อนุพยัญชนะ

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  5 เม.ย. 2555
หมายเลข  20915
อ่าน  3,645

กราบเท้าอาจารย์ทุกท่านที่เคารพอย่างสูง

เมื่อเช้าวันนี้ ผมได้ฟังการสนทนาช่วง ๖-๗ นาฬิกา ทางวิทยุเอเอ็ม ได้ยินคำว่า "อนุพยัญชนะ" แต่เดิมแล้ว ผมเข้าใจว่าเป็นตัวพยัญชนะที่ผสมกันเป็นคำสอนฯ แต่เมื่อเช้าฟังแล้ว เหมือนหมายถึงความละเอียดของการรู้สภาพธรรม ที่ลึกซึ้งลงไป

กราบรบกวนอาจารย์เมตตาด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

ขอกุศลที่ข้าพเจ้าได้เจริญแล้วทั้งปวง จงเป็นปัจจัยให้เข้าพเจ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรมและเข้าใจธรรมที่ "พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงตรัสสอนไว้ด้วยเทอญ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยมาก เราจะได้ยิน คำสองคำคู่กัน คือ นิมิตและอนุพยัญชนะ

ก่อนอื่นก็มาเข้าใจความหมาย ของทั้งสองคำก่อนครับว่าคืออะไร

คำว่า นิมิต (การกำหนด, เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็น เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ได้ยินเสียง ผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสเป็ดไก่ ถูกต้องสัมผัสสำลี

ส่วนคำว่าอนุพยัญชนะ มาจากคำว่า อนุ (น้อย, ภายหลัง, ตาม) + พฺยญฺชน (แจ้ง, ปรากฏ) แปลได้ว่า ส่วนละเอียดที่ทำให้กิเลสปรากฏ หมายถึง ส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน หรือ ความหมาย ที่จิตคิดถึงจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นปาก คอ คิ้ว คาง ริ้วรอยของใบหน้าที่เป็นส่วนละเอียดของร่างกาย หรือส่วนปลีกย่อยของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ส่วนในความละเอียดลึกซึ้งของธรรม โดยเฉพาะ หนทางการดับกิเลส ที่เป็น การเจริญสติปัฏฐาน จะมีข้อความที่ว่า ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ

ซึ่งขออธิบายพอเข้าใจก่อนครับว่า ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญา ก็เห็นเป็นสัตว์ บุคคล เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เป็นโต๊ะ เก้าอี้ เห็นเป็นรูปร่างของคนนั้นคนนี้ นี่คือ เรียกว่า เห็นในนิมิตที่เป็นส่วนหยาบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งต่างๆ แล้ว ก็ติดข้องพอใจ หรือ ไม่ชอบ ไม่พอใจ ในสิ่งที่เห็น ได้ยิน ที่เป็นรูปร่าง สัณฐานต่างๆ ที่บัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ ขณะที่เป็นอกุศลจิต ติดข้องหรือไม่พอใจ ในสิ่งที่เห็น เป็นสัตว์ บุคคล ที่เป็นส่วนหยาบ เรียกว่า ติดในนิมิต ในขณะนั้นครับ ขณะนั้น ไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าเป็นแต่เพียงธรรม จึงเป็นอกุศลจิต ติดในนิมิตที่ปรากฏ แต่ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้น ไม่ติดในนิมิต แม้จะเห็น เป็นสัตว์ บุคคล เป็นส่วนหยาบก็ตามครับ และขณะใดที่เป็นการอบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่รู้ว่าป็นธรรม ขณะนั้น ชื่อว่า ไม่ติดในนิมิต เพราะรู้ความจริงว่า มีแต่เพียงธรรม ครับ นี่กล่าวโดยนัยของ นิมิต

ส่วน อนุพยัญชนะ คือ ส่วนละเอียด มีการเห็นเป็นคิ้ว ปาก เป็นต้น โดยปกติก็เห็นเป็นปกติในส่วนละเอียดต่างๆ อยู่แล้ว ผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญา ย่อมไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม จึงเป็นอกุลจิต ในขณะที่เห็นเป็นส่วนละเอียด เช่น ชอบ พอใจ ในส่วนละเอียด คือ คิ้ว ปาก เป็นต้น หรือ ไม่พอใจ ไม่ชอบ ในปาก คิ้ว จมูก ในส่วนละเอียด ขณะที่จิตเป็นอกุศลในส่วนละเอียดนั้น เรียกว่า ติดในอนุพยัญชนะในขณะนั้นครับ แต่เมื่อใด รู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ติดในอนุพยัญชนะในขณะนั้น เพราะรู้ความจริง และจิตไม่เป็นอกุศล

สรุปได้ว่า ขณะที่จิตเป็นอกุศล ในขณะที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ทั้งส่วนหยาบ และส่วนละเอียด ชื่อว่า ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ ครับ แต่ขณะใดที่จิตเป็นกุศล แม้เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ชื่อว่าติดในนิมิต อนุพยัญชนะ ครับ และหนทางการอบรมปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ที่ระลึกรู้ว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ในขณะที่รู้ความจริงในขณะนั้น ชื่อว่า เป็นการไม่ติดใน นิมิต อนุพยัญชนะอย่างแท้จริง และเป็นการไถ่ถอนความเห็นผิดว่า มีนิมิต อนุพยัญชนะที่เป็นสัตว์ บุคคลได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ >>

เป็นชื่อและรูปร่างสันฐาน [นิมิต อนุพยัญชนะ]

นิมิต อนุพยัญชนะ

อรรถว่า ... ไม่ถือในนิมิต อนุพยัญชนะ

เห็นแล้วเป็นนิมิต อนุพยัญชนะ ... อโคจร

ขอเชิญคลิกฟังที่นี่ครับ >>

ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 5 เม.ย. 2555

* * * ------------------------- * * *

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ

ขออนุโมทนากุศลที่ท่านเจริญแล้วด้วยครับ

* * * ----------------------------------------------- * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอน จากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

"ขณะใดที่เห็นแล้ว สนใจ เพลินใน นิมิต คือ รูปร่างสัณฐาน และอนุพยัญชนะ คือส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะสีปรากฏ จึงทำให้คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐาน และส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกรู้และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณา ก็จะเริ่มรู้ว่านิมิตและอนุพยัญชนะทั้งหลาย ซึ่งเป็นสีต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือปัญญาที่เริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อสติเกิดระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจอรรถที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ (ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) และเริ่มละคลายอัตตสัญญา ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น"

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตวิริยะของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขณะที่หลงลืมสติ ทันทีที่เห็น ก็มีทั้งนิมิตและอนุพยัญชนะ เห็นเป็นวัตถุสิ่งของ สัตว์ บุคคลต่างๆ ถ้าสติปัฏฐานเกิดขณะนั้น ก็ระลึกแต่ละหนึ่งเป็นธรรมะที่มีจริงที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ