วิตก, มนสิการ, ดำริ, คิด, นึก, ตรอง, วิจาร, ตรึก คำเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไรครับ?

 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่  3 มิ.ย. 2556
หมายเลข  22995
อ่าน  4,890

ขอโอกาสถามดังนี้ครับ

1. วิตก, มนสิการ, ดำริ, คิด, นึก, ตรอง, วิจาร, ตรึก คำเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไรครับ?

2. ถ้าเรานึกถึงแม่อันนี้เป็นสัญญา (ความจำ) หรือเป็นวิตก หรือเป็นวิจาร หรือเป็นมนสิการครับ?

3. คนเราปกติสามารถวิตกโดยไม่มีวิจารหรือสามารถวิจารโดยไม่มีวิตกได้หรือไม่ครับ?

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และสิ่งที่จะศึกษาให้ เข้าใจนั้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่อง ใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากธรรมเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระ สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

๑. ความหมายของคำที่กล่าวถึง มีดังนี้

วิตก [ตรึก] (วิตักกเจตสิก) วิตกเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตรึกหรือ จรดในอารมณ์ เกิดกับกุศลก็ได้ หรือ อกุศลก็ได้ ถ้าตรึกไปในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล วิตก ในทางตรงกันข้าม ถ้าตรึกไปในทางอกุศล ก็เป็นอกุศลวิตก เป็นธรรมที่มีจริง ที่ เกิดเพราะเหตุปัจจัย และเกิดเองเพียงลำพังไม่ได้ ก็ต้องเกิดร่วมกับจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

- มนสิการ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์ เป็นเจตสิกธรรมที่ เกิดกับจิตทุกขณะ จิตรู้อารมณ์ใด มนสิการ ก็ใส่ใจในอารมณ์นั้น

- ดำริ คิด นึก หมายถึง ความคิดนึก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ กล่าวคือ เมื่อความคิดเกิดขึ้น จะต้องรู้ในสิ่งที่ถูกคิด สิ่งที่ถูกคิด เรียกว่า อารมณ์ ดังนั้น ความคิดนึก จึงไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ ได้แก่ จิต กับเจตสิก เพราะมีอาศัยจิตและเจตสิก จึงเกิดความคิดนึกได้และในอีกนัยหนึ่ง แสดงว่า วิตักกเจตสิก ก็ทำหน้าที่ตรึกนึกคิด ได้ ซึ่งก็เป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่เกิดเพราะเหตุ ปัจจัย

- ตรอง (ไตร่ตรอง, ใคร่ครวญ, พิจารณา) ส่วนใหญ่แล้วมุ่งหมายถึงกิจหน้าที่ของ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก

- วิจาร (วิจารเจตสิก) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกที่ประคองตามวิตักกเจตสิก ไม่ว่าวิตักกกเจตสิกจะตรึกอย่างไร วิจารเจตสิกก็ประคองตามอย่างนั้น

๒. ถ้าเรานึกถึงแม่อันนี้เป็นสัญญา (ความจำ) หรือเป็นวิตก หรือเป็นวิจาร หรือเป็น มนสิการครับ?

ไม่พ้นไปจากธรรมที่เป็นจิต เจตสิก ขณะนั้น จะนึกถึงด้วยความติดข้อง หรือ ด้วย ความเคารพบูชาในพระคุณของท่าน ก็มีจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ พร้อมทั้งสัญญา วิตักกะ วิจาระ มนสิการะ พร้อมกับเจตสิกธรรมอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกันใน ขณะนั้นตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ครับ

๓. คนเราปกติสามารถวิตกโดยไม่มีวิจาร หรือสามารถวิจารโดยไม่มีวิตกได้หรือไม่ ครับ?

โดยปกติแล้ว วิตักกะเจตสิก กับ วิจารเจติสก จะเกิดพร้อมกันเสมอ จะรู้หรือไม่รู้ก็ ตามความเป็นจริงย่อมเป็นอย่างนี้ วิตักกเจตสิก ไม่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบ- สัมผัส, ไม่เกิดกับ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน วิจารเจตสิก ไม่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบ- สัมผัส, ไม่เกิดกับ ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน

เป็นความจริงที่ว่า จิตใด ที่มีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมีวิจารเจตสิก เกิดร่วมด้วยเสมอ เว้น ทุติยฌานจิต ที่มีวิจารเจตสิก โดยที่ไม่มีวิตักกเจตสิก ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สติ วิตก ปัญญา [ธรรมสังคณี]

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ความหมายของคำที่กล่าวถึง มีดังนี้

วิตกเจตสิก โดยทั่วไป มักเข้าใจเพียงการคิดนึก ตรึกไปในเรือ่ราวต่างๆ เช่น ตรึกไป ในทางกุศล คือ เนกขัมมะวิตก คิดตรึก ที่จะออกจากกาม อพยาปาทะวิตก ตรึก คิดนึกที่จะไม่พยาบาท อวิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนทาง อกุศลที่เป็นอกุศลวิตก เช่น กามวิตก คือเป็นไปในความยินดีพอใจ เป็นต้น แต่ในความละเอียดแล้ว วิตกเจตสิก ไม่ใช่เพียงการคิดนึกเท่านั้น แต่ยังแสดงถึง ลักษณะของสภาพธรรม คือ จรด หรือ ตรึก ในอารมณ์ตามสภาพของจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย วิตกเจตสิกซึ่ง จรด หรือ ตรึก ในอารมณ์นั้นเหมือนเท้าของ โลก เพราะ ทำให้โลกก้าวไป และ ยังจรดในสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นด้วย ครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ลักษณะของวิตกเจตสิก

มนสิการเจตสิก เป็นเจตสิกที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ การใส่ใจในอารมณ์ ย่อมเป็นปัจจัยให้เจตสิกอื่นๆ ตรึกถึงอารมณ์ และปรุงแต่งเป็นความวิจิตรต่างๆ เป็นวิทยาการต่างๆ ไม่รู้จบในทางโลก ส่วนในทางธรรมนั้นก็ตรงกันข้ามกับทางโลก

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

มนสิการ-โยนิโสมนสิการ-อโยนิโสมนสิการ

ดำริ คิดนึก หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นจิต และ เจตสิกด้วย ขณะที่รู้อารมณื ด้วย ความคิดนึก โดยมี วิตกเจตสิก ที่ คิดนึกประกอบในขณะนั้นเป็นสำคัญ ครับ ซึ่งก็ แล้วแต่ว่า ดำริ คิดนึก เป็นไปในทางกุศล อกุศล มีอารมณื เป็น บัญญัติ หรือ เป็น ปรมัติ ครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ความวิจิตรของความคิด

ตรอง หมายถึง สภาพธรรมที่คิดใครคร่วญ ซึ่ง คิดใคร่ครวญ ด้วยจิตที่คิดนึก แต่ จิตคิดนึกที่ไตรตรองด้วยปัญญา ืด้วยกุศลจิตก็ได้ ครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ฟัง อ่าน ตรึกตรอง และพิจารณา

วิจารเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประคองตามวิตก ไม่ว่าวิตกจะตรึกอย่างไร วิจารเจตสิกก็ ประคองตามอย่างนั้น


๒. ถ้าเรานึกถึงแม่อันนี้เป็นสัญญา (ความจำ) หรือเป็นวิตก หรือเป็นวิจาร หรือเป็น มนสิการครับ?

ขณะที่นึกถึง ขณะนั้น ไม่ได้นึกด้วยสัญญา ความจำ แต่ อาศัย สัญญา ความจำ ในอดีตจึงนึกได้ แต่ เป็นการนึกถึงแม่ ด้วย วิตกเจตสิก และ ขณะนั้นก็มีการใส่ใจ ในอารมณ์นั้น ที่เป็น มนสิการเจตสิก และ มีวิจารเจตสิกด้วย ตามสมควรแก่ประเภท ของจิต ครับ


๓. คนเราปกติสามารถวิตกโดยไม่มีวิจาร หรือสามารถวิจารโดยไม่มีวิตกได้หรือไม่ ครับ?

สภาพธรรมโดยมากอาศัยกันและกันเกิดขึ้น วิตกเกิดขึ้น ก็ต้องมีวิจารเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ยกเว้นแต่จิตบางประเภทที่มีวิจาร แต่ไม่มีวิตก และ จิตบางประเภทก็ไม่มี ทั้งวิตก และ ไม่มีวิจาร ก็สมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

วิตก วิจาร [ธรรมสังคณี] - บ้านธัมมะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Boonyavee
วันที่ 4 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 5 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ