ทุติยอัจฉริยสูตร ... วันเสาร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  3 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21216
อ่าน  1,787

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

 

ทุติยอัจฉริยสูตร

(ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระตถาคตเจ้า)

...จาก...


[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๔๐

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...


ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒[เล่มที่ 42] - หน้าที่ ๓๔๐

๘. ทุติยอัจฉริยสูตร

(ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระตถาคตเจ้า)

[๑๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการ ย่อมปรากฏ

เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ ประการเป็นไฉน?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีอาลัย (คือกามคุณ) เป็นที่รื่นรมย์ ยินดีใน

อาลัย บันเทิงในอาลัย เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันหาความอาลัยมิได้อยู่ หมู่สัตว์

นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๑ ย่อมปรากฏ เพราะ

ความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีมานะ (ความถือตัว) เป็นที่รื่นรมย์ ยินดีใน

มานะบันเทิงในมานะ เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันเป็นเครื่องปราบปรามมานะอยู่

หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๒ ย่อมปรากฏ เพราะ

ความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีความไม่สงบเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีแล้วในความ

ไม่สงบ บันเทิงในความไม่สงบ เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันกระทำความสงบอยู่

หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๓ ย่อมปรากฏ เพราะ

ความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา เป็นผู้มืด ถูกอวิชชารัดรึงไว้

เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอัน เป็นเครื่องปราบปรามอวิชชาอยู่ หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วย

ดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๔ ย่อมปรากฏ เพราะ

ความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้ ย่อมปรากฏเพราะ

ความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

จบทุติยอัจฉริยสูตรที่ ๘.

อรรถกถาทุติยอัจฉริยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอัจฉริยสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

เบญจกามคุณหรือวัฏฏะทั้งสิ้น ชื่อว่า อาลัย เพราะอรรถว่า พึงถูกตัณหาและ

ทิฏฐิยึดไว้.

ชื่อว่า อารามะ เพราะเป็นที่ยินดี อาลัยเป็นที่ยินดีของหมู่สัตว์นี้ เหตุนั้น หมู่สัตว์นี้

จึงชื่ออาลยารามะมีอาลัยเป็นที่ยินดี.

ชื่อว่า อาลยรตะ เพราะยินดีแล้วในอาลัย.

ชื่อว่า อาลยสัมมุทิตะ เพราะบันเทิงแล้วในอาลัย.

บทว่า อนาลเย ธมฺเม ความว่า อริยธรรมอาศัยวิวัฏฏนิพพานที่ตรงกันข้ามกับอาลัย.

บทว่า สุสฺสุสติ คือเป็นผู้ใคร่จะฟัง.

บทว่า โสตํ โอทหติ แปลว่า เงี่ยโสต.

บทว่า อญฺญาจิตฺตํ อุปฏฺฐเปติ ความว่า เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงธรรม.

บทว่า มาโน คือ ความสำคัญ หรือวัฏฏะทั้งสิ้นนั้นแลชื่อว่า มานะ เพราะอรรถว่า

หมู่สัตว์พึงสำคัญ.

บทว่า มานวินเย ธมฺเม คือธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดเสียซึ่งมานะ. ธรรมที่ตรงกันข้าม

กับความสงบ ชื่อว่า อนุปสมณะ หรือวัฏฏะ นั่นเอง ชื่อว่า อนุปสมะ เพราะอรรถว่า

ไม่สงบแล้ว.

บทว่า โอปสมิเก ได้แก่ ธรรมที่ทำความสงบคืออาศัยวิวัฏฏะคือนิพพาน.

ชื่อว่า อวิชชาคตะ เพราะไปคือประกอบด้วยอวิชชา.

ชื่อว่า อันธภูตะ เพราะเป็นดุจคนตาบอด เพราะถูกกองมืดคืออวิชชาปกคลุมไว้.

ชื่อว่า ปรโยนัทธา เพราะหุ้มไว้รอบด้าน.

ในบทว่า อวิชฺชาวินเย พระอรหัตเรียกว่าธรรมเป็นเครื่องกำจัดอวิชชา เมื่อธรรม

ที่อาศัยธรรมเป็นเครื่องกำจัดอวิชชานั้น อันพระตถาคตแสดงอยู่.

ในสูตรนี้ตรัสวัฏฏะไว้ ๔ ฐานะ ตรัสวิวัฏฏะไว้ ๔ ฐานะ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาทุติยอัจฉริยสูตรที่ ๘.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ทุติยอัจฉริยสูตร

(ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระตถาคตเจ้า)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงถึงความน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี๔ ประการ ที่ปรากฏเพราะ

ความแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่

เป็นเหตุให้บุคคล ๔ จำพวก ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ดังต่อ

ไปนี้

๑. เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ หมู่สัตว์ผู้มีความอาลัย ยินดีในกามคุณ ย่อมตั้งใจ

ฟังด้วยดี เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง

๒. เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ หมู่สัตว์ผู้มานะ ยินดีในมานะย่อมตั้งใจฟังด้วยดี

เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง

๓. เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ หมู่สัตว์ผู้มีความไม่สงบ ยินดีในความไม่สงบ ย่อม

ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง

๔. เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ หมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา ถูกอวิชชาครอบงำ ย่อม

ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่ีนี่ครับ

เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมรอบ

ทำไมการกล่าวว่าพระธรรมยาก...จึงเป็นการสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า

อาลัย

มานะ [ธรรมสังคณี] โทษของมานะ [มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์]

ใจเจียม ด้วยไม่มีมานะ

กุศลทุกขณะ...สงบ

อวิชชา ฯลฯ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อธิบาย ทุติยอัจฉริยสูตร

จากพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นถึงการสะสมของจิตมา ทีเป็นการสะสมศรัทธา ปัญญา

มาในอดีตของสัตว์โลก ที่เมื่อในอดีต เคยสะสมการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สนใจ

พระธรรมมาในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาแล้วครับ และ มาในปัจจุบัน กิเลสไม่ได้

หายไปไหน ยังอยู่เต็ม เมื่อยังเป็นปุถุชน คือ ยังเป็นผู้ยินดีในอาลัย คือ ยินดีในสภาพ

ธรรมที่น่าพอใจ มี รูปเสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ แม้ยังมีกิเลส คือ

มีโลภะที่ติดข้องในสิ่งต่างๆ ที่เป็นความอาลัย แต่ ก็สนใจพระธรรม ศึกษาพระธรรม

เมื่อได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะ เป็นสิ่งที่บุคคลนั้นเคยสะสมมา

อันแสดงถึงความน่าอัศจรรย์ คือ พระธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่ไม่มีความอาลัย

คือ ไม่เป็นไปเพื่อติดข้อง และ สละ ละกิเลส เมื่อพระองค์แสดงธรรม หมู่สัตว์ที่ยังมี

ความติดข้องมีกิเลส ก็ยังฟัง เพราะ เป็นสัจจะ ความจริง ย่อมตั้งใจฟังในหนทางที่ถูก

นี่แสดงถึงความอัศจรรย์ อย่างยิ่ง เพราะ แม้ยังมีกิเลส แต่ก็ยังฟังธรรมที่ทำให้ปราศ

จากกิเลส ปราศจากความอาลัยได้

โดยนัยเดียวกัน หมู่สัตว์ที่มีมานะ มีความไม่สงบจากกิเลส และ มีอวิชชา ความไม่รู้

อยู่ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรม ทีเป็นธรรมที่สงบจากกิเลส แสดงธรรมที่ละมานะ

แสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ความรู้ ที่ละความไม่รู้ ละอวิชชา

สัตว์โลก แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ คือ บางพวกแม้มีกิเลส แต่ก็ยังฟังธรรมของพระองค์

เพราะ หมู่สัตว์เหล่านั้นที่ฟัง เพราะสะสมปัญญา สะสมความเห็นถูกมา นี่จึงเป็นความ

อัศจรรย์ทั้ง ๆ ที่ สัตว์โลกมีกิเลส มีมานะ ความไม่สงบ และความไม่รู้อยู่ แต่ก็ยังฟังพระ

ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง อันเป็นการแสดงถึง ความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า ที่แสดง

ในสิ่งที่ตรงกันข้าม ทวนกระแสกับจิตใจของสัตว์โลก แล้วยังมีการฟังสิ่งนั้น และแสดง

ถึงความอัศจรรย์ของพระธรรม ที่ทำให้หมู่สัตว์ฟัง และ สามารถละกิเลส ที่สะสมมาได้

จริง ทีละน้อย ครับ

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของพระสูตรนี้ คือ เพื่อเห็นประโยชน์ของการศึกษาธรรม

และ การฟังพระธรรมครับว่า การศึกษา อบรมปัญญา เป็นปกติในชีวิตประจำวันของ

ปุถุชน ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่หันมาศึกษาธรรมแล้ว จะต้องไม่มีกิเลสอีกเลย แต่ก็

ยังมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น แต่ เพราะ สะสมปัญญามา แม้มีกิเลส ก็ศึกษาธรรมได้ และ

ก็ค่อยๆ ละกิเลสเป็นไปตามลำดับ ตามความเจริญขึ้นของปัญญา ดังนั้น การอบรม

ปัญญา ที่เป็นหนทางการดับกิเลส จึงเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ทำอะไรให้

ผิดปกติ ไม่ได้ทำอะไรให้ดูไม่มีกิเลส ก็อยู่กับกิเลสที่มีเป็นปกติ แต่อยู่ด้วยความ

เข้าใจว่า แม้กิเลสทีเกิดขึ้น มีอยู่ ก็เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ นี่ คือหนทาง

การอบรมปัญญา และ แสดงถึง ความอัศจรรย์ของ พระพุทธเจ้าทีแสดงพระธรรม

อันละกิเลส ให้ผู้ที่มีกิเลส สนใจ และสามารถละกิเลสได้ จึงเห็นคุณของพระธรรม

เห็นถึงพระมหากรุณาคุณ พระปัญญญาคุณ จึง อบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม เป็น

ปกติในชีวิตประจำวัน ตามกาลเวลาที่เหมาสะสม จากเป็นผู้มีกิเลส ก็ถึง ความไม่มี

กิเลสได้ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 4 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สวัสดีครับอาจารย์และทุกๆ ท่านครับ เป็นความจริงอย่างยิ่งที่ต้องหมั่นเพียรฟังพระ

ธรรมอ่านและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ในอดีตไม่สามารถทราบได้ว่าเคยสะสมกรรมไว้

มากน้อยเพียงใด ปัจจุบันก็ยังสะสมอยู่ทุกขณะจิตชีวิตที่ผ่านๆ มาชั่งไร้สาระไม่เคยได้

ประโยชน์สุขกับการมีชีวิตอย่างแท้จริงเลย ต่อเมื่อได้น้อมมาใส่ใจในการฟังพระธรรม

ศึกษาพระธรรมจึงได้เข้าใจชีวิตดีมากขึ้น ท่านอาจารย์สุจินต์ได้แสดงธรรมเอาไว้ว่า

ชีวิตในแต่ละวันๆ ที่ผ่านๆ ไป เป็นเพียงแต่ละขณะเล็กๆ ที่สืบต่อกันเท่านั้นเอง พระธรรม

สั้นๆ เท่านี้ก็น่าจะเข้าใจแล้ว เข้าใจไม่หมายความว่าเข้าถึงแล้วนะครับ กว่าจะเข้าถึงยัง

ต้องสะสมอีกมากครับ ถ้าเข้าถึงได้จะเร็วๆ เหมือนอย่างเติมลมยางรถก็ดีนะครับจะได้ถึง

เสียที

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ทศพล13
วันที่ 5 มิ.ย. 2555

ขอกราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างสูงยิ่งและ

อาจารย์ทุกท่าน และ สหายธรรม ที่ให้เข้าใจ ปัจจุบัน ทีละเล็กทีละน้อย ขออนุโมทนา

ด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างสูงยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
หลานตาจอน
วันที่ 7 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 9 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พรรณี
วันที่ 9 มิ.ย. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
mouy179
วันที่ 10 มิ.ย. 2555

เรียนถามท่าน อ. และ อ.ช่วยบรรยายทุกท่าน ถึงความหมายของประโยคต่อไปนี้

ขอรบกวน อ. ช่วยอนุเคราะห์ด้วยค่ะ

ฝน คือ กิเลสย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดเพราะฉะนั้น

พึงเปิดสิ่งที่ปกปิดไว้เสีย ฝน คือ กิเลสย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดนั้น

(เล่ม25 พระสุตันตปิฏก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติอุตตกะ-

สุตันนนิบาต) ถ้าลอกผิดขออภัยด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 10 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๘ ครับ

มีคำอธิบายในอรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อุโบสถสูตร พอที่จะสรุปได้ว่า พระ

ภิกษุเมื่อต้องอาบัติแล้ว ปกปิดไว้ ไม่เห็นโทษของอาบัตินั้น ไม่กระทำคืนให้ถูกต้อง

ตามพระวิันัย มีการปลงอาบัติเป็นต้น ก็จะเป็นเหตุให้ต้องอาบัติข้ออื่นๆ ได้อีก เป็น

เหตุทำให้ผู้นั้น พอกพูนกิเลสมากยิ่งขึ้น ต้องอาบัติเพิ่มมากยิ่งขึ้น เป็นผู้ชุ่มไปด้วยฝน

คืออาบัติและกิเลส ก็ตรงกับพระบาลีที่ว่า ฝน คือ กิเลสย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด, ส่วน

ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้วไม่ปกปิดอาบัตินั้นไว้ เป็นผู้เปิดเผยแสดงต่อพระภิกษุด้วยกัน

มีการกระทำคืนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็เป็นเหตุให้ตนเองพ้นจากอาบัตินั้น

ไม่ต้องมีอาบัติอีก ฝนคืออาบัติ ฝนคือกิเลส ที่ภิกษุนั้นเปิดเผยแล้วย่อมไม่รั่วรดอีก

ตรงกับพระบาลีที่่ว่า ฝน คือ กิเลสย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่

ปกปิดไว้เสีย (คือ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วตั้งใจที่จะสำรวมระวังต่อไป) ฝน

คือ กิเลสย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดนั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
mouy179
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอขอบพระคุณ อ.khampan.a ค่ะ

คำอธิบายที่ อ.อธิบาย สามารถน้อมประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

ถ้าเราไม่ลืมที่จะ กระทำคืน หรือกล้าที่จะรับผิดในความผิดพลาดของเรา แล้วแก้ไข

จะทำให้เราเป็นผู้ตรง สำรวมและรอบคอบในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

ชีวิตจะวุ่นวายน้อยลงเรื่อยๆ ใช่ไม๊ค่ะ

mouy179

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาคุณ mouy179 ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
lokiya
วันที่ 6 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ