อายุบวร...เพื่ออะไร
ช่วงหนึ่งของการสนทนาธรรมที่มูลนิธิ คุณคำปั่นได้พูดถึงในช่วงที่ผ่านๆ มาของการสนทนาธรรม ท่านอาจารย์จะกล่าวประโยคสั้นๆ แต่มีความความลึกซึ้ง และได้อธิบายให้เข้าใจถึงอรรถของธรรมนั้นๆ ซึ่งเป็นธรรมะเตือนใจแก่พวกเราเช่น...
ขยะในใจ (.....เป็นต้น)
ต่อจากนั้นท่านอาจารย์อรรณพได้ฟังที่คุณคำปั่นได้พูดถึงธรรมะเตือนใจ ก็ได้นึกถึงธรรมะเตือนใจจากท่านอาจารย์ขณะที่ได้ไปสนทนาธรรมกันที่ศรีลังกา คนที่นั่นเวลาเจอกันจะสวัสดีกันว่า อายุบวร ซึ่งแปลว่า อายุมั่นขวัญยืน คำว่า บวร หมายถึงประเสริฐ ท่านอาจารย์ก็ได้ให้ธรรมะเตือนใจว่า อายุบวร...เพื่ออะไร อายุที่เจริญขึ้น...ที่ยืนยาวขึ้น... จะอยู่เพื่ออะไรถ้าไม่เข้าใจธรรม การที่จะมีชีวิตที่ประเสริฐก็เพื่อได้ศึกษาธรรม ได้เข้าใจธรรม มีชีวิตอยู่เพื่อความรู้ปรากฏ
"อยู่เพื่อปัญญาปรากฏ"
เชิญคลิกอ่านได้ที่...
ขออนุโมทนาค่ะ...
อายุบวร...เพื่อได้ศึกษาธรรม ได้เข้าใจธรรม จนกว่า.....วันหนึ่งปัญญาเจริญขึ้น และสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง
ขออนุโมนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 506
"ก็ผู้ใด ไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น."
ชีวิตที่เกิดมาย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามการสะสม เหมือนจะเลือกได้ แต่เลือกไม่ได้เพระเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่สะสมมาในอดีต ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตที่ดำเนินของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป ผู้ที่สะสมปัญญาความเข้าใจมาในอดีต เมื่อได้เหตุปัจจัยก็ย่อมเห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรม และอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่ผ่านไปของแต่ละคนจึงสะสมทั้งสิ่งที่ประเสริฐและไม่ประเสริฐคือสะสมปัญญา หรือสะสมความไม่รู้และกิเลสประการต่างๆ หากแม้อายุยืนแต่ไม่ได้สะสมปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว ตายเพราะความไม่รู้ความจริง คนตายไม่สามารถรู้อะไรได้ฉันใด แม้ผู้ที่ไม่ได้รู้ความจริง ไมได้อบรมปัญญาก็ไม่ต่างจากคนที่ตายแล้วเช่นกัน ชั่วขณะเพียงสั้นๆ แต่ปัญญาเกิดขึ้นย่อมประเสริฐกว่าผู้ที่มีชีวิตยืนยาวแต่ปัญญาไม่เกิดและเต็มไปด้วยความไม่รู้ครับ
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 477
"ก็ผู้ใดทุศีล มีใจไม่ตั้งมั่น พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้มีศีล มีฌาน ประเสริฐ กว่า (ความเป็นอยู่ของผู้นั้น) ."
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 487
" ผู้ใดเกียจคร้านมีความเพียรอันทราม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียว ของท่านผู้ ปรารภความเพียรมั่น ประเสริฐกว่าชีวิตของผู้นั้น."
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องยาก และต้องเป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้นที่จะทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ เมื่อได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตที่ลำบาก ยากเข็ญ ทุกข์ยากสักเพียงใด ก็ตาม หรือแม้กระทั่งจะมีชีวิตที่สุขสบาย สะดวกทุกอย่างไม่เดือดร้อน ถ้าหากว่ามีโอกาสที่จะได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา นั่นย่อมเป็นชีวิตที่มีค่าเป็นอย่างมาก เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังมีโอกาสที่จะได้เจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาด้วย เพราะเป็นความจริงที่ว่าไม่มีใครสามารถทราบได้ว่าตนเองจะละจากโลกนี้ไป (ตาย) เมื่อใด และ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในภพภูมิใด ถ้าหากไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่ปราศจากความเจริญ ย่อมหมดโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้พิจารณาพระธรรม ไม่มีโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกๆ วันจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำชีวิตที่ยังมีอยู่ ยังเหลืออยู่นี้ ให้เป็นชีวิตที่มีค่ามากที่สุด ด้วยการสะสมปัญญา สะสมอริยทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์อันประเสริฐให้กับตนเองต่อไป จึงจะเป็นผู้มีชีวิตที่ไม่สูญเปล่า หรือ เป็นผู้มีชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...