ปุกกุสาติกุลบุตร [ธาตุวิภังคสูตร]

 
พุทธรักษา
วันที่  12 ต.ค. 2552
หมายเลข  13938
อ่าน  6,018

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 335-346

ข้อความบางตอนจาก ...

ธาตุวิภังคสูตร

[๖๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยังพระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อ ชื่อภัคควะ ยังที่อยู่ แล้วตรัสดังนี้ว่า "ดูก่อนนายภัคควะ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่านเราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด" นายภัคควะทูลว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลยแต่ในโรงนี้ มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้วถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพักตามสบายเถิด"

[๖๗๔] ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยศรัทธา. ปุกกุสาติกุลบุตรนั้น เข้าไปพักอยู่ในโรงของนายช่างหม้อนั้นก่อนแล้ว. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปหาท่านปุกกุสาติยังที่พัก แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด" ท่านปุกกุสาติ ตอบว่า "ดูก่อนท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวางนิมนต์ท่านผู้มีอายุ พักตามสบายเถิด"

[๖๗๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าไปสู่โรงช่างหม้อแล้วทรงลาดสันถัดหญ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นเฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่ง ล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากแม้ท่านปุกกุสาติ ก็นั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากเหมือนกัน. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้ ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรถามดูบ้างต่อนั้น พระองค์จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ ท่านบวช อุทิศใครเล่า หรือว่าใคร เป็นศาสดาของท่านหรือท่านชอบใจธรรม ของใคร"

[๖๗๖] ท่านปุกกุสาติ ตอบว่า "ดูก่อนท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดม ผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุล ทรงผนวชแล้วก็พระโคดมผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์งามฟุ้งไป อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก อย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นศาสดาของข้าพเจ้าข้าพเจ้า ชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น"

พ. "ดูก่อนภิกษุ ก็เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน"

ปุ."ดูก่อนท่านผู้มีอายุ มีพระนคร ชื่อว่าสาวัตถี อยู่ในชนบท ทางทิศเหนือ เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นั่น"

พ. "ดูก่อนภิกษุ ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นหรือ และท่านเห็นแล้วจะรู้จักไหม"

ปุ. "ดูก่อนผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเลย ถึงเห็นแล้ว ก็ไม่รู้จัก"

[๖๗๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้มีพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา เราควรจะแสดงธรรมแก่เขา. แต่นั้น พระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า "ดูก่อนภิกษุเราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงพึงธรรมนี้ จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป" ท่านปุกกุสาติ ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ"

[๖๗๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่ามุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้นนี้ อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก

[๖๗๙] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ อย่างนี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้ มีธาตุ ๖ นั้น เราอาศัยธาตุดังนี้ กล่าวแล้ว"

[๖๘๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ จักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มโน เป็นแดนสัมผัส" ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส นั่นเราอาศัย "อายตนะ" นี้ กล่าวแล้ว"

[๖๘๑] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว" คือ บุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วงนึกรูป เป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัส หน่วงนึกรูป เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกรูป เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฟังเสียง ด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่น ด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรส ด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ ด้วยมโนแล้ว ย่อมหน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส ๖ หน่วงนึกโทมนัส ๖ หน่วงนึกอุเบกขา ๖ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่นเราอาศัยความหน่วงนึกนี้ กล่าวแล้ว"

[๖๘๒] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว" คือ มีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีสัจจะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีอุปสมะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่าดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั้น เราอาศัยธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจนี้ กล่าวแล้ว

[๖๘๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุ อย่างไรเล่า ชื่อว่าไม่ประมาทปัญญา ดูก่อนภิกษุ ธาตุนี้ มี ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ.

[๖๘๔] ดูก่อนภิกษุ ก็ ปฐวีธาตุ เป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่แข่นแข็ง กำหนดได้มีในตน อาศัยตน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่าหรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แข่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตนนี้เรียกว่า "ปฐวีธาตุภายใน" ก็ ปฐวีธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็น ปฐวีธาตุ ทั้งนั้น พึงเห็น ปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่าย ปฐวีธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้

[๖๘๕] ดูก่อนภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คือ อาโปธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อาโปธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เอิบอาบซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า "อาโปธาตุภายใน" ก็ อาโปธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แลเป็น อาโปธาตุ ทั้งนั้น พึงเห็น อาโปธาตุ นั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่านั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุได้

[๖๘๖] ดูก่อนภิกษุ ก็เตโชธาตุ เป็นไฉน คือ เตโชธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี. ก็ เตโชธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกายให้กระวนกระวายและธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้ว ถึงความย่อยไปด้วยดี หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า "เตโชธาตุภายใน" ก็ เตโชธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แลเป็น เตโชธาตุ ทั้งนั้น พึงเห็น เตโชธาตุ นั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่านั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายเตโชธาตุและจะให้จิตคลายกำหนัดเตโชธาตุได้.

[๖๘๗] ดูก่อนภิกษุ ก็วาโยธาตุ เป็นไฉน คือ วาโยธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็วาโยธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าหรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตนนี้เรียกว่า "วาโยธาตุภายใน" ก็ วาโยธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็น วาโยธาตุ ทั้งนั้น. พึงเห็น วาโยธาตุ นั้น ด้วยปัญญา ชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา. ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้.

[๖๘๘] ดูก่อนภิกษุ ก็ อากาสธาตุ เป็นไฉน คือ อากาสธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี. ก็อากาสธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน ที่ดม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม. เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบายของที่กิน ที่ดม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม แล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตนนี้เรียกว่า "อากาสธาตุภายใน" ก็อากาสธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นอากาสธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาสธาตุนั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่านั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั้นไม่ใช่อัตตาของเรา. ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอากาสธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอากาสธาตุได้

[๖๘๙] ต่อนั้น สิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ วิญญาณ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ดูก่อนภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไปย่อม รู้ชัด ว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคลนั้น เมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแล ดับไป ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ.

เพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้น เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแล ดับไป ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

[๖๙๐] ดูก่อนภิกษุ เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้สองท่อนประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเอง แยกกันไปเสียคนละทาง แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา. บุคคลนั้น เมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้นคือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ.

เพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคลนั้น เมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

เพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้น เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแล ดับไป ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ อยู่อีกก็คือ อุเบกขา อัน บริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อน ควรแก่การงานและผ่องแผ้ว.

[๖๙๑] ฯลฯ

[๖๙๒] ดูก่อนภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้นและไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่นย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูก่อนภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุดย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้ชัดว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ.

เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งด้วยประการนี้. ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ. ดูก่อนภิกษุ เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพาน นั้น จริง ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้. ก็สัจจะนี้ คือ นิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง.

อนึ่ง บุคคลนั่นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิเข้าไป อุปธิเหล่านั้น เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้วถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้. ก็จาคะนี้ คือ ความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง.

อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาทความคิดประทุษร้าย อวิชชาความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรมนั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยอุปสมะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้. ก็อุปสมะนี้ คือ ความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็นอุปสมะ อันประเสริฐอย่างยิ่ง. ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้ กล่าวแล้ว.

[๖๙๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรา มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ... นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว. ดูก่อนภิกษุ ความสำคัญตน มีอยู่ดังนี้ ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น เราจักต้องเป็นสัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีสัญญาก็มิใช่ มีสัญญาก็มิใช่. ดูก่อนภิกษุ ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวผี เป็นลูกศร ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนีผู้สงบแล้ว.

เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว และมุนีผู้สงบแล้วแลย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน. แม้มุนีนั้น ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องเกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย จักกำเริบได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร. ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรา มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่นเราอาศัยเนื้อความกล่าวแล้ว. ดูก่อนภิกษุท่านจงทรงจำ "ธาตุวิภังค์ ๖" โดยย่อนี้ของเราไว้เถิด.

[๖๙๔] ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดา พระสุคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้าแล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยวาทะว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับอดโทษล่วงเกินแก่ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด"

[๖๙๕] พ. "ดูก่อนภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ ดูก่อนภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้นั้น เป็นความเจริญในอริยวินัย.

ปุ. "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสนบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด"

พ. "ดูก่อนภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ"

ปุ. "ยังไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า"

พ. "ดูก่อนภิกษุ ตถาคตทั้งหลาย จะให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรยังไม่ครบอุปสมบทไม่ได้เลย"

[๖๙๖] ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติ ยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้ว หลีกไปหาบาตรจีวร ทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติ ผู้กำลังเที่ยวหาบาตรจีวรอยู่. ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตร ชื่อปุกกุสาติ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ คนนั้น ทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติอย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร"

[๖๙๗]

พ. "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ เพราะสิ้นสัญโญชน์ อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีก เป็นธรรมดา"

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล

จบ ธาตุวิภังคสูตร ที่ ๑๐


ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และสรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ups
วันที่ 12 ต.ค. 2552

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 12 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
dron
วันที่ 13 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
saifon.p
วันที่ 13 ต.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
choonj
วันที่ 13 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 13 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
suwit02
วันที่ 14 ต.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 14 ก.พ. 2560

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณในกุศลวิริยะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Selaruck
วันที่ 28 มิ.ย. 2562

กราบอนุโมทนากับคุณพุทธรักษาที่ยกพระสูตรนี้มาแสดง ณ ที่นี้

ดิฉันมีความซาบซึ้งในพระสูตรนี้เป็นที่สุดในขณะฟังท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ยกพระสูตรนี้ขึ้นมาแสดงในการบรรยายแนวทางการเจริญวิปัสนา (ตอน 1909 และก่อนนั้น)

ซาบซึ้งถึงความศรัทธาของท่านปุกกุสาติที่มีต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อกุลบุตรปุกกุสาติอันหาที่สุดมิได้

ซาบซึ้งในพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ผู้ประกอบด้วยปัญญา ขันติ วิริยะ ในการถ่ายทอดพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบคุณและอนุโมทนายิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ค. 2564
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
kornisasuwan
วันที่ 5 ก.ค. 2565

สาธุ สาธุ ดิฉันชอบมากที่สุด พระสูตรนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
sanit99141@gmail.com
วันที่ 15 ก.พ. 2566

กราบเท้าขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ที่ให้ความเข้าใจขั้นการฟังครับธรรมะลึกซึ้ง ลุ่มลึกจริงๆ ครับมีความปลาบปลื้มมากๆ ครับที่ได้อ่าน ฟังสมกับที่ท่านอาจารย์กรุณาบอกสอนศิษย์ว่าถ้าได้อ่าน ฟังในพระไตรปิฏกแล้วจะเห็นความลุ่มลึกในธรรมมากขึ้นจนวางไม่ลงครับกราบขอบพระคุณท่านที่กรุณาลงพระสูตรนี้มากครับสาธุอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ