อนิจเจทุกขสัญญา - สัญญาที่ ๖
"อนิจเจทุกขสัญญา"
สัญญาที่ ๖ คือ การเจริญอนิจเจทุกขสัญญา เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงแล้ว ยังต้องเห็นว่าเป็นทุกข์ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ก็แล้วไปนะคะ แต่ต้องเห็นว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้นตลอดวัน เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ ถ้าพิจารณาจริงๆ แม้แต่การที่จะต้องแก้ไขสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นเป็นปรกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถ้าพิจารณาก็จะเห็นว่านั่นคือทุกข์ที่ต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ไขเลยก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ชีวิตจะคงอยู่โดยที่ไม่มีการบริหาร ไม่มีการแก้ไขสิ่งที่บกพร่องต่างๆ ไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอนิจเจทุกขสัญญา ย่อมทำให้จิตเห็นภัยอย่างแรงกล้า ในความเฉื่อยชา ความเกียจคร้าน ความท้อถอย ความประมาท ความไม่ประกอบความเพียร การไม่พิจารณา ย่อมปรากฏเปรียบเหมือนความสำคัญว่าเป็นภัย ย่อมปรากฏเหมือนขณะเพชฌฆาตเงื้อดาบขึ้น นี่คือความไม่เที่ยงจริงๆ นะคะ
ถ้าทุกคนรู้ว่าอาจจะตายเดี๋ยวนี้ หรือว่าพรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ แต่ว่าส่วนมากนะคะ มักจะลืม คือ ไม่ได้คิดถึงความเป็นอนิจจัง ซึ่งสั้นที่สุด และก็อาจจะเกิดขึ้นที่จะสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในขณะไหนก็ได้ ถ้าคิดถึงการเกิดของสังสารวัฏฏ์นะคะ ซึ่งบางครั้งก็เป็นสุคติภูมิ บางครั้งก็เป็นทุคติภูมิเสมือนภูเขาสูงใหญ่กลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ ในขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะคะ
เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดถึงการเกิด การตาย ซึ่งจะต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ แต่มองไม่เห็นเลยนะคะ แต่ถ้าเห็นเป็นภัยใหญ่ เสมือนภูเขาใหญ่ซึ่งกลิ้งมาหาทั้ง ๔ ทิศ เมื่อนั้นจะรู้สึกได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ก็จะต้องมีการจุติแล้วก็การปฏิสนธิ แล้วก็มีการรับผลของกุศลกรรม และ อกุศลกรรม อย่างสั้นๆ ถ้าเป็นกามาวจรวิบาก ไม่ยาวนานเลยนะคะ เช่น เสียงกระทบ ปรากฏนิดเดียว หมดไป สีที่กำลังปรากฏทางตา กระทบ ปรากฏนิดเดียวหมดไป กลิ่นที่กระทบจมูก นิดเดียวหมดไป อ่อน หรือ แข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว ที่กระทบกายก็เพียงเล็กน้อย แล้วก็หมดไป
อาหาเรปฏิกูลสัญญา - สัญญาที่ ๓
สัพพโลเกอนภิรตสัญญา - สัญญาที่ ๔
..บรรยายโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์