อธิปไตยสูตร...วันเสาร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 เม.ย. 2554
หมายเลข  18216
อ่าน  2,649

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ ๒๓ เม.ย. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

อธิปไตยสูตร

(ว่าด้วยอธิปไตย ๓)

...จาก...

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่มที่ ๓๔ - หน้า ๑๘๔ - ๑๙๐

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่มที่ ๓๔ หน้า ๑๘๔ - ๑๙๐

๑๐. อธิปไตยสูตร (ว่าด้วยอธิปไตย ๓)

[๔๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ นี้ ๓ คืออะไร? คืออัตตาธิปไตย ๑ โลกาธิปไตย ๑ ธัมมาธิปไตย ๑. ก็อัตตาธิปไตย เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ก็เราออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต มิใช่เพื่อจีวร มิใช่เพื่อบิณฑบาต มิใช่เพื่อเสนาสนะเป็นเหตุมิใช่เพื่อความมีและไม่มีอย่างนั้น ที่แท้ เราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความเสียใจ

ความคับแค้นใจครอบงำแล้ว ตกอยู่ในกองทุกข์ มีความทุกข์ท่วมทับแล้ว คิดว่า (ด้วยการบวชนี้) บางทีความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้ ก็แล เราละทิ้งกามอย่างใด ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จะมาแสวงหากามอย่างนั้นหรือกามที่เลวยิ่งกว่านั้น นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุนั้นจึงตกลงอย่างนี้ว่า ความเพียร เราต้องทำไม่ย่อหย่อน สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับ ไม่กระสับกระส่าย จิตต้องเป็นสมาธิแน่วแน่ ดังนี้ เธอทำตนเองให้เป็นอธิปไตย ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษบริหารตนให้หมดจดได้ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า อัตตาธิปไตย. ก็โลกาธิปไตย เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี ฯลฯ คิดว่า (ด้วยการบวชนี้) บางทีความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้ ก็แลเราบวชอยู่อย่างนี้ จะมาตรึกกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก โลกสันนิวาสนี้ใหญ่นะ ก็ในโลกสันนิวาสอันใหญ่นี้ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มีทิพยจักษุรู้จิตคนอื่นได้ มีอยู่ สมณพราหมณ์ เหล่านั้น เห็นไปได้ไกลด้วย ท่านเข้ามาใกล้ก็ไม่เห็นตัว ท่านรู้จิต (ของผู้อื่น) ด้วยจิต (ของท่าน) ด้วย ท่านเหล่านั้นจะพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ดูกุลบุตรผู้นี้ชิ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เขาลุกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแล้ว ยังวุ่นด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศลอยู่ แม้เทวดาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุรู้จิตผู้อื่นได้ก็มี เทวดาเหล่านั้น เห็นไปได้ไกลด้วย เข้ามาใกล้ก็ไม่เห็นตัวด้วย รู้จิต (ของผู้อื่น) ด้วยจิต (ของตน) ด้วย แม้เทวดาเหล่านั้น ก็จะพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ดูกุลบุตรผู้นี้ซิ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แล้วยังวุ่นด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศลอยู่, ภิกษุนั้นจึงตกลงใจอย่างนี้ว่า ความเพียร เราต้องทำไม่ย่อหย่อน สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับไม่กระสับกระส่าย จิตต้องเป็นสมาธิแน่วแน่ ดังนี้ เธอทำโลก (คือผู้อื่น) นั่นแลให้เป็นอธิปไตย ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดได้ นี่ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่าโลกาธิปไตย. ก็ธัมมมาธิปไตย เป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ป่าก็ดี ฯลฯ คิดว่า (ด้วยการบวชนี้) บางทีความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้

(สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว (สนฺทิฏฐิโก) อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง (อกาลิโก) ไม่ประกอบด้วยกาล (เอหิปสฺสิโก) ควรเรียกให้มาดู (โอปนยิโก) ควรน้อมเข้ามา (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ) อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน เพื่อนสพรหมจารีผู้รู้ผู้เห็น (พระธรรมนั้น) อยู่ก็มี ก็แลเราบวชในพระธรรมวินัยนี้อันเป็นสวากขาตะอย่างนี้แล้ว จะมาเกียจคร้านประมาทเสีย นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุนั้นจึงตกลงใจอย่างนี้ ว่า ความเพียร เราต้องทำไม่ย่อหย่อน สติต้องตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายต้องระงับ ไม่กระสับกระส่าย จิตต้องเป็นสมาธิแน่วแน่ ดังนี้ เธอ ทำธรรมนั่นแลให้เป็นอธิปไตย ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละธรรมที่มีโทษ บำเพ็ญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้หมดจดได้ นี่ ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า ธัมมาธิปไตย. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ ชื่อว่าความลับ ย่อมไม่มี ในโลก สำหรับผู้กระทำบาป แน่ะบุรุษ ตัวของ ท่านย่อมรู้ว่าจริงหรือไม่จริง ผู้เจริญ ท่านดู หมิ่นตัวเอง ซึ่งเป็นพยานอย่างดีเสียแล้ว เมื่อบาปมีอยู่ในตัว ไฉนท่านจะปิดซ่อนมัน (ไม่ให้ตัวเองรู้) ได้ เทวดาทั้งหลาย และ ตถาคตทั้งหลาย ย่อมเห็นซึ่งคนเขลาที่ประพฤติไม่สมควรอยู่ ในโลก เพราะเหตุนั้นแหละ บุคคลควร ประพฤติเป็นผู้มีตนเป็นใหญ่ ควรมีสติ เป็น ผู้มีโลกเป็นใหญ่ ควรมีปัญญารักษาตน มี ความพินิจ เป็นผู้มีธรรมเป็นใหญ่ ควร ประพฤติตามธรรม พระมุนีผู้บากบั่นจริง ย่อมไม่เสื่อม ผู้ใดมีความเพียร กำราบมารลามกเสียได้ ถึงธรรมที่สิ้นชาติแล้ว ผู้เช่นนั้นนั่นเป็น พระมุนี รู้แจ้งโลกมีปัญญาดี ไม่มีความ ทะเยอทะยานในธรรมทั้งปวง. จบ

อธิปไตยสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาอธิปไตยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอธิปไตยสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้:-

อธิบายอธิปไตย ๓

สิ่งที่เกิดจากเหตุที่สำคัญที่สุด ชื่อว่า อธิปไตย. ในบทว่า อตฺตาธิปเตยฺยํ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้ คุณชาติที่เกิดโดยทำ ตนให้เป็นใหญ่ ชื่อว่า อัตตาธิปไตย. คุณชาติ ที่เกิดโดยทำชาวโลกให้เป็น ใหญ่ ชื่อว่า โลกาธิปไตย. คุณชาติที่เกิดโดยทำโลกุตรธรรม ๙ ให้เป็นใหญ่ ชื่อว่า ธัมมาธิปไตย.

บทว่า อิติภโว ในคำว่า น อิติภวาภวเหตุ หมายถึง ภายในอนาคต อย่างนี้ (เราออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือน) ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งภพในอนาคต นั้น ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งปัจจุบันภพนั้น. บทว่า โอติณฺโณ คือ แทรกซ้อน. ก็ชาติแทรกซ้อนอยู่ข้างในของบุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่า ถูกชาติครอบงำ. แม้ใน ชราเป็นต้น ก็มีนัย นี้แล. บทว่า เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส ได้แก่ กองวัฏทุกข์ทั้งหมด. บทว่า อนฺตกิริยา ปญฺญาเยถ ความว่าการทำที่สุด คือ การทำทางรอบด้าน ให้ขาดตอน พึงปรากฏ. บทว่า โอหาย แปลว่า ละ. บทว่า ปาปิฏฺฐตเร แปลว่า ต่ำช้ากว่า.

บทว่า อารทฺธํ ความว่า (ความเพียร) ที่ประคองไว้แล้ว คือ ให้บริบูรณ์ แล้ว และชื่อว่า ไม่ย่อหย่อน เพราะเริ่มแล้ว. บทว่า อุปฏฺฐิตา ความว่า สติ ชื่อว่า ตั้งมั่นและไม่หลงลืม เพราะตั้งมั่นด้วยอำนาจสติปัฏฐาน ๔. บทว่า ปสฺสทฺโธ กาโย ความว่า นามกายและกรชกายสงบ คือ มีความกระวนกระวายระงับแล้ว และเพราะระงับแล้ว จึงชื่อว่า ไม่กระสับ กระส่าย. บทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ ความว่า จิตที่ตั้งมั่นโดยชอบ คือ ตั้งไว้ด้วยดีในอารมณ์ (และ) เพราะตั้งไว้โดยชอบนั่นเอง จึงชื่อว่า มีอารมณ์เดียวเป็นเลิศ.

บทว่า อธิปตึ กริตฺวา ได้แก่ ทำธรรมให้เป็นใหญ่ (สำคัญ) . บทว่า สุทฺธมตฺตานํ ปริหรติ ได้แก่ บริหาร ความว่า ปฏิบัติ คือ คุ้มครองตน ให้บริสุทธิ์ คือ ให้หมดมลทิน. และภิกษุนี้ชื่อว่า บริหารตนให้บริสุทธิ์ โดยอ้อม จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรค. ส่วนท่านผู้บรรลุผลแล้ว ชื่อว่าบริหารตนให้บริสุทธิ์โดยตรง. บททั้งหลายมีบทว่า สฺวากฺขาโต เป็นต้นได้อธิบายไว้ละเอียดแล้วในวิสุทธิมรรค. บทว่า ชานํ ปสฺสํ วิหรนฺติ ความว่า เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย รู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่งธรรมนั้นอยู่. ก็ในบทว่า อิมานิ โข ภิกฺขเว ตีณิ อธิปเตยฺยานิ นี้ มีความว่า อธิปไตย ๓ อย่างเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้คละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ. บทว่า ปกุพฺพโต ความว่า การทำอยู่. บทว่า อตฺตา เต ปุริส ชานาติ สจฺจํ วา ยทิ วา มุสา ความว่า เธอทำสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นจะมีสภาพเป็นจริง หรือมี สภาพไม่จริงก็ตาม ตัวของเธอเองย่อมรู้สิ่งนั้น นักศึกษาพึงทราบตามเหตุ. ชื่อว่า สถานที่ปิดบังสำหรับผู้ทำบาปกรรมไม่มีในโลก. บทว่า กลฺยาณํ แปลว่า ดี. บทว่า อติมญฺญสิ คือ เธอสำคัญล่วงเลย (ลืมตัว) . บทว่า อถ นํ ปริคุยฺหสิ ความว่า เธอพยายามอยู่ว่า เราจะปิดบังไว้โดยประการที่แม้ตัวของเราก็ไม่รู้. บทว่า อตฺตาธิโป ได้แก่ มีตนเป็นอธิบดี คือ มีตนเป็นใหญ่. บทว่า โลกาธิโป ได้แก่มีโลกเป็นใหญ่. บทว่า นิปโก แปลว่า มีปัญญา. บทว่า ฌายี แปลว่า เพ่งอยู่. บทว่า ธมฺมาธิโป ได้แก่มีธรรมเป็นใหญ่. บทว่า สจฺจปรกฺกโม ได้แก่ มีความบากบั่นอย่างมั่นคง คือ มีความบากบั่นอย่างแท้จริง. บทว่า ปสยฺห มารํ แปลว่า ข่มมาร. บทว่า อภิยฺย อนฺตกํ นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า ปสยฺห มารํ นั้นนั่นเอง.

บทว่า โย จ ผุสี ชาติกฺขยํ ปธานวา ความว่า บุคคลใด มีปกติเพ่ง มีความเพียรครอบงำมาร แล้วสัมผัสอรหัตตผล อันเป็นสภาวะที่สิ้นไปแห่งชาติ. บทว่า โส ตาทิโส ได้แก่ บุคคลนั้น ชนิดนั้น คือ ดำรงอยู่โดยอาการอย่างนั้น. บทว่า โลกวิทู คือ ทำโลก ๓ ให้เป็นอันรู้แจ้ง คือ ให้ปรากฏอยู่แล้ว. บทว่า สุเมโธ แปลว่า ผู้มีปัญญาดี. บทว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อตมฺมโย มุนิ ความว่า มุนี คือ พระขีณาสพ ชื่อว่า อตัมมยะ เพราะไม่มีตัมมยะ กล่าวคือตัณหาในธรรมที่ เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด. มีคำอธิบายว่า ท่านไม่เสื่อม ไม่เสื่อมรอบ ในกาลไหนๆ ในที่ไหนๆ .

จบอรรถกถาอธิปไตยสูตรที่ ๑๐.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป อธิปไตยสูตร (ว่าด้วยอธิปไตย ๓)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงอธิปไตย (ความเป็นใหญ่) ๓ ประการ แก่ภิกษุทั้งหลาย (โดยสรุป) ดังนี้ คือ

๑. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่, คุณธรรมที่เกิดขึ้นโดยปรารภตนเป็นใหญ่) ได้แก่ ปรารภตน ว่า เมื่อตั้งใจที่บวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ที่ไม่ใช่เพื่อจีวร อาหารบิณฑบาตเป็นต้น ก็ไม่ควรที่จะเป็นผู้แสวงหากาม จึงเป็นผู้ที่มีความเพียรอย่างมั่นคง มีสติ อบรมเจริญปัญญาเพื่อเป็นผู้สิ้นทุกข์ในที่สุด

๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลก คือ ผู้อื่นเป็นใหญ่, คุณธรรมที่เกิดขึ้นโดยปรารภผู้อื่นเป็นใหญ่) ได้แก่ ปรารภผู้อื่นซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์สามารถเห็นพฤติกรรมของตนเองได้ว่า ถ้าหากตนเองเป็นผู้ประมาทมัวเมา ตรึกไปในอกุศลวิตกประการต่างๆ ผู้มีฤทธิ์ก็จะเห็นอย่างนั้น จึงไม่ควรที่จะเป็นผู้ตรึกไปในอกุศลวิตกอย่างนั้นๆ แล้วจึงเป็นเป็นผู้มีความเพียรอย่างมั่นคง มีสติอบรมเจริญปัญญาเพื่อเป็นผู้สิ้นทุกข์ในที่สุด

๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรม คือ โลกุตตรธรรม ๙ เป็นใหญ่) ได้แก่ ปรารภโลกุตตรธรรม ว่า โลกุตตรธรรม (มรรค ๔ ผล ๔ และพระนิพพาน) มีจริง ผู้ที่รู้โลกุตตร-ธรรม ก็มี ไม่ควรเลยที่จะเป็นผู้เกียจคร้านประมาทมัวเมา แล้วจึงเป็นผู้มีความเพียรอย่างมั่นคง มีสติ อบรมเจริญปัญญาเพื่อเป็นผู้สิ้นทุกข์ในที่สุด.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

พระคุณของพระธรรม

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ของแต่ละท่าน

อยู่พรหมจรรย์ เป็นอย่างไร?

พุทธพจน์

การให้ผลของโลกุตตรกุศลเป็นอกาลิโก

ชีวิตที่มีค่า คือ มีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ และได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ

กำลังถูกปลุกหรือเปล่า

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผิน
วันที่ 18 เม.ย. 2554
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 19 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 19 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 24 มี.ค. 2557

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.คำปั่น ค่ะ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ