สอบถามเรื่องวิปลาส และการละวิปลาส

 
ลูกศิษย์ธรรม
วันที่  5 ก.ค. 2555
หมายเลข  21356
อ่าน  1,861

วิปลาส และ การละวิปลาส คืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

(วิปัลลาส) ความคลาดเคลื่อน, ความตรงกันข้าม, ความผันแปร หมายถึง ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงด้วยอาการ ๓ ที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น คือ

สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปปลาส ๑

วิปลาส ๓ นี้เป็นไปในอาการ ๔ คือ

ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑

ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑

ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑

ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

จึงกลายเป็นวิปลาส ๑๒ อย่าง คือ

๐๑. สัญญาวิปลาส จำผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๐๒. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๐๓. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๐๔. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันจึงละได้

๐๕. จิตตวิปลาส คิดผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๐๖. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๐๗. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๐๘. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

๐๙. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่ารูปเป็นงาม พระโสดาบันละได้

๑๐. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระโสดาบันละได้

๑๑. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันละได้

๑๒. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

พระโสดาบันและพระสกทาคามีละวิปลาสได้ ๘ ประเภท คือ

สัญญาวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

ในธรรมที่เที่ยง ๑

จิตตวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

ในธรรมที่เที่ยง ๑

และทิฎฐิวิปลาสในอาการทั้ง ๔ พระอนาคามีละวิปลาสได้อีก ๒ คือ

สัญญาวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑ และ

จิตตวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑

พระอรหันต์ละวิปลาสที่เหลือทั้งหมดอีก ๒ คือ

สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในเวทนาที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๒

อกุศลจิตทุกดวงเป็นจิตตวิปลาสอย่างหนึ่งในอาการ ๔

สัญญาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เป็นสัญญาวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฎฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐิวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละวิปลาสทั้ง ๔ แต่ไม่ควรเจาะจงละวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะว่าทุกท่านที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลย่อมมีวิปลาสครบทั้ง ๔ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยความเป็นอนัตตา เพราะความเข้าใจจากการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง จึงเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติฯ เกิดขึ้น ขณะนั้นย่อมเป็นสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ และความเข้าใจสภาพธรรมที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมค่อยๆ ละคลายวิปลาสนั้นๆ จนกว่าจะละได้เด็ดขาดเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

สัญญาวิปลาส มีกำลังอ่อนกว่า วิปลาสทั้งหมด

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๑)

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๒)

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๓)

ความแตกต่างของวิปลาส

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ลูกศิษย์ธรรม
วันที่ 6 ก.ค. 2555

แจ่มแจ้งยิ่งนัก สงสัยมานานมาก อ่านหลายรอบก็ยังไม่เข้าใจ

แต่วันนี้มาอ่านบทความนี้ รู้สึกดีขึ้นเยอะเลยครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Graabphra
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปลาส หรือ วิปัลลาส หมายถึง การรู้ การเห็น ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ได้แก่ขณะที่จำผิด เห็นผิด และ คิดผิด ขณะที่มีการคาดเคลื่อนจากความจริง ขณะนั้น เป็นอกุศลจิต แต่ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นจิตผ่องใส จึงไม่วิปลาส ไม่มีวิปลาสใดๆ เกิดขึ้นในขณะที่จิตเป็นกุศล

วิปลาส ซึ่งเป็นการรู้ การเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นั้น โดยสภาพธรรมแล้ว เป็นอกุศลธรรม ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นวิปลาส ซึ่งเป็นการเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ เห็นว่าเที่ยง ในสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เห็นว่าเป็นสุข ในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในสภาพธรรม ที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เห็นว่างาม ในสภาพธรรมที่ไม่งาม

การละวิปลาส ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ต้องด้วยโลกุตตรปัญญาเท่านั้น ถ้ายังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลสใดๆ ได้ ก็ยังมีวิปลาสอยู่ครบ

กล่าวได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงยังไม่พ้นไปจากวิปลาส ส่วนบุคคลผู้ที่จะละวิปลาสทั้งหมดได้อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ