป็นอโสภณะ มีโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เกิดร่วมด้วย และในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วๆ ไปมีวิบากเกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกุศลวิบากบ้าง เป็นอกุศลวิบากบ้าง ส่วนผู้ที่ไม่พิการแต่กำเนิด ก็มีวิบากที่เป็นมหาวิบาก ๘ ก็มี คือขณะที่จิตเป็นภวังค์ และขณะที่เป็นตทาลัมพนะ
เรียน ความเห็นที่ 13
มหาวิบาก ๘ และอเหตุกกุศลวิบากนั้น นอกจากความแตกต่างที่ โสภณ กับอโสภณ และเหตุที่เกิดร่วมกับไม่มีเหตุเกิดร่วม ยังมีความแตกต่างกันตรงไหนอีกคะ
ขอบพระคุณค่ะ
เท่าที่นึกออก ก็คือ ต่างที่ โสภณ กับอโสภณ และสเหตุกะ อเหตุกะ
แต่ในรายละเอียดมีมากกว่านี้ครับ
เรียน ความเห็นที่ 15
ในรายละเอียดต่างๆ นั้น กรุณาแนะนำส่วนที่เกี่ยวข้องที่ควรจะศึกษาบนเว็บไซต์นี้ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ