เมฆิยสูตร ...วันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๔
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••... สนทนาธรรมที่ ...
•••..... มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ....•••
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๕ มี.ค. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
เมฆิยสูตร
(ว่าด้วยตรัสธรรม ๕ แก่พระเมฆิยะ)
...จาก...
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่มที่ ๔๔ -หน้าที่ ๓๗๗ - ๓๘๒
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่มที่ ๔๔ -หน้าที่ ๓๗๗ - ๓๘๒ เมฆิยวรรคที่ ๔ ๑. เมฆิยสูตร (ว่าด้วยตรัสธรรม ๕ แก่พระเมฆิยะ) [๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต ใกล้เมืองจาลิกา ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเมฆิยะ เป็นผู้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเมฆิยะ เธอจงสำคัญเวลาอันควร ณ บัดนี้เถิด ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต ครั้นเที่ยวไปในชันตุคามเพื่อบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตร เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬาครั้นแล้วเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นป่ามะม่วง น่าเลื่อมใส (น่าดู) น่ารื่นรมย์ ครั้นแล้วคิดว่า ป่ามะม่วงนี้ น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์จริงหนอ ป่ามะม่วงนี้ สมควรแก่ความเพียรของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรจริงหนอ ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเราไซร้ เราพึงมาสู่อัมพวัน (ป่ามะม่วง) นี้ เพื่อบำเพ็ญเพียร ลำดับนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังชันตุคาม ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในชันตุคามแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตร เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ครั้นแล้วเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวัน น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์ จึงได้คิดว่า อัมพวันนี้น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์จริงหนอ อัมพวันนี้ สมควรเพื่อความเพียรของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรจริงหนอ ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทรงอนุญาตเราไซร้เราพึงมาสู่อัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงอนุญาตข้าพระองค์ไซร้ ข้าพระองค์ พึงไปสู่อัมพวันเพื่อบำเพ็ญเพียร. [๘๖] เมื่อท่านพระเมฆิยะ กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า ดูก่อนเมฆิยะ จงรอก่อน เราจะอยู่แต่ผู้เดียวจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา แม้ครั้งที่ ๒ท่านพระเมฆิยะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีกิจอะไรๆ ที่พึงทำให้ยิ่ง หรือ ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่พระองค์กระทำแล้ว แต่ ข้าพระองค์ยังมีกิจที่พึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าว่าพระผู้มีพระ-ภาคเจ้าจะทรงอนุญาตข้าพระองค์ไซร้ ข้าพระองค์ พึงไปสู่อัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญเพียร แม้ครั้งที่ ๒. . . แม้ครั้งที่ ๓ . . .พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเมฆิยะ เราพึงกล่าวอะไรกะเธอผู้กล่าวอยู่ว่า บำเพ็ญเพียร ดูก่อนเมฆิยะ เธอจงสำคัญเวลาอันสมควร ณ บัดนี้. [๘๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะ ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้ากระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปยังอัมพวันนั้น ครั้นแล้วได้เที่ยวไปทั่วอัมพวัน แล้วนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนต้นไม้ ต้นหนึ่ง ครั้งนั้น เมื่อท่านพระเมฆิยะพักอยู่ในอัมพวันนั้นอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการคือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะ คิดว่า น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ เราออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แต่กลับถูกอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการนี้ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ครอบงำแล้ว ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระ-เมฆิยะออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์พักอยู่ในอัมพวันนั้น อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก ข้าพระองค์นั้นคิดว่า น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ก็เราออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แต่กลับถูกอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการนี้คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกครอบงำแล้ว. [๘๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไป เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า ๕ ประการ เป็นไฉน ดูก่อนเมฆิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดีมีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติ ที่ยังไม่แก่กล้า. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโต-วิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิตเพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้า แห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้าดูก่อนเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า ดูก่อนเมฆิยะ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ ได้ คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล. . . จักสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส. . . วิมุตติญาณทัสสนกถา ภิกษุผู้มีมิตรดีมีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ ตนจักเป็นผู้ปรารภความเพียร. . .ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้คือ ตนจักเป็นผู้มีปัญญา . . .ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ. [๘๙] ดูก่อนเมฆิยะ ก็แลภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้วพึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ ดูก่อนเมฆิยะ อนัตตสัญญา ย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญาผู้ที่ได้อนัตตสัญญา ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันเทียว. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า วิตกอันเลวทราม วิตกอันละเอียด เป็นไปแล้วทำใจให้ฟุ้งซ่าน บุคคลผู้มีจิตหมุนไปแล้ว ไม่ทราบ วิตกแห่งใจเหล่านี้ ย่อมแล่น ไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่ ส่วนบุคคลผู้มีความเพียร มีสติ ทราบวิตก แห่งใจเหล่านี้แล้ว ย่อมปิดกั้นเสีย พระอริยสาวกผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมละได้เด็ดขาด ไม่มีส่วนเหลือ ซึ่งวิตเหล่านี้ที่เป็นไปแล้วทำใจ ให้ฟุ้งซ่าน. จบเมฆิยสูตรที่ ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป
เมฆิยสูตร (ว่าด้วยตรัสธรรม ๕ แก่พระเมฆิยะ) ท่านพระเมฆิยะ ได้เห็นป่ามะม่วง เป็นที่น่าดูน่ารื่นรมย์ แล้วเกิดความคิดว่าเป็นที่สมควรแก่การบำเพ็ญเพียร จึงเข้าไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อขออนุญาตเข้าไปบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง จนในที่สุดท่านก็ได้เข้าไปยังที่นั้น แต่พอไปแล้วก็ถูกอกุศลวิตก ๓ ประเภท ครอบงำ คือกามวิตก (ความตรึกไปในกาม) พยาปาทวิตก (ความตรึกไปในความพยาบาท) และวิหิงสาวิตก (ความตรึกไปในทางเบียดเบียน) ท่านจึงกลับไปกราบทูลความเป็นไปดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดง ธรรม ๕ ประการ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติ (ใจที่หลุดพ้นจากกิเลส) ที่ยังไม่แก่กล้า แก่ท่าน ดังนี้ คือ ๑. มีมิตรดี ๒. เป็นผู้มีศีล ๓. ได้ฟังกถาวัตถุ ๑๐ ๔. ปรารภ (เริ่ม) ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม ๕. มีปัญญา ในบรรดา ๕ ประการนั้น ประการแรก คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี อุปการะเกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่อๆ มา ต่อจากนั้น ทรงแสดงการเจริญธรรม ๔ ประการ คือ เจริญอสุภะเพื่อละราคะเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท เจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก และ เจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ จะยับยั้งอกุศลวิตกได้อย่างไร กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก [สังคีติสูตร] จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นกัลยาณมิตร ! อาจารย์ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้องคือกัลยาณมิตร ศีล กถาวัตถุ 10 คืออะไร เป็นธรรมฝ่ายกุศลหรืออกุศล อนิจจสัญญา ปัญญาต้องมีกำลังกว่าอวิชชาแน่นอน ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...