การติดในรูปร่างสัณฐาน

 
พิมพิชญา
วันที่  17 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21263
อ่าน  1,448

กราบเรียนถามนะคะ

๑. การที่ติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ (การติดในรูปร่างสัณฐานและส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน) ซึ่งมีผลให้ไปกำเนิดในนรกและสัตว์เดรัจฉานได้ แปลว่า การติดในนิมิตและอนุพยัญชนะเป็นอกุศลกรรมหรือเปล่าคะ ทำไมถึงหนักขนาดที่ว่านำกำเนิดในนรกและสัตว์เดรัจฉานได้ หรือว่าเป็นเพียงอกุศลจิตก่อนตายที่ส่งให้อกุศลกรรมอื่นๆ สบช่องให้ผล

๒. การที่ติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ ต้องมีคุณธรรมระดับไหนถึงจะดับได้คะ

๓. การพูดหรือทำให้ผู้อื่นติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ เป็นอกุศลกรรมหรือไม่คะ

๔. คนจะชอบใจสี อยากได้สิ่งที่มีสีที่ตัวเองชอบ สีนี้เป็นอนุพยัญชนะด้วยหรือเปล่าคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. การที่ติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ (การติดในรูปร่างสัณฐานและส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน) ซึ่งมีผลให้ไปกำเนิดในนรกและสัตว์เดรัจฉานได้ แปลว่า การติดในนิมิตและอนุพยัญชนะเป็นอกุศลกรรมหรือเปล่าคะ ทำไมถึงหนักขนาดที่ว่านำกำเนิดในนรกและสัตว์เดรัจฉานได้ หรือว่าเป็นเพียงอกุศลจิตก่อนตายที่ส่งให้อกุศลกรรมอื่นๆ สบช่องให้ผล


- โดยมาก เราจะได้ยิน คำสองคำคู่กัน คือ นิมิตและอนุพยัญชนะ ก่อนอื่นก็มาเข้าใจความหมาย ของทั้งสองคำก่อนครับว่าคืออะไร

คำว่า นิมิต (การกำหนด, เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ได้ยินเสียงผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสเป็ดไก่ ถูกต้องสัมผัสสำลี

ส่วนคำว่าอนุพยัญชนะ มาจากคำว่า อนุ (น้อย, ภายหลัง, ตาม) + พฺยญฺชน (แจ้ง, ปรากฏ) แปลได้ว่า ส่วนละเอียดที่ทำให้กิเลสปรากฏ หมายถึง ส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน หรือความหมาย ที่จิตคิดถึงจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นปาก คอ คิ้ว คาง ริ้วรอยของใบหน้า ที่เป็นส่วนละเอียดของร่างกาย หรือส่วนปลีกย่อยของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น

ส่วนในความละเอียดลึกซึ้งของธรรม โดยเฉพาะ หนทางการดับกิเลส ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน จะมีข้อความที่ว่า ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ

ซึ่งขออธิบายพอเข้าใจก่อนครับว่า ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญาก็เห็นเป็นสัตว์ บุคคล เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เป็นโต๊ะ เก้าอี้ เห็น เป็นรูปร่างของคนนั้นคนนี้ นี่คือ เรียกว่า เห็นในนิมิตที่เป็นส่วนหยาบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคล เป็นสิ่งต่างๆ แล้ว ก็ติดข้องพอใจ หรือ ไม่ชอบ ไม่พอใจ ในสิ่งที่เห็น ได้ยิน ที่เป็นรูปร่าง สัณฐานต่างๆ ที่บัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคลสิ่งต่างๆ ขณะที่เป็นอกุศลจิต ติดข้องหรือไม่พอใจ ในสิ่งที่เห็น เป็นสัตว์ บุคคลที่เป็นส่วนหยาบ เรียกว่า ติดในนิมิต ในขณะนั้นครับ ขณะนั้น ไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าเป็นแต่เพียงธรรม จึงเป็นอกุศลจิตติดในนิมิตที่ปรากฏ แต่ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้น ไม่ติดในนิมิต แม้จะเห็น เป็นสัตว์ บุคคล เป็นส่วนหยาบก็ตามครับ และขณะใดที่เป็นการอบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่รู้ว่าเป็นธรรม ขณะนั้น ชื่อว่า ไม่ติดในนิมิต เพราะรู้ความจริงว่า มีแต่เพียงธรรม ครับ

นี่กล่าวโดยนัยของ นิมิต

ส่วน อนุพยัญชนะ คือ ส่วนละเอียด มีการเห็นเป็นคิ้ว ปาก เป็นต้น โดยปกติก็เห็นเป็นปกติในส่วนละเอียดต่างๆ อยู่แล้ว ผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญา ย่อมไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม จึงเป็นอกุลจิต ในขณะที่เห็นเป็นส่วนละเอียด เช่น ชอบ พอใจ ในส่วนละเอียด คือ คิ้ว ปาก เป็นต้น หรือ ไม่พอใจ ไม่ชอบ ในปาก คิ้ว จมูก ในส่วนละเอียด ขณะที่จิตเป็นอกุศลในส่วนละเอียดนั้น เรียกว่า ติดในอนุพยัญชนะในขณะนั้นครับ

แต่เมื่อใดรู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานขณะนั้นชื่อว่า ไม่ติดในอนุพยัญชนะในขณะนั้น เพราะรู้ความจริง และจิตไม่เป็นอกุศล

สรุปได้ว่า ขณะที่จิตเป็นอกุศล ในขณะที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ทั้งส่วนหยาบ และส่วนละเอียด ชื่อว่า ติดในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ขณะใดที่จิตเป็นกุศล แม้เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ชื่อว่าติดในนิมิต อนุพยัญชนะ ครับ

ซึ่งจากคำถามที่ว่า การติดในนิมิต อนุพยัญชนะ เป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า

- ไม่ต้องถึงอกุศลกรรม อกุศลจิตเกิดขึ้น ในสิ่งที่เห็น ได้ยิน ก็เป็นการติดในนิมิตอนุพยัญชนะแล้ว ครับ คือ เพียงอกุศลจิตเกิดขึ้นก็เป็นการติดใน นิมิต อนุพยัญชนะ แต่เพราะอาศัยการติดในนิมิต อนุพยัญชนะนั่นเอง ที่เกิดอกุศลในขณะที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยให้ทำอกุศลกรรม ทำการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ อันมีอกุศลจิตที่เกิดขึ้น จากการติดในนิมิต อนุพยัญนะ ๙ เป็นปัจจัย ครับ เพราะการทำอกุศลกรรมนั้น ทำให้ไปอบายภูมิได้ และที่สำคัญ ขณะที่ชวนจิตสุดท้ายก่อนตาย หากเกิดอกุศลจิตในชวนจิตสุดท้าย เมื่อเห็น ได้ยิน แล้วเกิดอกุศลจิต ที่เป็นการติดในนิมิต อนุพยัญชนะ ในขณะนั้น คือ ชวนจิตสุดท้าย จิตเศร้าหมองด้วยอกุศล ย่อมไปอบายเพราะจิตเศร้าหมองได้ ในชวนจิตสุดท้ายก่อนตาย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 มิ.ย. 2555

๒. การที่ติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ ต้องมีคุณธรรมระดับไหนถึงจะดับได้คะ

- ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานของปุถุชน ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงในสภาพธรรมในขณะนี้ ขณะนั้นไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะเป็นกุศลและรู้ความจริง และเป็นหนทางการไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะด้วย ซึ่งผู้ที่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ย่อมเป็นผู้ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะสมบูรณ์ ครับ เพราะ ไม่เกิดอกุศลจิตอีกเลย แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานของปุถุชน ก็ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ ชั่วขณะที่สติปัฏฐานเกิด และ ขณะที่กุศลจิตของปุถุชนเกิด ขณะนั้นไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ แต่กุศลอื่นที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน แม้ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ แต่ ไม่ใช่หนทางการไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ ครับ

๓. การพูดหรือทำให้ผู้อื่นติดในนิมิตและอนุพยัญชนะ เป็นอกุศลกรรมหรือไม่คะ

- การพูดใดที่เป็นไปในการพูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นอกุศลกรรม ครับ ก็ต้องดูว่าครบกรรมบถในขั้อนั้นหรือไม่ ครับ

๔. คนจะชอบใจสี อยากได้สิ่งที่มีสีที่ตัวเอง ชอบสีนี้เป็นอนุพยัญชนะด้วยหรือเปล่าคะ

- ขึ้นอยู่กับว่า สีนั้น เป็นส่วนละเอียดหรือไม่ ชอบสี ของคิ้ว สีของส่วนละเอียดของสิ่งนั้น แต่ถ้าชอบความเป็นสี รวมๆ โดยส่วนใหญ่ ก็เป็นการติดในนิมิต แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อความชอบเกิดขึ้น โดยการเห็น สี หรือ ชอบ สี เป็นปัจจัย ก็เป็นการติดใน นิมิต อนุพยัญชนะ แล้ว ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ >>

เป็นชื่อและรูปร่างสัณฐาน [นิมิต อนุพยัญชนะ]

นิมิต อนุพยัญชนะ

อรรถว่า ... ไม่ถือในนิมิต อนุพยัญชนะ

เห็นแล้วเป็นนิมิต อนุพยัญชนะ ... อโคจร

ขอเชิญคลิกฟังที่นี่ครับ >>

ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
edu
วันที่ 17 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 17 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็เป็นอกุศลธรรมไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะลักษณะของโลภะ คือ ความติดข้อง ยินดีพอใจ ยึดติดในอารมณ์ ในเมื่อ โลภะ เป็นอกุศลธรรม จึงเป็นสิ่งที่ดีไม่ได้อกุศลธรรม จะมากหรือน้อย ก็ไม่ดีทั้งนั้น

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าจะเป็นโลภะระดับใด ถ้าเป็นโลภะที่มีกำลังกล้า จนกระทั่งสามารถที่จะล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้ เพราะเหตุที่ไม่ดีคืออกุศลกรรมนั้น มีแล้ว ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องในระดับใด ย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งนั้น เพราะเป็นอกุศลธรรม เป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะที่มีกิเลสที่มีกำลังที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้นก็เพราะมาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อยนั่นเอง บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะศึกษา อดทนที่จะฟังพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะลดละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง โดยที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสเพราะเห็นโทษของกิเลส แล้วกิเลสทั้งหลายก็จะค่อยๆ คลายลง กุศลทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้น การที่จะลดละคลายกิเลสอกุศลได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 18 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 18 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พิมพิชญา
วันที่ 18 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 19 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนากับผู้ถาม ผู้ตอบ และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับ

โลภะ ติดอะไรง่ายมากเลยนะครับ ทั้งธรรมะส่วนอยาบและส่วนละเอียด แม้ใครจะศึกษามามากก็ยังติดหากปัญญายังไม่สมบูรณ์ โลภะไม่ติดแต่โลกุตตรธรรม ประมาณนั้นใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ฐาณิญา
วันที่ 20 มิ.ย. 2555

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 20 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ฐาณิญา
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ