สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

 
Graabphra
วันที่  5 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21219
อ่าน  3,554

สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

๑. สีลัพพตปรามาสกายคันถะอย่างละเอียดเป็นอย่างไรครับ

๒. มีตัวอย่างไหมครับ

๓. มีความเกี่ยวข้องกับความเห็นไหมครับ อย่างไรครับ ขอความกรุณาด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ที่สำคัญว่า ข้อปฏิบัติ วัตร นั้น จะทำให้ถึงความบริสุทธิ์ครับ สีลัพพตปรามาส โดยองค์ธรรม ก็คือ ความเห็นผิดนั่นเอง คือ ทิฏฐิเจตสิก

สีลัพพตปรามาส เป็นความเห็นผิด ที่ยึดถือ ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ว่าเป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้

๑. สีลัพพตปรามาสกายคันถะอย่างละเอียดเป็นอย่างไรครับ

๒. มีตัวอย่างไหมครับ

ตอบ ข้อ ๑ และ ๒ รวมกันดังนี้ ครับ


- ก่อนจะถึง การยึดถือข้อวัตรปฏิบัติที่เป็นความเห็นผิดที่คิดว่า ทำให้สัตว์บริสุทธิ์ได้อย่างละเอียด ก็ต้องมีอย่างหยาบก่อนครับ

ตามธรรมดา อกุศลธรรม ก็มีทั้งอย่างหยาบ อย่างะอียด ตามกำลังของกิเลสเกิดขึ้น สีลัพพตปรามาส ที่เป็นข้อวัตรปฏิบัตที่ผิดอย่างหยาบ เช่น ขณะที่ทรมานตน เดินบนตะปู ด้วยสำคัญว่า จะทำให้พ้นทุกข์ ด้วยความทุกข์ นี่ก็เป็นความเห็นผิด ที่เป็น สีลัพพตปรามาส ข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดอย่างหยาบ เพราะ แสดงออกมาทางกาย วาจา จนมีการทำการทรมานตน ทางกาย เป็นต้น นี่คือ ตัวอย่าง สีลัพพตปรามาส อย่างหยาบ

ส่วน สีลัพพตปรามาส อย่างละเอียด ก็คือ กิเลสที่เป็นความเห็นผิด ที่เกี่ยวข้องกับหนทางปฏิบัติ แต่เป็นหนทางปฏิบัติที่ผิด แต่ไม่มีกำลัง ที่แสดงออกมาทางกาย ซึ่ง สีลัพพตปรามาส อย่างละเอียด

เช่น แม้แต่ในพระพุทธศาสนา ผู้ที่คิดว่า วัตรปฏิบัตินั้น เป็นหนทางที่ถูกดับกิเลสได้ เช่น การสำคัญว่า การนั่งสมาธิ เป็นหนทางดับกิเลส อันนี้ ก็เป็นสีลัพพตปรามาส ครับ และเมื่อว่าโดยละเอียด แม้แต่การเข้าใจหนทางที่ผิด เช่น สำคัญว่า ต้องจดจ้องในสภาพธรรมใดๆ จึงจะรู้ทั่วถึงสภาพธรรมใดๆ นั้น นี่ก็เป็นสีลัพพตปรามาสอย่างละเอียด แล้วครับ เพราะ เป็นการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด อันสำคัญว่าเป็นทางหลุดพ้น

และแม้การตามดู ตามดูจิต นี่ ก็ไม่ใช่หนทางดับกิเลส เพราะเป็นตัวตนที่จะตามดู ไม่ใช่สติ และ ปัญญา ครับ ดังนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส โดยละเอียดอีกเช่นกันครับ

ดังนั้นแม้ ความเป็นตัวตน ที่จะทำ เป็นตัวตนที่จะดูจิต เป็นตัวตนที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นสีลัพพตปรามาส อย่างละเอียดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 5 มิ.ย. 2555

๓. มีความเกี่ยวข้องกับความเห็นไหมครับ อย่างไรครับ ขอความกรุณาด้วยครับ

- สีลัพพตปรามาส เกี่ยวข้องกับความเห็นแน่นอนครับ แต่เป็นความเห็น ที่เป็น ความเห็นผิดที่เป็น ทิฏฐิเจตสิก แต่เป็นความเห็นผิดที่เกี่ยวเนื่องกับข้อปฏิบัติที่จะทำให้ถึงการดับกิเลส หรือ บริสุทธิ์ด้วย วัตร ข้อปฏิบัติที่ผิด

เพราะ ในความเป็นจริง ความเห็นผิดนั้นกินความกว้างขวาง ทั้งๆ ที่เป็นความเห็นผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติ วัตรปฏิบัติก็เป็นควาเห็นผิดได้ เช่น เห็นผิดว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เห็นผิดว่า ตายแล้วสูญ นี่เป็นความเห็น เป็นความเห็นผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับ สีลัพพตปรามาส แต่ก็เป็นความเห็นผิด และ ความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ ยังกินความถึง รวมข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ที่จะทำให้ถึงการพ้นทุกข์ด้วย ที่เป็น สีลัพพตปรามาส

ดังนั้น เพราะมีความเห็น มีความเห็นผิด จึงมีข้อวัตรปฺฏิบัติที่ผิด ที่แสดงออกมาทางกายได้ มีการทรมานตน การนั่งสมาธิ การจดจ้อง สภาพธรรม ล้วนแล้วแต่มีความเห็นเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เป็นความเห็นผิด ครับ

ความเห็นผิด จึงกินความกว้างขวางตามที่กล่าวมา โดยมี สีลัพพตปรามาส อยู่ในส่วนหนึ่งของความเห็นผิด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 341

[๖๗๓] สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน?

ความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลพรตของสมณพราหมณ์ในภายนี้แต่ศาสนานี้ ดังนี้

ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ

ป่าชัฏ คือทิฏฐิ

กันดาร คือทิฏฐิ

ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ

สัญโญชน์ คือ ทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิดทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส อันมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใดนี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส


เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

สีลัพพัตตปรามาส

ตัวอย่างชัดๆ ของสีลัพพตปรามาสกายคันถะ

การศึกษาธรรมะไม่ดี อาจเป็นสีลัพพตปรามาสได้หรือไม่ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ

สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

จะต้องเข้าวิปัสสนา เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะหรือไม่

สักกายทิฏฐิ - ศีลพรตปรามาส ๓

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Graabphra
วันที่ 5 มิ.ย. 2555

๑. มีความเห็นถูกอย่างเดียวขึ้นชื่อว่าไม่มีสีลัพพตปรามาสกายคันถะใช่ไหมครับ แม้สติไม่ระลึก

๓. ผู้ที่มีสีลัพพตปรามาสกายคันถะก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีตลอดเวลาใช่ไหมครับ

ขอความกรุณาครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 5 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงเลย ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ติดข้อง โกรธ เป็นต้น รวมไปถึงความเห็นผิดที่ลูบคลำยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด (ทิฏฐิเจตสิก) ก็เป็นธรรมที่มีจริง เวลาเกิดก็เกิดร่วมกับจิตที่เป็นอกุศลประเภทโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย

นี่คือความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ก็ยังมีเหตุปัจจัยทำให้ความเห็นผิดประเภทนี้เกิดขึ้นได้ ตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศล ซึ่งจะต้องเข้าใจว่า ขณะที่อกุศลเกิดขึ้น กุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกุศลจิตเกิดขึ้นจะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม ขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ ความเห็นผิดก็เกิดไม่ได้ในขณะนั้น

จากที่เคยเป็นอกุศลมากๆ ถ้าหากว่าไม่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเลย ก็ไม่มีทางที่จะมีความเข้าใจถูก เห็นถูก แล้วละคลายความเห็นผิดได้ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็สามารถขัดเกลาละคลายความเห็นผิดและความไม่รู้ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในสมัยพุทธกาล ผู้ที่เคยมีความเห็นผิดมาก่อน เคยยึดถือลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด แต่พอเหตุปัจจัยพร้อม ได้ฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง ก็สามารถขัดเกลาละคลาย จนกระทั่งสามารถดับความเห็นผิดได้ ถึงความเป็นพระโสดาบัน ตลอดจนถึงสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งจะมีเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา นี้คือ คุณของพระธรรม

เมื่อได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จะเข้าใจว่า ความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต นั้น ไม่ได้มีเฉพาะอกุศลจิตเพียงอย่างเดียว ยังมีจิตชาติอื่นๆ ด้วย ทั้งกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และ กิริยาจิต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่เคยว่างเว้นจากจิตเลย

ในขณะที่เป็นวิบากจิต ก็ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่กิริยา

ในขณะที่เป็นกุศลจิต ก็ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต

ในขณะที่เป็นอกุศลจิต ก็ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต

ถ้าเป็นกิริยาจิต ก็ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต

ดังนั้น ผู้ที่มีความเห็นผิด ก็ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นอยู่ตลอด มีจิตขณะอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าสะสมมาที่จะเกิดความเห็นผิด ยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด มามาก ความเห็นผิดก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปมาก ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 5 มิ.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

จากคำถามที่ว่า

๑. มีความเห็นถูกอย่างเดียวขึ้นชื่อว่าไม่มีสีลัพพตปรามาสกายคันถะใช่ไหมครับ แม้สติไม่ระลึก

- สีลัพพตปรามาส คือ ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย คือ มี ทิฏฐิเจตสิกเกิดขึ้น เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ซึ่ง ขณะนั้นมีความเห็นผิดว่า ข้อวัตรปฏิบัติอย่างนี้ ที่เป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ทำให้ดับกิเลส ถึงความบริสุทธิ์ได้ ครับ

สรุปได้ว่า ขณะที่เป็นสีลัพพตปรามาส ขณะนั้น เป็นอกุศลจิตประเภท โลภมูลจิต ที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้น

ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ไม่มีทิฏฐิเจตสิก ไม่ใช่โลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด

ขณะที่กุศลจิตเกิด จึงไม่มีความเห็นผิดเลย

และ ขณะที่กุศลจิต ก็ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส ครับ นี่คือ กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ได้มีความเห็นถูก ก็ไม่มี สีลัพพตปรามาส แล้ว ไม่ต้องกล่าวถึง กุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา คือ มีความเห็นถูก ย่อมไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเลย ที่เป็นทิฏฐิเจตสิก และ จึงไม่มี สีลัพพตปรามาส ในขณะที่มีความเห็นถูก คือ ปัญญาเกิดขึ้น เพราะ ปัญญา ความเห็นถูก หรือ อโมหเจตสิก เกิดกับจิตที่ดี ที่เป็นโสภณจิต เท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่ไม่ดี ที่เป็นทิฏฐิเจตสิก ที่เป็นองค์ธรรมของ สีลัพพตปรามาส เลย ครับ

๓. ผู้ที่มีสีลัพพตปรามาสกายคันถะก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีตลอดเวลาใช่ไหมครับ

- ควรเข้าใจครับว่า สีลัพพตปรามาส คือ ขณะที่เป็นอกุศลจิต ที่เป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง เพราะฉะนั้น อกุศลจิตที่เป็นความเห็นผิดเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ ชวนจิต ๗ ขณะดับไป ก็เป็นจิตอื่นๆ เกิดต่อ ไม่ใช่อกุศลจิตแล้ว ก็เป็นภวังคจิตเกิดต่อก็ได้ ที่เป็นวิบากจิต และ ก็มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดต่อ เป็นกิริยาจิต และ เป็นชวนจิต คือ กุศลจิต อกุศลจิตประเภทอื่นๆ เกิดต่อ ที่ไม่ใช่ความเห็นผิดที่เป็นสีลัพพตปรามาส ก็ได้ครับ เช่น โกรธ เป็นต้น และ จิตเห็นก็เกิดต่อ เป็นวิบกาจิต ก็เท่ากับว่า สีลัพพตปรามาส ไม่ได้เกิดตลอดเวลา หรือจะกล่าวสรุปได้ว่า อกุศลจิตที่มีความเห็นผิดไม่ได้เกิดตลอดเวลา แต่เกิดแล้วดับไป จิตประเภทอื่นๆ ก็เกิดต่อไป ตามเหตุปัจจัย และเราจะต้องมีความเข้าใจเบื้องต้น ครับว่า การเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิด ว่ามีสัตว์ บุคคล ครับ เพราะ ทุกคนก็ต้องเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ ตามมโนทวารที่คิดนึกรูปร่างสัณฐาน แต่เมื่อเห็นแล้ว เป็นกุศลจิตก็ได้ ขณะนั้นไม่มีความเห็นผิด เป็นอกุศลจิตก็ได้ เช่น โกรธ ไม่ชอบ แต่ขณะที่โกรธ ก็ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคลในขณะนั้น นี่คือ ความละเอียดของธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Graabphra
วันที่ 6 มิ.ย. 2555

กระจ่างใสเหมือนเห็นปลาที่ก้นบึงเลยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 7 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เข้าใจ
วันที่ 12 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ