พุทธานุญาตเกี่ยวกับกฐินที่ถูกต้องเป็นอย่างไรแน่
เนื่องจากเคยฟังการบรรยายถวายความรู้ในงานปริวาส เกี่ยวกับเรื่อง "กฐิน" ภายในงาน ในแต่ละวันก็จะมีครูบาอาจารย์ผลัดเปลี่ยนกันมาบรรยาย ปัญหาคือ มีองค์บรรยายอยู่สองรูปที่บรรยายเรื่องเดียวกัน คือเรื่องกฐินนั่นเอง และทั้งสองท่านนี้ ก็เป็นผู้คงแก่เรียนด้วยกันทั้งคู่ รูปที่หนึ่งคือรองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ท่านบอกว่า การที่จะรับกฐินได้นั้นพระต้องจำพรรษาในอาวาสนั้นอย่างน้อย ๕ รูป แต่อีกรูปก็เป็นพระมหาผู้คงแก่เรียน ท่านบอกว่ายังมีพุทธานุญาตเกี่ยวกับกฐินเป็นกรณีพิเศษอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ หากแม้ในอาวาสนั้นมีภิกษุจำพรรษาอยู่รูปเดียวก็สามารถที่จะรับกฐินได้ (ในกรณี หลังนี้ก็มีเงื่อนไขจำเพาะเจาะจงเพิ่มขึ้นมาอีก)
อาตมายังเป็นภิกษุผู้ใหม่ไม่ทราบว่าควรจะเชื่อใครดี อีกทั้งยังไม่รู้แหล่งค้นคว้าข้อมูลด้วย (ที่มีก็หาไม่เจอ) ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยให้คำตอบ หรือบอกแหล่งสืบค้นข้อมูลให้ทราบด้วยจ้า
ขอขอบคุณท่านผู้ใจบุญที่มีความเมตตาหาคำตอบให้ไว้ล่วงหน้า ณ ที่นี้จ้า
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
กราบนมัสการ พระคุณเจ้าครับ
สำหรับประเด็นที่ถาม ที่ว่า การกราน หรือ การรับกฐิน พระภิกษุกี่รูปจึงกรานได้ ซึ่งในอรรถกถาก็อธิบายไว้ครับว่า ภิกษุจำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูป กรานกฐินได้ครับ แต่หากว่าวัดนั้นมีพระภิกษุจำพรรษารูปเดียว ไม่มีพระอื่น ก็ต้องนิมนต์ให้พระรูปอื่นๆ มาให้ครบอย่างน้อย ๔ รูป รวมตัวท่านเป็น ๕ รูปมาจำพรรษา ก็สามารถกรานกฐินได้ ไม่ใช่พระภิกษุรูปเดียวจะทำได้ครับ
[เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 229
ว่าด้วยผู้ได้กรานกฐิน
วินิจฉัยในคำว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว กนํ อตฺถริตพฺพํ นี้พึงทราบดังนี้:-
ในมหาปัจจรีแก้ว่า ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้?
ตอบว่า ว่าด้วยอำนาจแห่งจำนวนก่อน. ภิกษุ ๕ รูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน, อย่างสูงแม้แสนก็ได้. หย่อน ๕ รูป ไม่ได้.
ว่าด้วยอำนาจภิกษุผู้จำพรรษา. ภิกษุผู้จำพรรษาในปุริมพรรษาปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อมได้, ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือจำพรรษาในปัจฉิมพรรษา ย่อมไม่ได้; แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. และภิกษุทั้งปวงผู้จำพรรษาหลัง เป็นคณปูรกะของภิกษุผู้จำพรรษาต้นก็ได้, แต่พวกเธอไม่ได้อานิสงส์ อานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่พวกภิกษุนอกนี้เท่านั้น. ถ้าภิกษุผู้จำพรรษาต้น มี ๔ รูปหรือ ๓ รูปหรือ ๒ รูป หรือรูปเดียว, พึงนิมนต์ภิกษุผู้จำพรรษาหลังมาเพิ่มให้ครบคณะ แล้วกรานกฐินเถิด.
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๑]
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๒]
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๓]
กฐิน ในพระพุทธศาสนา [ตอนที่ ๔]
ทอดกฐิน ต้องมีภิกษุอย่างต่ำกี่รูป
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องกฐิน เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ครับ
ข้อความที่ต่อจากอรรถกถาที่ความเห็นที่ ๑ ได้ยกมา คือ
ถ้าภิกษุผู้จำพรรษาต้น มี ๔ รูป, มีสามเณรอายุครบอยู่รูปหนึ่ง, หากสามเณรนั้นอุปสมบทในพรรษา หลัง, เธอเป็นคณปูรกะ (ทำคณะให้เต็มจำนวน) ได้ ทั้งได้อานิสงส์ด้วย
แม้ในข้อว่า มีภิกษุ ๓ สามเณร ๒, มีภิกษุ ๒ สามเณร ๓, มีภิกษุ รูปเดียว สามเณร ๔ นี้ ก็มีนัยอย่างนี้แล. ถ้าภิกษุผู้จำพรรษาต้น ไม่เข้าใจในการกรานกฐิน พึงหาพระเถระผู้กล่าวคัมภีร์ขันธกะ ซึ่งเข้าใจในการกรานกฐิน นิมนต์มา; ท่านสอนให้สวดกรรมวาจา ให้กรานกฐิน แล้วรับทาน แล้วจักไป. ส่วนอานิสงส์ย่อมสำเร็จแก่ภิกษุนอกนี้เท่านั้น.
จากข้อความดังกล่าว (ตามความคิดส่วนตัว) อาจจะเป็นไปได้ว่า ในอาวาสนั้นๆ ต้องมีภิกษุอยู่จำพรรษาตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป จึงจะกรานกฐินได้ แต่ถ้าหากว่า ท่านเหล่านั้นไม่มีความรู้ในเรื่องการกรานกฐิน ก็จะต้องนิมนต์พระรูปอื่นที่มีความรู้ในเรื่องการกรานกฐินมา เพื่อแนะนำให้กระทำตามพระวินัยอย่างถูกต้อง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การกระทำสังฆกรรมที่เกี่ยวกับการกรานกฐิน จะต้องเป็นกิจหน้าที่ของพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาในอาวาสนั้นๆ
ดังนั้น ประเด็นที่ยังจะต้องค้นคว้าต่อไป ต่อจากการที่ได้เข้าใจแล้วว่าการกรานกฐิน จะต้องมีพระภิกษุที่ร่วมสังฆกรรมดังกล่าว ตั้งแต่ ๕ รูป ขึ้นไป คือ กฐิน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต แก่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน ซึ่งในอาวาสนั้นมีภิกษุอยู่จำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป ถ้าจำนวนน้อยกว่านั้น ไม่เป็นกฐิน แล้วถ้าได้นิมนต์พระภิกษุที่อยู่จำพรรษา ณ อาวาสอื่นมาร่วมให้เต็มจำนวน๕ รูป จะใช้ได้หรือไม่? ซึ่งก็จะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...